Rhinovirus แตกต่างจาก RSV

Rhinovirus แตกต่างจาก RSV อย่างไร ระวังลูกเป็นโรคทางเดินหายใจ

Alternative Textaccount_circle
event
Rhinovirus แตกต่างจาก RSV
Rhinovirus แตกต่างจาก RSV

ทำให้เกิดโรคร้ายเหมือนกันแต่ Rhinovirus แตกต่างจาก RSV มาดูความเหมือนและความต่างของ 2 ไวรัสร้ายที่ทำให้ลูกน้อยเกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ

Rhinovirus แตกต่างจาก RSV อย่างไร

อากาศเปลี่ยนมักจะเชื้อเชิญโรคร้ายให้มาเยือน โดยเฉพาะอากาศหนาวในเมืองไทย ที่มีฝนตกบ้างเป็นบางวัน อากาศเย็น ๆ แบบนี้ จะพบผู้ป่วยโรคระบาดเกี่ยวกับทางเดินหายใจมากเป็นพิเศษ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ย้ำเตือนเรื่องโรคภัยมาโดยตลอดในเพจ Yong Poovorawan โดยได้กล่าวถึงการระบาดของโรคทางเดินหายใจว่า มีการระบาดโรคทางเดินหายใจพบจากไวรัส 2 ตัว Human Rhinovirus (HRV) และ Respiratory Syncytial Virus (RSV)

  • Human Rhinovirus พบมากกว่า เป็นได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กเล็กจน เด็กโตและผู้ใหญ่
  • RSV พบมากในเด็กเล็ก พบได้ เท่า ๆ กันกับ Rhinovirus

ศ.นพ.ยง ได้อธิบายถึง Human Rhinovirus เพิ่มเติมว่า Rhinovirus จะมี 3 กลุ่ม คือ A B และ C โดย Rhinovirus C จะมีอาการมากวาง A และ B กลุ่ม C บางรายลงหลอดลมจะมีหายใจเร็วและหอบ คล้าย RSV ทั้งนี้ Rhinovirus อาการจะมีไข้ต่ำ ๆ เท่านั้น แล้วตามมาด้วย หวัดและไอ

Rhinovirus แตกต่างจาก RSV อย่างไร
Rhinovirus แตกต่างจาก RSV อย่างไร

เชื้อร้ายทั้ง 2 ไวรัส อาจมีความเหมือนกันอยู่ แต่ก็มีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง มารู้จักไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้ได้ในบทความนี้ค่ะ

ไรโนไวรัส (Human Rhinovirus:HRV)

ไรโนไวรัส (Human Rhinovirus:HRV) เป็นสาเหตุหลักของอาการป่วยโรคหวัด (common cold) ซึ่งจะติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนบริเวณโพรงจมูกและอาจลามมาถึงช่องปาก อาการส่วนใหญ่ของผู้ป่วยมักจะไม่รุนแรงมาก โดยไรโนไวรัสจะเป็นเชื้อที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยทุกอายุ มักจะพบในช่วงที่มีอากาศเย็นหรือฤดูหนาว เพราะอุณหภูมิพอเหมาะต่อการเติบโตของไวรัส

ระยะฟักตัว Rhinovirus ที่ทำให้เกิดโรคหวัด

ปกติแล้ว Rhinovirus จะฟักตัวประมาณ 1-4 วัน และเกิดอาการต่าง ๆ ภายหลังการสัมผัสเชื้อ 1-3 วัน อาการเด่น ๆ ของโรคหวัด ในวันแรก ๆ น้ำมูกใส วันถัดไปน้ำมูกเปลี่ยนเป็นสีเขียว นอกจากนี้ อาจมีอาการเยื่อบุจมูกบวมแดง เยื่อบุตาแดง หรือต่อมน้ำเหลืองที่คอโตได้ สำหรับอาการของโรคหวัดในเด็กเล็กและโรคหวัดในเด็กโต จะแตกต่างกันนิดหน่อย ดังนี้

โรคหวัดในเด็กเล็ก

  • มีไข้
  • น้ำมูกไหล

โรคหวัดในเด็กโต

  • เจ็บคอหรือระคายคอ
  • ต่อมามีน้ำมูก คัดจมูก ไอ

HRV-A และ HRV-B จะเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดหวัดธรรมดา พบบ่อยในเด็ก เพราะชอบอยู่ในที่ที่อุณหภูมิต่ำจึงอยู่ที่จมูก เมื่อเข้าหลอดลมที่อุณหภูมิสูงจะอยู่ไม่ได้ ทำให้เกิดเป็นหวัดธรรมดา โดยทั่วไปอาการของโรคหวัดธรรมดาจะเกิดขึ้น 7-14 วัน และมักจะหายได้เอง หมออาจจะให้ยาพาราเซตามอลและเช็ดตัวเพื่อลดไข้ เพื่อบรรเทาอาการ

แม้จะเริ่มด้วยอาการของโรคหวัด แต่ในผู้ป่วยเด็ก โรคหวัดมักจะเป็นการเริ่มต้นของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งหมดที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดย HRV-C เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ลงหลอดลมได้ ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดบวม โรคหลอดลมอักเสบ มักเกิดกับทางเดินหายใจส่วนล่างอักเสบ

อาการอันตรายหากติดเชื้อ HRV-C

เชื้อ HRV-C อาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบติดเชื้อได้ จึงมักมีอาการอื่นเพิ่มเติม เช่น ไอหอบ เหนื่อย เมื่อเกิดอาการปอดอักเสบติดเชื้อจึงก่อให้เกิดอันตรายได้มากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตในเด็กเล็ก แต่เด็กโตและผู้ใหญ่ก็อันตราย อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จึงต้องคอยสังเกตอาการ ไข้สูง ไอมาก ไอปนเลือด มีเสมหะข้น หายใจหอบ ควรรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

การรักษาการติดเชื้อ HRV แพทย์จะพิจารณาตามอาการและความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะทารก เด็กเล็ก คนท้อง และผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้ และในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสตัวนี้ได้

Rhinovirus แตกต่างจาก RSV อย่างไร
Rhinovirus แตกต่างจาก RSV อย่างไร

อาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus:RSV)

อาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus:RSV) มักจะเกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ประกอบด้วย หลอดลม หลอดลมส่วนปลาย และถุงลม โดยมีอยู่สองสายพันธุ์ คือ RSV-A และ RSV-B เป็นไวรัสก่อการติดเชื้อทางเดินหายใจของเด็กทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และมีการระบาดเกือบทุกปี

ระยะฟักตัว RSV

หลังรับเชื้อ RSV โดยเฉลี่ยจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 4-6 วัน แสดงอาการได้เร็วที่สุดหลังติดเชื้อ 2 วัน และช้าที่สุดราว ๆ 8 วัน อาการของการติดเชื้อ RSV มีความใกล้เคียงกับการติดเชื้อไวรัส HRV โดยช่วงแรก ๆ มีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล เด็กโตและผู้ใหญ่อาการมักไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่ทารกหรือเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ต้องระวัง เพราะร้อยละ 20-30 เมื่อมีการติดเชื้อเป็นครั้งแรกจะลุกลามไปยังทางเดินหายใจส่วนล่าง เกิดเป็นโรคหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบและปอดอักเสบ ซึ่งสามารถสังเกตสัญญาณอันตรายได้ในอาการ ดังนี้

เด็กที่อายุน้อยกว่า 1-2 ปี เด็กที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือผู้ที่มีโรคหัวใจหรือโรคปอดเรื้อรัง จะเพิ่มความเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อน เช่น หูอักเสบ ไซนัสหรือปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน จนอาการรุนแรงขึ้นได้

อันตรายของไวรัส RSV

RSV สามารถก่อให้เกิดอาการรุนแรงในทารกและเด็กเล็ก ถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงต้องหมั่นสังเกตอาการของลูก หากพบว่ามีอาการผิดปกติอย่านิ่งนอนใจ เพราะ RSV ยังไม่มียารักษาโดยตรง ทำได้เพียงรักษาและให้ยาตามอาการ เช่น

  • ยาลดไข้
  • ยาแก้ไอละลายเสมหะ
  • ในเด็กที่เสมหะเหนียวมาก ต้องพ่นยาขยายหลอดลมหรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก

อาการสำคัญที่ต้องนอนโรงพยาบาล หากติดเชื้อไวรัส RSV ได้แก่ ไข้สูง ไม่กิน ไม่เล่น หายใจเร็วกว่าปกติ หายใจมีเสียงหวีด หงุดหงิดง่าย หรือเซื่องซึม และ RSV ก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกันเช่นเดียวกับไวรัส HRV

ความแตกต่าง Rhinovirus และ RSV

  • HRV หรือที่คุ้นเคยกันว่า Rhinovirus โดยปกติแล้วจะเกิดเป็นโรคหวัดธรรมดา หากพบว่าเป็นกลุ่ม HRV-A และ HRV-B อาการจะเบาบางกว่า แต่ถ้าติดเชื้อ HRV-C อาจก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงได้ HRV พบได้ทุกเพศทุกวัย ทั้งทารก เด็กเล็ก เด็กโต และผู้ใหญ่ กลุ่มเสี่ยงที่อันตรายจะเป็นทารกและเด็กเล็ก คนท้อง ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
  • RSV พบมากในทารกและเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จะยิ่งเสี่ยงอันตรายร้ายแรง เพราะมักจะพบการรติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้มาก RSV ยังแพร่ระบาดได้บ่อย พบเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนตลอดจนหน้าหนาว

วิธีป้องกันไวรัส HRV และ RSV

ทั้งสองไวรัสติดต่อได้ง่าย ผ่านทางน้ำมูก น้ำลายหรือสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง จึงติดกันได้ง่ายโดยเฉพาะเด็กวัยเรียน ตั้งแต่ศูนย์เด็กเล็ก เตรียมอนุบาล โรงเรียนอนุบาล หรือโรงเรียนประถม สำหรับวิธีป้องกันไวรัสร้ายทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

  1. ล้างมือให้ถูกวิธี ทุกคนในครอบครัวต้องล้างมือให้บ่อยจนเป็นนิสัย โดยจะใช้สบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ก็ได้ และต้องคอยดูแลความสะอาดของทารกหรือเด็กเล็กมากเป็นพิเศษ เพราะวัยนี้ชอบหยิบ ชอบจับ ชอบสัมผัส แล้วเอามือเข้าปาก อมมือ ดูดนิ้วเป็นประจำ การล้างมือบ่อย ๆ ยังช่วยป้องกันโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19) ได้อีกด้วย
  2. หลีกเลี่ยงการพาทารกหรือเด็กเล็ก ไปยังสถานที่ที่มีคนแออัด พื้นที่ที่คนพลุกพล่าน เพราะเสี่ยงต่อการรับโรคร้ายได้หลายโรค
  3. หมั่นทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ อาจใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ปลอดภัยกับลูกน้อยคอยถูบ้าน ทำความสะอาดของเล่น ของใช้ เป็นประจำ
  4. เปิดหน้าต่าง เปิดประตูบ้าน ในช่วงกลางวัน เพื่อให้อากาศถ่ายเท และรับแสงแดดเข้ามา
  5. คนในครอบครัวควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะทารกหรือเด็กเล็กที่สูดดมควันบุหรี่ หรือแม้แต่บุหรี่ติดเสื้อ ก็สามารถทำให้เด็กเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินหายใจมากขึ้น โดยเฉพาะการจะติดเชื้อไวรัส RSV เด็กที่ใกล้ชิดกับควันบุหรี่จะพบอาการรุนแรงมากกว่า
  6. ทารกที่อายุต่ำกว่า 6 เดือนควรได้รับนมแม่ที่เต็มไปด้วยสารอาหาร ภูมิคุ้มกัน และภูมิต้านทานโรค เมื่อลูกพ้น 6 เดือน ก็ยังสามารถเสริมน้ำนมแม่ไปได้เรื่อย ๆ
  7. ในเด็กเล็กต้องดูแลเรื่องสารอาหารให้ครบถ้วน ดูแลสุขอนามัย ให้ลูกดื่มน้ำและพักผ่อนอย่างเพียงพอ อาจพาลูกไปเดินเล่น สัมผัสอากาศนอกบ้านบ้างในวันที่อากาศดี
  8. เมื่อลูกในวัยเรียนเจ็บป่วย ไม่สบาย ควรให้เด็กหยุดอยู่บ้านเพื่อสังเกตอาการ ทั้งยังเป็นการลดการติดเชื้อได้ด้วย และหากพบสัญญาณอันตราย มีอาการหายใจเหนื่อย หอบ มีไข้สูง หรือมีไข้นานติดต่อกันหลายวัน ควรรีบไปพบแพทย์

ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ โดยเฉพาะหน้าฝนและหน้าหนาว พ่อแม่ต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิด คอยสังเกตความผิดปกติของลูกสม่ำเสมอ เมื่อลูกไม่สบายจะได้รักษาอย่างทันท่วงที

อ้างอิงข้อมูล : Yong Poovorawan, pidst, chulalongkornhospital และ car.chula.ac.th

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

อ่วม WHO เผยโรคหัด หัดเยอรมัน คร่าชีวิตเด็กทั่วโลกพุ่ง!!

หมอเผยภาพ! ปอดเด็กที่ติด เชื้อไวรัส RSV พร้อมแนะวิธีป้องกันลูกจากโรค RSV

ภูมิแพ้ หวัด ไข้หวัดใหญ่ ต่างกันอย่างไร แยกให้ออกลูกเป็นโรคอะไรกันแน่!

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up