ลูกทำชามแตก

ลูกทำชามแตก แต่อย่าให้ลูกใจ “แหลก” ด้วยคำพูดพ่อแม่ โดย พ่อเอก

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกทำชามแตก
ลูกทำชามแตก

ลูกทำชามแตก เป็นเหตุการณ์ที่น่าจะเจอกันทุกบ้าน แล้วแต่ละบ้านรับมือกับเหตุการณ์นี้อย่างไร? ผมขอแชร์ประสบการณ์ของบ้านผมให้ฟังฮะ

ช่วงเย็นวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากเสร็จจากการออกไปปั่นจักรยานกับปะป๊าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปะป๊าไม่ค่อยสบายเป็นหวัดนิดๆ พอเข้าบ้าน พี่ปูนปั้นพูดถามขึ้นว่า

“อยากทานข้าวกับไข่คนได้มั้ยครับ”

ปะป๊าตอบไปว่า ได้สิ ปูนปั้นพูดต่อว่า “เดี๋ยวปูนปั้นทำเอง” แล้วก็วิ่งเข้าครัวไปคนเดียว

(ถ้าเคยอ่านเรื่องราวของปูนปั้นกับปั้นแป้งผ่านตามาบ้างจะคุ้นว่า เราให้ลูกทั้ง 2 คนช่วยทำกับข้าวเสมอ แต่สำหรับพี่ปูนปั้นซึ่งอยู่ ป.1 แล้วก็จะทำกับข้าวง่ายๆทานเองได้)

บทความแนะนำ ชวนลูกทำอาหาร “สร้างความมั่นใจ” ติดตัวไปจนโต

ส่วนปะป๊าก็ขึ้นไปอาบน้ำ ล้างตัว สบายอารมณ์

“เพล้ง” เสียงดังฟังชัด

ป๊าเงี่ยหูฟังทันทีว่ามีเสียงร้องไห้มั้ย เพราะหลังเสียงเพล้งสิ่งที่ลุ้นที่สุดคือลูกเจ็บมั้ย

เมื่อไม่มีเสียงร้อง ป๊ารีบ แต่งตัวลงมาดู

โถแก้วใส่ข้าวกล้องใบโตแตกกระจาย

 

เมื่อลงมาถึงและเห็นหน้าปูนปั้นผมถามว่า

“หนูไม่โดนบาดใช่มั้ย เจ็บหรือป่าวลูก”

เมื่อลูกตอบว่าไม่โดนอะไร แล้วอธิบายว่ามันหนักแล้วลื่นหลุดมือ เราก็เพียงตอบว่า

“ไม่เป็นไรลูก อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ ไม่เจ็บดีแล้ว ถอยมาก่อน เดี๋ยวเหยียบโดนเศษแก้วบาด”

แล้วลูกก็พยายามเข้ามาช่วยทำความสะอาด เราก็ให้เขาช่วยห่างๆ

แล้วเหตุการณ์ก็ผ่านไปด้วยดี ลูกก็ทานข้าวกับไข่คนที่ตัวเอง ทำเอง กินเอง อร่อยเอง

ในครั้งต่อไป ปูนปั้นจะยังคงอยากทำกับข้าวเอง ความมั่นใจจะไม่ลดลง และเขาได้เรียนรู้ว่าหากไม่ระวังจะเกิดอุบัติเหตุได้ ส่วนปั้นแป้งที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่ตกอกตกใจและคงพร้อมที่จะช่วยทำกับข้าวไปเรื่อยๆ จนโตพอก็จะทำเองเหมือนพี่ปูนปั้น

 

แต่หากเหตุการณ์กลับกัน ผมดุใส่ทันที่ที่ ลูกทำชามแตก

“ทำไมทำอะไร ไม่ระวังหละลูก ของแตกเสียหายหมด … สอนให้ระวังทำไมไม่จำ”

ลูกคงเสียใจ ในครั้งหน้าเขาอาจจะไม่อยากทำกับข้าวเอง ถ้าโชคดีเขาอาจจะแค่ถอยไปเล็กน้อย แค่ต้องให้เราอยู่ใกล้ๆ สร้างความมั่นใจขึ้นมาใหม่ หากโชคร้ายเขาไม่ต้องการทำมันอีกแล้วเพราะไม่เห็นมีแรงจูงใจในการทำ เพราะไม่ทำกับข้าวเองก็มีคนทำให้ แต่ถ้าทำเองแล้วผิดพลาดอาจจะโดนดุ

 

ในทุกการกระทำที่ผิดพลาดของลูก เรามีทางเลือกเสมอในการสร้างประสบการณ์ชีวิตให้เขา ดุเพื่อให้รู้ว่าทำไมหนูแย่ หรือ อธิบายอย่างเข้าใจว่าเราสามารถเรียนรู้ไปด้วยกัน

ผมไม่ได้กำลังบอกว่า เราดุลูกไม่ได้ เราทำโทษลูกไม่ได้ แต่ถ้าความผิดพลาดเกิดจากการตั้งใจที่ดี ผมว่าเรามีทางเลือกที่ดีกว่า แต่หากการกระทำนั้นเป็นสิ่งไม่ดีหรืออาจจะเกิดอันตรายหรือทำความเดือดร้อนให้คนอื่น การดุการทำโทษก็อาจจะเป็นเรื่องที่จำเป็น

 

อ้อ ไม่ว่าคุณจะเลือกวิธีไหน อย่าลืมกอดลูกและบอกรักลูก … เรามักกอดและบอกรักลูกตอนที่เขายังอยู่ในวัยทารก แต่พอเขาโตขึ้น ผมเห็นหลายๆ ครอบครัว หลงลืมมันไป สำหรับครอบครัวเรา ผมยังบอกรักลูกทุกวัน กอดลูกทุกวัน และนั่นยังเป็นสายใยที่สำคัญที่จะผูกโยงเราให้ใกล้ชิดกันเสมอ

 


>>แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่เฟซบุ๊ค

หมุนรอบลูก – พี่ปูนปั้น กับ น้องปั้นแป้ง นะครับ<<

ปูนปั้น ปั้นแป้ง พ่อเอก
ปูนปั้น ปั้นแป้ง พ่อเอก เพจหมุนรอบลูก

บทความน่าสนใจอื่นๆ

6 ข้อดีที่ผมได้เรียนรู้ จากประสบการณ์ พาลูกท่องเที่ยว

แชร์เทคนิค”สอนลูกให้รู้จักรับผิดชอบ”ตั้งแต่เด็ก

“ลูกทำผิด” เทคนิคสอนลูก แบบไม่ต้อง “ทำโทษ”

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Summary
Review Date

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up