ผดร้อน

ผดร้อน และโรคผิวหนังในหน้าร้อน ที่ทารกต้องระวัง!!

Alternative Textaccount_circle
event
ผดร้อน
ผดร้อน

อากาศร้อน ๆ ทำให้เหงื่อออกง่าย ผิวหนังเกิดอาการระคายเคืองเป็น ผดร้อน และโรคผิวหนังต่าง ๆ ได้ มาดูกันว่ามีกี่โรคผิวหนังบ้างที่ทารกต้องระวัง พร้อมวิธีป้องกัน!!

ผดร้อน และโรคผิวหนังในหน้าร้อน ที่ทารกต้องระวัง!!

ช่วงหน้าร้อน แดดที่จ้ามาก ๆ ทำให้เกิดผิวไหม้จากแสงแดด ผิวคล้ำ และอากาศที่ร้อนอบอ้าวยังเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรคผิวหนังชนิดต่าง ๆ ได้ เมื่ออากาศร้อนขึ้น อุณหภูมิในร่างกายที่เพิ่มขึ้นทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมาเพื่อระบายความร้อน “เหงื่อ” จึงเป็นสาเหตุที่สำคัญที่จะทำให้เกิดโรคผิวหนังในช่วงหน้าร้อนได้ โดยทั่วไปแล้ว ผดร้อน และโรคผิวหนังบางโรค ไม่ได้เป็นอันตรายมาก แต่โรคเหล่านี้ สามารถสร้างความรำคาญใจ รวมถึงรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และสร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้ที่เป็นโรคได้ และสำหรับ ผดร้อน และโรคผิวหนังบางโรคหากไม่หาสาเหตุและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้โรคเหล่านี้รุนแรงได้ ดังนั้น ทีมแม่ ABK ขอรวบรวมโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในหน้าร้อน มาให้คุณแม่ได้ระวังและหาวิธีป้องกันกันค่ะ

4 โรคผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าร้อน พร้อมวิธีป้องกัน

ผดร้อนในทารก และเด็กเล็ก

ผดร้อน เป็นตุ่มคันขนาดเล็ก เกิดจากต่อมเหงื่อที่อุดตันใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะเมื่อเหงื่อออก หรืออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้น ซึ่งผดร้อนอาจปรากฏขึ้นได้ทั่วร่างกาย สำหรับเด็กเล็กมักเกิดผดร้อนบริเวณคอ หัวไหล่ และหน้าอก และบางครั้งอาจปรากฏอาการบริเวณรักแร้ ข้อพับแขน และขาหนีบได้ ผดร้อนอาจเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ แต่มักจะมีอาการดังนี้

  • ตุ่มน้ำใสขนาด 1-2 มิลลิเมตร ไม่แสดงอาการเจ็บหรือคัน แต่อาจแตกเป็นสะเก็ดได้ง่าย มักเกิดจากการอุดตันในผิวหนังชั้นที่ตื้นที่สุด ทำให้เหงื่อที่รั่วออกมาจากท่อเหงื่อสะสมอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณนั้นซึ่งถูกปกคลุมด้วยผิวหนังบาง ๆ โดยมักเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยสัมผัสอากาศร้อนไม่กี่วัน และพบได้ทั่วตัวในทารก หรือบริเวณลำตัวในผู้ใหญ่
  • ผดแดง ซึ่งทำให้รู้สึกคัน เจ็บแสบ หรือระคายเคือง และมักเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่มีการเสียดสี เช่น อก คอ หลัง และข้อพับ
  • ตุ่มสีเนื้อขนาด 1-3 มิลลิเมตร ลักษณะคล้ายผิวห่าน และไม่แสดงอาการอื่น ๆ เกิดจากการรั่วของต่อมเหงื่อชั้นหนังแท้ ซึ่งมักเกิดในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังสัมผัสความร้อน
  • ตุ่มเป็นหนองจากการอักเสบติดเชื้อ

แม้ ผดร้อน เป็นภาวะทางผิวหนังที่ไม่อันตราย และอาจหายได้เองเมื่ออากาศเย็นลง แต่ควรไปพบแพทย์ หากปรากฏอาการดังต่อไปนี้

  • ผดไม่ยอมหาย ยังคันและเจ็บปวดอย่างต่อเนื่องเกิน 2-3 วัน
  • ผดมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ผดมีสีแดงสว่าง หรือเป็นริ้วลาย และผดเกิดขึ้นหลังจากใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาตัวใหม่ที่ไม่เคยใช้มาก่อน
  • เจ็บปวดเพิ่มขึ้น อาจเกิดร่วมกับอาการบวม แดง หรือ รู้สึกอุ่น ๆ บริเวณที่เป็นผด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
  • ต่อมน้ำเหลืองบวม ซึ่งอาจเกิดขึ้นบริเวณรักแร้ คอ และขาหนีบ
  • ติดเชื้อ เมื่อผดร้อนที่เกิดขึ้นเริ่มมีหนองหรืออาการติดเชื้ออื่น ๆ
  • มีไข้ หรือมีสัญญาณของภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ

การป้องกันผดร้อน

  •  เลือกสวมเสื้อผ้าที่เหมาะสม ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดเกินไปจนทำให้เกิดการระคายเคืองได้ และเลือกสวมเสื้อผ้าให้เหมาะตามฤดูกาล เช่น ใส่เสื้อผ้าที่นุ่ม เบา ทำจากผ้าฝ้าย ระบายอากาศได้ดีในฤดูร้อน และเลือกสวมเสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายในฤดูหนาว แต่ไม่ควรสวมเสื้อผ้าหนาเกินไปจนทำให้รู้สึกร้อน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ ครีม หรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียมเจลลี่ หรือน้ำมันแร่ที่อาจทำให้รูขุมขนอุดตัน
  • ใช้สบู่ที่ไม่ทำให้ผิวแห้ง ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม หรือไม่มีการเจือสี
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้น
  • ทำให้ผิวเย็นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันเหงื่อออกมาก เช่น อาบน้ำเย็น อยู่ในที่ร่มหรือห้องปรับอากาศ และอาจแเพื่อลดอุณหภูมิผิวหนังร่วมด้วย แต่ไม่ควรประคบผิวหนังนานเกิน 20 นาที
  • เปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมเวลานอน เพื่อป้องกันความร้อนหรือความชื้นที่อาจเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ สำหรับเด็กเล็ก ควรปรับความเย็นให้เหมาะสม ระวังไม่ให้เย็นจนเกินไป (อ่านต่อ
    เปิดพัดลมจ่อ ลูกเสี่ยงปอดอักเสบ)
  • คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอยู่เสมอว่าผิวของเด็กร้อนหรือชื้นเกินไปหรือไม่ โดยเฉพาะบริเวณลำคอ หว่างขา และบริเวณอื่น ๆ ที่อาจกักเหงื่อไว้ หากพบผิวหนังบริเวณที่ร้อนชื้น ควรล้างบริเวณดังกล่าวด้วยน้ำเย็น และพยายามให้ผิวหนังบริเวณนั้นแห้งอยู่เสมอ โดยห้ามใช้แป้งเด็ก เพราะแป้งอาจไปอุดตันรูขุมขนจนทำให้ผิวหนังเกิดความร้อน และห้ามใช้ผ้าอ้อมที่ทำจากพลาสติก เพราะอาจทำให้เด็กร้อนและระคายเคืองได้
โรคผิวหนัง
โรคผิวหนัง

โรคเชื้อราที่ผิวหนังในเด็กทารก

คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจสังเกตเห็นว่าลูกน้อยเกิดผื่นแดง โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่ถูกห่อหุ้มด้วยผ้าอ้อม  สาเหตุหนึ่งที่อาจเป็นได้คือ “เชื้อรา” เชื้อราที่ผิวหนัง เชื้อราชนิดที่พบบ่อยที่สุดในเด็กทารกคือ แคนดิดอะซิส (Candidiasis) เชื้อราชนิดนี้ปกติแล้วจะอยู่ที่ผิวหนังของคนเราได้โดยไม่ก่อให้เกิดโรค เพราะมีแบคทีเรียชนิดดีคอยทำหน้าที่ดูแลควบคุมปริมาณของเชื้อราอยู่ อย่างไรก็ตาม ถ้าสิ่งแวดล้อมที่ดีของผิวหนังถูกเปลี่ยนไปเป็นสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา เชื้อราจะเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วและก่อโรคได้ อย่างในเด็กทารก เมื่อมีอุจจาระและปัสสาวะปนเปื้อนออกมาสัมผัสกับผิวหนังเป็นเวลานาน ความชื้นที่ผิวหนังก็จะสูงขึ้น พอรวมกับสภาพความเป็นด่างของอุจจาระและปัสสาวะ ผิวหนังจึงเปื่อยยุ่ยและเกิดบาดแผลได้ง่าย และเสียสภาพการต้านทานเชื้อโรคในที่สุด (โดยปกติแล้วเชื้อราจะชอบความชื้นและสภาวะที่เป็นด่าง ส่วนเชื้อแบคทีเรียชนิดดีที่ผิวหนังจะชอบสภาวะที่เป็นกรดอ่อนๆ)

นอกจากนี้ อุจจาระและปัสสาวะเองยังเป็นอาหารให้เชื้อราเจริญเติบโตได้มากยิ่งขึ้น นอกจากเชื้อราจะอยู่ตามผิวหนังแล้ว ยังพบว่าเชื้อราอาจจะปนเปื้อนกับปัสสาวะและอุจจาระ กลายเป็นเชื้อก่อโรคที่ผิวหนังได้อีกด้วย

การป้องกันโรคเชื้อราที่ผิวหนัง

เมื่อเด็กเป็นโรคเชื้อราที่ผิวหนังแล้ว ควรได้รับการรักษาโดยแพทย์ แพทย์จะพิจารณาในการรักษาด้วยยาพร้อมกับแนะนำการดูแลรักษาผิวอย่างถูกวิธี สำหรับเด็กที่ยังเกิดโรคนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคเชื้อราที่ผิวหนังได้ดังนี้

  • ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นผ้าอ้อมสำเร็จรูปหรือผ้าอ้อมจากผ้าที่ใช้กันทั่วไป ไม่ปล่อยให้ผิวหนังสัมผัสอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นเวลานาน
  • หากมีคราบอุจจาระหรือปัสสาวะเปื้อนบริเวณผิวหนัง ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดอย่างแรงหรือขัดออก เนื่องจากจะทำให้ผิวได้รับความระคายเคืองเป็นแผลถลอก ทำให้ติดเชื้อราได้ง่ายขึ้น แนะนำให้ใช้น้ำสะอาดอุณหภูมิห้องเปิดผ่านชำระคราบอุจจาระหรือปัสสาวะออกไป หรือใช้ผ้าเนื้อนุ่มชุบน้ำสะอาดหรือน้ำมันมะกอกเช็ดออกเบา ๆ
  • ไม่มีความจำเป็นต้องใช้สบู่ทำความสะอาดทุกครั้ง เนื่องจากสบู่มีฤทธิ์เป็นด่าง จะยิ่งทำให้ผิวหนังได้รับความระคายเคืองมากยิ่งขึ้น หากจำเป็นต้องใช้สบู่ให้ใช้สบู่เหลวสำหรับเด็กที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมและแอลกอฮอล์

ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง

ผิวหนังเป็นอวัยวะที่เปรียบเสมือนเกราะป้องกันของร่างกาย มีคุณสมบัติหลายประการที่ป้องกันเชื้อต่าง ๆ เข้ามาทำให้เกิดโรค เช่นน้ำมันจากต่อมไขมัน แบคทีเรียประจำถิ่นบนผิวหนัง (normal skin flora) ความเป็นกรดด่างของผิวหนังและผิวหนังชั้นหนังกำพร้าที่เป็นปกติ เป็นต้น แต่หากมีการเสียสมดุลของคุณสมบัติเหล่านี้หรือมีแผลเกิดขึ้น บริเวณผิวหนัง จะทำให้เชื้อโรคผ่านเข้าสู่ผิวหนังและก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังได้

โรคผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรียเป็นโรคที่พบได้บ่อยและเกิดขึ้นได้ในทุกเพศ ทุกวัย มีลักษณะอาการที่หลากหลาย เช่น โรครูขุมขนอักเสบ โรค 4S หรือ Staphylococcal Scalded Skin Syndrome ฝีที่ผิวหนังโดยเกิดขึ้นตามซอกพับ ขาหนีบ หรือก้น เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เสื้อผ้าที่รัดแน่น อากาศที่ถ่ายเทไม่สะดวก และเหงื่อที่เพิ่มขึ้น

การป้องกันภาวะติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง

  1. รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยการอาบน้ำฟอกสบู่ หากมีแผลเกิดขึ้นควรได้รับการล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและทำแผลให้ถูกวิธี
  2. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดบาดแผลบริเวณผิวหนัง เช่น การแกะเกา การเดินเท้าเปล่าโดยไม่สวมใส่รองเท้า
  3. รักษาโรคผิวหนังอื่น ๆ ที่อาจเป็นช่องทางให้เกิดบาดแผลที่ผิวหนังทำให้เชื้อแบคทีเรียสามารถผ่านเข้าไปก่อโรคได้ เช่น โรคเชื้อราที่ผิวหนัง เป็นต้น
  4. รักษาสุขลักษณะทั่วไป ตัดเล็บสั้น เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรคต่าง ๆ บริเวณเล็บ
โรคผิวหนังในเด็ก
โรคผิวหนังในเด็ก

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)

โรคนี้พบบ่อยในเด็ก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมอยู่เป็นพื้นฐาน ผู้ป่วยมักมีประวัติแพ้อากาศ ไอ จามบ่อยๆ หอบหืดหรือเยื่อบุตาอักเสบ โดยเฉพาะเวลาที่อากาศรอบตัวเปลี่ยนแปลง นอกจากพันธุกรรมแล้วปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญคือ สิ่งแวดล้อมเช่น อาหาร ไรฝุ่น สารก่อการระคาย หรือสารก่อภูมิแพ้ผิวหนังของผู้ป่วยจะไว (sensitive) ต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวทั้งสภาพทางกายภาพ เช่น ภาวะอากาศร้อนเกินไป เย็นเกินไป แห้ง ชื้น สารเคมีที่ระคายผิวหนังและสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น แมลง เชื้อโรค เป็นต้น

ผิวหนังโดยทั่วไปของเด็กที่เป็นโรคนี้จะค่อนข้างแห้ง โดยอาการจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุของผู้ป่วย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  1. วัยทารก พบระหว่างอายุ 2 เดือนถึง 2 ปี ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป โดยมักจะเริ่มพบผื่นแดงคัน มีตุ่มแดงและตุ่มน้ำเล็ก ๆ อยู่ในผื่นแดงนั้นที่แก้ม ถ้าตุ่มน้ำแตกออกจะมีน้ำเหลืองเยิ่มหรือตกสะเก็ด อาจพบร่องรอยจากการเกาหรือขัดถู โดยเฉพาะบริเวณที่ทารกคืบ ถูไถ สัมผัสกับพื้นหรือที่นอน ผื่นอาจลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่นๆของร่างกาย เช่น ลำตัว ข้อศอก เข่า ในรายที่เป็นมาก ๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้
  2. วัยเด็ก อายุระหว่าง 2-12 ปี ตำแหน่งรอยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณรอบคอ ข้อพับด้านในของแขนและขา เมื่อโรครุนแรงอาจลุกลามไปยังผิวหนังส่วนอื่น ๆ ได้ ผื่นมักประกอบด้วยตุ่มนูนแดงแห้ง ๆ มีขุยเล็กน้อย มักไม่พบตุ่มน้ำแตกแฉะเหมือนวัยทารก มีอาการคัน ผู้ป่วยมักเกาจนเกิดรอยถลอกหรืออาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในรอยโรคได้
  3. วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ มักพบผื่นบริเวณรอบคอ ข้อพับแขน ขา คล้ายที่พบในเด็กโต ในรายที่เป็นมาก ๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้เช่นกัน ผู้ป่วยโรคนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดผิวหนังอักเสบบริเวณมือได้ง่าย

หลักการดูแลและรักษา

เนื่องจากโรคนี้เกิดจากพันธุกรรม และสภาพแวดล้อมรอบตัวต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ มีคำแนะนำในการดูแลรักษา ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น เช่น หลีกเลี่ยงการใช้หรือสัมผัสกับสารระคายเคือง สบู่ควรใช้สบู่อ่อนๆ ไม่ควรใช้สบู่บ่อยเกินไป ผงซักฟอกเลือกชนิดที่ระคายเคืองน้อยควรซักล้างออกให้หมด เสื้อผ้าเลือกใช้เสื้อผ้านุ่มโปร่งสบาย เช่น ผ้าแพร ผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงผ้าขนสัตว์ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่อออกมาก ๆ ลดความเครียด ความวิตกกังวล เป็นต้น
  2. แนะนำไม่ให้ผู้ป่วยเกา เนื่องจากการเกาจะทำให้ผื่นผิวหนังที่อักเสบกำเริบเห่อมากขึ้น
  3. ป้องกันและรักษาผิวแห้งโดยการทามอยซ์เจอไรเซอร์ หรือโลชั่น ควรทาหลังอาบน้ำทันที ถ้าผิวหนังยังแห้งมากควรทาเพิ่ม สามารถทาได้วันละหลายครั้ง

หากคุณพ่อคุณแม่ได้ปฏิบัติตามหลักในการดูแลรักษาดังกล่าวแล้ว ผื่นยังไม่ดีขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อการรักษาขั้นถัดไป เพราะโรคนี้มักเป็นเรื้อรัง อาการของโรคมักเป็น ๆ หาย ๆ ผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังร้อยละ 60 จะปรากฏอาการก่อนอายุ 1 ปี ประมาณร้อยละ 85 จะปรากฏอาการก่อนอายุ 5 ปี อาการมักจะดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย อาการจะดีขึ้นเมื่ออายุ 10 ปี ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่อาจจะ ยังคงมีอาการจนกระทั่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือปรึกษาแพทย์เมื่อมีปัญหา

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

7 โรคในฤดูร้อน 3 ภัยจากอากาศร้อน ที่เด็กเล็กต้องระวัง!!

อาหารเป็นพิษ โรคหน้าร้อน ที่ทุกครอบครัวต้องระวัง

หวัดแดด โรคหน้าร้อน ที่ต้องระวังในเด็กเล็ก

เมื่อลูกปวดท้องจาก “โรคบิด” ภัยร้ายหน้าร้อนที่ต้องระวัง!!

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ศ.นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย, พญ.กัญญลักษณ์ มั่นพรหม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, pobpad.com, hd.co.th

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up