ถูกยายหยิก

ลูก 3 ขวบบอกว่า ถูกยายหยิก เชื่อใครดีคะ…คุณหมอ?

Alternative Textaccount_circle
event
ถูกยายหยิก
ถูกยายหยิก

ลูก 3 ขวบเศษ โทรมาร้องไห้บอกว่า “ถูกยายหยิก” แต่พอโทรกลับไปหาคุณยาย คุณยายบอกว่า “ไม่ได้หยิก เพียงทำท่าจะตี” คุณแม่ตกใจโอ๊ย…. อกคุณแม่จะแตก ถามว่า “จะเชื่อใครดีระหว่างแม่ตัวเองกับลูกของตน”

รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้ให้คำแนะนำ ไว้ดังนี้

โดยคุณหมอพงษ์ศักดิ์ เล่าว่า…

คงเป็นเรื่องตัดสินใจยากนะครับ สำหรับคนที่อยู่ตรงกลาง แต่ในความเป็นจริงไม่ว่าคุณแม่เลือกที่จะเชื่อใคร ก็คงต้องมีคนใดคนหนึ่ง ระหว่างลูกและคุณยายที่พูดไม่ตรงกับความเป็นจริง ที่เราเรียกกันว่า “พูดไม่จริง พูดปด หรือ โกหก” แล้วแต่ใครจะเรียกให้ฟังดูรุนแรงกว่ากัน คนที่ถูกตัดสินว่า พูดไม่จริงคงเสียใจ ขณะที่คนซึ่งถูกตัดสินว่าพูดจริง คงกระหยิ่มยิ้มย่องในใจว่า “เห็นไหมในที่สุด ฉันก็ชนะ” โดยที่คุณแม่เองไม่มีทางทราบได้เลยว่า เรื่องจริง คือ อะไร เว้นแต่ทั้งสองคนจะพูดไปในทิศทางเดียวกัน เพราะ คุณแม่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ไม่จำเป็นต้องตัดสินว่า ใครถูก? ใครผิด?

มาถึงตรงนี้ คุณแม่ลองทบทวนดูนะครับว่า ถ้าเราต้องการคำตอบว่า ใครถูก ใครผิด จะได้ประโยชน์อะไรมากน้อยเพียงไร หรือเราไม่จำเป็นต้องเชื่อใคร โดยไม่ต้องตัดสินว่า ใครพูดจริง ใครพูดไม่จริง แต่นำข้อมูลที่เราได้รับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาลูกของเรา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเพื่อส่งเสริมทักษะแต่ละด้านหรือพัฒนา Power BQ ความสามารถที่เพิ่มพลังให้กับลูกในยุคนี้ ที่ผมเคยเล่าให้ฟังมาก่อนหน้านี้แล้ว  รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตร่วมกันในครอบครัวที่เรียกว่า การส่งเสริมทักษะทางสังคมที่ดีซึ่งเป็นหนึ่งใน Power BQ นั่นเองครับ

หาทางส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของลูกแทนดีกว่า

นี่คงเป็นหนึ่งในตัวอย่างการใช้ชีวิตรอบตัวที่เราสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดให้กับลูกได้มากมายโดยไม่ต้องตัดสินว่า ใครพูดจริง ใครพูดไม่จริง

เช่น เมื่อลูกมาเล่าว่า ถูกยายหยิก คุณแม่ลองพูดคุยกับลูกดีไหมครับว่า

  • “คุณยายหยิกหนูตรงไหน”
  • “หนูเจ็บไหม”
  • “หนูรู้สึกอย่างไร”
  • “ทำไมคุณยายถึงหยิกหนู”
  • “หนูทำอะไรให้คุณยายไม่พอใจ”
  • “ถ้าหนูไม่อยากให้คุณยายหยิก หนูควรทำอย่างไรดี”

จากคำถามสั้นๆ ง่ายๆ ที่เหมาะสมกับวัย สามารถส่งเสริมให้ลูกได้พัฒนาทั้งทักษะทางภาษา อีคิว ทักษะทางปัญญา เรียกว่าส่งเสริมลูกได้อย่างรอบด้านของ Power BQ เลยนะครับ

เป็นแบบอย่างที่ดีในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นอกจากคำถามเพื่อฝึกให้ลูกได้ทบทวนเหตุการณ์ ฝึกทักษะการสื่อสารโต้ตอบ ทักษะการคิดวิเคราะห์ หรือทักษะสำคัญอื่นแล้ว คุณแม่ยังสามารถส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้ผ่าน การเป็นแบบอย่างที่ดีในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยนะครับ เช่น แสดงอาการตอบสนองความไม่พอใจที่มีต่อคุณยายของลูกด้วยท่าทีที่สงบ ไม่แสดงออกเหมือนกระต่ายตื่นตูม หรือตัดสินถูกผิด ซึ่งจะเป็นแบบอย่างของการควบคุมอารมณ์ความรู้สึกที่ดีหรืออีคิว

การฝึกฝนทักษะเหล่านี้ ไม่ได้แตกต่างจากการส่งเสริมพฤติกรรมพึงประสงค์และการตอบสนองต่อพฤติกรรมไม่พึงประสงค์อื่นเลยนะครับ เมื่อลูกบอกเรา จะเชื่อหรือไม่เชื่อ คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากไปกว่า การนำเรื่องราวมาฝึกฝนพัฒนาทักษะของลูก คุณแม่จะเห็นได้ว่า การซักถามลูก เมื่อลูกเล่าได้รู้เรื่อง เรียบเรียงเรื่องราวได้ดี ก็ชื่นชมสิ่งที่เขาทำ

  • “หนูเก่งมากเลยที่เล่าเรื่องราวให้แม่เข้าใจได้”
  • “หนูเก่งมากเลยที่บอกความรู้สึกของหนูให้แม่ฟังได้”
  • “หนูเก่งมากเลยที่หนูควบคุมตัวเองได้ ไม่หยิกคุณยายคืน”

ลูกจะเรียนรู้ว่า พฤติกรรมที่เขาทำนั้นเป็นสิ่งที่ดีและพึงประสงค์สำหรับคุณแม่ เขามีโอกาสรักษาทักษะด้านนั้นไว้ได้มาก และพัฒนาตัวเองให้เก่งในทักษะด้านนั้นให้มากขึ้น

วิธีพูดให้ลูกทำตาม

ถ้าลูกทำได้ไม่ดีคุณแม่ก็สังเกตให้ได้ว่า ลูกทำได้ไม่ดีตรงไหน ทำไมยังทำได้ไม่ดี มีอะไรที่จะพัฒนาต่อยอดต่อไปได้ด้วยวิธีอย่างไร เช่น เขายังอธิบายเรื่องราวได้ไม่ปะติดปะต่อ

  • ถ้าเหมาะสมกับวัยที่ยังทำได้ไม่ดีนัก ก็ให้โอกาสเขาทำซ้ำให้บ่อยครั้ง อีกไม่นานเขาก็มีโอกาสพัฒนาต่อยอดได้ไม่ยาก
  • หากทักษะที่เขามีดูล่าช้ากว่าวัย ก็อาจหาวิธีช่วยที่มากขึ้นเข้มข้นขึ้น เพื่อให้เขาพัฒนาได้ใกล้เคียงเด็กคนอื่นในรุ่นราวคราวเดียวกัน เช่น ทำให้ดูเป็นแบบอย่าง ชี้ชวนให้ดูเวลาเห็นผู้อื่นปฏิบัติอย่างเหมาะสม สร้างสถานการณ์จำลองให้ลูกฝึกปฏิบัติจากง่ายไปยาก  หรือแม้แต่ผ่านการเล่นด้วยกันไม่ว่าจะมีของเล่นหรือไม่ เมื่อทำได้ก็เสริมแรงด้วยคำชม หรือรางวัลเล็กน้อยที่ไม่มากเกินไป

สิ่งสำคัญนอกจากการวางแผนและใช้วิธีที่ดีในการส่งเสริมแล้ว คุณแม่ยังต้องพัฒนาทักษะของตนเองในการติดตามและประเมินผลความก้าวหน้าของพัฒนาการที่เราต้องการให้ลูกพัฒนาด้วยนะครับว่า สิ่งที่เราลงทุนลงแรงให้กับลูก เขามีพัฒนาการดีขึ้นมากน้อยเพียงไร หากยังล่าช้าอยู่ หรือล่าช้ามากขึ้น น่าจะต้องพาไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญครับ เริ่มจากกุมารแพทย์ที่ดูแลน้องอยู่ก่อนก็ได้ครับ หากคุณหมอได้ประเมินความสามารถและพัฒนาการของน้องแล้ว คุณแม่ก็จะได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับน้องแต่ละคนที่อาจมีความแตกต่างกัน ทั้งตัวเขาเอง สิ่งแวดล้อม หรือบริบทครอบครัวและสังคมครับ

มาถึงตรงนี้ พูดจริงหรือพูดไม่จริง คงไม่ใช่ประเด็นแล้วใช่ไหมครับ สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของลูกอย่างแน่นอน คือ คุณแม่จะนำสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันที่เราได้ประสบพบเห็นจากการใช้ชีวิตร่วมกับลูก มาพัฒนาให้เขามี Power BQ ที่ดีได้อย่างไร ซึ่งน่าจะตอบโจทย์ของการส่งเสริมพัฒนาการให้กับลูกได้อย่างรายวันเลยครับ เป็นกำลังใจให้กับคุณแม่ทุกท่านเลยนะครับ

ขอบคุณบทความโดย : รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช


Power BQ (Power Baby and Kids Quotients) เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการนำทักษะ หรือความสามารถ หรือความฉลาดในด้านที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ของเด็กตั้งแต่วัยแบเบาะ ไปจนถึงช่วงที่พัฒนาการของเด็กเริ่มมีความสมบูรณ์มากขึ้น มาเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปส่งเสริมเพิ่มพูนให้กับลูกเพิ่มขึ้นเพื่ออนาคตที่ดีของเขา มีทั้งหมด 10 ทักษะ

1. ความฉลาดทางสติปัญญา IQ 
2. ความฉลาดทางอารมณ์ EQ 
3. ความฉลาดทางคุณธรรม MQ
4. ความฉลาดของการเข้าสังคม SQ
5. ความฉลาดในการคิดสร้างสรรรค์ CQ 
6. ความฉลาดในการเล่น PQ
7. ความฉลาดต่อการเผชิญกับปัญหา AQ 
8. ความฉลาดต่อการมีสุขภาพที่ดี HQ
9. ความฉลาดในการคิดบวก OQ
10. ความฉลาดในการคิดเป็น TQ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

เรียนออนไลน์ก็ “สอนลูกซื่อสัตย์ ไม่โกง” ได้

ลูกไม่กินข้าว ทําไงดี? หมอแนะ 10 วิธีรับมือเมื่อลูกไม่ยอมกินข้าว

เล่นอะไรให้ลูกฉลาด หมอแนะ! วิธีเล่นกับลูกตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี

ลูกเลียนแบบพ่อแม่ พฤติกรรมเลียนแบบของเด็กสั่งจากสมอง! หนูรู้ หนูจำได้

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up