ตรวจตั้งครรภ์ เร็วสุดกี่วัน ท้องไม่ท้อง เช็คเลย!!!

Alternative Textaccount_circle
event

ตรวจตั้งครรภ์ เร็วสุดกี่วัน ตรวจแบบไหนได้ผลการตรวจที่แม่นยำ ใช้เวลานานไหมกว่าจะรู้ผล เป็นคำถามที่ผู้หญิงหลายคนอยากรู้คำตอบ ด้วยจุดประสงค์ที่ต่างกัน

ตรวจตั้งครรภ์ เร็วสุดกี่วัน ท้องไม่ท้อง เช็คเลย!!

คุณผู้หญิงหลายคนเกิดความเครียด ลุ้นผลตรวจครรภ์ว่าผลจะออกมาว่า ท้องหรือไม่ท้อง คนที่อยากท้องบางคนเครียดมาก จนประจำเดือนมาล่าช้า ส่วนคนที่ไม่อยากท้องก็เครียด เพราะกลัวท้อง วันนี้ ทีมกองบรรณาธิการ ABK ได้นำข้อมูลการ ตรวจตั้งครรภ์ เร็วสุดกี่วัน จะทราบผล มาดูรายละเอียดกันเลยค่ะ

ตรวจการตั้งครรภ์
ตรวจการตั้งครรภ์

อาการที่ส่งสัญญาณว่ากำลังตั้งครรภ์

  • ประจำเดือนขาด หลังจากอสุจิและไข่ผสมกัน ได้กลายมาเป็นตัวอ่อน แล้วฝังรากลงไปในโพรงมดลูก ทำให้ประจำเดือนขาด ไม่มาตามกำหนด
  • ปัสสาวะบ่อย สาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้เลือดไหลผ่านไปยังไตมากขึ้น จึงทำให้กระเพาะปัสสาวะรับน้ำมากขึ้น
  • อาการแพ้ท้อง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ มีอาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เหม็นอาหาร เนื่องจากมีความรู้สึกไวต่อกลิ่นต่างๆ โดยเฉพาะกลิ่นอาหาร บางรายอยากรับประทานอาหารแปลกไปจากที่เคยรับประทาน แต่อาการเหล่านี้อาจบรรเทาลงได้ในสัปดาห์ที่ 13 – 14 ของการตั้งครรภ์
  • ท้องผูก เกิดจากฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการตั้งครรภ์ อาหารเคลื่อนสู่ลำไส้ได้ช้าลง เป็นเหตุให้เกิดอาการท้องผูก
  • จึงควรรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง และดื่มน้ำมากๆ
  • เต้านมขยาย การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดอาการคัดเต้า หน้าอกตึง บวม เจ็บเมื่อสัมผัส หน้าอกอาจขยายใหญ่ขึ้น และหัวนมอาจมีสีคล้ำขึ้น อาการเหล่านี้จะหายไป แต่อาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์ ในระหว่างที่เกิดอาการคัดเต้า ไม่ควรสวมเสื้อในที่รัดแน่น เพื่อบรรเทาอาการเจ็บ
  • เหนื่อยง่าย เกิดจากระดับฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนที่เพิ่มขึ้น กระตุ้นให้ร่างกายผลิตเลือดมากขึ้นเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ จึงอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยง่าย เพลีย อยากนอนมากขึ้น การรับประทานอาหารที่มีโปรตีน ธาตุเหล็ก และพักผ่อนให้เพียงพอ อาจช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้

ตรวจการตั้งครรภ์โดยหาค่าฮอร์โมนเอชซีจี (hCG)

ฮอร์โมนเอชซีจี (Human Chorionic Gonadotropin หรือ hCG) เป็นฮอร์โมนที่เกิดจากตัวรกหลังเกิดการปฏิสนธิ 6 วันขึ้นไป โดยระดับปริมาณฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) สามารถระบุถึงการตั้งครรภ์และอายุครรภ์คร่าวๆ ได้ ฮอร์โมนนี้มีความยาวของกรดอะมิโน 237 ตัว ชุดน้ำยาในที่ตรวจครรภ์ อ่านผลได้จากการดักจับฮอร์โมนเอชซีจี ส่วนวิธีการตรวจตั้งครรภ์ด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการ จะใช้ชุดน้ำยาตรวจสอบที่จับส่วนประกอบย่อยของฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) ที่มีอยู่ 2 ส่วน ได้แก่

  • อัลฟ่า เอชซีจี (Alpha Subunit หรือ Alpha-hCG) มีความยาวของกรดอะมิโน 92 ตัว
  • เบต้า เอชซีจี (Beta Subunit หรือ Beta-hCG) มีความยาวของกรดอะมิโน 145 ตัว

วิธีตรวจการตั้งครรภ์มี 2 วิธี ดังนี้

  • ตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง

    เป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว และง่าย สามารถหาซื้อ ที่ตรวจครรภ์ ได้ตามร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีราคาแตกต่างกันไป ตามยี่ห้อ สถานที่ผลิต และความแม่นยำ ซึ่งผลการตรวจ จะแสดงขีดขึ้นมาในแถบวัด ซึ่งมีอยู่ 2 ขีด คือ ขีด C (Control Line) และขีด T (Test Line) หากขึ้นขีดเดียวที่ขีด C คือ ผลลบ แสดงว่า ไม่ตั้งครรภ์ และหากขึ้น 2 ขีด คือ ผลบวก แสดงว่า มีโอกาสตั้งครรภ์ ทั้งนี้ที่ตรวจครรภ์มี 3 รูปแบบ คือ

    1. ที่ตรวจครรภ์แบบปัสสาวะผ่าน อุปกรณ์เป็นแบบแท่ง วิธีใช้คือ ถอดฝาครอบออกแล้วถือให้ทิศทางลูกศรชี้ลง หลังจากนั้นปัสสาวะผ่านบริเวณที่ต่ำกว่าลูกศรประมาณ 30 วินาที รอผลการตรวจประมาณ 3-5 นาที
    2. ที่ตรวจครรภ์แบบหยด หรือแบบตลับ  อุปกรณ์มี 3 ชิ้นคือ ถ้วยใส่ปัสสาวะ หลอดหยด และตลับตรวจครรภ์ วิธีใช้คือ ปัสสาวะใส่ถ้วย จากนั้นใช้หลอดหยดดูดปัสสาวะ แล้วหยดลงใน 3-4 หยด รอผลการตรวจประมาณ 5 นาที
    3. ที่ตรวจครรภ์แบบจุ่ม มีอุปกรณ์ 2 ชิ้นคือ ถ้วยใส่ปัสสาวะ และแผ่นตรวจ วิธีใช้คือ ปัสสาวะใส่ถ้วย แล้วนำแผ่นตรวจจุ่มลงไปในถ้วยประมาณ 3 วินาที หลังจากนั้นนำออกมาวางทิ้งไว้ เพื่อรอผลตรวจประมาณ 5 นาที ควรระวังอย่าจุ่มน้ำปัสสาวะสูงเกินขีดลูกศรของแผ่นตรวจ
ตรวจการตั้งครรภ์โดยแพทย์
ตรวจการตั้งครรภ์โดยแพทย์
  • ตรวจการตั้งครรภ์โดยแพทย์

    ตรวจโดยการตรวจเลือด เพื่อตรวจฮอร์โมน hCG และยืนยันผลโดยนักเทคนิคการแพทย์ โดยการตรวจจากฮอร์โมน Beta-hCG รอผลประมาณ 1-2 ชั่วโมง ผลการตรวจมีความแม่นยำถึง 99%

    ตรวจโดยการอัลตราซาวน์

ตรวจตั้งครรภ์ เร็วสุดกี่วันรู้ผล

  • ตรวจโดยการตรวจเลือด โดยการตรวจจากฮอร์โมน Beta-hCG จะทราบผลหลังจากปฏิสนธิตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป และสามารถตรวจได้หลังประจำเดือนขาดไปเพียง 1 วัน
  • ตรวจโดยที่ตรวจครรภ์ สามารถตรวจการตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่วันที่ประจำเดือนควรจะมาแต่ไม่มา การตรวจจะแม่นยำมากขึ้นหากตรวจหลังมีการปฏิสนธิประมาณ 10-14 วัน ทั้งนี้ควรตรวจจากปัสสาวะแรกในตอนเช้าเมื่อตื่นนอน เนื่องจากปัสสาวะจะมีระดับความเข้มข้นของฮอร์โมน hCG สูง
  • ตรวจโดยอัลตราซาวน์ ทางช่องคลอด เมื่ออายุครรภ์ 5-6 สัปดาห์

ควรปฏิบัติอย่างไร หลังทราบผลว่าตั้งครรภ์

  • ฝากครรภ์ เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด แพทย์จะตรวจสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์อย่างละเอียด เพื่อดูพัฒนาการของทารกในครรภ์ สุขภาพคุณแม่ และอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนในช่วงตั้งครรภ์ได้ ควรพบแพทย์ตามหมายนัดจนกว่าจะคลอด
  • โภชนาการ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลาแซลมอน นมไขมันต่ำ ไข่ ธัญพืช เต้าหู้ ผักใบเขียว อัลมอนด์ ผลไม้ ควรได้รับแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัม/วัน ธาตุเหล็ก 30 มิลลิกรัม/วัน และโฟเลตประมาณ 400 ไมโครกรัม/วัน เพื่อเสริมสร้างมวลกระดูก ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงที่นำส่งออกซิเจนไปยังเซลล์ทั่วทั้งร่างกาย และป้องกันความบกพร่องทางระบบประสาท สมอง และไขสันหลังของทารกที่กำลังพัฒนา ทั้งนี้ ควรบริโภคอาหารปรุงสก งดบริโภคอาหารดิบๆสุกๆ และเนื้อสัตว์แปรรูป เพราะอาจมีสารปรอทเสี่ยงต่อการแท้งบุตร
  • ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ กีฬาที่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ เช่น โยคะ ว่ายน้ำ พิลาทิส จะช่วยไม่ให้น้ำหนักเกิน นอนหลับดีขึ้น ลดปัญหาด้านท้องผูก ปวดหลัง
  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยลดอาการท้องผูก และภาวะขาดน้ำ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนตะแคงซ้ายหรือขวา เป็นท่านอนที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากจะช่วยให้น้ำหนักของทารกในครรภ์ไม่ทับหลอดเลือดใหญ่ที่ส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจ แขนขา ป้องกันอาการบวม เส้นเลือดขอด แต่หากคุณแม่เคยชินกับการนอนหงาย ควรนำหมอนมารองหลัง ใต้ท้อง และขา เพื่อลดแรงกดทับหลัง อย่างไรก็ตาม หากอายุครรภ์มากขึ้น อาจไม่ควรนอนหงาย เพราะอาจหายใจลำบากขึ้น และเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคาเฟอีน  เพราะอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์มีแนวโน้มพิการแต่กำเนิด ระบบประสาทบกพร่อง
  • ไม่สูบบุหรี่ สารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์ในบุหรี่อาจส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจ และเสี่ยงเสียชีวิตกะทันหัน

ตรวจตั้งครรภ์ เร็วสุดกี่วัน คงได้คำตอบจากบทความนี้ที่ ทีมกองบรรณาธิการ ABK ได้รวบรวมข้อมูลมาฝากกันแล้วนะคะ จะตรวจแบบไหนอยู่ที่ความสะดวก ความแม่นยำ และงบประมาณ สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมของแต่ละท่าน

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

 

7 เคล็ดลับ 9 อาหาร ที่คน “อยากมีลูก” ควรทาน!!

ประจำเดือนสีดำ &เลือดล้างหน้าเด็กจะมีข่าวดีหรือผิดปกติ?

เช็กให้ชัวร์! หลั่งในไม่ท้อง หลังคุมกำเนิดกิน ฉีด ฝังไปแล้วกี่วัน

8เรื่องควรรู้ก่อนใช้ ยาคุม กับ7เรื่องยาคุมฉุกเฉินที่รู้ไว้ไม่พลาด

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://hellokhunmor.com, https://www.nakornthon.com, https://www.samitivejhospitals.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up