ปั๊มน้ำนม power pumping

วิธี ปั๊มน้ำนม แบบ power pumping เพิ่มน้ำนมได้จริงหรือ?

event
ปั๊มน้ำนม power pumping
ปั๊มน้ำนม power pumping

ปั๊มน้ำนม วิธีไหนที่สามารถเพิ่มน้ำนมแม่เป็นทวีคูณ วิธี power pumping (pp) ช่วยเพิ่มน้ำนมได้ดีกว่าแบบปกติจริงหรือ แม่น้ำนมหด น้ำนมน้อย มามุงกันได้เลยที่นี่!

วิธี ปั๊มน้ำนม แบบ power pumping เพิ่มน้ำนมได้จริงหรือ?

มหัศจรรย์นมแม่

น้ำนมแม่ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีประโยชน์มากมายต่อลูกน้อย และรู้หรือไม่ว่า ในนมแม่นั้นยังมีความจำเพาะกับแม่และลูก นมแม่ที่ผลิตขึ้นในแต่ระยะการเจริญเติบโตของลูกน้อยนั้น จะมีปริมาณสารอาหารที่แตกต่างตามความต้องการของร่างกายในแต่ละช่วงวัยของเด็ก นอกจากนั้นระบบภูมิคุ้มกันของทารกยังไม่สมบูรณ์ ทารกจะมีภูมิคุ้มกันโดยรับแอนติบอดี้ต่างๆ ตามที่แม่สร้างขึ้นผ่านทางนมแม่ นมแม่จึงช่วยให้ทารกสามารถปรับตัวสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อปกป้องตนเองจากสภาวะแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอได้ นมแม่จึงถือเป็นอาหารและยาที่ดีที่สุดของลูก

น้ำนมแม่มหัศจรรย์
น้ำนมแม่มหัศจรรย์

การปั๊มน้ำนม เป็นวิธีเก็บสำรองนมแม่ที่สะดวก ประหยัดเวลาในการให้นมลูก  และยังช่วยให้คุณแม่หมดกังวลเรื่องปริมาณนมที่อาจไม่เพียงพอเมื่อให้นมจากเต้า สามารถเก็บไว้ให้ลูกได้ดื่มภายหลังช่วยให้ไม่ขาดตอน นอกจากนี้ ในกรณีที่ไม่ว่างหรือต้องไปทำงานนอกบ้าน ผู้ที่รับหน้าที่แทนก็ป้อนนมให้เด็กได้ทันที สิ่งสำคัญคือคุณแม่ควรเรียนรู้วิธีการปั๊ม และการเก็บรักษานม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกน้อยได้รับนมที่มีคุณภาพ และยังเป็นผลดีต่อสุขภาพเต้านมของตัวคุณแม่เองด้วย

การปั๊มนมยังมีข้อดีอีกหลายประการ เช่น

  • ช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนม ส่งผลให้คุณแม่มีปริมาณน้ำนมเพิ่มมากขึ้น
  • ช่วยเก็บสำรองนมแม่ไว้ให้ทารก ในกรณีที่คลอดก่อนกำหนดหรือแม่ให้นมจากเต้าโดยตรงไม่ได้
  • ช่วยเก็บสำรองนมแม่ ในกรณีที่แม่อาจต้องหยุดให้นมเนื่องจากใช้ยาหรือรับการรักษาที่ส่งผลต่อคุณภาพและการปนเปื้อนของน้ำนมแม่
  • ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากการคัดเต้านม แต่หากปั๊มนมมากเกินไปในช่วงที่คัดเต้านมอาจทำให้อาการเจ็บยิ่งรุนแรงขึ้นได้

ควรเริ่มปั๊มนมเมื่อใด ?

การปั๊มนมควรเริ่มหลังคลอดบุตร โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องน้ำนมไม่เพียงพอ อาจเริ่มปั๊มนมทันทีหลังคลอด เพราะจะช่วยให้น้ำนมไหลออกมามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้เด็กเรียนรู้การดูดนมจากขวดเร็วเกินไป เพราะอาจทำให้เด็กสับสนและติดดูดนมจากขวด ทว่าอาการนี้อาจไม่เกิดขึ้นเสมอไป เด็กบางคนปรับตัวได้ดี ทำให้ดูดนมจากเต้าและขวดนมสลับกันได้โดยไม่มีปัญหา

ทั้งนี้ หากคุณแม่ไม่ได้เริ่มปั๊มนมตั้งแต่หลังคลอด และต้องกลับไปทำงานหลังครบกำหนดลาคลอด ควรเริ่มฝึกปั๊มนมอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ก่อนหน้า โดยอาจปั๊มนมหลังจากให้นมลูกเรียบร้อยแล้วหรือปั๊มระหว่างให้นมเลยก็ได้ การฝึกปั๊มนมจะช่วยให้คุณแม่เรียนรู้วิธีปั๊มนมได้อย่างถูกต้อง และยังเป็นการเริ่มเก็บสำรองน้ำนมไว้สำหรับลูกน้อยเมื่อถึงเวลาต้องกลับไปทำงาน

ข้อมูลอ้างอิงจาก pharmacy.mahidol.ac.th/pobpad.com
ปั๊มน้ำนม ช่วยกระตุ้นเพิ่มนมแม่
ปั๊มน้ำนม ช่วยกระตุ้นเพิ่มนมแม่

Power Pumping เทคนิคกระตุ้นน้ำนม..ปั๊มแล้วพักน้ำนมเพิ่ม

คุณแม่ที่น้ำนมน้อย หรือน้ำนมหดน้อยลง อาจเนื่องด้วยภารกิจที่ยุ่งเหยิงประจำวันทำให้จำใจต้องปล่อยให้เต้านมคัดอยู่บ่อยครั้ง จนปริมาณน้ำนมลดน้อยลง วันนี้ ทีมแม่ ABK ได้นำเทคนิคปั๊มนมแบบใหม่ ปั๊มแล้วพัก เป็นเทคนิคการเพิ่มน้ำนมโดยวิธีการที่เรียกว่า power pumping(pp)
หลักการของ pp (power pumping) คือการเลียนแบบการดูดบ่อย ๆ ของลูกในช่วงที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว หรือบางครั้งที่ลูกป่วยรับประทานอาหารอื่นไม่ได้เลย จึงเกาะเต้าแม่ดูดนมแม่ตลอดเวลา เป็นเวลาต่อเนื่องกัน 2-3 วันในช่วงที่ป่วย ทำให้คุณแม่ทราบว่าหลั่งจากนั้นปริมาณน้ำนมจะเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน หรือเรียกได้ว่าเป็นการหลอกร่างกายให้ผลิตน้ำนมด้วยการปั๊มน้ำนมนั่นเอง
 5 วิธีการเพิ่มน้ำนมแบบ PP  
การทำ pp มีหลายวิธี  หลายสูตร ซึ่งทั้งหมดก็อาศัยหลักการคือ ทำการปั๊มน้ำนมบ่อย ๆ ในช่วงเวลาหนึ่งของวัน ปั๊มแล้วพัก เพื่อกระตุ้นน้ำนม

วิธีที่ 1 ปั๊มสองข้าง วันละรอบ สูตร 20:10:10:10:10

วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด อาจเพราะระยะเวลาในการปั๊มน้ำนมเพียงวันละหนึ่งรอบ แต่คุณแม่ต้องมีอุปกรณ์ปั๊มนม 2 เครื่อง เพื่อใช้ในการปั๊มทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน โดยมีวิธีการทำ ดังนี้
  1. เตรียมเครื่องปั๊มนม 2 เครื่อง โดยทำการปั๊มน้ำนมสองข้างพร้อมกัน
  2. รอบในการปั๊มใช้สูตร ปั๊ม 2 ข้างปั๊มนาน 20 นาที พัก 10 นาที ปั๊ม 10 นาที พัก 10 นาที ปั๊ม 10 นาที รวมเป็นเวลา 60 นาทีต่อการทำ pp 1 รอบ เพียงวันละรอบ
  3. จำเป็นต้องปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้า ป้องกันการเกิดท่อน้ำนมอุดตัน อาจใช้มือบีบให้เต้าเกลี้ยง และยังเป็นการช่วยให้สร้างน้ำนมใหม่ได้อย่างเต็มที่ในครั้งต่อไป
  4. ทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน ประมาณ 3-7 วัน จะเห็นได้ชัดเจนว่าน้ำนมมาเพิ่มขึ้น

    ปั๊มน้ำนม เพิ่มน้ำนมให้ลูกมีกินไม่ขาดตอน
    ปั๊มน้ำนม เพิ่มน้ำนมให้ลูกมีกินไม่ขาดตอน

วิธีที่ 2  ปั๊มสูตร 10:10:10 x 2 รอบ

วิธีนี้จะดีต่อคุณแม่ที่ไม่ค่อยมีเวลา ไม่มีเวลาต่อเนื่องถึง 1 ชั่วโมง แบบวิธีแรก โดยการแบ่งปั๊มเป็น 2 รอบ ครั้งละเพียง 30 นาที ดังนี้
  1. เตรียมเครื่องปั๊มน้ำนม 2 เครื่อง โดยทำการปั๊มทั้งสองข้างพร้อมกัน
  2. ปั๊มน้ำนมเป็นรอบ โดยปั๊มรอบหนึ่งแล้วพัก หรือเริ่มปั๊มอีกรอบตามเวลาที่สะดวก
  3. รอบในการปั๊มใช้สูตร ปั๊ม 2 ข้างโดยปั๊ม 10 นาที พัก 10 นาที ปั๊ม 10 นาที รวมเป็นเวลา 30 นาทีต่อการทำ pp 1 รอบ
  4. ทำแบบนี้ 2 รอบต่อวัน ทำต่อเนื่องทุกวัน

วิธีที่ 3 ปั๊มพร้อมนำลูกเข้าเต้า

สำหรับวิธีนี้เหมาะกับบ้านไหนที่มีเครื่องปั๊มนมเพียงเครื่องเดียว หรือคุณแม่ที่มีเวลาอยู่กับลูก สามารถนำลูกเข้าเต้าได้ ก็สามารถใช้วิธีปั๊มข้างหนึ่ง ขณะที่ให้ลูกดูดนมอีกหนึ่งข้าง ปั๊มนานเท่าเวลาที่ลูกดูดจนอิ่มเกลี้ยงเต้า ทำต่อเนื่องทุกวัน หากคุณแม่ที่กลัวลูกดูดนมข้างเดียวไม่อิ่ม หรือน้ำนมน้อย ก็สามารถให้ลูกดูดนมข้างแรกก่อน เมื่อสลับไปอีกข้างจึงค่อยนำเครื่องปั๊มนมมาปั๊มข้างที่ลูกดูดไปแล้วก็ได้เช่นกัน

วิธีที่ 4 เครื่องปั๊ม+ ขวดสูญญากาศ

เป็นวิธีสำหรับคุณแม่ที่มีเครื่องปั๊มเพียงเครื่องเดียว และไม่ได้อยู่กับลูก ไม่สามารถนำลูกเข้าเต้าได้ตลอด ก็ยังสามารถเพิ่มน้ำนมด้วยวิธี ppนี้ได้เช่นกัน โดยการปั๊มข้างขวา 10 นาทีส่วนข้างซ้ายเอาขวดสูญญากาศมาแปะเอาไว้ ต่อมาย้ายมาปั๊มข้างซ้ายนาน 10 นาทีย้ายขวดสูญญากาศมาแปะไว้ที่ด้านขวา ต่อมาย้ายกลับมาปั๊มที่ข้างขวา รวมทั้งสิ้นหกรอบ รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง

ปั๊มน้ำนม วิธี pp ช่วยเพิ่มน้ำนม
ปั๊มน้ำนม วิธี pp ช่วยเพิ่มน้ำนม

วิธีที่ 5 ปั๊มน้ำนมปกติ แต่เพิ่มความถี่

เป็นเรื่องปกติที่แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะต้องทำการปั๊มน้ำนมเก็บไว้ให้ลูกได้มีน้ำนมตลอด วิธีการปั๊มนมวิธีนี้จะคล้ายการปั๊มนมปกติ แต่ทำถี่ขึ้น จากทุก 3-4 ชั่วโมง เปลี่ยนเป็นทุก 1-2 ชั่วโมง เป้าหมายคือปั๊มให้ได้ 10 ครั้งต่อวัน ทำต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 วันโดยมีวิธีการ ดังนี้
  1. ถ้าเลือกปั๊มนมทุก 1 ชั่วโมง ให้ปั๊มนาน 10 นาที
  2. ถ้าเลือกปั๊มนมทุก 2 ชั่วโมง ให้ปั๊มนาน 15 นาที
จะเห็นได้ว่าไม่ว่าคุณแม่จะเลือกวิธีแบบไหน เป้าหมายหลักของการเพิ่มน้ำนมด้วยวิธี pp นี้ คือการกระตุ้น ปั๊มนมให้ได้อย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปั๊มนมแบบ pp ไม่ได้ใช้เวลาทั้งวัน คุณแม่บางคนอาจเลือกเวลาที่สะดวก ซึ่งแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แตกต่างกันไป เช่น เวลาที่ลูกหลับ ไม่ว่าจะเป็นเวลาหลังเที่ยงคืนหรือตอนเช้ามืด หรือบางคนใช้วิธีมาถึงที่ทำงานก่อนเวลาเพื่อทำ pp หรือบางคนใช้เวลาพักเที่ยง 1 ชั่วโมงทำ pp ไปด้วยทานข้าวกลางวันไปด้วย เป็นต้น
power pumping เพิ่มน้ำนม?
power pumping เพิ่มน้ำนม?

ปั๊มน้ำนม แบบ power pumping เพิ่มน้ำนมได้จริงหรือ?

กับระยะเวลาในการปั๊มน้ำนม 1 ชั่วโมงต่อรอบ ถือว่าต้องใช้เวลาพอสมควร ทำให้คุณแม่อยากรู้ว่าวิธีนี้จะเพิ่มน้ำนมได้จริงไหม? ก่อนอื่นเรามาดูปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในการเพิ่มน้ำนม ดังนี้

  • เด็กอายุเกิน 5 เดือน ปริมาณน้ำนมแม่มักจะอยู่ตัว อาจส่งผลให้การเพิ่มน้ำนมไม่ชัดเจนเท่ากรณีที่ลูกอายุน้อยกว่านี้ แต่มิได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเพิ่มน้ำนมแม่ด้วยวิธีนี้เลย เพียงแต่โอกาสในการสำเร็จจะน้อยลงเท่านั้น
  • พยายามทำให้น้ำนมออกมาได้เกลี้ยงเต้า หลังการปั๊มนมทุกครั้งควรใช้มือบีบไล่น้ำนมออกให้เกลี้ยงเต้า ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมได้ดีกว่า
  • หลักการสำคัญของการกระตุ้นเพิ่มน้ำนมวิธีนี้อยู่ที่การทำอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยที่สุดควรมีเวลาทำติดต่อกัน 3 วัน ส่วนมากจะเห็นผลในการทำติดต่อกัน 7 วันขึ้นไป
  • หากคุณทำทุกวิธีการแล้วยังคงไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมจากเดิมได้ คุณแม่อาจอยู่ใน 5% ของผู้หญิงที่มีปริมาณต่อมน้ำนมน้อย แต่การกระตุ้นน้ำนมด้วยวิธี pp ก็สามารถช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมเต็มขีดความสามารถของร่างกายแล้ว คิดเสียว่าการที่ลูกได้รับนมแม่บ้าง แม้ต้องเสริมด้วยนมผง ก็ยังดีกว่าการที่ลูกไม่ได้รับนมแม่เลย

นอกจากปัจจัย และวิธีการที่ถูกต้องในการกระตุ้นเพิ่มน้ำนมแม่ด้วยวิธี power pumping ที่เราได้มอบให้คุณแม่ที่ตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว ทางทีมแม่ ABK ขอเป็นกำลังใจแก่คุณแม่ทุกท่านที่อยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกน้อย ให้สามารถทำได้ประสบความสำเร็จสมดั่งตั้งใจ และนอกจากกำลังใจที่มีให้แล้ว เรายังมีเคล็ดลับดี ๆ จากคุณหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด มากฝากกัน เพื่อให้การทำ power pumping เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ง่ายขึ้น

แม่จ๋า อย่าพึ่งเครียด อาจทำให้น้ำนมหด
แม่จ๋า อย่าพึ่งเครียด อาจทำให้น้ำนมหด
เคล็ดลับทำให้ pp เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ง่ายขึ้น
  1. หากตารางการปั๊มนมเป็นการปั๊มแบบปกติ การล้างและนึ่งอุปกรณ์ทุกครั้งหลังใช้ เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ถ้าเป็นการทำ pp ซึ่งเป็นการปั๊มทุก 10 นาที อนุโลมให้ล้างและนึ่งเหมือนปกติ เวลาที่ไม่ได้ใช้ ให้เก็บในภาชนะสะอาดและเข้าตู้เย็นหรือกระเป๋าเก็บความเย็น และล้างมือทุกครั้งก่อนทำการปั๊มนมหรือให้นมลูก

  2. ใช้เครื่องปั๊มนมไฟฟ้าแบบ 2 ข้าง ถึงแม้ว่าการมีแบบข้างเดียวก็ทำ pp ได้ แต่ผลลัพธ์ไม่ดีเท่า 2 ข้าง

  3. ใช้เสื้อในแบบให้นมโดยไม่ต้องจับ จะทำงานอื่นไปด้วยได้

  4. หลังทำ pp ควรบีบด้วยมือต่อให้เกลี้ยงเต้า

  5. ก่อนปั๊มทุกครั้ง ควรทาลาโนลินบางๆเคลือบลานนมหัวนม เพื่อป้องกันไม่ให้บาดเจ็บจากการใช้งานหนัก

  6. เวลาปั๊มอย่ามองปริมาณน้ำนมในขวด จะได้ไม่เครียด ความเครียดจะทำให้น้ำนมลด!!! ให้ดูซีรีย์หรืออ่านหนังสือที่ชอบ

  7. การเลือกเวลาที่ทำ pp ให้เลือกเวลาที่ลูกหลับหรือมีคนอื่นอยู่คอยดูแลลูกแทน จะได้ไม่ถูกขัดจังหวะแผนการปั๊มตามเวลา

  8. จำไว้ว่า pp คือการเลียนแบบพฤติกรรมทารกที่บางครั้งขอกินตลอดเวลา เช่น ช่วง growth spurt หรือช่วงป่วยแล้วทานอาหารอื่นไม่ได้เลย คุณแม่แต่ละท่านจะเลือกวิธีใดก็ได้ที่เหมาะสมกับบริบทของตัวเอง หรือจะลองทำทุกๆวิธีแล้วเปรียบเทียบดูว่า วิธีไหนเหมาะกับตัวเอง

  9. อย่าสูญเสียความหวัง บางคนน้ำนมเพิ่มขึ้นภายในเวลาไม่กี่วัน บางคนนานถึง 2 สัปดาห์ ขอให้ทำต่อเนื่อง ดื่มน้ำและทานอาหารให้ครบ

  10. ชื่นชมตัวเองว่า คุณเป็นแม่ที่ยอดเยี่ยมแล้ว คุณทำดีที่สุดแล้ว คุณรักลูกไม่น้อยกว่าคุณแม่ท่านอื่นที่มีน้ำนมให้ลูกกินมากมาย

ข้อมูลอ้างอิงจาก FB: สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

4 วิธีกระตุ้นนมแม่ อย่างได้ผลดี ไม่เหนื่อย ไม่เจ็บ

ตารางความถี่ในการให้นมลูก คัมภีร์ป้อนนม เพื่อแม่มือใหม่โดยเฉพาะ!

ทำอย่างไรดี ? ท่อน้ำนมอุดตันเพราะ “ไวท์ดอท (white dot)” !!

9 ผลไม้เพิ่มน้ำนม แม่หลังคลอดน้ำนมน้อย ต้องกิน!

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

keyboard_arrow_up