8 วิธี “กระตุ้นสมอง” ทารกแรกเกิด ยิ่งทำลูกยิ่งฉลาด

Alternative Textaccount_circle
event

รู้หรือไม่? เด็กที่ได้รับการ กระตุ้นสมอง อย่างถูกวิธีจากคุณพ่อคุณแม่ จะช่วยให้สมองของลูกพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ลูกฉลาด ความจำดีได้ตั้งแต่แรกเกิด!

8 วิธี “กระตุ้นสมอง” ทารกแรกเกิด ยิ่งทำลูกยิ่งฉลาด

สมอง เป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดคุณภาพและสติปัญญาของมนุษย์เรา โดยสมองจะทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการของร่างกาย ทั้งในเรื่องการรับข้อมูล การเก็บข้อมูล และการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ดั้งนั้นภายในเนื้อสมองจึงมีส่วนต่าง ๆ มากมายเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในเรื่องการมองเห็น การใช้ภาษา การเคลื่อนไหว การคิด ความรู้สึก และหน้าที่อื่น ๆ อีกมากมาย สมองจะเริ่มทำงานตั้งแต่อยู่ในท้อง และจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วมากในทุก ๆ ด้านไปจนถึงอายุประมาณ 4 ขวบ สมองจะพัฒนาไปถึง 60 % จนถึงอายุ 10 ปี จะเจริญเกือบเท่าผู้ใหญ่ จากนั้นก็จะพัฒนาในส่วนของการเรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีการหยุดยั้ง

คุณพ่อคุณแม่จะเห็นได้ว่าในช่วงขวบปีแรก ๆ สมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เด็กที่ได้รับการ กระตุ้นสมอง อย่างถูกวิธี สมองจะไม่ถูกปิดกั้น ทำให้เกิดการพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้ลูกเป็นเด็กที่ฉลาด ความจำดี มีแววอัจฉริยะได้

8 วิธี กระตุ้นสมองทารกแรกเกิด ยิ่งทำลูกยิ่งฉลาด

  1. เริ่มก่อนได้เปรียบ!!

อย่างที่ได้กล่าวไปว่าสมองจะเริ่มทำงานและพัฒนาได้ตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยหากคุณพ่อคุณแม่เริ่ม กระตุ้นสมอง ของลูกตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมองของลูกน้อย ลูบหน้าท้อง คุยกับลูกในท้องบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงอาหาร เครื่องดื่ม และสิ่งต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสมองของลูกในท้อง เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ เป็นต้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 วิธีกระตุ้นสมองลูกในท้อง

พัฒนาการทางสมองของทารก อันน่าทึ่ง ลูกน้อย “คิดอะไร” บ้างนะ?

2. ใช้ “ภาษาเด็กเล็ก (Baby Talk)” พูดคุยกับลูก

ภาษาเด็กเล็ก หรือ Baby Talks หรือ infant-directed speech คือการพูดของผู้ใหญ่ที่ใช้กับเด็กเล็ก ที่มีเสียงเล็กเสียงน้อย ท่าทาง และจังหวะที่แตกต่างจากการพูดกับเด็กโตและคนทั่วไป ภาษาเด็กเล็ก จะมีคำศัพท์ที่แตกต่างจากภาษาทั่วไป ใช้โทนเสียงสูงกว่าปกติและน้ำเสียงสูงต่ำ มีการพูดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง เน้นย้ำบางคำ และจังหวะที่ช้า พร้อมกับใช้สีหน้าท่าทางประกอบการพูด

มีงานวิจัยมากมายพบตรงกันว่าทารกไม่ชอบฟังเสียงผู้ใหญ่ที่พูดด้วยน้ำเสียงแบบธรรมดา แต่ด้วยคำพูดหรือการเล่าเรื่องเดียวกัน ถ้าคุณใช้โทนเสียงแบบเด็ก ทารกจะหันขวับมาสนใจฟังทันที ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดในการสื่อสาร ภาษาเด็กเล็ก คือ จุดเริ่มต้นของพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารของเด็ก ซึ่งเป็นใบเบิกทางของการเรียนรู้ที่มากกว่า 1 ภาษาของเด็ก ๆ ได้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม Baby Talk มีข้อจำกัด เพราะในบทความของ American College of Pediatricians ระบุว่า ควรเริ่มต้นใช้ภาษาเด็กเล็ก ได้ตั้งแต่อายุ 7 เดือน จนถึง 3 ขวบ หากเกินกว่านั้น ควรหันมาใช้ภาษาพูดปกติ เนื่องจากในช่วงวัยนี้ เด็กสามารถแยกแยะ Baby Talk กับการสนทนาปกติได้ และพวกเขาต้องการให้พ่อแม่สื่อสารกับพวกเขาเหมือนผู้ใหญ่

3. เล่นกับลูกบ่อย ๆ

สำหรับทารกแรกเกิด ควรใช้เกมการละเล่นแบบง่าย ๆ โดยใช้มือหรืออุปกรณ์ง่าย ๆ ประกอบการเล่น เช่น การเล่นจ๋ะเอ๋ การตบมือ การกำมือและแบมือ เป็นต้น เมื่อลูกโตขึ้นมาอีกนิด ให้ใช้ของเล่นที่เหมาะสมกับวัยของลูกมาประกอบการเล่น โดยเลือกของเล่นที่ให้ลูกได้ค้นหา และของเล่นที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อผู้เล่น เช่น บล็อคต่อ ตุ๊กตาเด้งดึ๋ง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกได้หัดคิดถึงเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดหลังจากการกระทำนั้น ๆ ของคุณพ่อคุณแม่และของตัวเอง

4. อย่าปล่อยให้ลูกร้องไห้นาน ๆ

การแสดงความสนใจ การแสดงความรัก การโอบ กอด อุ้มลูกบ่อย ๆ และการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ระหว่างพ่อแม่และลูก เป็นสิ่งสำคัญ เพราะทารกจะรับรู้ได้ถึงความเอาใจใส่ของคุณพ่อคุณแม่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ร่างกายของลูกหลั่งสารอ๊อกซิโตซินและเอ็นคอร์ฟินในสมอง ทำให้สมองของลูกพัฒนาได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และยังจะช่วยส่งสัญญาณความปลอดภัยทางอารมณ์ไปยังสมองของลูกน้อย ลูกน้อยจะกล้าที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกลัวลูกจะเสียนิสัย จะติดมือ แล้วปล่อยให้ลูกร้องไห้นาน ๆ เพราะนอกจากจะทำให้ลูกไม่รับรู้ถึงความรักของพ่อแม่แล้ว ยังจะไปปิดกั้นพัฒนาการสมองของลูกอีกด้วย

อ่านหนังสือกับลูก
อ่านหนังสือกับลูก

5. ชวนลูกอ่านหนังสือด้วยกัน

การอ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้ลูกฟังบ่อยๆ เป็นวิธีการที่ดีที่จะทำให้ลูกน้อยเกิดจินตนาการ เพราะเซลล์สมองจะเชื่อมต่อได้ดี เมื่อฝึกใช้ประสาทสัมผัสทางตาและทางหูมากๆ การอ่านหนังสือจึงช่วยให้เส้นใยสมองเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เด็กฉลาดขึ้นนั่นเอง โดยหนังสือหรือนิทานที่นำมาอ่านกับลูก ไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อในราคาแพง คุณพ่อคุณแม่สามารถคิดเรื่องขึ้นมาเอง โดยให้เรื่องราวเกี่ยวของกับตัวลูกเอง หรือให้มีตัวเขาเป็นผู้แสดง หรือเกี่ยวกับเรื่องที่เขาคุ้นเคยในกิจวัตรประจำวัน นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถสอนเรื่อง รูปภาพ สี รูปทรง จำนวน และคำต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่ในหน้าหนังสือ และยังสามารถใช้งานศิลปะง่าย ๆ เช่น ปั้นแป้งโด ใช้สีเทียนแท่งโต ๆ วาดภาพขณะที่อ่านหนังสือ และคุยกับลูกไปพร้อม ๆ กันก็ได้

6. นวดกระตุ้นสมอง!!

การนวดเป็นการสัมผัสและการแสดงความรักอย่างหนึ่ง ที่นอกจากจะทำให้ลูกรับรู้ถึงความรักของพ่อแม่ผ่านการสัมผัสแล้ว ยังช่วยให้ทารกรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด และมีอารมณ์ดี สิ่งนี้จะเชื่อมโยงไปถึงสมองของลูกน้อยได้ เพราะเมื่อลูกน้อยอารมณ์ดี ก็จะทำให้สมองสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ มีงานวิจัยระบุว่าทารกที่ไม่ได้รับการโอบ กอด และสัมผัส ด้วยความรัก จะมีสมองที่เล็กกว่าสมองของเด็กทั่วไป นอกจากประโยชน์ต่อสมองของลูกน้อยแล้ว การนวด และการสัมผัสร่างกาย ยังช่วยให้ทารกเรียนรู้และรักในร่างกายของตนเองได้อีกด้วย (บทความที่เกี่ยวข้อง : 17 ท่า นวดทารก ช่วยทำให้สุขภาพและพัฒนาการดี)

7. เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก

การเป็นตัวอย่างที่ดี อย่างที่รับรู้กันว่าเด็กจะเลียนแบบผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัว ฉะนั้นเนื่องจากสมองมนุษย์มีเชลล์สมองกระจกเงาที่จะคอยเรียนรู้ สังเกต และเลียนแบบพฤติกรรมโดยกระจกเงาที่ใกล้ตัวลูกที่สุด นั่นก็คือพ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก เช่นการมีนิสัยรักการอ่าน หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการแสดงให้ลูกเห็นว่าการอ่านหนังสือเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการหาความรู้เพิ่มเติม คนที่รักการอ่านจะมีความรู้มาก แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ยอมอ่านหนังสือเป็นตัวอย่างให้ลูกดู แต่กลับบังคับให้ลูกอ่านหนังสือคนเดียว ลูกก็จะไม่เชื่อในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอนนั่นเอง

8. ให้ลูกทานอาหารบำรุงสมอง

สมองคนเราต้องการอาหารและการบำรุงอย่างยิ่ง สมองเป็นอวัยวะร่างกายชิ้นแรกสุดที่จะดูดซึมสารอาหารจากสิ่งที่กินเข้าไป เด็กที่อยู่ในวัยกำลังโตมีความต้องการสารอาหารที่หลากหลายเพื่อให้ร่างกายทุกส่วนได้พัฒนาอย่างเต็มที่ และหากลูกได้ทานอาหารที่เต็มไปด้วยคุณค่าโภชนาการและสารอาหารที่มีประโยชน์กับสมอง ก็จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 สุดยอด “อาหารบำรุงสมอง” ลูกน้อย)

พัฒนาการสมอง
พัฒนาการสมอง

หากคุณพ่อคุณแม่ กระตุ้นสมอง ของลูกน้อยเป็นประจำทุกวัน และต่อเนื่อง ขอรับรองว่าสมองของลูกน้อยจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมทั้งพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของลูกน้อยก็จะมีพัฒนาการที่ดีตามไปด้วย เพราะลูกได้รับความรักและการเอาใจใส่เป็นอย่างดีของคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

พัฒนาการทารก แรกเกิด – 1 ขวบ พร้อมเทคนิคส่งเสริมพัฒนาการ

เคล็ดลับดี๊ดี..กระตุ้นพัฒนาการ ทารกแรกเกิด-12 เดือน

ไม่ต้องรอคลอด! 9 วิธีกระตุ้นพัฒนาการ ทารกในครรภ์ สร้างลูกฉลาด อารมณ์ดีได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง

6 สัญญาณ ลูกความจำดี พร้อมเคล็ดลับฝึกให้ลูกจำได้แม่น

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.scholastic.com, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, voathai.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up