อาการของคนท้อง ตั้งแต่สัปดาห์แรกจนคลอด มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง

event

(ต่อ) อาการของคนท้อง 7-9 เดือน มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง

อาการของคนท้อง 7 เดือน

เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ เมื่อคุณแม่ ตั้งครรภ์ 7 เดือน จะเริ่มมีอาการนอนไม่หลับ ปวดหลัง ขาและเท้าบวม ร่วมกับอาการอื่นๆ ซึ่งทีมแม่ ABK ก็มีคำแนะนำวิธีการบรรเทาอาการและแก้ไขมาให้คุณแม่ เพื่อให้สามารถรับมือกับการตั้งครรภ์ในช่วงนี้ได้อย่างมีคุณภาพ โดย อาการของคนท้อง เมื่อเข้าเดือนที่ 7 จะมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

  • นอนไม่หลับ เพราะคุณแม่มีท้องที่ใหญ่และเริ่มรู้สึกอุ้ยอ้ายอึดอัด ทำให้นอนหลับได้ไม่สบายตัว คุณแม่จึงไม่สามารถนอนหลับสนิทได้ตลอดคืน หากคุณแม่มีอาการเพลียง่วงนอนตอนกลางวันเพราะนอนไม่หลับตอนกลางคืน ควรหาเวลางีบหลับกลางวันบ้างสักพัก เพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลีย จนไม่สบายหรือหน้ามืดเป็นลม
  • ร่างกายเริ่มสร้างน้ำนม ร่างกายของคุณแม่จะมีการเริ่มสร้างหัวน้ำนมขึ้นแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับลูกน้อย หากบังเอิญมีการคลอดก่อนกำหนด และเพื่อสร้างสะสมไว้ให้ลูก คุณแม่จึงอาจสังเกตเห็นว่ามีน้ำนมสีเหลืองใสๆ ออกมาจากหัวนมได้
  • ปวดหลัง เนื่องจากร่างกายคุณแม่มีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับที่กระดูกเชิงกรานซึ่งเป็นส่วนรับน้ำหนักด้านล่างมีการขยายตัวเตรียมคลอด ทำให้หลังของคุณแม่ต้องรับน้ำหนักเต็มที่ นอกจากนี้ยังส่งผลทำให้ฐานรับน้ำหนักกระดูกสันหลังที่กระดูกเชิงกรานมีการเคลื่อนตัวคลอนแคลน ทำให้คุณแม่ปวดหลัง และอาจรู้สึกปวดกระดูกหัวหน่าวและบริเวณก้นกบได้อีกด้วย ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการปวดมากขึ้น คุณแม่จึงควรสวมรองท้าเตี้ยๆ ที่เดินสบาย เดิน นั่ง ยืนให้ถูกท่า ไม่เปลี่ยนอิริยาบถทันที ไม่ยกของหนัก และไม่นั่งเก้าอี้หรือนอนเตียงที่นุ่มจนเกินไป ซึ่งจะยิ่งเพิ่มอาการปวดหลังมากขึ้น
  • ถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น อาการถ่ายปัสสาวะบ่อยจะกลับมาหาคุณแม่อีกครั้งในช่วงนี้ เพราะมดลูกที่ขยาย ประกอบกับน้ำหนักตัว และการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์จะไปกดลงบนกระเพาะปัสสาวะของคุณแม่ ทำให้คุณแม่มีอาการถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • ขาและเท้าบวม เพราะคุณแม่ต้องรับน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ แถมยังต้องเดิน ยืน และอื่นๆ ตลอดทั้งวัน ทำให้ขาของคุณแม่อาจจะมีทั้งเส้นเลือดขอดและเกิดอาการปวดเมื่อยล้าไปทั่วขาได้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้าย หรือการตั้งครรภ์ในเดือนที่ 7-8-9 ซึ่งคุณแม่มักจะมีอาการขาและเท้าบวม

อาการของคนท้อง

อาการของคนท้อง 8 เดือน

พัฒนาการทารกในครรภ์คุณแม่ช่วงตั้งครรภ์ 8 เดือนนี้ เติบโตมากและอยากจะออกมาดูโลกเต็มที่แล้ว โดย อาการของคนท้อง เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 8 จะมีการเปลี่ยน คือ

  • การหายใจ หากช่วงนี้ลูกน้อยในครรภ์คุณแม่เคลื่อนศีรษะลงมาอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมบริเวณช่องเชิงกรานในท่าเตรียมคลอดแล้ว คุณแม่จะรู้สึกได้ว่าหายใจสะดวกขึ้น แต่หากลูกน้อยยังไม่กลับศีรษะลงหรือขยับตัวลงมาเตรียมคลอด จะทำให้คุณแม่ยังรู้สึกหายใจลำบากอยู่ เนื่องจากมดลูกที่ขยายใหญ่มากช่วงนี้จะไปเบียดพื้นที่ภายในช่องท้อง กดทับกล้ามเนื้อ กะบังลม และปอดบางส่วนนั่นเอง
  • ปวดหน่วงช่องเชิงกราน คุณแม่อาจมีความรู้สึกปวดหน่วงเชิงกรานเวลาเปลี่ยนอิริยาบถ หรือเดินได้ค่ะ เพราะบริเวณข้อต่อของกระดูกเชิงกรานคุณแม่จะหย่อนตัวลง จึงทำให้รู้สึกปวดหน่วงช่องท้องได้บ้างบางเวลา
  • น้ำหนักตัวเพิ่ม อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอีก 2-3 กิโลกรัมจากเดิม โดยจะมีน้ำหนักของลูกน้อยในครรภ์ถึง 3-4 กิโลกรัม ส่วนที่เหลือจะเป็นน้ำหนักของรกเต้านมที่ขยายใหญ่ น้ำหนักของมดลูก และปริมาณเลือดกับน้ำในร่างกายที่เพิ่มขึ้น   นอกจากนี้คุณแม่เองยังมีไขมันที่สะสมอยู่ในตัวเท่ากับน้ำตัวของลูกน้อยอีกด้วย
  • เจ็บท้อง มดลูกแข็งตัว คุณแม่บางท่านจะมีอาการท้องแข็งเกิดขึ้นได้บ้าง เนื่องจากมดลูกมีอาการแข็งตัวเป็นพักๆ แล้วก็หายไปเอง ซึ่งอาการนี้จะทำให้คุณแม่ไม่เจ็บมาก และไม่เจ็บถี่เหมือนอาการเจ็บท้องคลอด แต่หากคุณแม่รู้สึกท้องแข็งมาก เจ็บถี่ และเจ็บมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการที่บอกว่าเจ็บท้องคลอดได้
  • ฮอร์โมนสูง รกสมบูรณ์ ตั้งแต่ตั้งครรภ์เดือน 8 เป็นต้นไป รกซึ่งเป็นระบบหล่อเลี้ยงลูกน้อยจะมีความพร้อมสมบูรณ์เต็มที่ พร้อมทั้งสร้างฮอร์โมนชนิดต่างๆ ในระดับสูง เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ รองรับการขยายตัวของมดลูกที่เพิ่มขึ้น และเตรียมพร้อมต่อการคลอดในเดือนหน้า
  • สะดือตื้นขึ้น เห็นเส้นดำกลางท้องชัดเจน หน้าท้องของคุณแม่จะยืดขยายใหญ่ขึ้น จนผิวหนังบริเวณท้องตึง เห็นสะดือตื้นขึ้น และเส้นดำกลางท้องจะมีสีคล้ำเข้มขึ้นอย่างชัดเจน หากคุณแม่รู้สึกว่าผิวแห้งตึงและคัน ควรหมั่นทาโลชั่นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและป้องกันไม่ให้เกิดริ้วรอยแตกลายเพิ่มมากขึ้น

อาการของคนท้อง 9 เดือน

สำหรับอาการคนท้องใกล้คลอด คืออายุครรภ์ตั้งแต่ 36-40 สัปดาห์ คุณแม่จะได้เห็นหน้าลูกน้อยในเร็ววันนี้แล้ว เพราะในช่วงตั้งครรภ์ 9 เดือนนี้ ลูกน้อยพร้อมที่จะออกมาลืมตาดูโลกและพบหน้าคุณแม่ ซึ่งร่างกายคุณแม่เองก็มีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการคลอดอีกด้วย ดังนี้

  • ท้องลด ช่วงใกล้คลอดศีรษะของลูกน้อยลงมาในช่องเชิงกรานใกล้ปากมดลูกเพื่อเตรียมคลอดแล้ว จะทำให้คุณแม่มีอาการท้องลด โดยที่คุณแม่จะรู้สึกเบาสบายแถวๆ ลิ้นปี่รวมทั้งยังหายใจได้สบายขึ้น แต่หากเข้าสู่การตั้งครรภ์เดือนที่ 9 แล้ว ท้องยังไม่ลดลงก็ไม่ผิดปกติค่ะ เพราะคุณแม่อาจจะมีอาการท้องลดในช่วงที่เจ็บครรภ์คลอดได้
  • จุกเสียด แสบร้อนกลางอก เพราะมดลูกของคุณแม่ได้ขยายตัวขึ้นตามตัวของลูกน้อยที่ใหญ่คับครรภ์ จนทำให้ดันกระเพาะอาหารและลำไส้คุณแม่ให้สูงขึ้น ส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมา ทำให้คุณแม่มีอาการแสบร้อนกลางอกได้ วิธีบรรเทาอาการคือ ให้คุณแม่กินอาหารในปริมาณน้อยๆ แต่พออิ่ม คืองดการกินอาหารครั้งเดียวเยอะๆ แต่ให้กินครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยมื้อ พยายามเคี้ยวอาหารให้ละเอียด หลังกินอาหารควรนั่งพักสักครู่ ไม่นอนทันที ก็จะช่วยป้องกันอาการแสบร้อนกลางอก และจุกเสียดได้

ทั้งนี้ พัฒนาการทารกในครรภ์ 9 เดือน ลูกน้อยครบกำหนดคลอดจะมีความยาวประมาณ 50 ซม. และน้ำหนัก 3,000-3,500 กรัม ซึ่งก็มีร่างกายที่แข็งแรงเติบโตสมบูรณ์พร้อมที่คลอด ทำให้เวลาลูกน้อยเคลื่อนไหว จะเห็นเป็นรอยนูนชัดเจนที่หน้าท้องคุณแม่ได้ ปอดของลูกน้อยมีการพัฒนาสมบูรณ์เต็มที่ พร้อมที่จะช่วยให้ลูกหายใจหลังคลอดได้เอง แต่ก็ต้องระวังเพราะลูกอาจมีการดิ้นน้อยลง เนื่องจากตัวโตมีพื้นที่ดิ้นน้อย แต่คุณแม่จะยังรู้สึกได้ว่าลูกดิ้นอยู่ แต่หากคุณแม่รู้สึกว่าลูกไม่ดิ้นเลยจนผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

Must read >> อาการใกล้คลอด 6 สัญญาณที่แม่ต้องสังเกต

ทั้งนี้ อาการของคนท้อง ตั้งแต่สัปดาห์แรกจนกระทั่งคลอด แม่ท้องจะมีอาการต่างๆ ที่มีความรุนแรงแตกต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคล ในบางคนอาจจะไม่มีอาการแพ้ท้องเหมือนกับคนอื่นๆ ก็ได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว อาการคนท้อง เหล่านี้จะหายเองตามธรรมชาติหลังจากคลอดลูกน้อยออกมา ดังนั้นคุณแม่ท้องจึงไม่ควรกังวลมากเกินไปเมื่อเกิดอาการเหล่านี้ แต่เมื่อพบว่าอาการที่เป็นอยู่มีความรุนแรงและผิดปกติอย่างมากก็ควรเข้าพบคุณหมอโดยทันที เพราะอาการเหล่านั้นอาจส่งผลเสียกับตัวคุณแม่เองและลูกทารกในครรภ์ได้หากละเลยไป

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up