ชวนลูกคุย

หมอเด็กแนะ 3 เทคนิค ชวนลูกคุย เรื่องโรงเรียน ให้ลูกยอมเปิดใจ

event
ชวนลูกคุย
ชวนลูกคุย

หมอเด็กแนะ 3 เทคนิค ชวนลูกคุย เรื่องที่โรงเรียน ให้ลูกยอมเปิดปากเปิดใจ เพราะเราตามลูกไปเรียนด้วยไม่ได้ ถ้าลูกยอมเล่าทุกเรื่องที่โรงเรียนให้ฟังเราจะได้รับรู้ถึงความเป็นไป แต่ต้องทำยังไงตามมาดูกันเลย

เทคนิคแสนง่าย 3 วิธี ชวนลูกคุย เรื่องโรงเรียน

เมื่อลูกน้อยโตขึ้นจนถึงวัยเรียน ก็ได้เวลาที่ต้องแยกห่างจากอกแม่พ่อ ไปยังโรงเรียน และเมื่อลูกไปอยู่ต่างที่ห่างไกลจากสายตาพ่อแม่ หลายคนก็คงอยากรู้ว่า เวลาลูกอยู่ที่โรงเรียนมีความสุขกับการเรียนไหม พบเจออะไรบ้าง สังคมเด็กๆของลูกเราเป็นอย่างไร อาหารที่ลูกกินที่โรงเรียนถูกปากถูกใจลูกหรือเปล่า คุณครูใจดีไหม หรือ มีใครแกล้งลูก เกิดเรื่องไม่ดีอะไรกับลูกหรือไม่ ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้ เด็กบางคนอาจเล่าให้ฟังโดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ถาม หรือก็มีบางคนที่จะพูดก็ต่อเมื่อพ่อแม่ถาม

ซึ่งการที่พ่อแม่ชวนลูกคุยเรื่องที่โรงเรียนและเรื่องในชั้นเรียนของเขามีผลทำให้เด็กรู้สึกดีมีความอบอุ่นใจว่า พ่อแม่ให้ความสนใจเขาและรู้สึกปลอดภัย เปิดโอกาสให้ลูกได้ระบายความในใจกับพ่อแม่ได้ เพราะเด็ก ๆ ก็ต้องการที่ปรึกษาหรือพูดให้ตรง ๆ คือ เด็กก็เจอปัญหาได้ เพราะการไปอยู่ในที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคยกับคนที่ไม่ใช่บุคคลในครอบครัวเด็กอาจจะยังปรับตัวไม่ทัน ลูกต้องปรับตัวกับการทำตามกฎระเบียบต่าง ๆ ทำกิจกรรมตามตารางเวลาของโรงเรียน ต้องทำความรู้จักกับคุณครูที่คอยดูแลนักเรียนซึ่งบางครั้งก็ใจดีบางครั้งต้องมีดุนักเรียนบ้าง และการอยู่รวมกับเพื่อนใหม่ในวัยเดียวกันแต่ต่างอุปนิสัยกัน ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจจะมีปัญหาบ้าง เรื่องที่กล่าวมาเป็นสิ่งใหม่ที่ลูกของเราต้องไปเรียนรู้ พ่อแม่จึงควรที่จะพูดคุย

และสำหรับลูกวัยอนุบาล สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกไม่เล่าคือ ลูกยังเรียบเรียงเหตุการณ์มาเป็นเรื่องเล่าไม่เก่ง และยังจำเหตุการณ์ได้ไม่ดีนัก ลูกต้องการความช่วยเหลือจากเราในการหัดเล่า โดยเริ่มจากเรื่องของความจำในช่วงตอนเช้า หรือเหตุการณ์ที่ลูกเจอเมื่อวาน เพราะความทรงจำของเด็กจะผูกกันไว้ แม้ลูกจะยังไม่รู้เรื่องวันเวลา แต่พอนึกถึงเหตุการณ์นึง ก็จะนึกถึงความรู้สึก และเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันออก พ่อแม่จึงต้องดึงความจำของลูกออกมา เป็นคำพูด ด้วยการพูดคุยถึงข้อมูลแบบให้ความสนใจเรื่องราวที่ลูกเล่า ถามต่อไปเรื่อยๆ ด้วยความอยากรู้ ทำท่าทางสนใจพร้อมแสดงความคิดเห็นในทางที่เห็นด้วย อยากช่วยเหลือ เป็นต้น หรืออาจเริ่มจากไปทำความรู้จักกับตัวแปรต่างๆ รอบตัวลูกที่โรงเรียน ครูของลูกชื่ออะไร เพื่อน ๆ ลูกชื่ออะไร ตารางกิจกรรมของลูกวันนี้เป็นอย่างไร อาหารกลางวันของลูกวันนี้คืออะไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มักหาได้จากทางโรงเรียนอยู่แล้ว

และให้คุณพ่อคุณแม่ ชวนลูกคุย โดยนำข้อมูลพวกนี้มาใช้เพื่อนำร่อง เพื่อให้ลูกเริ่มนึกออก และกระตุ้นให้ลูกเล่าออกมาค่ะ เช่น
“ฮันน่าห์คะ วันนี้หนูเรียนพละกับครูตุ๋มใช่มั้ย” “ตอนเด็กๆ แม่ชอบเล่นพละมากเลย แล้วหนูได้วิ่งเล่นด้วยรึเปล่านะ” “แล้วครูให้ทำอะไรอีกคะ” “โอ้โห น่าสนุกจัง หนูชอบมั้ย” “แล้วทำอะไรต่อคะ” “วันนี้แม่เห็นครูทำไข่เจียวให้กินด้วย อร่อยมั้ยลูก” “แล้วหนูกินหมดจานเลยรึเปล่า” “แล้ววันนี้หนูได้ทำอะไรสนุกๆ มั้ยคะ ชอบทำอะไรที่สุด” “แล้วมีอะไรที่หนูไม่ชอบมั้ย” คุยกับลูกทุกวันด้วยท่าทีเป็นมิตร สนใจในความรู้สึกที่ลูกมีต่อแต่ละเหตุการณ์ ลูกก็จะเล่าเรื่องเก่งขึ้น และอยากเล่ามากขึ้น

ชวนลูกคุย
เทคนิค ชวนลูกคุย เรื่องโรงเรียน ให้ลูกยอมเปิดใจ

แต่ทั้งนี้ก็มีเด็กหลายคนที่พ่อแม่ถามเรื่องที่โรงเรียนแล้วลูกไม่อยากพูด ไม่กล้าบอกเล่า ดังนั้นหากพ่อแม่อยากรู้เรื่องที่โรงเรียนจากปากลูก จะต้องถามหรือใช้วิธีพูดคุยอย่างไรเพื่อให้ลูกยอมเปิดปาก เปิดใจเล่าเรื่องที่โรงเรียน ทีมแม่ ABK มีคำแนะนำดีๆ จาก คุณหมอเสาวภา เจ้าของเพจ หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก มาฝากค่ะ ซึ่งคุณหมอเป็นกุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม ได้ไลฟ์สด พร้อมสรุปแนะนำถึงวิธีชวนลูกคุยเรื่องโรงเรียนแบบง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ ใจความว่า…

❤หมอขอแชร์เทคนิค ชวนลูกคุย เรื่องโรงเรียน ให้ฟัง (แบบสรุปๆ) ดังนี้

1 เปิดประเด็นด้วยการคุยเรื่องทั่วๆไปก่อน จะนั่งอยู่ในรถ หรือเล่นไปคุยไป ที่บ้านก็ได้

เป้าหมายคือ สร้างบรรยากาศสบายๆ เหมือน warm up ให้ลูกเพลินกับการโต้ตอบ ไม่ใช่นั่งเค้นแบบเครียดๆ, แล้วลูกก็จะตอบคำถามแบบลื่นไหลขึ้นทีละนิดๆ

2 ต่อด้วยเรื่องโรงเรียน แต่เป็นสิ่งที่ลูกชอบหรือสนใจก่อน

เป้าหมายคือ ให้ลูกจูนภาพในสมองเป็น #ภาพเหตุการณ์ที่โรงเรียน จะคุยเรื่องของเล่น หรือสิ่งสนุกๆที่โรงเรียนก็ได้ เพื่อให้ลูกโต้ตอบกับเราเพลินๆ ไม่เครียด

3 ต่อด้วยการถามเจาะประเด็นเรื่องคุณครู แต่ให้เริ่มที่ครูใจดีก่อน

เป้าหมายคือ ให้สมองลูกเปลี่ยนภาพจากสิ่งที่สนุก ไปจับภาพครู(เด็กคิดเป็นภาพ) เด็กชอบคุยเรื่องดีๆ ดังนั้น จึงถามถึงครูว่าคนไหนใจดีก่อน แล้วค่อยถามต่อว่า คนไหนไม่ใจดี คำตรงข้ามจะทำให้ลูกเชื่อมข้อมูลและตอบง่ายขึ้น อีกทั้งคำว่า ไม่ใจดี อาจทำให้เด็กกล้าตอบ (เพราะครูอาจบอกว่าอย่าบอกพ่อแม่ว่าครูดุ)
.
พ่อแม่อย่าลืมต้องตอบสนองในสิ่งที่ลูกเล่าอย่างเข้าใจ ไม่แสดงอารมณ์โกรธออกมาให้ลูกเห็น และอย่าซักถามอย่างเดียวจนลูกกังวล หรือกลัว

โดยทั่วไป คำถามที่ลงลึกแบบนี้ จะได้รับการตอบสนองดีก็เมื่อเราทำข้อที่ 1 กับข้อที่ 2 ได้ดีมาก่อน ถ้าหากลูกแสดงท่าทีเบื่อหน่าย ไม่อยากเล่า เราก็ต้องหาเวลาอื่นคุยนะคะ อย่าคาดคั้นจนลูกต่อต้าน เพราะจะทำให้ลูกไม่อยากคุยอีกเลย

หมอเสาวภาเลี้ยงลูกเชิงบวก
#ครูตี #ครูดุ #ครูทำร้ายเด็ก

ขอบคุณข้อมูลจาก เพจ หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก 

สุดท้ายการคุยกัน ชวนลูกคุย แบบนี้ นอกจากจะทำให้ทุกคนในบ้านเข้าใจกันมากขึ้นแล้ว ยังเปิดโอกาสให้คิดทบทวนเรื่องราวต่างๆ ในแต่ละวัน ซึ่งหากเกิดเรื่องที่ไม่ดีขึ้นกับลูกที่โรงเรียน ก็จะทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถรับรู้ได้ทันที และเป็นการกระตุ้นให้ทำสิ่งดีๆ เพื่อคนอื่นในทุกๆ วันด้วย ซึ่งถ้าพ่อแม่เคยมีพฤติกรรมที่ทำให้ลูกรู้สึกว่า ไม่สนใจฟัง (เช่น เล่นโทรศัพท์ไปฟังไป ดูทีวีไปฟังไป) หรือชอบสั่งสอน ก็ขอให้ปรับเปลี่ยนตัวเองก่อนนะคะ เพราะการจะ ชวนลูกคุย ลูกต้องรู้สึกว่า พ่อแม่จะฟังเขา อยู่เคียงข้างเขา เป็นพวกเดียวกับเขา ลูกถึงจะอยากเล่าทุกเรื่องให้เราฟังนั่นเองค่ะ

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิกที่ภาพด้านล่าง ⇓

คำพูดที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก ข้อคิดสะกิดใจจากคุณหมอ!!

8 คำพูดที่ลูกไม่อยากได้ยิน จากปากพ่อแม่ พูดแบบนี้โตไปลูกแย่แน่!

ลูกทำชามแตก แต่อย่าให้ลูกใจ “แหลก” ด้วยคำพูดพ่อแม่ โดย พ่อเอก

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up