ไข้หวัดใหญ่ ระบาด

ไข้หวัดใหญ่ ระบาด แนะฉีดวัคซีนป้องกัน ฟรี 11 จุดทั่วกรุง

Alternative Textaccount_circle
event
ไข้หวัดใหญ่ ระบาด
ไข้หวัดใหญ่ ระบาด

ไข้หวัดใหญ่ ระบาด ทุกปี เปลี่ยนสายพันธุ์บ่อย หมอแนะฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ช่วยได้ รีบพา 7 กลุ่มเสี่ยงเข้ารับบริการได้ฟรี สะดวกมี 11 จุดฉีดทั่วกรุงเทพฯ

ไข้หวัดใหญ่ ระบาด แนะฉีดวัคซีนป้องกัน ฟรี 11 จุดทั่วกรุง

ไข้หวัดใหญ่ เป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่มีการจับตาเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ไข้หวัดใหญ่ ระบาด มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพของคนทุกเพศวัย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และผู้สูงอายุ ยิ่งในช่วงหน้าฝน และเปิดเทอม การกระจายของโรคยิ่งมากขึ้น เพราะเด็กติดโรคจากโรงเรียนและแพร่สู่คนอื่น ๆ ในครอบครัว ฉะนั้นพ่อแม่ควรรีบพาลูกเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพื่อปกป้องสุขภาพของลูกรวมถึงคนในครอบครัวแต่เนิ่น ๆ ด้วย

ไข้หวัดใหญ่ระบาด

อย่างไรก็ตาม มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีผลต่อการระบาด และยับยั้งโรค ด้าน ศาสตรจารย์ เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า

คนมักเข้าใจว่าโรคไข้หวัดใหญ่ ไม่ร้ายแรงและสามารถหายได้เอง แต่จริง ๆ แล้ว แม้จะเป็นเชื้อตัวเดียวกัน แต่ละคนมีความรุนแรงแตกต่างกัน หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ต้องรับเข้ารับการรักษาทันทีเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะคนในครอบครัว อีกทั้งยังเป็นการป้องกันความรุนแรงของโรคที่อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

หากมีไข้สูงนาน 24 – 48 ชั่วโมงควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองในทันที เพราะยิ่งรักษาเร็วเท่าไร จะยิ่งลดความรุนแรง อาการแทรกซ้อน และโอกาสที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้นเช่นกัน

ไข้หวัดใหญ่คืออะไร? มีอาการอย่างไร? วิธีรับมือ ไข้หวัดใหญ่ ระบาด

โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza หรือ flu) เป็นโรคที่มีการติดเชื้อจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ อาการของโรคจะมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการที่รุนแรง โดยเชื้อชนิดนี้มีอยู่ด้วยกันหลากหลายชนิด เป็นโรคที่พบได้บ่อย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ โดยจะพบในวัยเด็กมากที่สุด และยังเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เป็นการติดเชื้อในทางเดินหายใจ ได้แก่ จมูก คอ หลอดลม และปอด เหมือนการติดเชื้อไข้หวัดธรรมดา แต่เชื้อไข้หวัดใหญ่จะมีความรุนแรงมากกว่า โดยเชื้ออาจจะมีการลามเข้าไปที่ปอด จนทำให้เกิดอาการปอดบวม และเมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเนื้อเมื่อยตัว และปวดตามกล้ามเนื้อเป็นอย่างมาก โรคไข้หวัดใหญ่นี้ สามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่อัตราการเสียชีวิตจากการเป็นโรคไข้หวัดใหญ่มักเกิดกับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคตับ โรคไต และโรคหัวใจ เป็นต้น

ไข้หวัดใหญ่ มีกี่สายพันธุ์

ไข้หวัดใหญ่จะแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก ๆ โดยในแต่ละสายพันธุ์จะแบ่งตระกูลย่อยได้ออกมาอีกเป็น 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่

  • ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แบ่งออกเป็น H1N1 และ H3N2 เป็นไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง มีการแพร่ระบาดที่ควบคุมได้ยากกว่าชนิดอื่น ๆ เชื้อที่ตรวจพบในร่างกาย ยังสามารถเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ได้สูง ซึ่งสามารถแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนและติดเชื้อขึ้นมาได้
  • ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B แบ่งออกเป็นตระกูล Victoria และ Yamagata เป็นไวรัสที่จะพบเชื้อได้ในคนเท่านั้น อาการไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A ส่วนมากจะเกิดการแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาว เพราะสภาพแวดล้อมที่เชื้อไวรัสชนิดนี้ชอบคืออากาศเย็นและแห้ง โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนมกราคมที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ส่วนในฤดูฝน จะมีไวรัสสายพันธุ์นี้ได้บ้าง กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการรับเอาเชื้อไวรัสเข้าไป ตามมาด้วยอาการที่รุนแรง คือ ผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจ เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี คนท้อง และผู้สูงอายุ
  • สำหรับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C  มีความรุนแรงน้อย และไม่ทำให้เกิดการระบาด จึงไม่นับรวมอยู่ในกลุ่มของไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ อาการ

โรคไข้หวัดใหญ่ มีอาการอย่างไร?

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่

  • ระยะฟักตัว 1-4 วัน จะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเฉียบพลัน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดร้อนบริเวณรอบดวงตา ปวดแขนปวดขา มีอาการเจ็บคอ คอแดง มีน้ำมูกใส ตัวร้อนแดง ตาแดง มีไข้สูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส และมักมีอาการอาเจียนหรือท้องเดิน โดยจะเป็นไข้ประมาณ 2-4 วัน แล้วไข้จึงค่อย ๆ ลดลง แต่อาการคัดจมูก และอาการแสบคอยังคงอยู่ซึ่งอาจจะหายในช่วงเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
  • ระยะที่มีอาการรุนแรงและอาจเกิดโรคแรกซ้อน อาจพบการอักเสบของเยื้อหุ้มหัวใจ โดยผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บที่หน้าอก หรือบางครั้งมีอาการหัวใจวาย ในส่วนของระบบประสาทจะมีการพบเยื้อหุ้มสมองเกิดการอักเสบ รวมทั้งสมองก็มีการอักเสบด้วยเช่นกัน

โดยอาการนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะอย่างมาก และมีอาการซึมลงตามมา ในส่วนของระบบหายใจก็จะมีอาการอักเสบเกิดขึ้นกับหลอดลม และทำให้มีอาการปอดบวม โดยผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอกและเหนื่อยง่าย ส่วนระยะเวลาของการเป็นไข้หวัดนั้นจะหายในเวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น

แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายจะมีอาการไอ และปวดตามเนื้อตัวนานถึง 2 สัปดาห์ อีกทั้งในกรณีผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่จนถึงขั้นเสียชีวิต นั่นเป็นเพราะเกิดจากโรคแทรกซ้อนอย่างโรคปอดบวม และโรคหัวใจ หรือบางครั้งก็เกิดจากโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่

ไข้หวัดใหญ่ ติดต่อกันได้อย่างไร?

เชื้อไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ สามารถแพร่ไปยังผู้อื่นโดยการ ไอ หรือจามรดกันในระยะใกล้ชิด หรือติดจากมือและสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ นอกจากนี้เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูก และตา เช่น การแคะจมูก ขยี้ตา ซึ่งระยะฟักตัวจะอยู่ประมาณ 1-4 วัน โดยที่เชื้อของไข้หวัดใหญ่นั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ชนิดที่เรียกว่า ชนิด A ชนิด B และชนิด C ซึ่งแต่ละชนิดของเชื้อจะมีการแบ่งออกเป็นพันธุ์ย่อย ๆ อีกมากมาย

ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ ระบาด ป้องกันได้อย่างไร?

ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ มีวิธีปฏิบัติตัวให้ห่างไกลจากโรคได้ดังนี้

  • รักษาร่างกายให้แข็งแรง
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ในที่สาธารณะ ในกรณีเด็กเล็ก ควรสอนลูกให้ล้างมือบ่อย ๆ
  • หลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้ป่วย
  • หากป่วยควรพักผ่อนอยู่บ้าน ควรใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อ
  • ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจามด้วยกระดาษทิชชู่ แล้วทิ้งขยะทันที เพื่อไม่ให้เชื้อโรคสัมผัสกับมือหรือแพร่กระจายในอากาศ

โรคไข้หวัดใหญ่นั้น มีความรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดาอยู่มาก หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี ก็อาจมีอันตรายจากอาการแทรกซ้อน จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้้นในช่วงที่ ไข้หวัดใหญ่ ระบาด คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนลูกให้รู้จักหลีกเลี่ยงและป้องกันการติดเชื้อจากผู้อื่น และสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรระวังการแพร่เชื้อ เพื่อไม่ให้มีการระบาดหนักมากขึ้นไปอีก

ในช่วง ไข้หวัดใหญ่ ระบาด ควรหลีกเลี่ยงการพาลูกน้อยไปตามสถานที่ผู้คนพลุกพล่าน แออัด ที่เชื้อโรคจะแพร่กระจายได้ง่าย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรหัดให้ลูกสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการหยิบจับและใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น หมั่นล้างมือให้เป็นนิสัย และเมื่อพบว่าลูกป่วยมีไข้ ไอ จาม ควรให้หยุดโรงเรียนทันที

ระหว่างพักฟืนที่บ้านหรือโรงพยาบาล ผู้ปกครอง รวมถึงคนมาเยี่ยมจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยป้องกันไว้เสมอ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสเด็กป่วยโดยตรง เพื่อป้องกันการแพร่จายโรคสู่คนอื่นในครอบครัว ส่วนเด็กที่ได้รับการรักษาไข้หวัดใหญ่จนหายแล้ว ควรพักฟื้นอยู่ที่บ้านตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดไว้ก่อน เพราะแม้ลูกจะไม่มีไข้แล้วแต่ยังมีเชื้อโรคในร่างกาย ซึ่งสามารถแพร่สู่เด็กคนอื่นได้

ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ช่วยได้!!

แพทย์แนะนำให้พ่อแม่มีลูกเล็กวัยก่อนขวบ จนถึงวัยอนุบาลเร่งพาลูกไปรับวัคซีนให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันและรับมือ ไข้หวัดใหญ่ ระบาด ไว้แต่เนิ่น ๆ เพราะเมื่อเด็กได้รับวัคซีนแล้ว  จะสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ถึง 60-70  % นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วหากป่วยจะช่วยลดระยะเวลาการป่วยจาก 7 วัน เหลือเพียง 1-2 วันเท่านั้น  ผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานไปรับวัคซีนได้ตามสถานพยาบาลใกล้บ้าน โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่สะดวก

เช็กจุดฉีดฟรี วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 11 จุดฉีดทั่วกรุง

สำหรับ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม สามารถรับบริการ “ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่” ฟรี ประกอบด้วย

  • หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
  • เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งระหว่างรับยาเคมีบำบัด และเบาหวาน)
  • ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
  • ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
  • โรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กก. หรือ ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กก./ตรม.)

    ไข้หวัดใหญ่ ระบาด รีบพาลูกไปฉีดวัคซีน
    ไข้หวัดใหญ่ ระบาด รีบพาลูกไปฉีดวัคซีน

โดย 11 จุดรายชื่อโรงพยาบาลในสังกัด กทม.

  1. โรงพยาบาลกลาง
  2. โรงพยาบาลตากสิน
  3. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
  4. โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ
  5. โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์
  6. โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร
  7. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
  8. โรงพยาบาลสิรินธร
  9. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
  10. โรงพยาบาลคลองสามวา
  11. โรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร 

นอกจากนี้ยังสามารถจองวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ด้วยการลงทะเบียนผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้

1.ลงทะเบียนผ่าน Application “เป๋าตัง”

2. จองสิทธิ์ด้วยตนเอง ณ ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.ทั้ง 69 แห่ง

หรือกรณีไม่สะดวกลงทะเบียนผ่าน Application และสามารถเข้ารับบริการรูปแบบ Walk in ได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน โดยนำบัตรประจำตัวประชาชนหรือสูติบัตร (กรณีเด็ก) มาด้วยในวันรับบริการวัคซีน ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ส.ค.2565 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด

ที่มา : www.bangkokbiznews.com

 

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีกี่ชนิด?

ในแต่ละปีองค์การอนามัยโลกจะเฝ้าติดตามสถานการณ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่อยู่ตลอด เพราะเป็นเชื่อโรคที่กลายพันธุ์ได้ง่าย  เพื่อนำข้อมูลมา สร้างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันโรคในปีต่อ ๆ ไป ในแต่ละปีเชื้อที่ระบาดจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นผู้ปกครองจำเป็นต้องพาลูกน้อยเข้ารับวัคซีนทุกปี

การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามชนิดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่คาดว่าจะระบาดในปีนั้นๆ โดยในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ จากสายพันธุ์ Northern Strain เป็นสายพันธุ์ Southern strain และมีการเปลี่ยนเชื้อไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนจาก 2 ใน 4 สายพันธุ์ ดังนี้

2021-2022 Northern Strain 2022 Southern Strain
– ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Victoria(H1N1) – ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Victoria(H1N1)
– ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Cambodia(H3N2) – ไวรัสชนิด A สายพันธุ์ Darwin(H3N2)
– ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Washington – ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Austria
– ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Phuket – ไวรัสชนิด B สายพันธุ์ Phuket

ในประเทศไทย พบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ได้ทั้งปี แต่จะพบมากขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนทุกปีเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยสามารถฉีดซ้ำได้ภายใน 6 เดือน ถึง 1 ปี

อย่างไรก็ตาม หากลูกได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่จากสายพันธุ์ที่วัคซีนไม่ครอบคลุมก็มีโอกาสที่ลูกจะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ได้  รวมถึงโรคหวัด หรือไข้หวัดธรรมดาด้วย แต่การได้รับวัคซีนสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรค ร่างกายเสียหายน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว จึงลดโอกาสการนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิตให้น้อยลง อีกทั้งช่วยสกัดกั้นไม่ให้ ไข้หวัดใหญ่ ระบาด ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ที่มา : www.phyathai.com
ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, honestdocs www.thairath.co.th

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

เคล็ด(ไม่)ลับ ลูกเป็นหวัดคัดจมูก วิธีแก้แบบไม่ใช้ยา

เปิด 5 สูตร ฉีดวัคซีนโควิด19 ในเด็ก อายุต่ำกว่า 18 ปี

อันตรายหากลูกมีอาการ ภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงในเด็ก

ลูกกล้ามเนื้อกระตุกไม่มีเหตุผล ระวังเป็น ลมชักในเด็ก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up