โรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์

10 เช็กลิสต์! แค่เครียด หรือเป็น โรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์?

Alternative Textaccount_circle
event
โรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์
โรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์

โรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาจกลายโรคซึมเศร้ารุนแรง และส่งผลร้ายต่อเด็ก ทั้งขาดสารอาหาร ไอคิวลดลง ส่วนแม่อาจเป็นรุนแรง ถึงขั้นฆ่าตัวตายได้

10 เช็กลิสต์! แค่เครียด หรือเป็น โรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์?

โรคซึมเศร้าเป็นอาการป่วยทางจิตที่พบได้ทั่วไป ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกด้านลบที่รุนแรง มีอารมณ์เศร้า สูญเสียความมั่นใจ หมดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ รู้สึกสิ้นหวัง ไร้ค่า ซึ่งอาการเหล่านี้รบกวนชีวิตความเป็นอยู่และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันเป็นระยะเวลานาน

บ่อยครั้งที่ โรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ มักไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากคนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเพียงอาการที่เกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมน ในร่างกาย จึงพลาดโอกาสได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาจากแพทย์ บางรายโรคพัฒนาไปสู่ขั้นรุนแรง นำไปสูการฆ่าตัวตายได้

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อ ภาวะซึมเศร้าในคนท้อง

ตามสถิติของ The American Congress of Obstetricians and Gynecologists ( AGOG ) ได้ระบุไว้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ 1 ใน 4 ( 14 – 23 % ) มีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าได้ขณะตั้งครรภ์โดยมีสาเหตุหลักๆที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ได้แก่

  • ประวัติครอบครัว หรือตนเองมีภาวะซึมเศร้า
  • ขาดคู่ชีวิตหรือการดูแลจากคนรอบข้างระหว่างการตั้งครรภ์
  • มีปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์
  • เคยถูกทารุณกรรมหรือเคยได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง
  • มีประสบการณ์ชีวิตที่ก่อให้เกิดความเครียด
  • มีปัญหาทางการเงิน ขัดสนเรื่องค่าใช้จ่าย
  • มีพฤติกรรมติดสารเสพติด
  • รู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์
  • เคยสูญเสียลูกมาก่อนหน้านี้หรือแท้งลูก
  • วิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตัวทารก เช่น ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จากการตั้งครรภ์
  • ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม
ภาวะซึมเศร้าตอนท้อง
ภาวะซึมเศร้าตอนท้อง

10 เช็กลิสต์! แค่เครียด หรือเป็น โรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์?

การตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและตื้นตันใจสำหรับผู้หญิง แต่ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้ว่าที่คุณแม่หลายๆ คนเป็นกังวล สับสน เครียด หรือในบางครั้งการที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์ ก็อาจส่งผลให้แม่ท้องเครียด โมโหง่าย ร้องไห้ง่ายกว่าตอนที่ยังไม่ตั้งครรภ์ ทำให้ไม่แน่ใจว่าที่เป็นอยู่นั้นเป็นเพราะเครียด หรือ เป็นเพราะฮอร์โมนเปลี่ยน หรือเป็น โรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ กันแน่ ทีมแม่ ABK จึงมี 10 เช็คลิสต์ ให้แม่ท้องได้เช็กกันว่าเป็น โรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ หรือไม่ ดังนี้

  1. รู้สึกว่า ชีวิตนี้ไม่มีสิ่งที่น่ารื่นรมย์หรือสนุกสนานเลยแม้แต่น้อย
  2. รู้สึกซึม เศร้า หรือว่างเปล่า ตลอดทั้งวัน/ทุกวัน
  3. เพ่งความสนใจไปยังสิ่งต่างๆ ได้น้อยลง
  4. โกรธง่ายมาก ใจไม่สงบ หรือร้องไห้มากเกินไป
  5. นอนไม่หลับ หรือนอนหลับตลอดเวลา
  6. รู้สึกเหนื่อยล้ามาก หรือเหนื่อยล้าตลอดเวลา
  7. อยากกินอาหารตลอดเวลา หรือไม่อยากอาหารเลย
  8. รู้สึกผิดอย่างไม่มีเหตุผล รู้สึกไร้ค่า ไร้ความหวัง
  9. มีสัญชาตญาณมุ่งตาย คิดอยากฆ่าตัวตาย หรือคิดว่าการตายเป็นสิ่งดี
  10. มีอาการซึมเศร้าสลับกับกระตือรือร้นมากเกินไป เช่น ขยันทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่ต้องกินหรือนอนมาก ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่สุด

โดยหากว่าที่คุณแม่มีอาการดังต่อไปนี้ติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

ภาวะซึมเศร้าในคนท้อง อันตรายแค่ไหน?

หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคซึมเศร้ามีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง และมีภาวะครรภ์เป็นพิษเนื่องจากความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์มากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่เป็นโรคซึมเศร้า

นอกจากนี้ผู้หญิงที่เป็นโรคซึมเศร้าระหว่างการตั้งครรภ์ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าหลังคลอดสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยโรคนี้มีโอกาสเกิดขึ้นในผู้หญิงประมาณ 15% ที่เพิ่งผ่านการคลอดบุตร

จากรายงานของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ หากไม่ได้รับการรักษา โรคซึมเศร้าระหว่างการตั้งครรภ์อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์โดยเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะต่อไปนี้

  • ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์หรือการคลอดบุตร
  • เด็กที่คลอดออกมามีน้ำหนักตัวน้อย
  • การคลอดก่อนกำหนด
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ความบกพร่องด้านการเรียนรู้ของทารก
  • แม่ตั้งครรภ์ขาดสารอาหาร
  • แม่ท้องพักผ่อนไม่พอ
  • ทารกโตช้าในครรภ์
  • ทารกได้รับผลกระทบจากยาที่ใช้รักษาภาวะซึมเศร้า
ซึมเศร้าในคนท้อง
ซึมเศร้าในคนท้อง

การรักษาโรคซึมเศร้าระหว่างการตั้งครรภ์

โรคซึมเศร้าระหว่างการตั้งครรภ์สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้โดยมีหลักการรักษาเหมือนโรคซึมเศร้าทั่วไป การรักษาต่าง ๆ มีแนวทางดังนี้

  • การให้คำปรึกษา หรือการใช้เทคนิคเฉพาะทางเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้น เช่น การบำบัดด้านความคิดและพฤติกรรม (CBT) การบำบัดด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เป็นต้น
  • การเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนต่าง ๆ
  • การบำบัดด้วยการกระตุ้นสมอง เช่น การกระตุ้นด้วยคลื่นไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy) ซึ่งเป็นการปล่อยกระแสไฟฟ้าชนิดอ่อนเข้าสู่สมอง
  • การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า แต่วิธีนี้มีความเสี่ยงต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์ จึงต้องคำนึงถึงประโยชน์และเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียจากการใช้ยานี้อย่างถี่ถ้วน

จะเห็นได้ว่าการรักษาภาวะซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์นั้น ในบางข้อก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น ทั้งแม่ท้อง ครอบครัว และคนใกล้ชิด ควรจะช่วยกันสังเกตอาการและป้องกันก่อนที่แม่ท้องจะเกิดภาวะนี้ได้

5 กิจกรรมที่ทำให้แม่ท้องห่างไกลจากภาวะซึมเศร้า

  1. การออกกำลังกายเพราะการออกกำลังกายจะทำให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์หลั่งสารเอ็นโดฟิน ( Endophine )  ที่กระตุ้นให้เรามีความสุข และลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ( Cortisol ) ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เราเกิดความเครียด
    พักผ่อนให้เพียงพอ
  2. เลือกรับประทานอาหารที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เช่น ของหวาน หรืออาหารที่มีโปรตีนต่ำจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น แต่ควรรับประทานในบริมาณที่พอเหมาะ และอาหารที่มี โอเมก้า 3 เพราะจะช่วยลดการซึมเศร้าแล้วยังส่งผลต่อการกระตุ้นในการพัฒนาสมองของลูกได้ เช่นกั
  3. ควรไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้อยู่ภายใต้การดูแลของสูตินรีแพทย์ โดยสูตินรีแพทย์จะให้คำแนะนำในการดูแลตัวเอง ข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ และความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ ช่วยให้ว่าที่คุณแม่สามารถรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่เครียดมากจนนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ได้นั่นเอง
  4. การรักษาแบบธรรมชาติบำบัด เช่น การเล่นโยคะ ก็มีส่วนช่วยป้องกันโรคซึมเศร้าระหว่างการตั้งครรภ์ได้
  5. การให้ครอบครัวหรือคนใกล้ชิด ช่วยแบ่งเบาภาระงานในบ้าน ช่วยเหลืองานในด้านต่าง ๆ และอำนวยความสะดวกตามความเหมาะสม ก็จะช่วยลดความเครียดในแม่ท้องได้

นอกจากสุขภาพร่างกายที่แม่ท้องต้องดูแล เพื่อให้ลูกน้อยในครรภ์ได้เจริญเติบโตตามวัยแล้ว ก็อย่าละเลยการดูแลสภาพจิตใจของแม่ท้องด้วยนะคะ เพราะความเครียดและโรคซึมเศร้าอาจส่งผลต่อลูกน้อยในท้องได้เช่นกันค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

คนท้องอารมณ์อ่อนไหว มีผลกับลูกในท้องอย่างไร

7 พฤติกรรมแม่ท้อง กระตุ้นลูกในครรภ์ฉลาด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แม่ต้องรู้เท่าทัน!

แม่ท้องนอนไม่พอ กระทบลูกในท้องอย่างไร?

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : hd.co.th, นพ.วันชัย นาถตระกูลพิทักษ์ สูตินรีแพทย์ ประจำศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4, รศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up