ลูกตัวร้อน ไข้ไม่ลด

ลูกตัวร้อน ไข้ไม่ลด อยากให้ลูกหายไข้ พ่อแม่ต้องทำอย่างไร?

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกตัวร้อน ไข้ไม่ลด
ลูกตัวร้อน ไข้ไม่ลด

โอกาสที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องพบเจอกับอาการเจ็บป่วย ลูกตัวร้อน ไข้ไม่ลด ของลูกในช่วงวัยเด็กได้บ่อยครั้ง และไม่ว่าสาเหตุของการที่ลูกมีไข้จะเกิดจากอะไร ก็อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่วิตกกังวล ซึ่งเมื่อลูกเป็นไข้ตัวร้อนสิ่งที่พ่อแม่ควรทำในเบื้องต้นให้เร็วที่สุดก็คือการหาวิธีลดไข้ลูก เพราะหากลูกมีไข้สูงต่อเนื่องอาจทำให้เกิดอาการชักได้

ลูกตัวร้อน ไข้ไม่ลด เกิดจากอะไร?

ไข้หรือตัวร้อนในเด็กเป็นอาการของโรคที่แม้ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากโรคหรือภาวะที่ร้ายแรง แต่ถ้าหากลูกมีไข้สูงก็อาจเป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากโรคอื่น ๆ ได้มากมาย และระยะเวลาที่ไข้จะปรากฏในแต่ละโรคจะยาวนานต่างกัน โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการไข้ของลูกว่าตัวร้อนกว่าปกติหรือไม่ ได้จากการสัมผัส และการวัดไข้ด้วยเทอร์โมมิเตอร์

ลูกตัวร้อน ไข้ไม่ลด ทําไงดี

ตัวร้อนแค่ไหนถือว่ามีไข้

โดยปกติอุณหภูมิร่างกายจะถูกควบคุมด้วยสมองส่วนที่เรียกว่าไฮโปโทลามัส สมองส่วนนี้จะคอยส่งสัญญาณให้ร่างกายรักษาอุณหภูมิไว้ในระดับที่เหมาะสม คือ ประมาณ 37 องศาเซลเซียส หรืออุณหภูมิร่างกายปกติไม่ควรเกิน 37.6 องศาเซลเซียส ดังนั้นถ้าลูกมีอาการตัวร้อนวัดไข้แล้วมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 37.6-38.4 องศาเซลเซียส แสดงว่ามี “ไข้ต่ำ” แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไปจะจัดว่ามี “ไข้สูง” และอุณหภูมิที่ถือว่าไข้สูงมากอย่างรุนแรงหรือ ซึ่งเป็นภาวะที่จัดว่าเป็นอันตายที่สุดคือ 41.1 องศาเซลเซียสขึ้นไป ซึ่งมีโอกาสเกิดน้อย  มักเกิดจากการติดเชื้อโรครุนแรงในกระแสโลหิต หรือเกิดจากภาวะเลือดออกในสมอง

นอกจากนี้การมีไข้อาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วยในช่วงที่อุณหภูมิร่างกายเริ่มสูงขึ้น และอาจมีเหงื่อออกเมื่อไข้เริ่มลดลง ซึ่งเป็นกลไกปลดปล่อยความร้อนที่มากเกินไปออกจากร่างกาย ซึ่งอาการที่ลูกตัวร้อนหรือมีไข้นั้นเกิดจากสมองส่วนไฮโปโทลามัสปรับอุณหภูมิร่างกายให้สูงกว่าเดิม ซึ่งอาจเป็นผลที่เกิดจากปัจจัยเหล่านี้ได้ เช่น

  • การติดเชื้อเป็นสาเหตุของการมีไข้ที่พบบ่อยที่สุด เนื่องจากเป็นกลไกธรรมชาติที่ช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งมีทั้งอาการติดเชื้อจากการอักเสบเฉพาะที่ เช่น คออักเสบ ลำไส้อักเสบ ข้ออักเสบ หรือการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส เช่น เช่น ไข้หวัด ไข้มาลาเรีย ไข้จากแผล ฝีหนอง และยังมีการติดเชื้อซึ่งไม่มีอาการเฉพาะที่ เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ ไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น
  • การก่อภูมิคุ้มกันเด็กสามารถมีไข้อ่อน ๆ ได้หลังจากได้รับวัคซีน ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคนั้น ๆ ขึ้นมา
  • การสวมใส่เสื้อผ้าหนาเกินไปหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อึดอัดก็อาจส่งผลให้ลูกตัวร้อน เนื่องจากร่างกายมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น โดยอาการนี้มักเกิดขึ้นกับเด็กทารกเพราะร่างกายยังปรับอุณหภูมิได้ไม่ดีเท่าเด็กที่โตกว่า
  • มีไข้ได้จากสาเหตุอื่นๆ เช่น การออกกำลังกายกลางแดด การกินยาบางชนิด การแพ้ยา ความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ หรือจากภาวะขาดน้ำ เป็นต้น

อยากให้ลูกหายไข้ พ่อแม่ควรทำอย่างไร?

หากคุณแม่สังเกตว่าลูกมีอาการตัวร้อนและมีไข้ แต่ยังสามารถกินอาหาร ดื่มน้ำได้ปกติ มีพฤติกรรมต่าง ๆ ตามปกติ  ไม่มีอาการซึมหรือไม่มีอาการอึดอัดไม่สบายตัว ในเบื้องต้นอาจบรรเทาลดไข้ลูกด้วยวิธีต่อไปนี้

วิธีลดไข้ลูก

1.เช็ดตัวลดไข้ลูกเพื่อเป็นการนำความร้อนออกจากร่างกาย วิธีที่ได้ผลดีคือ

  • ใช้ผ้าขนหนูเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาบอดหมาดพอควร
  • เริ่มเช็ดบริเวณใบหน้า และพักไว้ที่หน้าผาก ซอกคอ ทำซ้ำ 3-4 ครั้ง
  • เช็ดบริเวณหน้าอกและลำตัว และเช็ดย้อนขึ้นจากปลายมือไปยังต้นแขน และรักแร้ เพื่อระบายความร้อน ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง
  • เช็ดขาย้อนขึ้นจากปลายเท้าไปสู่ต้นขาและขาหนีบ ทำซ้ำ 3 – 4 ครั้ง และพักผ้าบริเวณใต้เข่า ขาหนีบ
  • ปรับท่าให้ลูกนอนตะแคงเช็ดบริเวณหลัง ตั้งแต่ก้นกบขึ้นคอ ทำซ้ำ 3 – 4 ครั้ง จากนั้นเช็ดตัวให้แห้ง ใส่เสื้อผ้าสบาย ๆ ให้ลูก

การเช็ดตัวลดไข้ควรทำนานประมาณ 30 นาที ควรเปลี่ยนน้ำอุ่นบ่อย ๆ แต่การเช็ดตัวจะช่วยให้อุณหภูมิลดลงเพียงชั่วคราวเท่านั้นเพราะการเป็นไข้เกิดจากการที่อุณหภูมิในร่างกายสูง หลังจากเช็ดตัวลดไข้ประมาณ 15 นาที ให้วัดอุณหภูมิซ้ำ หากยังมีไข้ควรมีการเช็ดตัวใหม่อีกครั้ง และระหว่างมีไข้ไม่ควรให้ลูกอาบน้ำเย็น

วิธีลดไข้ลูกตัวร้อน
วิธีลดไข้ลูกตัวร้อน

2.หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของลูก หากเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลด คุณพ่อคุณแม่อาจให้ลูกรับประทานยาลดไข้อย่างพาราเซตามอล โดยปฏิบัติตามคำเตือนและวิธีการใช้ยาอย่างระมัดระวัง และไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจมีโอกาสแพ้ยา และทำให้เกิด Reye’s syndrome (โรคที่มีความผิดปกติของตับและสมองอย่างเฉียบพลัน) ได้

3.ให้ลูกดื่มน้ำอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและช่วยให้อุณหภูมิร่างกายลดลง

4.หากลูกมีอาการหนาวสั่น ควรให้ห่มผ้า เมื่อไข้ลดลงให้นำผ้าที่ห่มออก ไม่ควรให้ลูกใส่เสื้อผ้าที่หนาหรืออึดอัดจนเกินในระหว่างนอนหลับ เพราอาจทำให้ไข้ไม่ลดเรื่องจากการใส่เสื้อผ้าหนาเกิน และให้นอนพักอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท เย็นสบาย ไม่ร้อนจนเกินไป เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายลดลง

ถึงแม้ว่าการมีไข้ส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตราย แต่ในภาวะที่มีไข้สูงในเด็ก อาจส่งผลเสียทำให้ลูกมีอาการขาดน้ำ เนื่องจากผลข้างเคียงที่เกิดจากไข้ เช่น ท้องเดิน อาเจียน ดื่มน้ำไม่ได้ ทำให้ขาดน้ำมากขึ้น จากการที่ดื่มน้ำได้น้อยลง หรือเสียน้ำไปทางลมหายใจ รวมถึงเด็กที่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เด็กที่เป็นโรคหอบร่วมกับไข้สูง อาจทำให้ความต้องการออกซิเจนสูงขึ้นทำให้หอบมากขึ้น โรคหัวใจที่มีอัตราการเต้นหัวใจที่เร็วอยู่แล้ว ไข้อาจทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น โรคโลหิตจาง ติดเชื้อในกระแสโลหิต ช็อค ไข้อาจทำให้การปรับตัวของร่างกายเสียสมดุลได้ อาการชักจากไข้สูง ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายแต่ไม่แสดงอาการชักออกมาอย่างชัดเจน เด็กจะดูคล้ายกำลังหมดสติ มักพบในผู้ป่วยเด็กช่วงอายุ 6 เดือน ถึง 6 ปี โดยเด็กที่เคยชักเวลามีไข้สูงหรือในครอบครัวที่มีประวัติชักเมื่อไข้สูง ต้องระวังเป็นพิเศษในขณะมีไข้ ดังนั้นการลดไข้ในเด็กจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่พอ่แม่ควรเรียนรู้วิธี โดยเช็ดตัวและให้ยาลดไข้เพื่อป้องกันไม่ให้ไข้สูง

ลูกเป็นไข้หลายวันไม่หาย
ลูกเป็นไข้หลายวันไม่หาย

เมื่อไรควรพาลูกไปพบแพทย์ ?

หากลูกตัวร้อน มีไข้ โดยให้รับประทานยาลดไข้และเช็ดตัวบ่อย ๆ แล้วไข้ยังไม่ลด อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วันหรือมีอาการผิดปกติเหล่านี้ร่วมกับมีไข้สูง อาทิเช่น

  • ง่วงซึม อ่อนแรง ไม่มีความอยากอาหาร หงุดหงิดง่าย
  • ลูกปฏิเสธการดื่มน้ำและกินอาหาร หรือดูป่วยเกินกว่าจะดื่มน้ำได้อย่างเพียงพอ
  • มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ ไม่มีน้ำตาเมื่อร้องไห้ เฉื่อยชาผิดปกติ เป็นต้น
  • ริมฝีปาก คอ หรือเล็บเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ
  • ลูกบ่นปวดหัว ไอ เจ็บคอ เจ็บหู หรือมีอาการปวดผิดปกติอย่างรุนแรง
  • มีอาการอาเจียนและท้องเสียอย่างต่อเนื่อง
  • มีผื่นแดงขึ้นหรือจุดสีม่วงบนผิวหนังคล้ายรอยฟกช้ำ
  • มีปัญหาในการหายใจ หายใจเร็ว หรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • มีอาการชัก

ทั้งนี้คุณแม่ต้องทราบด้วยว่าการให้กินยาลดไข้เป็นเพียงยาบรรเทา ไม่ใช่ยารักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ เมื่อกินยาหนึ่งครั้งยาจะออกฤทธิ์ลดไข้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง หากสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ยังไม่หายควรใช้ยาลดไข้เมื่อไข้สูงเท่านั้น ซึ่งควรอ่านฉลากการใช้ยาลดไข้สำหรับเด็กอย่างชัดเจน และทำร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้ ถ้าภายใน 2-3 วันอาการไข้ยังไม่ทุเลา หรือพบอาการผิดปกติดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการโดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม อาการไข้ โดยทั่วไปถือว่าเป็นการตอบสนองของร่างกาย ที่เกิดขึ้นได้กับเด็กแทบทุกคน ซึ่งมักจะไม่ทำอันตรายต่อตัวเด็กจากไข้เอง เมื่อลูกเป็นไข้ตัวร้อนหากคุณพ่อคุณแม่ได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์นี้ได้อย่างถูกวิธี ก็สามารถดูแลและบรรเทาอาการไข้ของลูกน้อยได้ในเบื้องต้น อย่าเพิ่งร้อนใจวิตกกังวลมากเกินไปจนเครียด ไม่ได้พักผ่อนนะคะ เพราะสุขภาพคุณพ่อคุณแม่ก็สำคัญไม่น้อยเช่นกัน.

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.pobpad.comwww.seedoctornow.com

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :

กินยาดักไข้ กันลูกเป็นหวัด เป็นไข้ ได้จริงหรือ?

9 คาถากันโรคภัยไข้เจ็บ สวดได้ทุกวันทั้งครอบครัว

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up