ลักษณะทารกคลอดก่อนกำหนด

ลักษณะทารกคลอดก่อนกำหนด การดูแลและวิธีส่งเสริมพัฒนาการลูก

Alternative Textaccount_circle
event
ลักษณะทารกคลอดก่อนกำหนด
ลักษณะทารกคลอดก่อนกำหนด

อายุครรภ์เท่าไหร่   ถึงเรียกว่าคลอดก่อนกำหนด?    ลูกคลอดก่อนกำหนด แม่ต้องดูแลอย่างไรให้ปลอดภัย เติบโตอย่างแข็งแรง มีพัฒนาการที่ดี?   ทีมแม่ ABK มีข้อมูลที่น่าสนใจมาฝากค่ะ

ทารกคลอดก่อนกำหนด Logan Ray หัวใจนักสู้ไซส์มินิ

ทารกคลอดก่อนกำหนด ต้องอาศัยหัวใจที่แข็งแกร่ง ตลอดจนการดูแลรักษาอย่างดีที่สุด เพื่อให้หนูน้อยเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง เช่นเดียวกับกรณีของ Logan Ray ที่คลอดก่อนกำหนด ออกมาในวัย 23 สัปดาห์ ขนาดขณะคลอดออกมาเท่ากับตุ๊กตาซุปเปอร์แมน

ขนาดของ Logan ที่อายุเพียง 23 สัปดาห์ มีความยาวของลำตัว 12 นิ้ว น้ำหนักแค่ 1.5 ปอนด์ หรือราว ๆ 0.68 กิโลกรัม ไซส์จึงพอ ๆ กับตุ๊กตาซุปเปอร์แมน จากภาพที่เห็นตุ๊กตาซุปเปอร์แมนอยู่เคียงข้าง Logan นั้น เกิดจากพยาบาลแนะนำให้หาบางอย่างมาวางไว้ข้าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบขนาดตัวของเด็ก Rob ผู้เป็นพ่อวัย 42 ปี จึงปรึกษากับคุณแม่และเลือกตุ๊กตาซุปเปอร์แมน

 

ย้อนกลับไปในช่วงการตั้งครรภ์ที่ 21 สัปดาห์ Val ผู้เป็นแม่วัย 34 ปี กำลังตั้งครรภ์ลูกคนแรก ขณะนั้นเองคุณหมอเริ่มตรวจพบความผิดปกติ ภายหลังทำการอัลตราซาวด์พบว่าเธอมีภาวะปากมดลูกหลวม (incompetent cervix) ความผิดปกติของปากมดลูก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสี่ยงแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ จึงรีบนำตัวคุณแม่ไปเย็บผูกปากมดลูกเพื่อลดความเสี่ยงการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ Rob และ Val ต้องเตรียมตัวเตรียมใจยอมรับถึงกรณีที่เลวร้ายที่สุด

คุณหมอพูดถึงเรื่องการแท้ง แต่ผู้เป็นพ่อและแม่ก็ปรึกษาคุณหมอ พร้อมยืนยันที่จะให้กำเนิดลูกน้อย Val จึงจำเป็นต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาล โดยหนุนเท้าให้สูงกว่าหัว ห้ามขยับเขยื้อนไปไหน นอนอยู่นิ่ง ๆ นาน 20 กว่าวัน หลังจากนั้นเธอก็น้ำเดิน โดยใช้เวลาทำคลอด 32 ชั่วโมง จากนั้นทารกน้อยที่คลอดก่อนกำหนด ก็ถูกนำตัวส่งเข้าห้อง NICU พอตรวจร่างกายของ Logan พบว่า มีเลือดออกภายในสมอง 2 จุด มีรูรั่ว 2 รูที่หัวใจ เป็นไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (inguinal hernia) รวมทั้งพบการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และเพียง 5 สัปดาห์หลังคลอด Logan ได้ถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเด็ก (Randall Children’s Hospital) โชคดีที่ Logan ไม่จำเป็นต้องฟอกไต แต่ก็ต้องทำเลเซอร์ดวงตาเมื่ออายุ 11 สัปดาห์ เพื่อรักษาภาวะจอตาผิดปกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด

ลักษณะทารกคลอดก่อนกำหนด
ลักษณะทารกคลอดก่อนกำหนด

“เขาเป็นฮีโร่ตัวน้อย ตั้งแต่วันที่ตัวเขามีน้ำหนักแค่ปอนด์ครึ่ง ” ผู้เป็นแม่ เล่าถึงลูกตัวน้อยหัวใจนักสู้ และเธอมักจะเรียกลูกน้อยว่า “tough guy” สะท้อนถึงหัวใจอันแข็งแกร่งของ Logan ไม่ว่าคุณหมอจะพูดอย่างไร เธอก็ยังเชื่อมั่นในตัวของ Logan เสมอว่าจะฝ่าฟันทุกอย่างไปได้ จนทุกวันนี้คุณหมอยังคงส่งข้อความถามถึง Logan อยู่เสมอว่า “tough guy ตัวน้อยของพวกเราเป็นอย่างไรบ้าง”

Logan ต้องรับการดูแลและรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลนานถึง 105 วัน จึงจะสามารถกลับบ้านได้

จากวันที่ใคร ๆ ต่างก็บอกพ่อแม่ว่า อย่าคาดหวัง จวบจนวันนี้ ในวัย 4 ปี หนูน้อย Logan Ray ได้ฉลองวันเกิดทุก ๆ ปี กับตุ๊กตาซุปเปอร์แมนตัวเก่า สัญลักษณ์ของหัวใจนักสู้ที่ไม่ท้อถอย พร้อมส่งต่อความกล้าหาญให้กับทารกน้อยคนอื่น ๆ ที่ต้องออกมาดูโลกก่อนกำหนดให้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา

ลักษณะทารกคลอดก่อนกำหนด
ลักษณะทารกคลอดก่อนกำหนด

การต่อสู้อันยิ่งใหญ่ของทารกคลอดก่อนกำหนด ได้กลายเป็นปาฏิหาริย์ในหลาย ๆ ครอบครัว แต่ใช่ว่า เด็กทุกคนจะเติบโตอย่างแข็งแรง แม่ตั้งครรภ์จึงควรดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันอย่างดีที่สุด และเมื่อลูกน้อยคลอดออกมาแล้ว ก็ต้องศึกษาหาข้อมูลเพื่อดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด รวมถึงส่งเสริมพัฒนาการให้ทารกแข็งแรงสมวัย

อายุครรภ์เท่าไรถึงเรียกว่า คลอดก่อนกำหนด

กำหนดคลอดตามอายุครรภ์ ปกติแล้วจะนับ 40 สัปดาห์ แต่นับว่าทารกครบกำหนดคลอด เมื่อตั้งครรภ์ได้ 37 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ถ้าคลอดก่อน 37 สัปดาห์จะเรียกว่า ทารกคลอดก่อนกำหนด โดยการคลอดทารกออกมาก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ จะนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายก่อนตั้งครรภ์ น้ำหนักของทารกหากน้อยกว่า 2,500 กรัม จะเรียกว่า ทารกน้ำหนักน้อย ถ้าน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม จะเรียกว่า ทารกน้ำหนักน้อยมาก

สำหรับความเสี่ยงคลอดก่อนกําหนด เช่น

  1. อายุของคุณแม่ตั้งครรภ์ หากมีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือมีอายุมากกว่า 34 ปี จะเพิ่มความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนดได้
  2. มีความผิดปกติภายในมดลูก เช่น มีเนื้องอกในมดลูก ปากมดลูกสั้น หรือภาวะปากมดลูกหลวม
  3. รกผิดปกติ เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด หรือรกฝังตัวผิดปกติ
  4. ตั้งครรภ์แฝด เพิ่มโอกาสการคลอดก่อนกำหนด หรือหากมีประวัติคลอดก่อนกำหนดจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยง
  5. พฤติกรรมและการใช้ชีวิตประจำวัน การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น ใช้สารเสพติด ทำงานหนักหรือยกของหนักบ่อย ๆ
  6. ความเครียดจากปัญหาการทำงาน เรื่องเงิน หรือเรื่องครอบครัว
  7. การรับประทานยาบางชนิด การได้รับสารเคมีหรือสารพิษ
  8. โรคประจำตัวของแม่ตั้งครรภ์ อาทิ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือพบภาวะครรภ์เป็นพิษ
  9. หากมีการติดเชื้ออย่างรุนแรงระหว่างตั้งครรภ์ ก็จะส่งผลต่อการคลอดก่อนกำหนดเช่นกัน ทั้งการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ การติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะหรือไต

สำหรับสาเหตุการคลอดก่อนกำหนดอื่น ๆ ได้แก่ แม่มีน้ำหนักตัวน้อยหรือมีภาวะทุพโภชนาการก่อนและตอนตั้งครรภ์ ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนท้องคลอด มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์ พบน้ำคร่ำมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ส่วนสาเหตุจากทารกในครรภ์ เช่น ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน มีความพิการหรือพบโรคทางพันธุกรรม ทารกเจริญเติบโตช้าหรือเสียชีวิตในครรภ์ ก็มีผลต่อการคลอดก่อนกำหนดเช่นกัน

ลักษณะทารกคลอดก่อนกำหนด

สำหรับลักษณะทารกคลอดก่อนกำหนด มักจะตัวเย็นง่าย เพราะน้ำหนักตัวน้อย ตัวเล็ก ทำให้คุณหมอและพยาบาลจึงต้องรีบนำตัวทารกคลอดก่อนกำหนดเข้าตู้อบ เพื่อควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ทารกคลอดก่อนกำหนดยังหายใจได้ลำบาก เพราะการพัฒนาของอวัยวะในร่างกายยังไม่เต็มที่ ปอดทำงานได้ไม่ดี จึงต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ หากสังเกตดี ๆ ทารกคลอดก่อนกำหนดมักจะมีอาการตัวเหลือง เพราะการกำจัดสารเหลืองของตับของเด็กคลอดก่อนกำหนดยังไม่สมบูรณ์ จึงทำให้ตัวเหลืองนานกว่าเด็กทั่วไป การดูดกลืนก็ยังทำได้ไม่ดี ทำให้สำลักนมบ่อย ๆ รวมถึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย พบโอกาสติดเชื้อมากกว่าเด็กปกติ 4 เท่า เด็กคลอดก่อนกำหนดบางคนอาจพบภาวะโรคปอดเรื้อรัง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ มีปัญหาจอประสาทตาเติบโตได้ไม่ดี และอาจพบปัญหาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดได้

วิธีดูแลทารกคลอดก่อนกําหนด

ทารกที่คลอดก่อนกำหนด สามารถเติบโตเป็นเด็กที่แข็งแรง และมีพัฒนาการที่สมวัยได้ เพียงแต่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องอาศัยความอดใจ ใส่ใจ ดูแลลงลึกในรายละเอียด ในช่วงหลังคลอด แม่ควรกอดลูก สัมผัสลูก และกอดแบบเนื้อแนบเนื้อ ซึ่งจะช่วยให้ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ปกติ อัตราการหายใจคงที่ ช่วยให้น้ำหนักตัวทารกเพิ่มขึ้น ดีต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของทารก และให้ทารกกินนมแม่อย่างสม่ำเสมอที่จะช่วยลดการเกิดลำไส้อักเสบ นอกจากนี้ ยังต้องปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการดูแลลูกเป็นพิเศษ พร้อมกับนัดตรวจอย่างละเอียด เพื่อติดตามอาการและพัฒนาการของทารก

วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันการคลอดก่อนกำหนด คุณแม่ตั้งครรภ์หรือวางแผนตั้งครรภ์ควรตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำ ฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดและสม่ำเสมอ เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพแม่ท้องและทารกในครรภ์ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม พร้อมกับหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเองและลูกในท้อง

อ้างอิงข้อมูล : bangkokhospital, chularat3, ttmed.psu.ac.th และ metro.co.uk

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

วิธีแก้กรดไหลย้อน ขณะตั้งครรภ์ อะไรที่แม่ท้องควรกิน vs ไม่ควรกิน

น้ำนมน้อยหลังคลอด : เคล็ดลับอาหารบำรุงน้ำนม & ฟื้นฟูร่างกาย

ตรวจร่างกายหลังคลอด สำคัญมาก! ทั้งแม่และลูกอย่าลืมไปตามนัด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up