ลูกร้องไห้งอแง

ลูกร้องไห้งอแง ทารกร้องแบบไหนเรียกว่าผิดปกติ?

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกร้องไห้งอแง
ลูกร้องไห้งอแง

เมื่อ ลูกร้องไห้งอแง พ่อแม่มักจะทำอะไรไม่ถูก เพราะไม่รู้ว่าลูกร้องเพราะอะไร การร้องไห้ของเด็กทารกเป็นเรื่องปกติ เพราะยังสื่อสารให้พ่อแม่รู้ไม่ได้ แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าที่ลูกร้องไห้อยู่นั้น ปกติหรือผิดปกติ?

ลูกร้องไห้งอแง ทารกร้องแบบไหนเรียกว่าผิดปกติ?

สำหรับทารกแรกเกิด การร้องไห้ เป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งเพื่อจะบอกให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าลูกต้องการอะไร เป็นเพราะลูกยังพูดไม่ได้ พ่อแม่จึงต้องสังเกตกันเอาเองว่าที่ลูกร้องไห้ในครั้งนั้น ๆ เป็นเพราะอะไร อาจเป็นเพราะไม่สบายตัว หิวนม หรืออะไรก็ได้ ซึ่งการคาดเดานี้ ทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่เป็นกังวลได้เหมือนกัน เพราะคุณพ่อคุณแม่จะยังไม่สามารถเดาได้ว่าที่ลูกร้องไห้นั้น คือการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือทั่วไป หรือเป็นการส่งสัญญาณผิดปกติกันแน่ มาดูกันว่าการร้องไห้ที่ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ เป็นอย่างไรกันค่ะ

ลูกร้องไห้งอแง แบบนี้เรียกว่า “ปกติ”

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการร้องไห้ การร้องไห้ของทารก คือ การส่งสัญญาณที่สมบูรณ์แบบ นักวิทยาศาสตร์ยอมรับกันมานานแล้วว่า เสียงร้องไห้ของทารก มีลักษณะ 3 อย่างของการส่งสัญญาณที่สมบูรณ์แบบ ดังนี้

  1. สัญญาณนี้เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ – ทารกแรกเกิดร้องไห้ได้โดยอัตโนมัติ เขารับรู้ถึงความต้องการ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการสูดอากาศเข้าปอดอย่างรวดเร็ว ตามด้วยการไล่อากาศออกผ่านเส้นเสียง เมื่อเส้นเสียงถูกอากาศสั่นจะเกิดเสียงร้องที่เราเรียกกันว่า เสียงร้องไห้ ในเดือนแรก ๆ ทารกไม่ได้คิดว่า “การร้องไห้แบบไหนจะทำให้เราได้กินนม?” ทารกแค่ร้องไห้ไปตามกลไกอัตโนมัติ นอกจากนี้การร้องไห้ยังทำได้ง่าย เมื่อมีอากาศอยู่เต็มปอด ทารกสามารถร้องไห้ได้โดยแทบไม่ต้องใช้ความพยายามเลย
  2. การร้องไห้แบบปกติเป็นการรบกวนที่พอเหมาะ – เสียงร้องไห้จะกวนหูมากพอที่จะทำให้ผู้ดูแลหันมาสนใจทารกและพยายามปลอบให้เขาหยุดร้องไห้ แต่ก็ไม่รบกวนมากเกินไปจนทำให้ผู้ฟังรู้สึกรำคาญจนไม่อยากจะทนฟัง
  3. การร้องไห้สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ในขณะที่ผู้ร้องและผู้ฟังเรียนรู้วิธีส่งสัญญาณให้ถูกต้องแม่นยำขึ้น – สัญญาณจากทารกแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เสียงร้องไห้ของทารก คือ ภาษาของเขา และทารกแต่ละคนร้องไห้แตกต่างกันไป นักวิจัยด้านเสียงเรียกเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนี้ว่า “ลายเสียงร้องไห้” ซึ่งจะแตกต่างกันไปเช่นเดียวกับลายนิ้วมือของทารก

จะเห็นได้ว่าการร้องไห้แบบปกติ เป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือทั่วไป การร้องไห้ในลักษณะนี้ ทารกจะไม่งอแงจนเกินไป เมื่อได้รับการตอบสนองสิ่งที่ตนต้องการแล้วก็จะหยุดร้อง และกลับมาอารมณ์ดีได้เหมือนเดิม ซึ่งสาเหตุที่ ลูกร้องไห้งอแง โดยปกตินั้น เกิดจากไม่กี่สาเหตุ ดังต่อไปนี้

6 สาเหตุที่ทารกร้องไห้

ทารกร้องไห้
ทารกร้องไห้
  1. หิวนม

ทารกร้องบ่อยที่สุดด้วยเรื่องนี้ โดยเฉพาะทารกแรกคลอด เพราะทารกมีกระเพาะอาหารขนาดเล็ก ทำให้ทานได้น้อย และอิ่มไว แต่ก็จะหิวไวเช่นกัน โดยปกติแล้วทารกแรกคลอดจะต้องทานนมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน เมื่ออิ่มแล้วก็จะผล็อยหลับไป และเมื่อหิว ก็จะร้องอีก ดังนั้น สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ เมื่อทารกร้องไห้ ให้ดูเวลาว่าเลยเวลาที่ลูกควรจะได้ทานนมหรือยัง ถ้าเลยแล้ว ให้เดาว่า ลูกร้องไห้งอแง เพราะหิวนมได้เลย (อ่านต่อ แม่ต้องรู้! 9 สัญญาณ บ่งบอกเมื่อ ลูกหิวนม)

2. เพลียและเหนื่อย

เด็กแรกเกิด – 8 เดือนต้องการการนอนถึงวันละ 14-18 ชั่วโมง เรียกได้ว่านอนเกือบแทบทั้งวัน ที่ทารกต้องนอนมากขนาดนี้ เป็นเพราะพัฒนาการส่วนหนึ่งของร่างกายและสมอง ดังนั้น ที่ทารกร้องไห้ อาจเป็นแค่ต้องการนอนเท่านั้น ให้คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตว่าหากลูกเริ่มหาวบ่อย ๆ ตอบสนองคุณพ่อคุณแม่ได้ช้าลง เริ่มไม่สนใจสิ่งรอบตัว ตาปรือ ให้เดาได้เลยว่าถึงเวลานอนของเจ้าตัวน้อยแล้ว

บทความที่เกี่ยวข้อง : ตารางการนอนของทารก นอน/ตื่นกี่ครั้ง นอนนานแค่ไหน?

3. ไม่สบายตัว

การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม อากาศอาจร้อนหรือหนาวเกินไป ความเปียกชื้นของผ้าอ้อม ทำให้ทารกเกิดความไม่สบายตัวได้ จึงพยายามร้องเพื่อบอกให้คุณแม่ช่วยพาออกไปจากสถานการณ์เหล่านี้ คุณแม่อาจลองเช็คอุณหภูมิห้องว่าเปิดแอร์เย็นเกินไปหรืออากาศร้อนอบอ้าว ไม่ถ่ายเทหรือไม่ รวมไปถึงเสื้อผ้าที่เด็กใส่ทำให้เด็กอึดอัดหรือไม่

4. อุ้มหนูหน่อย

อย่ากลัวว่าลูกจะติดมือ คำว่าลูกติดมือ ไม่มีอยู่จริง ยิ่งคุณพ่อคุณแม่อุ้มลูกบ่อย ๆ ลูกจะยิ่งเลี้ยงง่ายและอารมณ์ดี การที่คุณพ่อคุณแม่อุ้มลูกไว้ เป็นสัญญาณที่ส่งไปให้ลูกว่าพ่อแม่อยู่กับลูกนะ ลูกอุ่นใจและวางใจได้เลย ลูกไม่จำเป็นต้องกลับอะไรเพราะมีพ่อแม่อยู่ที่นี่แล้ว

5. รู้สึกกลัว

เด็กทารกอาจร้องไห้จากความกลัวหรือสิ่งที่ไม่คุ้นเคย เช่น คนแปลกหน้าที่อุ้มทำให้เด็กสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่แตกต่างจากพ่อหรือแม่ที่เคยอุ้มพวกเขา ทำให้ทารกอยู่ในความรู้สึกกลัว จึงร้องไห้ออกมา หรือ การที่ทารกอยู่ในที่ดังเกินไป ที่ ๆ อึดอัดคับแคบ หรือถูกรุมล้อม ก็อาจทำให้ลูกร้องงอแงได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรพาลูกออกจากสถานการณ์นั้น ๆ ก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกดีขึ้นมาได้

6. เจ็บป่วย

เด็กทารกอาจร้องไห้เพราะเกิดอาการเจ็บ มีบาดแผล หรือมีอาการป่วย เช่น ท้องอืด เป็นไข้ ตัวร้อน เหมือนกับเด็กโตหรือผู้ใหญได้เช่นกัน ทำให้ร่างกายไม่เป็นปกติ จึงแผดเสียงร้องไห้ไม่ยอมหยุด คุณแม่อาจลองตรวจดูตามร่างกายว่าเกิดแผล สิ่งผิดปกติ หรือมีอาการป่วยจนต้องไปหาหมอหรือไม่ เพราะร่างกายเด็กทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ การรู้ว่าลูกเริ่มมีอาการป่วยหรือผิดปกติจะช่วยให้หายเร็วขึ้น ในบางครั้งการร้องไห้ของเด็กอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางการแพทย์ เด็กอาจร้องไห้เพื่อสื่อสารกับผู้ดูแลว่าเกิดความไม่สบายตัว พ่อแม่สามารถปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแลเด็กเมื่อเกิดความกังวลขึ้น แต่ไม่ควรซื้อยามาป้อนให้เด็กรับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจทำให้เด็กป่วยมากขึ้น ง่วงนอนตลอดทั้งวัน หรือรบกวนการกินนมของเด็ก

เพราะการร้องไห้ เป็นพัฒนาการอีกอย่างหนึ่งของทารก การร้องไห้ที่มีสาเหตุมาจาก 6 สาเหตุนี้ จึงเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่พ่อแม่ต้องเจอและรู้จักรับมือ แต่มีอีก 1 กรณี ที่การร้องไห้ของทารกในกรณีนึ้ คือผิดปกติ การร้องไห้แบบนี้จะต้องได้รับการรักษาที่เฉพาะเจาะจง คือการร้องไห้แบบไม่มีสาเหตุ ร้องไห้ไม่ยอมหยุด หรือเรียกว่าอาการโคลิค (Colic) นั่นเอง

อาการโคลิค (Colic) คือ เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นได้กับเด็กแรกเกิดอายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ไปจนถึง 3 เดือน เด็กจะร้องไห้มากและร้องนานกว่า 3 ชั่วโมงภายในวันเดียวโดยไม่มีสาเหตุ หรือบางครั้งเด็กอาจร้องไห้ในลักษณะนี้ติดต่อกันหลายวันเป็นสัปดาห์ แต่จู่ ๆ ก็มักหยุดร้องทันทีทันใด ส่วนสาเหตุที่ทำให้เด็กมีอาการโคลิคนั้น บ้างเชื่อว่าเด็กรู้สึกไม่สบายตัวจากการทำงานของระบบย่อยอาหาร แต่จริง ๆ แล้วก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง และวิธีการดูแลเด็กที่มีอาการโคลิคก็ยังแตกต่างกันออกไป แต่ควรรีบไปปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเมื่อเกิดสถานการณ์ดังนี้

ร้องไห้แบบนี้เรียก “ผิดปกติ”

  • เด็กร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานานไม่ยอมหยุด
  • เด็กไม่ยอมดื่มนมตามปกติ หรือดื่มได้น้อยลงเกินครึ่งหนึ่งของปกติ
  • ไม่ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
  • เด็กร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานาน มีไข้ อาเจียน ท้องเสีย หรือท้องผูก ผิวคล้ำหรือซีด
  • คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถปลอบให้เด็กสงบลงได้จนเริ่มมีความรู้สึกในแง่ลบต่อลูก
  • ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวแย่ลงจากการที่ ลูกร้องไห้งอแง

รับมือเด็กร้องไห้อย่างไร?

การตอบสนองสิ่งที่ลูกต้องการจะทำให้ลูกหยุดร้องไห้ได้ดีที่สุด แต่ในการร้องไห้บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะยังหาสาเหตุไม่เจอ หรือลูกยังปรับอารมณ์ได้ไม่ทัน ทำให้ยังร้องไห้ต่อเนื่อง ดังนั้น เรามีเคล็ดลับที่จะทำให้ลูกหยุดร้องไห้ มาฝากค่ะ

  1. อุ้มกล่อมพร้อมโยกเบา ๆ (อ่านต่อ ท่าซุปเปอร์แมน ท่าเซิ้งกระติ๊บ ทำให้ลูกหยุดร้องไห้)
  2. ใช้เสียงเพลงแบบไวท์ นอยซ์ การลองเลียนแบบเสียงเล็กเสียงน้อยคุยกับเด็กหรือเลือกใช้โทนเสียงที่เรียกว่า ไวท์ นอยซ์ (White Noise) ซึ่งเป็นเสียงที่ราบเรียบ มีความถี่สม่ำเสมอ (คล้ายกับเสียงของไดร์เป่าผม เครื่องซักผ้า พัดลม เสียงฝน) เนื่องจากขณะที่เด็กอยู่ในท้องจะคุ้นเคยกับเสียงในลักษณะนี้ คล้าย ๆ กับเสียงเต้นของหัวใจแม่มานานตลอดช่วงเวลาอยู่ในครรภ์ การพยายามเลียนแบบให้เด็กรู้สึกคุ้นเคยกับบรรยากาศเดิมอาจช่วยให้เด็กเคลิ้มหลับหรือเงียบลงได้ (อ่านต่อ White Noise เสียงมหัศจรรย์ ช่วยปลอบประโลมใจลูก)
  3. เปลี่ยนท่าทางขณะให้นม ทารกบางคนอาจร้องไห้ขณะดูดนมหรือหลังอิ่ม เนื่องจากการอุ้มในลักษณะที่ทำให้เด็กไม่สบายตัว อาจลองปรับท่าทางการอุ้มเด็กให้ผ่อนคลายและไม่เกร็ง ก็จะทำให้ลูกหยุดร้องไห้ได้ (อ่านต่อ อุ้มลูกดูดนม ด้วย 6 เคล็ดลับ ท่าอุ้มกระตุ้นน้ำนม)
  4. ดึงดูดความสนใจเด็ก การพาเด็กออกไปเดินเล่น เปลี่ยนบรรยากาศ หรือทำกิจกรรมอะไรใหม่ ๆ หลังจากการร้องไห้ เช่น ออกไปเดินนอกบ้าน เต้นหรือร้องเพลงให้เด็กฟัง เพื่อดึงดูดความสนใจจากการร้องไห้ ก็อาจช่วยเปลี่ยนอารมณ์เด็กให้ดีขึ้นได้
  5. ร้องเพลง คุณแม่อาจฮัมเพลงเบา ๆ ในจังหวะที่เคยร้องให้ลูกฟัง คลอไประหว่างการปลอบให้เด็กหยุดร้อง ทารกมักคุ้นเคยและชอบที่จะได้ยินเสียงของแม่ นอกจากนี้ทารกก็มักจะชอบเสียงเพลงเหมือนกัน คุณแม่หรือคุณพ่ออาจลองเปิดเพลงหลากหลายแนว เพื่อหาสไตล์เพลงที่ทำให้เด็กรู้สึกสงบลงเมื่อได้ฟังก็อาจเป็นอีกตัวช่วยที่ดีในการกล่อมเด็กร้องไห้ให้เงียบลงได้
รับมือ ทารกร้องไห้
รับมือ ทารกร้องไห้

สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ไว้เกี่ยวกับการร้องไห้ของลูก คือ การที่ ลูกร้องไห้งอแง ไม่ใช่ความผิดของคุณพ่อคุณแม่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ละเลยต่อการร้องไห้ของลูก และพยายามทำให้เขารู้สึกปลอดภัยในโลกใหม่ของเขา คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรจะคิดว่ามันเป็นความผิดของพวกคุณที่ลูกร้องไห้บ่อย ๆ และไม่ควรคิดว่าการจะทำให้ลูกหยุดร้องไห้ขึ้นอยู่กับคุณ

มันเป็นสัจธรรมในชีวิตของพ่อแม่มือใหม่ว่า ถึงแม้ทารกจะร้องไห้เพื่อแสดงความต้องการ แต่วิธีการที่เขาร้องไห้เป็นผลมาจากลักษณะอารมณ์ของเขา อย่าเอาการร้องไห้ของทารกมาเป็นอารมณ์ หน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่คือสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อทำให้เขาจำเป็นต้องร้องไห้น้อยลง ให้ความห่วงใยและอ้อมแขนอันอบอุ่นเพื่อที่ลูกจะได้ไม่ต้องร้องไห้อยู่คนเดียว และหาสาเหตุให้ได้ว่าทำไมลูกจึงร้องไห้ และคุณจะช่วยเขาได้อย่างไร เรื่องอื่น ๆ ที่เหลือเป็นเรื่องของลูก

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

Magic hold อุ้มท่านี้ลูกชอบ..ไม่ต้องห่วง กระดูกสันหลังคด

รวมคลิป เพลงแก้โคลิค คลื่นเสียงปราบอาการโคลิก ช่วยลูกหลับสบายทั้งคืน

อาการผิดปกติของทารก ที่ต้องพบแพทย์

20 อาการปกติของ ทารกแรกเกิด ที่พ่อแม่ควรรู้มีอะไรบ้าง?

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.breastfeedingthai.com, www.pobpad.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up