วัคซีนโรต้า จำเป็นไหม

วัคซีนโรต้า จำเป็นไหม?รวมข้อมูลควรรู้ให้แม่ก่อนตัดสินใจ

Alternative Textaccount_circle
event
วัคซีนโรต้า จำเป็นไหม
วัคซีนโรต้า จำเป็นไหม

ตอบทุกข้อสงสัยกับ วัคซีนโรต้า เพื่อลูกน้อย จำเป็นไหม ใครควรฉีด ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร รวบรวมไว้พร้อมเป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจว่าจะรับดีหรือไม่กันนะ

วัคซีนโรต้า จำเป็นไหม?  รวมข้อมูลควรรู้ให้แม่..ก่อนตัดสินใจ!!

เรื่องของลูกไม่ว่าเรื่องไหนก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับพ่อแม่ทุกคน โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพด้วยแล้ว ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากเห็นลูกต้องทนทรมานกับอาการเจ็บป่วยแม้แต่นิดเดียว การให้วัคซีนจึงเป็นทางเลือกที่มักจะเลือกใช้เป็นตัวช่วยให้ลูกน้อยห่างไกลจากอาการเจ็บป่วย แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า วัคซีนทุกชนิดไม่สามารถให้ผลได้ 100% แถมมีผลข้างเคียงมากบ้างน้อยมากตามมาอีกต่างหาก ดังนั้นการจะตัดสินใจให้ลูกน้อยได้รับวัคซีนตัวใดบ้าง หากพ่อแม่ได้ลองหาข้อมูลเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจก็คงจะดีกว่า เพราะเราจะได้เลือกจากข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ของลุกได้มากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันข้อมูลต่าง ๆ ก็มีให้เราได้เลือกรับมากมาย และไม่ยากเย็นเท่าใดนัก

วัคซีนโรต้า ป้องกันโรคอุจจาระร่วงในเด็ก
วัคซีนโรต้า ป้องกันโรคอุจจาระร่วงในเด็ก

ไวรัสโรต้า คืออะไร ?

หลาย ๆ คนหากพูดถึงไวรัสโรต้า อาจจะทำหน้างง แต่หากเราพูดถึงอุจจาระร่วงแล้วนั้นคงร้อง “อ้อ” กันถ้วนหน้า แต่มาทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า คำสองคำนี้เกียวข้องกันอย่างไร ทำไมถึงต้องเรียกแยกออกมา

โรคอุจจาระร่วงเป็นโรคติดต่อที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ สามารถพบได้ในทุกฤดูกาลและทุกภาคของประเทศ โดยเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายโดยตรงผ่านการรับประทานอาหาร และดื่มน้ำหรือน้ำแข็งที่ปนเปื้อน ซึ่งหลักๆแล้วมักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อโรต้าไวรัส (Rotavirus) และ โนโรไวรัส (Norovirus) เชื้อดังกล่าวจะพบได้ในช่วงอากาศเย็น และที่สำคัญผู้ป่วยที่เคยเป็นแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ และจะแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อน โดยหลังจากที่ได้รับเชื้อ ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างรุนแรง ทำให้เสียน้ำและเกลือแร่ บางรายรักษาไม่ทันอาจช็อกและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ส่วนการรักษาคือการให้ยาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้อาเจียน ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทนการสูญเสียน้ำจากการถ่ายอุจจาระและอาเจียน หลีกเลี่ยงการให้ยาฆ่าเชื้อ เด็กเล็กไม่ต้องหยุดนมแม่ ถ้าหากอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูง ถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียน ซึมและเพลียมาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ข้อมูลอ้างอิงจาก กรมควบคุมโรค

จะเห็นได้ว่า ไวรัสโรต้า นั้นเป็นสาเหตุหนึ่งจากหลายสาเหตุในการก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง และโรคท้องร่วงรุนแรง โรต้าเป็นเชื้อไวรัสที่มักพบในเด็กเล็ก ทำให้เกิดอาการท้องร่วง ซึ่งไวรัสโรต้า เป็นสาเหตุเกือบครึ่งหนึ่งของการที่เด็กเล็กเกิดอาการอุจจาระร่วงรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาล ไวรัสนี้มีหลายสายพันธุ์ ดังนั้นจึงสามารถเป็นซ้ำได้อีก แต่การติดเชื้อครั้งหลัง ๆ อาการจะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก ไวรัสนี้ระบาดได้ตลอดทั้งปี และพบมากขึ้นในช่วงอากาศเย็น ฤดูหนาว

ไวรัสโรต้าในเด็ก

ที่นี้เรามาทำความเข้าใจกับเชื้อไวรัสโรต้าที่มักจะพบในเด็กเล็กกันว่า เจ้าเชื้อโรคร้ายนี้เมื่อเข้ามาในร่างกายของลูกรักแล้วจะทำอะไรกับลูกบ้าง

โรต้า ไวรัส มักพบได้ในเด็กเล็ก ซึ่งเมื่อเด็กรับเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าไป จะทำให้เกิดโรคท้องเสียโรต้า โดยเมื่อเด็กได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าไปในทางเดินอาหาร เชื้อจะทำให้เยื่อบุลำไส้เล็กบาดเจ็บ ทำให้เซลล์เยื่อบุลำไส้เล็กสร้างน้ำย่อยได้น้อยลง ทำให้การย่อยนม และอาหารลดลง การดูดซึมน้ำลดลง ขณะเดียวกันลำไส้เล็กมีการหลั่งเกินร่วมด้วย ทำให้เกิดท้องเสีย เมื่อเซลล์เยื่อบุลำไส้สร้างเสริมขึ้นมาซ่อมแซมซึ่งมักจะเกิดขึ้นใน 3-5 วัน อาการท้องเสียก็จะหายไป

ข้อมูลอ้างอิงจาก med.mahidol.ac.th
ติดเชื้อไวรัสโรต้า อุจจาระมักมีกลิ่นเปรี้ยว
ติดเชื้อไวรัสโรต้า อุจจาระมักมีกลิ่นเปรี้ยว

เชื้อไวรัสโรต้าเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอุจจาระร่วงที่รุนแรงในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี  เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำลายการทำงานของลำไส้เล็ก ทำให้เกิดปัญหากับการสร้างน้ำย่อยในการย่อยอาหารที่รับประทานเข้าไป รวมถึงปัญหาการดูดซึมน้ำในร่างกายอีกด้วย เมื่อเชื้อโรคเข้ามารบกวนการทำงายของระบบย่อยอาหาร จึงทำให้ร่างกายเกิดอาการดังต่อไปนี้

  • มีไข้
  • อาเจียน มักเกิดขึ้นในช่วงวันแรก ๆ ของการติดเชื้อ
  • ท้องเสีย ถ่ายเหลวปนน้ำ ส่วนใหญ่อุจจาระมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว อาการเป็นได้นาน 3-7 วัน
  • เกิดภาวะขาดน้ำ หากปล่อยไว้นานเกินไม่ได้รับการรักษาอาจช็อกถึงตายได้ ภาวะขาดน้ำเกิดขึ้นได้จากการอาเจียน และถ่ายท้อง เพราะท้องเสียรุนแรง ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินจนเกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งสังเกตว่าลูกมีภาวะนี้ได้จาก ปากแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา กระหายน้ำมาก ตาโหล กระหม่อมบุ๋ม เด็กจะซึม และปัสสาวะน้อย
ไวรัสโรต้าติดต่อกันได้อย่างไร
การติดต่อเกิดจากได้รับเชื้อไวรัสโรต้าเข้าสู่ปากโดยตรง โดยเชื้ออาจปนเปื้อนมากับมือ สิ่งของ เครื่องใช้หรือของเล่นต่าง ๆ รวมทั้งอาหารและน้ำ ผู้ป่วยที่เป็นโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าจะสามารถแพร่เชื้อออกมากับอุจจาระได้ตั้งแต่ 2 วันก่อนเริ่มมีอาการ จนกระทั่งหายอุจจาระร่วงไปแล้ว 10 วัน บางรายอาจแพร่เชื้อได้เป็นเดือน โรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายมาก ไวรัสจำนวนเพียง 10 ตัวก็สามารถก่อให้เกิดโรคได้ ในขณะที่อุจจาระผู้ป่วย 1 กรัม มีไวรัสโรต้าหลายล้านตัว อีกทั้งไวรัสนี้สามารถมีชีวิตอยู่บนมือ และสิ่งแวดล้อมได้นาน จึงก่อให้เกิดการแพร่กระจายและระบาดได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่การป้องกัน ดูแลรักษาความสะอาดยังไม่ดีพอ

วัคซีนโรต้า 

ในปัจจุบันไม่มียารักษาจำเพาะสำหรับไวรัสโรต้า การรักษาจึงเป็นแบบประคับประคองตามอาการ ซึ่งเมื่อลูกน้อยเกิดป่วยด้วยเชื้อไวรัสนี้ขึ้นมา จึงทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่รู้สึกทุกข์ใจกว่ามาก ต้องทนเห็นลูกทรมานจากอาการดังกล่าวข้างต้น ทำให้หลาย ๆ คนหันไปสนใจการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้าก่อนเกิดโรค ด้วยการฉีดวัคซีนโรต้า แต่เนื่องจากในปัจจุบันวัคซีนโรต้านี้พึ่งเข้ามาอยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2563 ทำให้พ่อแม่หลายคนยังมีความกังวลใจถึงความปลอดภัยของวัคซีน และผลข้างเคียงจากตัววัคซีนเอง ทำให้ยังคงลังเลในการพาลูกไปรับวัคซีนดังกล่าว
ทีมแม่ ABK จึงขอเป็นสื่อกลางในการหาข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโรต้า มานำเสนอเพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจ และความมั่นใจของพ่อแม่ในการให้ลูกรับวัคซีนนี้กัน
วัคซีนโรต้า ป้องกันอาการท้องร่วงรุนแรงได้
วัคซีนโรต้า ป้องกันอาการท้องร่วงรุนแรงได้
ข้อมูลวัคซีนโรต้า
วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโรต้าผลิตจากเชื้อไวรัสโรต้าที่ทำให้อ่อนฤทธิ์จนก่อโรคไม่ได้  เป็นวัคซีนชนิดรับประทาน (แบบหยอด) ปัจจุบันมี 2 บริษัทผู้ผลิต คือ
  • RotarixTM หยอด 2 ครั้ง เมื่ออายุ 2 และ 4 เดือน
  • RotateqTM หยอด 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน

ทั้งนี้วัคซีนโดสแรกควรได้รับก่อนอายุ 15 สัปดาห์ และวัคซีนโดสสุดท้ายควรได้รับก่อนอายุ 8 เดือน

วัคซีนทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงไม่แตกต่างกัน โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโรต้าที่รุนแรงได้ดีใกล้เคียงกันประมาณร้อยละ 85-98 วัคซีนมีความปลอดภัยสูง พบผลข้างเคียงได้น้อย เช่น ถ่ายอุจจาระเหลว อาเจียน ซึ่งอาการจะไม่รุนแรง แม้ว่าจะมีรายงานการเกิดลำไส้กลืนกันหลังจากหยอดวัคซีน แต่พบได้ในอัตราที่น้อยมากประมาณ 1-5 คนใน 100,000 ราย

ประสิทธิภาพของวัคซีนดีแค่ไหน ?

เด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าครบแล้ว อาจยังเกิดโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ แต่อาการมักไม่ค่อยรุนแรง วัคซีนลดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงจากเชื้อโรต้าไวรัสได้ 80-90% ลดการรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลเนื่องจากท้องเสียได้ประมาณ 80-95% โดยรวมป้องกันท้องเสียจากเชื้อโรต้าได้ถึง 70%

อาการข้างเคียง มีอะไรบ้าง ? ควรกังวลไหม ?

การรับข้อมูลในเรื่องเกี่ยวกับอาการของโรค หรือข้อมูลทางการแพทย์ต่าง ๆ นั้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูถึงแหล่งอ้างอิงที่มาของข้อมูลดังกล่าวด้วยว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เพราะในบางครั้งอาการวิตกจนเกินไปก็อาจทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้เช่นกัน เมื่อพูดถึงอาการข้างเคียงของการรับวัคซีนโรต้า ที่เป็นที่กังวลของพ่อแม่อยู่ในขณะนี้นั้น เรามีคำตอบมาให้พิจารณา ดังนี้

อาการข้างเคียงที่พบได้หลังจากได้รับวัคซีน ได้แก่ เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย งอแง ไข้ ส่วนอาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจพบได้บ้าง ได้แก่ ท้องอืด ปวดท้อง ผิวหนังอักเสบ อย่างไรก็ดี เด็กส่วนใหญ่มักไม่เกิดอาการข้างเคียงหลังจากได้รับวัคซีน

ข้อห้ามของการให้วัคซีนโรต้า มีอะไรบ้าง

  1. ห้ามให้วัคซีนในเด็กที่มีอายุเกินกว่าที่กำหนด
  2. ห้ามให้วัคซีนในเด็กที่มีอาการแพ้ยาหลังได้รับวัคซีนโรต้าในครั้งก่อน หรือแพ้ส่วนประกอบตัวใดตัวหนึ่งของวัคซีน
  3. ห้ามให้วัคซีนในเด็กที่เคยมีประวัติเป็นโรคลำไส้กลืนกัน (Intussusception) หรือเป็นโรคระบบทางเดินอาหารผิดปกติตั้งแต่กำเนิดที่ยังไม่ได้รับการรักษา เช่น Meckel diverticulum ซึ่งมีแนวโน้มที่อาจก่อให้เกิดโรคลำไส้กลืนกัน
  4. ห้ามให้วัคซีนในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิด Severe combined immunodeficiency (SCID) syndrome

ข้อควรระวังของการให้วัคซีนโรต้า มีอะไรบ้าง

  1. หากเด็กมีไข้สูงรุนแรงเฉียบพลัน หรือมีอาการท้องเสียหรืออาเจียน ควรเลื่อนการให้วัคซีนออกไป

  2. ในกรณีทารกที่เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร ควรให้วัคซีนโรต้าด้วยความระมัดระวัง โดยอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์

  3. ไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนนี้ในเด็กโต ผู้ใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร

ข้อมูลอ้างอิงจาก www.bumrungrad.com
ฉีดวัคซีน ดีไหม พ่อแม่ย่อมเลือกสิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกน้อย
ฉีดวัคซีน ดีไหม พ่อแม่ย่อมเลือกสิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกน้อย

เมื่อคำนึงถึงประโยชน์จากวัคซีนในการป้องกันโรคแล้ว ถือว่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับผลข้างเคียงที่พบได้น้อยมาก องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำว่า เด็กเล็กทุกคนควรได้รับการหยอดวัคซีนนื้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน โดยให้พร้อมกับวัคซีนอื่น ๆ ตามวัย

ข้อมูลอ้างอิงจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ลูกติดเชื้อไวรัส ผื่นเต็มตัว แม่เตือน! ระวังคนมาเล่นกับลูก

นุสบา ท้องร่วงหนัก เชื้อไวรัสโรต้า ระบาด ยังไม่มียารักษา

5 อันดับโรคยอดฮิตของเด็กไทย

ลูกท้องเสียเพราะ ยืดตัว จริงหรือ?

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up