เล่นอะไรให้ลูกฉลาด

เล่นอะไรให้ลูกฉลาด หมอแนะ! วิธีเล่นกับลูกตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี

Alternative Textaccount_circle
event
เล่นอะไรให้ลูกฉลาด
เล่นอะไรให้ลูกฉลาด

คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมว่า “การเล่น” สามารถกระตุ้นพัฒนาการที่ดีให้ลูกน้อยฉลาดรอบด้านได้ เพียงแค่เล่นให้เหมาะสมกับลูกน้อยแต่ละวัย หากคุณพ่อคุณแม่ยังไม่มีไอเดียว่าจะ เล่นอะไรให้ลูกฉลาด เสริมสร้าง Power BQ ผ่าน Play Quotient (PQ) หรือความฉลาดที่เกิดจากการเล่น ทีมแม่ ABK มีคำแนะนำดีๆ จาก คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก มาฝากค่ะ

เล่นอะไรให้ลูกฉลาด วิธีเล่นกับลูก วัยแรกเกิด – 5 ปี

นพ. พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้แนะนำ วิธีเล่นกับลูกแต่ละวัยให้ลูกฉลาด ไว้ว่า…

พอพูดถึงความฉลาดของเด็กๆ นอกจากจะเป็นผลของยีนที่ได้รับจากพ่อและแม่แล้ว การเล่นก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญ และช่วยส่งเสริมให้ลูกฉลาดได้อย่างเต็มศักยภาพของเด็กเลยครับ หากปล่อยให้เด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กเล่นตามลำพัง การเรียนรู้จะได้น้อยกว่าการที่พ่อแม่ร่วมเล่นกับลูกบนพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดี เพียงคุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักเล่น รู้จักลูก และรู้จักตัวเองว่า เล่นอย่างไรเราถึงจะถนัด เล่นอย่างไรลูกถึงจะสนุก ปลอดภัย และได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ เรามาดูกันนะครับว่า แต่ละช่วงวัยจนถึงวัยอนุบาล เราจะ เล่นอะไรให้ลูกฉลาด อย่างเต็มศักยภาพ

 

เล่นอะไรให้ลูกฉลาด กระตุ้นพัฒนาการลูก แรกเกิดถึง 1 ปี

ช่วงแรกเกิดถึง 1 ปี เด็กทารกเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5​ ตั้งแต่ตาดู หูฟัง กายสัมผัส ลิ้มรับรส และจมูกรับกลิ่น การเล่นที่ส่งเสริมผ่านสัมผัสทั้งหมดได้พร้อมกันมากที่สุด จะส่งเสริมลูกได้เต็มที่มากขึ้นครับ เช่น

หากลูกเล่น ลูกบอลสีแดงใบหนึ่งตามลำพัง เขาก็จะทำได้แค่ จับๆ ลูบๆ คลำๆ เขี่ย โยน ปา แต่หาก คุณพ่อคุณแม่นำลูกบอลสีแดงนี้ มาเล่นกับลูก แบบที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ เขาจะได้เรียนรู้ทักษะด้านอื่นที่จำเป็นและเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดในอนาคต เช่น

เมื่อลูกมองไปที่ลูกบอล เราก็พูดคุยกับลูกว่า “ลูกบอลสีแดงใบใหญ่ๆ หนูลองจับลูกบอลดูไหมครับ อันนี้นุ่ม อันนี้แข็ง” “ถ้าเราโยนไปลูกบอลจะเด้ง ดึ๋ง ดึ๋ง” ลูกจะรับรู้ คำศัพท์ว่า “ลูกบอล สีแดง” รู้จักคำคุณศัพท์ “ใหญ่” ได้สัมผัสและรับรู้ว่า แบบนี้เรียก “นุ่ม” แบบนี้เรียก “แข็ง” มีกริยาว่า “เด้ง” และคำขยายกริยาว่า “ดึ๋ง ดึ๋ง” เห็นไหมครับ ยังไม่ทันไปโรงเรียนเลยก็ได้เรียนภาษาไทย ที่มีความซับซ้อนผ่านการเล่นง่ายๆได้แล้วครับ

การพูดคุยกับลูกในทุกขั้นตอนของการเล่น เป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านฉลาดรู้ ให้กับสมองในส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนการให้ลูกได้ลงมือทำและสัมผัสไปพร้อมกัน จะส่งเสริมความฉลาดทำให้กับสมองส่วนที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกันด้วย หลังอายุ 6 เดือน ที่ลูกเริ่มนั่งได้แข็งแรงดีแล้ว อย่าลืม ฝึกให้ลูกรู้จักรอคอยเล็กๆน้อยๆ ในเวลาที่ไม่นานเกินไป เพื่อฝึกทักษะการควบคุมตัวเองให้เก่งขึ้น เมื่อเขาโตขึ้นได้ด้วยครับ

บทความแนะนำ 8 วิธี “กระตุ้นสมอง” ทารกแรกเกิด ยิ่งทำลูกยิ่งฉลาด

เล่นกับลูกวัยเตาะแตะ
เล่นกับลูกวัยเตาะแตะ ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก

วิธีเล่นกับลูก กระตุ้นพัฒนาการลูก วัย 1-3 ปี

ช่วงแรกของวัย 1-3 ปี ลูกยังเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5​ เช่นเดียวกับขวบปีแรก แต่เขาสามารถช่วยเหลือตัวเอง และทำอะไรด้วยตัวเองได้มากขึ้น ทำให้สามารถเล่นกับลูกได้หลากหลายมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุนให้ลูกเล่นผ่านกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง เช่น วิ่งไปมาช่วยคุณพ่อคุณแม่เก็บข้าวของ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ การทำงานที่ประสานกันระหว่างสายตาและกล้ามเนื้อ การทรงตัว การตัดสินใจ ไปจนถึงการแก้ปัญหาง่ายๆด้วยตัวเองตามวัย ระหว่างการเล่นที่มีการเคลื่อนไหวอย่าลืมพูดคุยหรือพากย์ให้กับลูกด้วย เพื่อส่งเสริมความฉลาดรู้ ไปพร้อมกับฉลาดทำ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถเพิ่มเติมความยากตามศักยภาพของลูกผ่านการตั้งคำถาม เช่น

“เรามาช่วยกันเก็บของเล่นกันดีไหมครับ เอ๊ะ …แต่ เราจะเก็บอันเล็กหรืออันใหญ่ก่อนดีนะ ถึงจะใส่กล่องได้พอดี”

ถึงลูกจะยังทำได้บ้างไม่ได้บ้างก็เป็นการส่งเสริมให้ลูกฝึกคิด วางแผนและแก้ปัญหาจากเรื่องง่ายๆ ไปสู่เรื่องที่ยากขึ้นตามลำดับครับ

บทความแนะนำ จับ หนีบ เล่น 20+ กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เล่นกับลูกในบ้านง่ายๆ

เล่นบทบาทสมมุติ
เล่นบทบาทสมมุติกับลูกวัยอนุบาล

เล่นอะไรให้ลูกฉลาด กระตุ้นพัฒนาการลูก วัย 3-5 ปี

ช่วงอนุบาลวัย 3-5 ปี เด็กๆ จะพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ไปมากแล้ว การเล่นกับลูกนอกจากจะส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ที่เป็นทักษะเฉพาะตัว ที่ยังคงต้องต่อเนื่องจากวัยก่อนหน้านี้ อย่างเช่น การเคลื่อนไหวที่ยังต้องให้ได้อย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวันแล้ว การเล่นส่งเสริมทักษะทางสังคมยังเป็นพื้นฐานการปรับตัวใช้ชีวิตร่วมกับเด็กและผู้ใหญ่คนอื่นในสังคมโรงเรียนและนอกบ้าน ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่อาจใช้การเล่นบทบาทสมมุติ ด้วยการสร้างสถานการณ์ที่เด็กสนใจ เพื่อให้เขาเรียนรู้ทักษะทางสังคม เช่น

“วันนี้เรามาเล่นขึ้นเครื่องบินไปเที่ยวกันดีครับ” “ก่อนอื่นเราต้องเข้าคิวไปขึ้นเครื่องบินตามลำดับนะครับ” “เอาล่ะ เด็กๆ นั่งที่แล้ว ต้องทำอย่างไรบ้าง” “เราต้องเก็บของไว้ด้านบนตรงนี้นะครับ” “ได้เวลาเครื่องบินขึ้นแล้ว” ถ้าลูกเอาเท้าเตะไปมา คุณพ่อคุณแม่ก็อาจสอนลูกให้ทราบว่า “เราไม่เตะไปที่เก้าอี้ด้านหน้านะครับ เพราะจะรบกวนผู้โดยสารคนอื่นที่นั่งอยู่”

คุณพ่อคุณแม่พอเห็นได้นะครับว่า การเล่นที่มีคุณพ่อคุณแม่ร่วมเล่นด้วยสามารถส่งเสริมทักษะได้อย่างรอบด้านมากกว่าปล่อยให้ลูกเล่นตามลำพังหรือเล่นกับผู้ใหญ่ที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก การส่งเสริมพฤติกรรมและทักษะสังคมที่เหมาะสมคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้การเสริมแรง เช่น ชมเชย ให้รางวัลอย่างสะสมดาว เมื่อลูกปฏิบัติได้เหมาะสม

บทความแนะนำ สร้างลูกให้มี SQ (Social Quotient) ไม่ก้าวร้าว ไม่เอาเปรียบ ส่งผลต่อความสำเร็จในชีวิตอย่างมีความสุข

สิ่งสำคัญในการเล่นกับลูก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการได้อย่างเต็มศักยภาพ คือ ต้องเหมาะสมกับความสามารถ และความสนใจทั้งของลูกและผู้ใหญ่ที่เล่นด้วย รวมทั้งอยู่ในขอบเขตของความปลอดภัย เช่น ของเล่นต้องไม่มีขนาดเล็กจนเกินไปหรือแตกหักง่าย ไม่มีเชือกสำหรับเด็กเล็กที่ยังทรงตัวได้ไม่ดี เป็นต้น เพียงคุณพ่อคุณแม่เล่นกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ให้เหมาะสมกับศักยภาพของลูก บนพื้นฐานของความปลอดภัยก็สามารถส่งเสริมลูกให้ฉลาดได้อย่างเต็มศักยภาพของเขาแล้วครับ

บทความโดย : รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ 

ลูกไม่กินข้าว ทําไงดี? หมอแนะ 10 วิธีรับมือเมื่อลูกไม่ยอมกินข้าว

10 วิธีเลี้ยงลูกให้ฉลาด สอนลูกฉลาดรู้ ฝึกลูกฉลาดทำ

ให้ลูกดูมือถือ แท็บเล็ต โทรทัศน์ ตอนกินข้าวช่วยให้กินง่ายจริงหรือ?

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up