ความฉลาดทางอารมณ์

3 เทคนิค เพิ่ม EQ สร้าง ความฉลาดทางอารมณ์ ให้ลูกตั้งแต่แรกเกิด

event
ความฉลาดทางอารมณ์
ความฉลาดทางอารมณ์

กุมารแพทย์แนะ!! 3 เทคนิคสุดเริ่ด “ฝึก EQ ส่งเสริม ความฉลาดทางอารมณ์ ให้ลูกตั้งแต่แรกเกิด” ฝึกลูกจัดการอารมณ์ ควบคุมความคิดของตัวเองได้ ใช้ชีวิตได้อย่างดีและมีความสุขไปจนโต

“EQความฉลาดทางอารมณ์
เพิ่มพลังเรียนรู้ (Power BQ
) ให้กับลูก

EQ คือ ความฉลาดทางอารมณ์ เด็กที่ฉลาดทางอารมณ์จะสามารถจัดการกับอารมณ์ ควบคุมความคิดของตนเองได้ สามารถรับรู้เข้าใจอารมณ์ของคนอื่น  และแสดงออกมาทางพฤติกรรม เช่น มีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น มีความคิดที่จะทำสิ่งดีๆ มีความอ่อนโยนต่อผู้อื่น มีมนุษย์สัมพันธ์ดี ไปที่ไหนก็มีแต่คนรักและเอ็นดู จึงทำให้เข้าสังคม และรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดี สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม เด็กที่มี EQ ดีจะเป็นเด็กที่มีความสุข อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมและทำงานเป็นทีมได้ดี ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากในเด็กยุคใหม่ เนื่องจากสภาพสังคมที่เร่งรีบ ผู้คนต่างใจร้อน หงุดหงิดง่าย คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะสามารถควบคุมตัวเองและควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ดังนั้นเพื่อ พัฒนา EQ ลูก เสริมสร้างอีคิว เพิ่มความฉลาดทางอารมณ์ ให้ลูกสามารถจัดการอารมณ์ ควบคุมความคิดของตัวเองได้ รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มีคำแนะนำดีๆ มาฝาก ดังนี้!!

จาก Power BQ ที่มีองค์ประกอบหลากหลายด้านซึ่งจำเป็นต่อการเรียนรู้ ปรับตัว ตลอดจนการใช้ชีวิตของเด็กในอนาคต   อีคิว (EQ) หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นหนึ่งในความฉลาดที่ส่งเสริม power BQ ให้กับลูก คุณพ่อคุณแม่สามารถพัฒนาให้ลูกมีอีคิวที่ดีได้ไม่ยากตั้งแต่แรกเกิดเลยครับ โดยให้ลูกเรียนรู้ผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน การมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนอื่น การปรับตัวอย่างแยบยลให้เข้ากับสภาพแวดล้อม มาดูกันครับว่า เราจะส่งเสริมอีคิวที่ดีให้กับลูกในช่วงวัยต่างๆ ได้อย่างไร

ความฉลาดทางอารมณ์

วิธีเพิ่ม EQ เสริมสร้าง ความฉลาดทางอารมณ์ ให้ลูกแรกเกิดถึง 1 ปี

เมื่อแรกเกิด เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมพื้นอารมณ์ที่แตกต่างกันครับ บางคนก็เป็นเด็กเลี้ยงง่าย บางคนต้องการเวลาในการปรับตัว หรือบางคนอาจจะปรับตัวได้ยาก ซึ่งการเลี้ยงดูและปฏิสัมพันธ์ของผู้คนรอบข้างโดยเฉพาะพ่อแม่ รวมถึงสภาพแวดล้อม ล้วนเป็นสิ่งที่มีผลต่อการคงอยู่หรือเปลี่ยนไปของพื้นอารมณ์ที่มาแต่เกิดได้ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้เอง

หากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกมีความฉลาดทางอารมณ์แบบใด หรืออยากให้ลูกบริหารจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ดีมากน้อยเพียงไร สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำ คือ

  • ฝึกตัวเองให้สามารถควบคุมและแสดงออกทางอารมณ์ออกมาให้ได้อย่างนั้นก่อน หากพ่อแม่เป็นคนที่มีอีคิวดี ลูกก็จะเรียนรู้และปรับตัวให้มีอีคิวดีได้ไม่ยาก เช่น เวลาที่ลูกเบบี๋ ร้องหิวนม ในช่วง 6 เดือนแรก เราต้องตอบสนองเขาอย่างทันท่วงที
  • แต่พอหลัง 6 เดือนไปแล้ว หากลูกร้องเพราะหิวนม คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้ลูกรู้จักอดทนรอคอยสักเล็กน้อยได้ ด้วยการส่งเสียงบอกลูกด้วยน้ำเสียงเป็นมิตรและท่าทีที่สงบ เช่น “ลูกรอคุณแม่แป๊บนึงนะคะ คุณแม่ทำความสะอาดหัวนมก่อนค่ะ” วิธีนี้ลูกจะเริ่มถูกฝึกให้รู้จักใจเย็น รอคอยได้ตั้งแต่เล็ก ไม่ใช่อยากได้อะไรก็ต้องได้ในทันที
  • เมื่อลูกปฏิบัติได้เหมาะสม ก็ชื่นชมเขานะครับ วัยนี้เพียงคุณพ่อคุณแม่ ส่งเสียงไพเราะหรือยิ้มให้กำลังใจเขาก็ทำให้ลูกชื่นใจและรับรู้ได้แล้วครับ
  • ถ้าลูกยังปฏิบัติได้ไม่ดีก็ต้องตอบสนองให้ลูกรับรู้ว่า พฤติกรรมนั้นไม่เหมาะสม เช่น หากลูกอาละวาดเวลาที่อยากเล่นมีดแต่ถูกคุณพ่อเก็บมีดออกไป ก็ตอบสนองด้วยการเก็บมีดออกแล้วเบี่ยงเบนความสนใจของเขา โดยหาตุ๊กตามาให้ลูกเล่นแทน เขาจะค่อยๆเรียนรู้ว่า อะไรเล่นได้ อะไรเล่นไม่ได้ พร้อมกับเรียนรู้การควบคุมความคับข้องใจเล็กๆน้อยๆไปพร้อมกันด้วยครับ หากปฏิบัติกันอย่างสม่ำเสมอ อาการอาละวาดโวยวายเมื่อไม่ได้อะไรที่ไม่เหมาะสมตามความต้องการก็จะลดลงไปได้ครับ

นอกจากนี้ การดำเนินกิจวัตรประจำวัน ให้เป็นเวลาอย่างสม่ำเสมอทุกวัน  ก็จะช่วยให้ลูกสามารถทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ทำให้เขาปรับตัวและแสดงออกทางอารมณ์ได้เหมาะสมมากขึ้น การฝึกฝนในช่วงนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญ ให้สามารถต่อยอดพัฒนาการทางด้านความฉลาดทางอารมณ์ของเขาต่อไปในอนาคตครับ

ความฉลาดทางอารมณ์

วิธีเพิ่ม EQ เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ สำหรับลูกวัย 1-3 ปี

ช่วงนี้เป็นช่วงที่เด็กจะได้เรียนรู้และพัฒนาต่อยอด ความฉลาดทางอารมณ์ จากช่วงวัยเบบี๋ กิจวัตรประจำวันที่สม่ำเสมอเป็นเวลา เช่น ตื่นนอน กินข้าว อาบน้ำ เล่น เข้านอน เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กทำนายและเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนกิจกรรมของเขาและกิจกรรมในครอบครัวได้ดีขึ้น

ลูกเริ่มเรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เรียนรู้ที่จะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกคนอื่นมากขึ้น เห็นอกเห็นใจคนอื่น อยากช่วยเหลือคนอื่น เช่น เวลาแม่ถูกมีดบาดมือเขาอาจร้องไห้ เพราะ สงสารแม่ และอาสาวิ่งไปหยิบยาใส่แผลกับพลาสเตอร์ปิดแผลมาให้แม่ ถ้าลูกมีพฤติกรรมแสดงออกทางด้านอารมณ์ที่เหมาะสม

คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมให้พฤติกรรมนั้นคงอยู่ด้วยการชื่นชมเขา ให้รางวัลเล็กๆน้อยๆ เช่น เล่านิทานโปรดให้ฟัง พากันไปเดินเล่น ถ้าลูกยังแสดงออกได้ไม่ดี ก็อย่าลืมเป็นแบบอย่างในการแสดงออกให้กับเขานะครับ ส่วนการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมหากไม่รบกวนกับคนอื่นมากนักหรือไม่ได้ทำร้ายคนอื่น ไม่ทำลายข้าวของ ไม่ทำให้ตัวเองได้รับอันตราย คุณพ่อคุณแม่ก็อาจเพิกเฉยต่อพฤติกรรมนั้น หรือเบี่ยงเบนความสนใจของลูกไปยังกิจกรรมอื่น เมื่อลูกสงบแล้วให้ค่อยๆสอน อธิบาย และบอกถึงการตอบสนองที่เหมาะสมให้เขาได้เรียนรู้นะครับ

ส่วนพฤติกรรมที่รุนแรง ทำร้ายคนอื่น ทำลายข้าวของ ทำให้ตัวเองได้รับอันตราย ถ้าบอกเขาแล้วเขาไม่สามารถหยุดได้ แสดงว่า เขาควบคุมอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ ให้คุณพ่อคุณแม่หยุดเขาทันที ด้วยการจับเขาหยุด นำของที่อาจแตกหักเสียหายหรือทำให้เขาได้รับอันตรายออกไป กอดเขาไว้จนเขาจะสงบ ระหว่างนี้ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพราะ ลูกยังไม่พร้อมรับฟัง ให้รอจนเขาสงบแล้วค่อยพูดคุยกันครับ

 

วิธีเพิ่ม EQ เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ สำหรับลูกวัย 3-5 ปี

วัยอนุบาลนี้เป็นวัยที่เขาสามารถพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ได้ดีมาก เพราะ พัฒนาการหลายด้าน เช่น ด้านสติปัญญา ภาษา และสังคม สามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ได้เป็นอย่างดี ประกอบกับช่วงนี้เขาเริ่มเข้าเรียนอนุบาล มีโอกาสมากขึ้นในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ผ่านกิจกรรมและการใช้ชีวิตที่โรงเรียน

อย่าลืมนะครับว่า…แบบอย่างที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่และคนใกล้ชิดสำคัญมากเลยครับ การควบคุมอารมณ์ที่ดีและสม่ำเสมอของคุณพ่อคุณแม่จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง … หากลูกมีการแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม เช่น เวลาไม่พอใจเพื่อนก็สามารถควบคุมตัวเองไม่ทำร้ายเพื่อนได้ แต่สามารถสื่อสารบอกเล่าให้พ่อแม่ฟังถึงเรื่องราวและความรู้สึกง่ายๆที่เกิดขึ้นได้ แสดงว่า เขาเริ่มควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ได้ดีขึ้นแล้ว

คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้การเสริมแรง เช่น ชมเชย สะสมดาว เพื่อให้พฤติกรรมนี้คงอยู่ครับ ส่วนเมื่อลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถใช้วิธีการรับมือเหมือนกับช่วงก่อนหน้านี้ได้ครับ การให้เหตุผลสำหรับเด็กวัยนี้ อาจมีเนื้อหาได้มากขึ้นตามความสามมารถในการรับรู้ของเขา

เป็นยังไงบ้างครับ ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ อีคิว EQ จะว่าไปแล้วก็ฝึกกันไม่ยากใช่ไหมครับ ที่สำคัญสามารถฝึกกันได้ตั้งแต่ยังเล็ก จากแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่และการตอบสนองที่เหมาะสมต่อการแสดงออกทางอารมณ์ เพียงเท่านี้ ลูกก็จะมีอีคิวหนึ่งใน power BQ ได้แล้วครับ

ขอบคุณบทความโดย : รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก ⇓

ของเล่น เด็ก 6 ขวบ ที่ควรมีติดบ้าน ตัวช่วยเสริมพัฒนาการทั้ง IQ และ EQ

หมอแนะ! วิธีเล่นกับลูก วัยทารก สร้าง EQ ดี IQ เริ่ด พ่อแม่ไม่ต้องเก่งก็ทำได้!

10 ทักษะสร้างหลักคิดเพื่อพัฒนาอารมณ์ EQ ของลูกน้อย

พูดกันดีๆ สร้างลูก EQ ดี เพื่อชีวิตเป็นสุขและพบความสำเร็จในแบบตัวเอง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up