แผลผ่าตัดคลอด

กินไข่แล้ว แผลผ่าตัดคลอด หายช้า-เป็นรอยนูน..จริงหรือ?

Alternative Textaccount_circle
event
แผลผ่าตัดคลอด
แผลผ่าตัดคลอด

แพทย์เผย คนไทยยังมีความเชื่อผิด ๆ ที่ว่ากินไข่แล้วจะทำให้ แผลผ่าตัดคลอด หายช้า แผลไม่สวยเป็นรอยนูน หรือเป็นคีลอยด์ จริง ๆ แล้วกินไข่หลังผ่าตัด มีประโยชน์กว่าที่คิด

กินไข่แล้ว แผลผ่าตัดคลอด หายช้า-เป็นรอยนูน..จริงหรือ?

นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข เผยประชาชนยังเข้าใจวิธีการดูแลบาดแผลไม่ถูกต้อง โดยเข้าใจผิดว่ากินไข่แล้วทำให้แผลปูดเป็นแผลเป็น

ปัญหาการเจ็บป่วยของคนไทยขณะนี้ส่วนหนึ่งเกิดมาจากความเชื่อที่ถ่ายทอดกันต่อ ๆ กันมา ซึ่งการปฏิบัติตามความเชื่อจะทำให้บุคคลมีความมั่นใจและรู้สึกปลอดภัย ถ้าต้องฝืนปฏิบัติในสิ่งที่ขัดกับความเชื่อ จะรู้สึกไม่ปลอดภัย เกรงว่าจะเป็นอันตราย จึงไม่ส่งผลดีต่อการรักษาของแพทย์ กรมสบส. จึงมีนโยบายเร่งเผยแพร่ความรู้สุขภาพแก่ประชาชนนำไปใช้ปฏิบัติดูแลตัวเองและครอบครัวให้มีสุขภาพดี

และอีก 1 ความเชื่อผิด ๆ ที่ว่าการรับประทานไข่ ทำให้แผลเป็นนูนนั้น เป็นเรื่องไม่จริง การรับประทานไข่ไม่ได้ทำให้เกิดแผลเป็นนูน ซึ่งแผลเป็นนูนสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่

  1. แผลเป็นนูนเกิน เกิดขึ้นแล้วผิวที่เป็นแผลนูนสามารถกลับมาใกล้เคียงกับแผลปกติได้ภายใน 1 ปี
  2. แผลเป็นคีลอยด์ คือแผลเป็นนูนที่จะนูนและใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลา สาเหตุเกิดจากการที่ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนเพื่อซ่อมแซมบาดแผลมากเกินไป และอาจเกิดจากพันธุกรรม

ซึ่งการเกิดแผลนูนทั้ง 2 ชนิดนี้ ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการรับประทานไข่ ดังนั้น หลังจากผ่าตัดคลอดแล้ว แม่ ๆ สามารถรับประทานไข่ได้ในปริมาณที่เหมาะสม ไข่จะไม่ทำให้เกิดแผลคีลอยด์แต่อย่างใด

แพทย์ชี้ 2 วิธีง๊าย..ง่าย ดูแล แผลผ่าตัดคลอด ให้ปลอดภัย ไม่เป็นคีลอยด์

แผลผ่าคลอด
แผลผ่าคลอด

หัวใจสำคัญของการดูแลบาดแผลทุกชนิดไม่ว่าแผลถลอก แผลเล็ก แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลผ่าตัด และ แผลผ่าตัดคลอด มี 2 วิธีง่าย ๆ คือ

  1. การรักษาความสะอาดแผล ป้องกันการติดเชื้อโรค ควรทำความสะอาดแผลทุกวัน หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลสกปรกหรือเปียกน้ำเพราะอาจทําให้แผลเกิดการอักเสบได้ และควรสังเกตลักษณะบาดแผล หากแผลบวม แดง ร้อน สีของบาดแผลเปลี่ยนไป มีหนอง ควรรีบไปพบแพทย์
  2. การบำรุงร่างกายด้วยอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น โดยสารอาหารที่ช่วยให้บาดแผลหายเร็วขึ้น ได้แก่
    • โปรตีน ซึ่งมีอยู่ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ นม ไข่ รวมถึงถั่วเหลือง ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น โปรตีนจะช่วยสร้างเนื้อเยื่อทำให้เซลล์แต่ละเซลล์ ประสานยึดติดเป็นเนื้อเดียวกัน
    • วิตามินซี ซึ่งมีมากในผลไม้สดทุกชนิดพบมากในฝรั่ง มะละกอ ส้มต่าง  ๆ และยังพบในผัก เช่น บร็อคโคลี่ พริกหวานสีแดง วิตามินซีจะทำหน้าที่สร้างผนังของเซลล์ ทำให้เส้นเลือดฝอยมีความแข็งแรงและไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ และยังช่วยในการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้น ทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้น
    • ธาตุสังกะสี ซึ่งพบมากในเนื้อสัตว์ นม ไข่ ตับ ถั่วเหลือง ช่วยให้เซลล์จับกับวิตามินกระตุ้นให้แผลหายเร็วขึ้น

จะเห็นได้ว่า นอกจาก ไข่ จะไม่ใช่อาหารแสลงหรือต้องห้าม ที่ทานแล้ว แผลผ่าตัดคลอด จะไม่สวย หายช้า หรือเป็นคีลอยด์แล้ว ไข่ ยังเป็นอาหารที่มีประโยชน์ที่ะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นอีกด้วย เมื่อไข่ไม่ใช่อาหารแสลง หรือตัวการที่ทำให้แผลหายช้า แผลเน่า แผลเป็นรอยนูน แล้วมีอาหารอื่น ๆ หรือไม่? ที่ไม่ควรทานหลังผ่าตัด…..มีค่ะ

อาหารแสลง ที่ไม่ควรทานหลังผ่าตัดคลอด

  1. สุรา เหล้า เบียร์ แอลกอฮอล์

เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือไม่แต่อาหารที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทุกชนิด แม่หลังคลอดไม่ควรทานค่ะ สำหรับความเชื่อโบราณที่ว่าควรทานแอลกอฮอล์หลังคลอดเพื่อขับน้ำคาวปลา ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เนื่องจากของมึนเมาเหล่านี้มีส่วนกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยจากส่วนต่าง ๆ และเข้าไปทำลายตับ นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ที่แม่ทานเข้าไป จะเข้าสู่กระแสเลือดของลูกผ่านทางน้ำนมได้ แม้จะเป็นปริมาณน้อยก็ตาม (อ่านต่อ แม่เล่า! ลูกติดเชื้อแบคทีเรีย เพราะสัมผัสจากคนกินเหล้า-สูบบุหรี่)

2. อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารหมักดอง

ควรงดไปก่อน เพราะในอาหารเหล่านี้อย่างที่เรารู้ ๆ กันว่ามักมีสารเคมีและสารพิษต่าง ๆ เจือปนอยู่ ซึ่งเมื่อแม่ ๆ บางรายรับประทานเข้าไป อาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายในระหว่างพักฟื้นบาดแผลได้เช่นกัน

3. บุหรี่

เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ แม่ ๆ หลายท่านมักจะเลิกสูบบุหรี่ และอยู่ห่างจากคนที่สูบบุหรี่เพื่อสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ เมื่อคลอดแล้ว แม่ ๆ บางท่านอาจจะกลับไปสูบบุหรี่ใหม่ ขอบอกว่าอย่าเพิ่งกลับไปสูบเลยค่ะ เพราะสารที่อยู่ในบุหรี่จะไปทำลายเซลล์ที่จะซ่อมแซมการหายของแผล และมีผลทำให้เลือดที่จะมาหล่อเลี้ยงบริเวณผ่าตัดลดลง มีโอกาสทำให้ผิวหนังที่ผ่าตัดขาดเลือดหายช้า เสี่ยงต่อการติดเชื้ออีกด้วย และนอกจากนี้ ควันบุหรี่มือสองและมือสาม ยังสามารถทำร้ายลูกน้อยของคุณแม่ได้อีกด้วยนะคะ (อ่านต่อ ปอด อักเสบ ติดเชื้อ เพราะควันบุหรี่มือสอง)

4. อาหารเสริมที่ไม่รู้ที่มาที่ไป

ไม่ว่าอาหารเสริมที่คุณได้มานั้นจะเต็มเปี่ยมไปด้วยสรรพคุณ คุณค่าทางอาหารมากมายแค่ไหน แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่าอาหารเสริมเหล่านั้นอาจส่งผลกระทบต่อแผลผ่าตัดของคุณได้เช่นกัน ดังนั้นหากไม่แน่ใจควรเลือกรับประทานอาหารเสริมที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ที่สุกหรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

5. อาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้

เช่น อาหารทะเล ถั่ว นม เป็นต้น สำหรับแม่ ๆ ที่แพ้อาหารอยู่แล้ว หลังผ่าตัดยิ่งไม่ควรทานอาหารเหล่านั้น เพราะการทานเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมา บางทีอาจส่งผลกระทบต่อบาดแผลเป็นสองเท่าได้เช่นกัน

หลังจากผ่าตัดคลอดแล้ว แผลที่เพิ่งเกิดจากการผ่าตัดคลอดนั้น อาจทำให้แม่ ๆ เป็นกังวลได้ ซึ่งแม้จะทำตามวิธีดูแล แผลผ่าตัดคลอด ที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น และยังหลีกเลี่ยงการทานอาหารแสลง คุณแม่หลาย ๆ ท่านก็ยังกังวลอยู่ ทีมแม่ ABK จึงมีอีก 4 วิธีในการดูแล แผลผ่าตัดคลอด ให้ไม่เป็นคีลอยด์ มาฝากกันค่ะ

แม่หลังคลอด
แม่หลังคลอด

4 วิธีดูแล แผลผ่าคลอด ไม่ให้เป็นคีลอยด์

  1. ใช้แผ่นซิลิโคนปิด แผ่นซิลิโคนนี้จะเป็นแผ่นเจลใส ๆ ที่ทำมาจากซิลิโคน เราสามารถปิดไว้บนบาดแผล หลังจากบาดแผลหายดีแล้วประมาณ 7 วัน การปิดแผลนี้แนะนำให้ปิดตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งข้อดีจะทำให้บริเวณผิวหนังที่อยู่ใต้แผ่นซิลิโคนนี้มีความชุ่มชื้นมากขึ้น ทำให้ลดการอักเสบได้
  2. ใช้แผ่นเทปเหนียว หรือ microporous tape แผ่นเทปเหนียวนี้สามารถใช้ปิดลงบนบาดแผลได้โดยตรง และจะทำให้ผิวหนังบริเวณใต้ต่อเทปนี้มีความชุ่มชื้นมากขึ้น ทำให้มีการอักเสบลดน้อยลง
  3. การฉีดยาด้วยยาสเตียรอยด์ จะลดการอักเสบของการเกิดเป็นแผลเป็นนูนเกินหรือคีลอยด์ได้ ยาที่แนะนำคือ Triamcinolone acetonide ซึ่งเป็นยาฉีดเฉพาะที่ สามารถลดการอักเสบ วิธีการรักษาคือฉีดยาเข้าไปในแผลเป็นโดยตรง แต่ก็อาจทำให้มีอาการเจ็บได้พอสมควรในระหว่างการฉีดยา จะแนะนำให้ฉีดแผลเป็นนี้ในช่วงระยะประมาณไม่เกิน 1 ปีแรกหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่แล้วจะนัดมาฉีดประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งความถี่ในการฉีดขึ้นอยู่กับการตอบสนองของยาว่าเป็นอย่างไร วิธีนี้ต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น
  4. การผ่าตัด การผ่าตัดมีอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับรูปแบบของแผลเป็นนั้น ถ้าเป็นกรณีที่เกิดเป็นแผลเป็นนูนเกินหรือคีลอยด์ เราก็อาจจะใช้วิธีตัดออก หรือว่าลดขนาดลงบางส่วน วิธีนี้อาจจะใช้ร่วมกับการรักษาโดยวิธีอื่น เช่น การฉีดยา หรือการปิดด้วยแผ่นซิลิโคนก็ได้

หมายเหตุ แผ่นซิลิโคน และ แผ่นเทปเหนียว ถูกจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ดังนั้น ควรสังเกตเลขที่ใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์ก่อนซื้อทุกครั้ง

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

กระชับหน้าท้องหลังคลอดลูกให้แบนราบด้วยเทคนิคง่ายๆ

เมนูอะโวคาโดลูกเหลืออย่าทิ้ง!รู้ไหมช่วยแม่ รักแร้ขาว ได้

แนะนำเมนูสำหรับคุณแม่หลังคลอด ลดอาการเจ็บปวด+ฟื้นฟูร่างกาย+กระตุ้นน้ำนม

ผักผลไม้เพิ่มน้ำนม 20 ชนิด เพิ่มน้ำนมให้คุณแม่

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, health.mthai.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up