ลูกติดเชื้อไวรัส

ลูกติดเชื้อไวรัส ผื่นเต็มตัว แม่เตือน! ระวังคนมาเล่นกับลูก

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกติดเชื้อไวรัส
ลูกติดเชื้อไวรัส

ผื่นเต็มตัว เพราะติดเชื้อจากผู้ใหญ่ แม่เล่าเหตุ ลูกติดเชื้อไวรัส ต้องระวังคนมาเล่นกับลูก

ลูกติดเชื้อไวรัส เพราะสัมผัสจากผู้ใหญ่

ทารกหรือเด็กเล็ก ๆ น่าอุ้ม น่ากอด น่าฟัด เมื่อไหร่ก็ตามที่อุ้มลูกออกจากบ้าน มักจะมีทั้งคนรู้จักและคนแปลกหน้า เดินเข้ามาชื่นชมกันอยู่เสมอ ถ้าดูอยู่ห่าง ๆ ก็ไม่เป็นอะไร แต่หลายครั้งพ่อแม่มักจะลำบากใจ เมื่อคนมาขออุ้มขอกอดทารกน้อย เพราะลูกยังเล็ก ความเสี่ยงมีมากมาย โดยเฉพาะตอนนี้ที่มีโรคระบาดและโรคติดต่อที่ต้องระวัง

คุณแม่ท่านหนึ่งได้เล่าเรื่องราว ลูกวัย 8 เดือน ติดเชื้อไวรัสจนเกิดผื่นขึ้นเต็มตัว เพราะติดเชื้อจากผู้ใหญ่ที่มาสัมผัส โดยเล่าว่า เเม่ ๆ บ้านอื่นอย่าชะล่าใจนะคะ หมั่นสังเกตอาการของลูกอยู่เสมอ

“เมื่อวันจันทร์ (7 ธันวาคม) ลูกมีผื่นเต็มตัว ไม่มีไข้ แม่พาไปคลินิกแถวบ้าน หมอบอกว่าเป็นหัด เช้าวันต่อมาลูกมีไข้สูง หมอที่โรงพยาบาลในอำเภอแห่งหนึ่ง เช็ดตัวและให้กินยาลดไข้ จนถึงเช้า อาการลูกไม่ดีขึ้นจึงส่งเข้ามาโรงพยาบาลในตัวจังหวัด มาถึงหมอบอกอาการไม่ค่อยดี พอ 5 โมงเย็น ลูกมีอาการชัก หยุดหายใจชั่วขณะ ตอนนี้ปั๊มและใส่ท่อแต่มีเลือดออกในปอด”

คุณแม่เล่าด้วยว่า ลูกต้องใส่ท่อช่วยหายใจ อาการลูกยังคง 50 / 50 ต้องเฝ้าดูอาการอย่างต่อเนื่อง หมอบอกตอนนี้ น้องติดเชื้อไวรัสแต่ไม่ทราบชนิดของไวรัส ตรวจ RSV แล้วไม่พบ ที่ติดเป็นเพราะเชื้อมาจากผู้ใหญ่ มีคนมาสัมผัส มาเล่นกับลูก แม่ก็เฝ้าแต่โทษตัวเองว่าดูแลลูกไม่ดีพอ อยากฝากแม่ท่านอื่นนะคะ ให้ดูแลลูกให้ดีกว่าเรา

ทีมแม่ ABK สอบถามเพิ่มเติม คุณแม่อัปเดตว่า อาการของลูกยังทรงตัวอยู่ คุณหมอให้นมไปแล้ว 1 ออนซ์ ตอนนี้ใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ยาฆ่าเชื้อ ยานอนหลับ และน่าจะต้องให้เลือดด้วย คนเฝ้าก็ไม่สามารถคลาดสายตาได้เลย กลัวลูกชัก เชื้อโรคทุกวันนี้ร้ายเเรงมาก คุณหมอให้งดเยี่ยมกลัวเชื้อโรคจะมาติดลูกอีก

“คุณหมอแจ้งว่า ลูกมีอาการสมองติดเชื้อจากไวรัส และปอดติดเชื้อ หลังจากตรวจแล้วไม่พบว่าเป็น RSV ไม่ใช่ชิคุนกุนยา ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าเชื้อไวรัสชนิดไหน” คุณแม่บอกด้วยว่า ลูกติดเชื้อจากผู้ใหญ่ บางครั้งพาไปตลาด ก็มีคนมาจับ มาหอม และมีพาไปห้างบ้าง ก็มีคนมาเล่นกับลูก อาจจะเพราะบางคนเป็นหวัดลูกเราก็ติดได้ แม่ก็เกรงใจ ใครมาจับก็ให้จับ กลัวเขาหาว่าหวงลูกเกินไป หลังจากนี้ต้องดูแลเรื่องความสะอาดมาก ๆ หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ล้างแอลกอฮอล์

คุณแม่ทิ้งท้ายด้วยว่า อยากฝากไว้ให้เป็นอุทาหรณ์ กลัวลูกคนอื่นจะเป็นแบบลูกเราเหมือนกัน ตอนนี้คุณหมอบอกว่า คุณแม่ต้องให้กำลังใจลูก แม่ต้องเข้มแข็งค่ะ

ลูกติดเชื้อไวรัส ผื่นเต็มตัว
ลูกติดเชื้อไวรัส ผื่นเต็มตัว

โรคจากผู้ใหญ่ ภัยร้ายสำหรับเด็ก

ความน่ารักของเจ้าตัวน้อย เชื้อเชิญให้ผู้ใหญ่รู้สึกอยากกอด อยากหอม และเข้ามาเล่นด้วย โดยไม่ทันได้ระวังว่า ทารกนั้นป่วยได้ง่าย หากสัมผัสเชื้อโรคเพียงเล็กน้อย ก็เกิดอันตรายรุนแรงได้มากกว่าที่คิด สำหรับโรคที่พบได้บ่อยว่าติดเชื้อจากผู้ใหญ่ ได้แก่

โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น RSV และโรคไข้หวัดใหญ่

นายแพทย์พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์สาขาโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า RSV เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง พบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่มักเกิดในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี โดยเฉพาะฤดูฝน หรือช่วงปลายฝนต้นหนาว สามารถติดต่อได้ผ่านสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จาม และการสัมผัส อาการของเด็กจะคล้ายไข้หวัดธรรมดา ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล แต่ RSV ยังส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนล่างมีการอักเสบ เกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ รายที่อาการรุนแรงจะมีอาการไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงครืดคราด มีเสมหะในลำคอ ส่วนอาการที่ต้องระวัง ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด (wheezing) ไม่กินนม ไม่กินอาหาร ปากซีดเขียว จะเสี่ยงต่อระบบทางเดินหายใจล้มเหลว

ไข้หวัดใหญ่พบบ่อยในฤดูฝนและฤดูหนาว เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) มักมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ไข้หวัดใหญ่มีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ A, B และ C ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แบ่งออกเป็นหลายซัปไทด์ ซัปไทด์ที่มีการระบาดเป็นประจำคือ H1N1 และ H3N2 ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B แบ่งออกเป็น 2 lineages คือ Victoria และ Yamagata โดยอาการมักไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A มีเฉพาะสายพันธุ์ A และ B ที่มีการระบาดโดยทั่วไป การติดต่อนั้นติดได้จากการสัมผัสละอองฝอยจากการไอและการจาม เชื้อไวรัสจะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก และน้ำลาย หากอยู่ใกล้ชิด สัมผัสตัวเด็กก็จะเสี่ยงติดเชื้อได้ อาการในเด็กเล็กจะมีไข้สูง ร่วมกับอาการทางระบบอื่น เช่น ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน และชักจากไข้สูง

ลูกติดเชื้อไวรัส ผื่นเต็มตัว

โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร

พญ.วนิดา พิสิษฐ์กุล กุมารแพทย์ รพ.ธนบุรี 2 บอกถึงอันตรายของโรคติดเชื้อทางเดินอาหารว่า อาการท้องเสีย อุจจาระร่วง และลำไส้อักเสบ เกิดขึ้นได้จากเชื้อหลายชนิด เช่น โนโรไวรัส (Norovirus) เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) และอดีโนไวรัส (Adenovirus) แต่เชื้อไวรัสที่พบบ่อยที่สุดคือ เชื้อไวรัสโรต้า มีอยู่ 9 สายพันธ์ใหญ่ แต่สายพันธุ์ A พบบ่อยสุด ส่วนสายพันธุ์ย่อยแบ่งตามโปรตีนบนผิวเซลล์คือ G และ P สายพันธุ์ย่อยที่พบบ่อยคือ G1,G2,G3,G4 และ G9 เนื่องจากมีหลายสายพันธุ์ทำให้พบการติดเชื้อได้หลายครั้ง แต่อาการจะรุนแรงในการติดเชื้อครั้งแรก การติดต่อเป็นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไวรัสโรต้าจะเข้าสู่ร่างกายทางปาก เช่น

  • สัมผัส ของเล่น เสื้อผ้า และของใช้
  • อาเจียนหรืออุจจาระผู้ป่วย
  • รับเชื้อผ่านน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อน
  • รับเชื้อผ่านทางภาชนะอาหารหรือแก้วน้ำที่ปนเปื้อน
  • ข้อมูลองค์การอนามัยโรคพบว่ามีการติดต่อทางการหายใจได้ด้วย

อาการสำคัญของโรค

  1. อาเจียน
  2. ไข้สูง
  3. ในเด็กเล็กต้องระวังอาการชักจากไข้สูง (หรืออาจไม่มีไข้ได้)
  4. ปวดท้อง
  5. ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
  6. เบื่ออาหาร
  7. อาจพบอาการหวัดร่วมด้วย จะมีอาการ 3-8 วัน

อาการแทรกซ้อนที่ต้องระวัง ได้แก่ ภาวะขาดน้ำ ขาดเกลือแร่ ริมฝีปากแห้ง ลิ้นแห้ง ใต้ตาลึกโบ๋ ร้องไห้ไม่มีน้ำตาไหล ปัสสาวะน้อย อ่อนเพลีย กระวนกระวาย เวียนศีรษะ ไม่มีแรง หากมีอาการรุนแรงจะเสี่ยงต่อภาวะช็อคหรือความดันโลหิตต่ำ เกิดไตวายเฉียบพลันและเสียชีวิตได้

โรค มือ เท้า ปาก อีกหนึ่งโรคร้ายที่ผู้ใหญ่และเด็กติดต่อกันได้ง่าย รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงโรค มือ เท้า ปาก ว่า เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหลายชนิด โดย enterovirus 71 หรือเรียกย่อๆ ว่า EV 71 เป็นเชื้อที่มีความรุนแรงสุด โรคนี้พบบ่อยในเด็กเล็กอายุ 1-5 ปี การติดต่อของโรคมือ เท้า ปาก ติดต่อได้ง่ายโดยการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง จากตัวผู้ป่วยหรือจากเชื้อที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม สำหรับอาการสำคัญของโรค ได้แก่ มีไข้ เจ็บในช่องปาก พบเป็นตุ่มหรือแผล และพบตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าร่วมด้วย

ส่วนอาการรุนแรงที่ต้องระวัง เช่น ไข้สูง ซึม หายใจผิดปกติ มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ อาการเหล่านี้อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ได้แก่ ภาวะแกนสมองอักเสบ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

สำหรับวิธีป้องกันการติดเชื้อของทารกหรือเด็กเล็ก ควรดูแลรักษาเรื่องความสะอาด ล้างมือให้ลูกเสมอ พ่อแม่หรือทุกคนที่มาอุ้มมาจับต้องล้างมือให้สะอาด ดูแลบ้านให้ปราศจากเชื้อโรค ของเล่น ของใช้ลูก ต้องทำความสะอาดเป็นประจำ ควรหลีกเลี่ยงการพาลูกไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน และไม่ควรให้คนอื่นมาจับ มากอดหรือหอมลูก เลือกการปฏิเสธอย่างนุ่มนวล เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย

อ้างอิงข้อมูล : thonburi2hospital, chulalongkornhospital, prachachat และ pidst

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

รักษาโรคภูมิแพ้ ด้วยการปรับภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ลูกรักชนะโรคร้าย

Rhinovirus แตกต่างจาก RSV อย่างไร ระวังลูกเป็นโรคทางเดินหายใจ

โรค G6PD คือ อะไร อันตรายกับลูกแค่ไหน พ่อแม่ควรรู้!

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก มะเร็งที่พบบ่อยในเด็ก สัญญาณอันตรายโรคร้าย

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up