ลูกฉลาด

อยากให้ลูกเป็น เด็กฉลาด-หัวไว พ่อแม่ต้องทำ 5 สิ่งนี้!!

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกฉลาด
ลูกฉลาด

เด็กฉลาด-หัวไว พ่อแม่สร้างได้!! อยากให้ลูกฉลาด มีไอคิวสูง เรียนเก่ง ความจำดี มีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดี มีมิติทางด้านสติปัญญา พ่อแม่ควรเสริมสร้างความฉลาดในเด็กให้ถูกต้อง

อยากให้ลูกเป็น เด็กฉลาด-หัวไว พ่อแม่ต้องทำ 5 สิ่งนี้!!

จากการสำรวจของกรมอนามัย ในปี 2542-2557 พบเด็กที่พัฒนาการสงสัยล่าช้ามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ (ร้อยละ 29.7, 29, 32.3, 29.7 และ 27.5 ตามลำดับ) นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในการเสริมสร้างความฉลาดในเด็ก ดังจะเห็นได้จากการสำรวจของกรมอนามัยพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ฝากครรภ์ครั้งแรกอายุครรภ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 12 สัปดาห์ มีเพียงร้อยละ 57.3 การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เพียงร้อยละ 29.5 รวมถึงพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กขาดความรู้ ทักษะในการเลี้ยงดูเด็กที่ถูกต้อง (สำนักส่งเสริมสุขภาพ, 2556) พ่อแม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียนของลูกเพียงร้อยละ 20 เด็กที่มีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่มในบ้าน มีเพียงร้อยละ 43 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2555) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเสริมสร้างความฉลาดของเด็กทั้งสิ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสุขภาพจิต สถาบันราชานุกูล

จากการสำรวจของกรมอนามัยนี้ จะเห็นได้ว่าพัฒนาการต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาการด้านสติปัญญาของลูก ควรได้รับการส่งเสริมจากพ่อแม่เป็นด่านแรก แน่นอนว่าพ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเป็นเด็กที่ฉลาดหลักแหลม ซึ่งเรื่องของการเรียนรู้ ไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับสติปัญญาหรือ IQ ของตัวเด็กเองที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ขึ้นอยู่กับการส่งเสริมจากพ่อแม่ เพราะพัฒนาการด้านสมองและการเรียนรู้ เป็นผลโดยตรงจากการเลี้ยงดูและพฤติกรรมของพ่อแม่ และนี้คือ 5 พฤติกรรมที่พ่อแม่ควรทำ เพื่อให้ลูกเป็น เด็กฉลาด หัวไว มีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดี!

5 พฤติกรรมที่พ่อแม่ควรทำ เพื่อให้ลูกเป็น เด็กฉลาด หัวไว มีพัฒนาการการเรียนรู้ที่ดี!

  1. พ่อแม่ที่เอาใจใส่ลูก

ความรักของพ่อแม่ช่วยให้ลูกฉลาดขึ้นได้ ผลจากงานวิจัยในปี 2559 ได้แสดงว่าความรักและความเอาใจใส่ของพ่อแม่หรือผู้ปกครองในช่วงวัยแรกเกิด – 3 ขวบ จะช่วยเพิ่มศักยภาพของสมองซีกขวาซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ และการสร้างความทรงจำระยะยาวได้ (Hippo Campal Growth) โดยในงานวิจัยนี้ได้สแกนสมองของเด็กที่ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่หรือผู้ปกครองในช่วงวัยแรกเกิด – 3 ขวบ กลับได้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามกับเด็กที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่เป็นอย่างมาก ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้สมองของลูกมีพัฒนาการที่ดี ควรเริ่มดูแลเอาใจใส่ลูกตั้งแต่ลูกยังเล็ก อย่าคิดว่าลูกยังเล็กอยู่ ไม่สามารถเข้าใจถึงความรักและความเอาใจใส่ของพ่อแม่นะคะ

2. พ่อแม่ที่อยู่ห่างจอมือถือ!

เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสมัยนี้ การปล่อยให้ลูกเล่นมือถือบ้างไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ควรปล่อยให้ลูกเล่นมือถือนานแค่ไหนล่ะ ถึงจะเหมาะสม? แล้วเวลาที่เหมาะสมในการอยู่หน้าจอมือถือของพ่อแม่ล่ะ? พัฒนาการของเด็กมีความเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ทางสังคมของพ่อแม่ การสื่อสารเป็นกุญแจสำคัญของความสามารถในการรับรู้ของเด็กน้อย พ่อแม่ที่อยู่แต่หน้าจอมือถือ ละเลยการพูดคุย สื่อสารกับลูกจะทำให้พัฒนาการทางความคิด ความจำ และการเรียนรู้ของเด็กช้าลง ดังนั้น พ่อแม่ควรอยู่ห่างจากจอมือถือและใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากขึ้น และหากต้องการให้ลูกอยู่หน้าจอมือถือน้อยลง คุณพ่อคุณแม่ก็ควรทำให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย

3. พ่อแม่ที่สร้างความท้าทายให้ลูกตลอดเวลา

การพัฒนาเด็กให้มีพรสวรรค์และความสามารถ คือการให้ลูกได้เผชิญกับสิ่งที่ท้าทายสติปัญญาของเขาอยู่เสมอ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ความสร้างหรือเปิดโอกาสให้ลูกได้ฝึก เรียนรู้ และสร้างประสบการณ์ความสำเร็จและประสบการณ์ความล้มเหลว ลูกจะได้เรียนรู้จากความท้าทายนั้น ๆ ดังนั้นหากลูกน้อยกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้มากขึ้นและรู้สึกเบื่อหน่ายในชั้นเรียน ลองกระตุ้นให้ลูกได้ลองใช้สื่อการเรียนขั้นสูง หรือบทเรียนที่สูงขึ้น จะช่วยให้พวกเขาเก่งขึ้นได้

4. พ่อแม่ที่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง

การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เป็นช่วงเวลาทองที่ควรค่าแก่การปลูกฝังในทุก ๆ ครอบครัว เพราะในช่วงปฐมวัยเป็นวัยแห่งการเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เป็นช่วงที่มนุษย์เรามีความสามารถในการพัฒนาสมองและทักษะทุกด้านกว่า 80% ของชีวิต

“นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้กล่าวบนเวทีเสวนาภายในงานมหกรรมการอ่านแห่งชาติ มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัยในภูมิภาค ปี 2561 “เทศกาลลิขสิทธิ์และเนื้อหาสำหรับสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 2 (International Children’s Content Rights Fair: ICCRF)” ที่จัดขึ้นเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ว่า การอ่านนิทานให้ลูกฟังเป็นกิจกรรมที่ทุกบ้านสามารถทำได้ ขอแค่มีหนังสือนิทาน มีผู้ปกครองคอยเล่าให้ฟัง แม้จะไม่ได้อ่านสนุกหรือตลกมากก็เกิดประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กอย่างมหาศาล ความจริงแล้วผู้ปกครองจะเลือกอ่านให้เด็กฟังในช่วงเวลาไหน ตอนไหนก็ได้ แต่โดยส่วนตัวตนจะสนับสนุนให้อ่านนิทานก่อนนอน เพราะอยากให้ผู้ปกครองใช้เวลาส่งลูกเข้านอนหากิจกรรมทำร่วมกัน ถือเป็นเวลาคุณภาพ (Quality Time) ในช่วง 20.30 น. ไม่เกิน 21.00 น. ใช้เวลาเพียงแค่ 30 นาที หากเทียบกับกิจกรรมอื่น ๆ ถือว่าใช้เวลาน้อยมาก หากทำติดต่อกันทุกวันเป็นระยะเวลา 3 ปี จะเกิดประโยชน์มากมาย ทั้งเด็กมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว เฉลียวฉลาด รักการอ่าน เป็นเด็กดี เชื่อฟัง ที่สำคัญเป็นการกระตุ้นพัฒนาการของสมองส่วนหน้า และเป็นเหมือนข้อบังคับของบ้านว่าไม่ว่าผู้ปกครองจะทำงานหรือมีกิจกรรมอะไร อย่างน้อยในหนึ่งวันจะต้องส่งลูกเข้านอนและมีเวลาคุณภาพร่วมกัน”

การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง นอกจากลูกจะได้ทักษะทางสังคม ยังทำให้ลูกมีพัฒนาการด้านภาษา ทักษะการพัฒนาสมองส่วนหน้า (EF) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาความฉลาดทางเชาว์ปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือให้ลูกฟังแล้วใช่ไหมล่ะคะ ดังนั้น อย่าลืมหาเวลาในการอ่านหนังสือกับลูกกันดีกว่าค่ะ

5. พ่อแม่ที่ส่งเสริมการคิดเชิงวิเคราะห์

การคิดเชิงวิเคราะห์เป็นทักษะที่สำคัญต่อการพัฒนาความฉลาดทางเชาว์ปัญญา (IQ) การเตรียมพร้อมให้ลูกรู้จัก คิด วิเคราะห์ แยกแยะ จะเป็นประโยชน์ต่อลูก เมื่อลูกต้องไปเผชิญกับสังคมภายนอก เพราะปัญหา สิ่งท้าทาย และข้อมูลต่าง ๆ จากสังคมภายนอกนั้น ไม่เหมือนการเรียนอยู่ในห้องเรียน หากลูกรู้จักคิดเชิงวิเคราะห์ ลูกจะสามารถตั้งคำถามกับข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือได้ หรือจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าปัญหาเหล่านี้ ควรได้รับการแก้ไขอย่างไร เป็นต้น มีวิธีการส่งเสริมการคิดเชิงวิเคราะห์ให้กับลูกแบบง่าย ๆ คือ เมื่อเจอเหตุการณ์ใด ๆ ก็ตาม ให้คุณพ่อคุณแม่ลองตั้งคำถามกับลูกว่ามีความคิดเห็นอย่างไร หรือลองให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องง่าย ๆ ภายในครอบครัว นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักตั้งคำถามกับผู้ใหญ่เมื่อมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจ ด้วยคำถามว่าทำไม สิ่งใด และอย่างไร นอกจากนี้ยังควร กระตุ้นให้พวกเขาเข้าใจมุมมองที่แตกต่างจากตนด้วย

เด็กอัจฉริยะ
เด็กอัจฉริยะ

นอกจาก 5 พฤติกรรมที่พ่อแม่ควรทำ เพื่อให้ลูกเป็น เด็กฉลาด-หัวไวแล้ว ทีมแม่ ABK ขอนำแนวทางในการเสริมสร้างความฉลาดให้ลูก ผ่านกิจวัตรประจำวัน จากกรมสุขภาพจิต ดังนี้

3 กิจกรรมในชีวิตประจำวัน ที่พ่อแม่ควรเสริมสร้าง เพื่อให้ลูกมีความฉลาดทางสติปัญญา

แนวทางการเสริมสร้างความฉลาดให้ลูกโดยพ่อแม่และผู้เลี้ยงดู สามารถทำได้โดยผ่านกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือใช้อุปกรณ์ที่หาได้ในบ้าน ใช้เวลาคุณภาพสร้างความผูกพัน เพื่อให้ลูกได้เติบโตทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญา ดังนี้

  1. การสอนลูกให้มีวินัย

วินัย เป็นบันไดขั้นแรกในการสร้างความฉลาดของ โดยเริ่มต้นจากการที่ลูกสามารถปฏิบัติตามข้อตกลงของครอบครัว อยู่ในกฎระเบียบของโรงเรียนได้ พ่อแม่สามารถสร้างวินัยให้ลูกด้วยกิจกรรมการฝึกสมาธิผ่านกิจกรรมการอ่านหนังสือ วาดรูป-ระบายสี เล่นกีฬา เป็นต้น พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีในการฝึกระเบียบวินัยให้กับลูก เช่น การวางรองเท้าให้เป็นระเบียบ ไม่เปิดทีวีระหว่างการกินข้าว

2. การสอนลูกให้เก่งคิด คณิตศาสตร์

สามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านกิจกรรมและอุปกรณ์ในชีวิตประจำวัน ได้แก่

  • ฝึกสังเกต โดยใช้ประสาทสัมผัส (ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย) ในการเรียนรู้ผ่านสิ่งที่เขาพบเห็นทุกวัน
  • ฝึกแบ่งประเภทสิ่งของที่เหมือนกันหรือแตกต่างกัน
  • สอนการเปรียบเทียบ เช่น เล็กกว่า ใหญ่กว่า ยาวกว่า เป็นต้น
  • ฝึกการจัดลำดับสิ่งของตั้งแต่ 3 ชิ้นขึ้นไป ตามความยาว ความสูง เช่น จากยาวสุดไปสั้นสุด เป็นต้น
  • ฝึกให้ลูกหาความยาว ความสูง หรือน้ำหนักของของเล่นหรือของใช้
  • สอนนับจำนวน เช่น นับจำนวนอวัยวะในร่างกาย นับสมาชิกในบ้าน นับผลไม้ เป็นต้น
  • สอนเรื่องรูปทรงและขนาด โดยใช้สิ่งของในบ้านที่ลูกสามารถมองเห็นได้ เริ่มจากรูปทรงพื้นฐาน สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม เป็นต้น

3. การสอนลูกให้เก่งอ่าน-เขียนไทย

การอ่านมีส่วนช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์และจิตใจของลูก ถ้าลูกได้เรียนรู้ภาษจากพ่อแม่โดยตรง ลูกจะสามารถเชื่อมโยงความหมายของเสียงกับภาพคำศัพท์ได้ดีกว่าเรียนจากเทปหรือวีดีโอ เช่น

  • สอนลูกเรียนรู้การจัดคู่ระหว่างรูปร่างและตัวอักษร
  • การบอกเสียงสัมผัส เล่นเกมกับลูกโดยให้บอกคำที่มีเสียงเหมือนกัน หรือชักชวนให้ร้องเพลงง่ายๆ ที่ลูกสามารถร้องได้
  • สอนให้ลูกจดจำตัวอักษรและเสียงของตัวอักษร
  • สอนวิธีการอ่านหนังสือต้องเริ่มจากซ้ายไปขวาและบนลงล่าง
  • การฝึกเขียนตัวอักษรและคำต่างๆ จะช่วยให้ลูกซึมซับการอ่านได้ดีขึ้น โดยเลือกใช้ดินสอที่เหมาะกับมือของลูก
  • สอนวิธีการใช้หนังสือว่าต้องเปิดจากขวาไปซ้าย ขณะอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งคำถามเพื่อให้ลูกมีส่วนร่วม หรือหลังการอ่านให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือที่ได้อ่าน
  • ฝึกลูกให้ฟังเรื่องเล่าต่างๆ เป็นการช่วยให้ลูกมีประสบการณ์เกี่ยวกับภาษามากขึ้น จะทำให้ลูกเรียนรู้การอ่านได้ง่ายขึ้น

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาความสามารถทางสติปัญญา (IQ) ที่พ่อแม่ควรทำนั้น ไม่จำเป็นต้องไปสอนลูกให้เก่งทางด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว ความสามารถทางสติปัญญานั้นไม่ได้มีเพียงความสามารถด้านวิชาการ แต่เป็นความสามารถที่จะเรียนรู้ได้ไว มีความจำดี รู้จักวิเคราะห์ รู้จักการใช้ชีวิตอย่างมีสติได้ต่างหาก

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

โทรศัพท์มือถืออันตราย กับลูกน้อยจริงหรือไม่?

7 เทคนิคสร้าง IQ (Intelligence Quotient) ความฉลาดของลูกที่เพิ่มพูนได้

ทดสอบไอคิวลูก แบบง่ายๆ ด้วย Gesell drawing test ใช้ได้ตั้งแต่อายุ 2-12 ขวบ

10 ข้อ เลี้ยงลูกให้ฉลาด วิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้ว

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.theladders.com, กรมสุขภาพจิต สถาบันราชานุกูล, กรมสุขภาพจิต, สสส.

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up