กฎ 3 นาทีสร้างความ ผูกพัน ครอบครัว

นักจิตวิทยาแนะกฎ 3นาทีเพิ่มความ ผูกพัน แม่ลูก

Alternative Textaccount_circle
event
กฎ 3 นาทีสร้างความ ผูกพัน ครอบครัว
กฎ 3 นาทีสร้างความ ผูกพัน ครอบครัว

พ่อแม่ยุคใหม่กับหน้าที่การงานที่แสนยุ่งแล้วจะแบ่งเวลาไหนสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกละ มาดูกฎ 3 นาทีที่จะช่วยให้คุณและลูกมีความ ผูกพัน ที่แน่นแฟ้นขึ้นแม้งานยุ่ง

นักจิตวิทยาแนะกฎ 3 นาทีเพิ่มความ ผูกพัน กับลูกให้แน่นแฟ้น!

จิตวิทยา คือ ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ เป็นเหมือนกับการไขความลับของการกระทำของมนุษย์ว่า เหตุใด เงื่อนไข หรือปัจจัยใดที่ส่งผลให้มนุษย์เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ เมื่อเรารู้ถึงกระบวนการการเกิดพฤติกรรมแล้ว การจะพัฒนาพฤติกรรมที่พึงประสงค์ หรือแม้แต่การลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ก็พอจะมีแนวทาง กระบวนการให้นำไปสู่พฤติกรรมที่เราคาดหวังไว้ได้ไม่ยาก

ความผูกพัน เป็นคำที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของคนสองคน หรือมากกว่า ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้ระยะเวลาในการสะสม ก่อร่างประสบการณ์ต่าง ๆ ร่วมกันจนเกิดเป็นความผูกพันระหว่างกัน ดังเช่น ความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ก็มักจะก่อร่างสร้างกันมาเสียตั้งแต่ในท้อง ตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่แม่ได้อุ้มท้องลูกมา ความผูกพันระหว่างแม่กับลูกก็ได้ก่อเกิดเรื่อยมาจนถึงวันที่ลูกลืมตาดูโลก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจสำหรับการสร้างความผูกพันระหว่างแม่กับลูกน้อยในช่วงเวลานี้ แต่กับสภาพสังคมปัจจุบันที่ล้วนแล้วแต่เร่งรีบ วิถีชีวิตที่วุ่นวายรัดตัว ทำให้เรามีเวลาให้แก่ครอบครัว แก่ลูกของเราน้อยลงทุกวัน  แล้วความผูกพันระหว่างพ่อแม่กับลูกจะเป็นอย่างไรต่อไปเมื่อเรากลับเข้าสู่โหมดทำงาน และลูกก็ต้องเข้าสู่วัยเรียน ในช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายมีเวลาให้แก่กันละกันน้อยลง

ความ ผูกพัน แม่ลูกเริ่มตั้งแต่ในท้อง
ความ ผูกพัน แม่ลูกเริ่มตั้งแต่ในท้อง

เชื่อหรือไม่ว่า…นักจิตวิทยา Natalya Sirotich หัวหน้าศูนย์การทำงานกับเด็กและเยาวชนCaritas-Kiev ประเทศรัสเซีย ได้แบ่งปันวิธีง่าย ๆ แต่มีประสิทธิภาพที่ช่วยให้พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถหาเวลาพูดคุย และสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีขึ้นได้ง่าย ๆ เพียงใช้เวลาแค่ 3 นาที เรียกแนวคิดนี้ว่า “กฎ 3 นาที”

กฎ 3 นาที

คือ การปฎิบัติของพ่อแม่เมื่อถึงเวลาเจอหน้าลูกในครั้งแรกหลังจากที่พวกคุณจากกันเป็นระยะเวลานาน (นานในที่นี้คือ ต่อให้เดินไปหน้าปากซอย 10 นาทีก็ถือว่านานนะ) โดยพ่อแม่จะแสดงออกด้วยความสุข ความสนใจ และความกระตือรือร้นอย่างเต็มที่ (เหมือนดั่งเช่นเดียวกับความรู้สึกที่คุณจะได้พบกับเพื่อนที่คุณอยากเจอ และไม่ได้เห็นกันมานานหลายปีแบบใดแบบนั้นเลยทีเดียว) ไม่ว่าคุณจะกลับจากที่ทำงานอันแสนเหน็ดเหนื่อย หรือวันที่คุณวิ่งออกไปเจอะเจอเรื่องวุ่นวาย แสนเครียดแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อกลับมาเจอหน้าลูก สิ่งแรกที่ควรทำคือ การถามไถ่ และรับฟังอย่างตั้งใจว่า “วันนี้ไปเจออะไรมาบ้างจ๊ะ?” เพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้น แล้วความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกจะแน่นแฟ้นไม่จางหายจนเขาเติบโตเลยทีเดียว

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

ในทางจิตวิทยาแล้ว สามารถค้นพบได้ว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับความสัมพันธ์ไม่ใช่ระยะเวลาที่ยาวนานที่ใช้ร่วมกัน แต่เป็นคุณภาพเสียมากกว่า แม้ว่าพ่อแม่จะทุ่มเวลาทั้งหมดที่มี แต่ระหว่างที่อยู่ร่วมกันต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำกิจกรรมของตัวเอง ถึงนั่งอยู่ด้วยกันนานแค่ไหนก็เสมือนไม่ได้ใกล้กันเลย สำหรับเด็กแล้ว การสนทนาด้วยความใส่ใจเพียงไม่กี่นาทีจะมีความหมายต่อลูกมากกว่าการใช้เวลาร่วมกันทั้งวันในระหว่างที่คุณไม่ได้ปฎิสัมพันธ์ร่วมกันกับลูกเลย

เวลาที่จะสร้างความ ผูกพัน ในครอบครัวน้อยลง
เวลาที่จะสร้างความ ผูกพัน ในครอบครัวน้อยลง

สถิติบอกว่าพ่อแม่สมัยใหม่อุทิศเวลาโดยเฉลี่ยวันละหนึ่งชั่วโมงครึ่งเพื่อสื่อสารกับเด็ก ๆ นี่เป็นตัวบ่งชี้ที่ดีทีเดียว สิ่งที่ต้องใส่ใจเพิ่มขึ้นจากการแบ่งเวลาให้แก่ลูกบ้าง นั่นคือการดูแล ใส่ใจ และทำให้ลูกรับรู้ได้ถึงความตั้งใจพูดคุยกับเขา หากคุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ดังนี้ แม้ใช้เวลาเพียงแค่ 3 นาทีก็สามารถซื้อใจ ทำให้พวกเขารู้สึกมั่นใจ และแสดงให้ลูกเห็นว่าพวกเขาสำคัญสำหรับคุณ เป็นการสร้างความรู้สึกผูกพัน ไม่โดดเดี่ยวให้แก่ลูกได้มากมาย

ตัวอยู่ใกล้ ใช่ว่าจะรู้สึกใกล้กัน

อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ในชีวิตประจำวันของคนสมัยนี้ เรามักแทบไม่มีเวลาพูดคุยกันแม้เพียงเล็กน้อยในระหว่างวันทำงาน และถึงแม้จะมีวันหยุดที่พอได้อยู่ร่วมกันในครอบครัว เวลาของเราก็มักถูกใช้ไปกับการพักผ่อนส่วนตัว การดื่มด่ำอยู่กับโลกโซเซียลในสมาร์ทโฟน การเอนหลังดูทีวี ลองสังเกตตัวคุณเองดูว่า หลังจากไปรับลูกที่โรงเรียน คุณได้ทำเพียงจูงมือลูก แล้วทักทายด้วยคำว่า “อืมไปกันเถอะ” พร้อมกับคุยโทรศัพท์มือถือควบคู่ไปด้วยหรือเปล่า? การมีพฤติกรรมอย่างในกรณีหลังนี้ เป็นการบ่งบอกได้ว่า ลักษณะความสัมพันธ์ของคุณกับลูก เรียกได้ว่าไม่มีการสื่อสารระหว่างกันเลย

สำหรับพ่อแม่และลูกคำว่า “เวลาอยู่ด้วยกัน” มักมีความหมายที่แตกต่างกัน สำหรับผู้ใหญ่การอยู่ในที่เดียวกัน การพาลูกออกไปนอกสถานที่ก็เป็นสิ่งพ่อแม่บางคนเข้าใจว่าได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันแล้ว แต่สำหรับเด็ก“ เวลาอยู่ด้วยกัน” คือการมองตากัน คือการที่พ่อแม่นั่งลงข้าง ๆ พวกเขาวางโทรศัพท์มือถือ ปิดความคิดเกี่ยวกับปัญหาหลายร้อยรายการ และไม่คิดฟุ้งซ่านในระหว่างการสนทนา การตั้งใจฟังสิ่งที่ลูกพูด ฟังความคิดเห็นของพวกเขา จะทำให้ลูกรู้สึกถึงความสำคัญ และแบบนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นการคุยสื่อสารระหว่างกันอย่างแท้จริง

สังคมปัจจุบันทำให้มีเวลาให้ลูกน้อยลง
สังคมปัจจุบันทำให้มีเวลาให้ลูกน้อยลง

ตามที่นักจิตวิทยา Natalya Sirotich กล่าวว่าในช่วงเวลาแรกที่คุณพบเด็ก ๆ เขาจะให้ข้อมูลทั้งหมดที่พวกเขาจำได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาก็ลืมรายละเอียดมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่พ่อแม่ควรถามไถ่สิ่งที่ลูกเจอมาในแต่ละวันในช่วงแรกที่ได้เจอกันเลยทันที

พลาดอะไรบ้าง หากไม่ได้ทำเพียงแค่ 3 นาที

ผลที่ตามมาจากการละเว้นกฎ 3 นาทีอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะของเด็กแต่ละคน หากพ่อแม่ไม่สื่อสาร ถามไถ่ลูกตั้งแต่ 3 นาทีแรกที่ได้เจอหน้ากัน

  • ลูกก็จะไม่มีโอกาสได้บอกเล่าสิ่งที่เจอมา ไม่สามารถพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่สำคัญเพื่อแชร์ความรู้สึกให้แก่พ่อแม่ คนที่ลูกต้องการแชร์มากที่สุดได้ หากเป็นแบบบ่อยครั้งเข้า ลูกก็จะรู้สึกถึงความรู้สึกที่ว่า ความคิดเห็น หรือความเป็นตัวเองไม่สำคัญพอที่จะพูดถึง จึงไม่มีเรื่องที่จะเล่าใด ๆ ให้พ่อแม่ฟัง
  • พ่อแม่อาจสูญเสียโอกาสในการส่งเสริมพัฒนาการของลูก หรือชี้แจงประเด็นความคิดที่อาจจะบิดเบี้ยวไปบ้างของเด็ก เพราะเราเสียโอกาสที่จะรับรู้ถึงความคิดอ่านของลูกที่เขาอาจไปได้รับมาจากแหล่งอื่นที่เราไม่สามารถควบคุมได้ในช่วงที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน
  • ทำให้ลูกมีความรู้สึกด้อยค่า เสียงของลูกกลายเป็น “เสียงพื้นหลัง” สำหรับพ่อแม่ของพวกเขา จากการเพิกเฉยไม่สนใจรับฟังเรื่องราวของลูกอย่างตั้งใจ แม้ว่าเราอาจรู้สึกว่าเรื่องของลูกเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับผู้ใหญ่ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะได้รับกลับมาจากการฟังเรื่องราวของลูก แค่เพียง 3 นาทีนี้คือ เราได้มอบความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองให้แก่ลูก ซึงเป็นทักษะพื้นฐานที่จะต่อยอดพัฒนาการของลูกไปในทุก ๆ ด้านของชีวิตเขาเลยทีเดียว

    แค่ 3 นาทีให้เวลากันและกัน วางกิจกรรมอื่นลง
    แค่ 3 นาทีให้เวลากันและกัน วางกิจกรรมอื่นลง

การยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญ

ถึงแม้จะบอกว่าเวลาที่เด็ก ๆ ต้องการจากคุณนั้นก็เพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าให้คุณใช้เวลากับลูกเพียงสามนาทีต่อวันเท่านั้น จำไว้ว่าเรื่องบางเรื่องที่เด็กเล่านั้นไม่สามารถจบได้ในเวลาสามนาทีจริง ๆ และไม่ว่ายังไงลูกก็ต้องการความใส่ใจจากพ่อแม่อยู่ดี

กฎสามนาทีนั้นเอาเข้าจริงๆ แล้ว จึงหมายความว่าคุณควรจะใช้เวลา “อย่างน้อย” 3 นาทีในการ “ตั้งใจฟัง” ลูก ๆ หลังจากที่ไม่ได้เจอกันในระยะเวลาหนึ่งเพื่อที่จะรับข้อมูลสำคัญจากพวกเขาให้ครบต่างหาก

ข้อแนะนำอื่นๆ

  1.  หากเด็ก ๆ พบเรื่องอะไรที่สนใจ และเล่าออกมาให้คุณฟัง ควรปล่อยให้ลูกพูดออกมาแม้จะฟังดูไร้สาระในมุมมองผู้ใหญ่ แต่จงใช้เวลากับพวกเขาในเรื่องนั้นไปพร้อม ๆ กัน
  2. ทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกเข้าใจว่าคุณฟังพวกเขาอยู่ เช่นการพูดซ้ำสิ่งที่พวกเขาพูด เพื่อให้มั่นใจว่าเราฟังเขาจริง ๆ
  3. อย่าแกล้งทำเป็นตื่นเต้น แล้วไม่ถามไถ่เรื่องราวต่อไป เพราะลูกจะรู้ได้ว่าเราแกล้งไม่ได้สนใจจริง
  4. กลับมาพูดเรื่องที่ลูกเล่าบ้างเป็นบางครั้ง ให้พวกเขารู้ว่าคุณจำสิ่งที่พวกเขาพูดถึงได้
  5. หากมีเรื่องที่คิดเห็นไม่ตรงกัน หลีกเลี่ยงการโต้แย้งที่ยืดยาว และไร้ประโยชน์แม้ว่าคุณจะมั่นใจว่าคุณถูก แค่บอกลูกว่า “โอเค แม่เข้าใจแล้วว่าลูกไม่ได้คิดแบบเดียวกัน” เท่านั้นก็พอ แต่ให้ระวังเรื่องน้ำเสียงด้วย

การใช้เวลาเพียงสั้น ๆ อย่างกฎ 3 นาทีในการพูดคุยกับลูก เพื่อให้เขารับรู้ถึงความใส่ใจที่พ่อแม่มีให้ และเป็นการเพิ่มความผูกพัน ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันนั้น เป็นหลักง่าย ๆ ในการปรับพฤติกรรมทั้งต่อตัวคุณพ่อคุณแม่ และของเด็ก เนื่องจากการใช้เวลาเพียงสั้น ๆ เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ได้เตรียมตัว บอกพ่อแม่ว่าให้เตรียมตัว เตรียมใจในการจะสื่อสารกับลูกอย่างตั้งใจ บอกลูกว่ามีเวลาพูดคุยเล่าเรื่องราว ถ่ายทอดให้แก่พ่อแม่ได้ร่วมรับรู้ในสิ่งเดียวกัน และเป็นช่วงเวลาแห่งคุณภาพอีกด้วยเนื่องจากช่วงเวลาสั้น ๆ นั้น ทำให้ทุกคนกล้าที่จะวางเรื่องราวอื่น ๆ ลงเพื่อมาใส่ใจในสิ่งเดียวกันก่อนที่จะกลับไปสู่โหมดของตัวเอง

กฎ 3 นาที เพิ่มความผูกพันในครอบครัวได้ง่าย ๆ
กฎ 3 นาที เพิ่มความผูกพันในครอบครัวได้ง่าย ๆ

ในหลักการของการใช้เวลาสั้น ๆ กำหนดพฤติกรรมนั้น เรายังสามารถนำไปปรับใช้กับเรื่องอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน เช่น หากพบว่าลูกไม่ยอมเลิกเล่นเกมส์เมื่อถึงเวลาเข้านอน การมอบเวลาสั้น ๆ 3-5 นาทีให้ลูกก่อนที่จะทำตาม ก็จะช่วยให้เขายอมทำตามได้ง่ายขึ้น เพราะเวลาสั้น ๆ นั้น ช่วยให้ลูกได้เตรียมตัว เตรียมใจจัดการกับความคิดของตนเองก่อนรับฟังเหตุผล เป็นต้น อีกทั้งเวลาสั้น ๆ นั้นยังช่วยสงบอารมณ์ของพ่อแม่ เรียกสติก่อนที่จะพูดกับลูกด้วยอารมณ์ ทำให้ไม่เสียความสัมพันธ์ที่ไม่ควรเสียไปอีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิงจาก catdumb.com/ba-bamail.com

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

20 วิธีสานสายใยความผูกพันกับลูกน้อยก่อนเข้านอน

สร้าง Mind map ช่วยฝึกให้ลูกส่งงานครบมีความรับผิดชอบ

เหตุผลที่เด็กพูดเก่งประสบความสำเร็จมากกว่า แม่จ๋าอย่าเพิ่งเบื่อหนูพูดเลย!

หมอแนะพฤติกรรมแบบนี้ยิ่งทำลูกยิ่งไม่ยอม แบ่งปัน

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up