ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

ระวัง ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก หวั่นระบาดซ้อนโควิด

Alternative Textaccount_circle
event
ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก
ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

โรคไข้หวัดใหญ่พบได้บ่อย ทั้ง ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก และผู้ใหญ่ และจะมีการระบาด จนทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นจำนวนมากในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ  เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง โรคก็จะแพร่กระจายได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่จะติดต่อกันได้ง่าย

ระวัง ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก หวั่นระบาดซ้อนโควิด

วันที่ 17 ม.ค. 2022 สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) รายงานว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป (ECDC) พบจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza) สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้เกิดความกังวลว่า ยุโรปอาจเผชิญกับภาวะโรคระบาดซ้อน ทั้งจากโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด-19

น่าห่วง! ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ รวมทั้ง ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก เข้าไอซียูเยอะขึ้น

เนื่องจากในตอนนี้ หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้เริ่มเห็นจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น โดยในสัปดาห์สุดท้าย ของปี 2021 ทาง ECDC และองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่ต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู 43 ราย เมื่อนำไปเทียบกับ ปี 2020 ที่มีผู้ป่วยเข้าไอซียูเพียง 1 ราย ตลอดเดือน ธ.ค. เท่ากับว่า จำนวนผู้ป่วยในตอนนี้ เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก

กรณีที่แย่ที่สุด คือการที่มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ต้องใช้ห้องไอซียูเพิ่มขึ้น และเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ยังคงแพร่ระบาด ด้วยเหตุนี้ อาจส่งผลทำให้ระบบสาธารณสุข ไม่สามารถรับมือกับการช่วยเหลือผู้ป่วยอาการหนัก จากทั้ง 2 โรค พร้อมกันได้

ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก
คุณแม่วัดอุณหภูมิให้ลูก ที่เป็นไข้หวัดใหญ่

ข้อมูลไม่เพียงพอที่จะเตรียมวัคซีน

อีกปัญหาหนึ่งคือ ปกติแล้ว ผู้ผลิตวัคซีนจะประเมินข้อมูลแบบปีต่อปี เพื่อวิเคราะห์ว่า จะต้องใช้วัคซีนชนิดใด ในการรับมือกับสายพันธุ์ ที่คาดว่าจะระบาดในปีถัดไป แต่เมื่อปีก่อนไม่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ทำให้ผู้ผลิต มีข้อมูลไม่เพียงพอในการเตรียมวัคซีน ไว้รองรับกับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในช่วงนี้

แม้ว่า สถานการณ์ในประเทศไทย จะยังไม่ได้มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่เช่นเดียวกับในยุโรป แต่คุณแม่ก็ควรเตรียมพร้อม เตรียมตัวรับมือ ดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลจากไข้หวัดใหญ่ไว้เป็นดีที่สุดค่ะ

รู้จัก “ไข้หวัดใหญ่”

ไข้หวัดใหญ่ เป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน ซึ่งมีสาเหตุมาจาก การติดเชื้อไวรัสที่อยู่ในอากาศ หรือสารคัดหลั่ง ทั้งน้ำมูก น้ำลาย หรือ การไอ จาม ใส่กัน ก็เป็นสาเหตุให้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ เพราะเชื้อไวรัส แพร่กระจายทางอากาศได้ เชื้อจะอยู่ตามละอองฝอย ที่อยู่บนอากาศ เมื่อเด็กสูดเข้าไป ก็จะทำให้ติดเชื้อ “อินฟลูเอนซา” ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ทั้ง เอ บี และ ซี ที่ได้ยินบ่อย ๆ และมีความรุนแรง เช่น สายพันธุ์ H1N1 H5N1 เป็นต้น

อาการของไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

สำหรับไข้หวัดธรรมดานั้น อาการไข้จะน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่ โดยจะมี น้ำมูกไหล และมีการไอ ร่วมด้วยเท่านั้น ส่วนอาการไข้หวัดใหญ่ในเด็กนั้นมีดังนี้

  • ไข้สูง น้ำมูกใส คัดจมูก ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร ไข้นานประมาณ 3-7 วัน
  • อาจมีอาเจียน ท้องเสีย ร่วมด้วย
  • ไอและมีน้ำมูก นาน 1-2 สัปดาห์
  • อาการอาจรุนแรงถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ

การดูแลเด็กที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่

อาการไข้หวัดใหญ่ในเด็ก จะมีไข้สูง น้ำมูกใส ไข้นานประมาณ 3-7 วัน
อาการไข้หวัดใหญ่ในเด็กนั้นจะมีไข้สูง น้ำมูกใส คัดจมูก ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร ไข้นานประมาณ 3-7 วัน
  • เช็ดตัว ให้ยาลดไข้ สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม
  • ให้เด็กนอนพักผ่อนให้มาก
  • ดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
  • รับประทานอาหารอ่อนๆ
  • กินยาลดไข้ อย่างน้อยทุก ๆ 6 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาอาการ
  • สวมผ้าปิดปาก ล้างมือบ่อยๆ แยกสิ่งของเครื่องใช้กับผู้อื่น
  • แนะนำให้หยุดเรียน เป็นระยะเวลา 5-7 วัน แล้วแต่อาการ

เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส การให้ยาปฏิชีวนะจึงไม่มีผล นอกจากว่าจะมีอาการติดเชื้อแทรกซ้อนอื่น หากลูกมีอาการหนัก เช่น มีไข้สูง กินอาหารไม่ได้ ไอมาก มีเสมหะข้นสีเหลืองหรือสีเขียว ควรรีบพบแพทย์เพื่อให้วินิจฉัยอาการเพิ่มเติม แต่ถ้าหากเด็กมีอายุน้อยกว่า 2 ปี เมื่อเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้สูง ไอจนเหนื่อย ควรรีบพาไปพบแพทย์เช่นกัน เพราะเด็กอายุน้อยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดี หรือมีโรคประจำตัว

ไข้หวัดใหญ่… กันไว้ดีกว่าแก้

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการสัมผัส หรือการสูดดมละอองหรืออากาศที่มีเชื้อไวรัสกระจายอยู่ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ลูกน้อยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุดคือ

  • ไม่ควรให้เด็กเข้าใกล้หรือคลุกคลีกับคนป่วยและหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หากจำเป็นควรใส่ผ้าปิดปาก เพื่อป้องกันเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่อย่างสม่ำเสมอ
  • รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งฉีดได้ตั้งแต่ อายุ 6 เดือน กรณีเริ่มให้วัคซีนเป็นปีแรก จะฉีด 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เข็มห่างกัน 1 เดือน จากนั้นฉีดปีละ 1 ครั้ง
  • เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดเกือบทุกปี วัคซีนจึงต้องเปลี่ยนตลอด จึงต้องฉีดทุกปี แนะนำให้ฉีดในช่วงก่อนที่มีการระบาด เช่น ก่อนฤดูฝน
  • ครอบครัวที่มีเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งเด็กเองยังรับวัคซีนไม่ได้ สมาชิกในครอบครัวควรรับวัคซีนทุกคน
  • แยกของเล่น ของใช้ให้เป็นส่วนตัว
  • รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง

ไข้หวัดใหญ่แม้ระบาดก็ป้องกันได้ด้วยหลายวิธี ที่สำคัญที่สุดพ่อแม่ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตอาการของบุตรหลาน ให้ฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี ก็สามารถป้องกันการเกิดไข้หวัดใหญ่ในเด็ก รวมทั้งสามารถบรรเทาอาการของเด็กที่ป่วยได้

ขอบคุณข้อมูลจาก workpointTODAY, โรงพยาบาลสมิติเวช , โรงพยาบาลเปาโล

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up