เพิ่มความสูง

เพิ่มความสูง ด้วยสูตรคำนวณหาความสูงของลูก รู้ก่อนแก้ได้

Alternative Textaccount_circle
event
เพิ่มความสูง
เพิ่มความสูง

ทำไมลูกเราดูสูงน้อยกว่าเพื่อนนะ อย่ามัวแต่กังวลมาคำนวณหาความสูงสุดท้ายของลูกจากส่วนสูงของพ่อแม่กันเลยดีกว่าจะได้รีบ เพิ่มความสูง ให้ลูกก่อนสายเกินไป

เพิ่มความสูง ด้วยสูตรคำนวณหาความสูงของลูก รู้ก่อนแก้ได้

ก็แค่ความสูงจะอะไรกันหนักหนา คงไม่ขอเถียงหรอกว่า ก็แค่ความสูง แต่คุณรู้หรือไม่ว่า แค่ความสูงนั้น สามารถบอกอะไรแก่คุณพ่อคุณแม่ได้มากมาย แถมยังทำให้เราเตรียมตั้งรับกับปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดตามมากับลูกของเราได้ ก่อนที่มันจะสายเกินแก้

ความสูงสุดท้ายของลูก คืออะไร?

โดยปกติแล้ว คุณหมอเด็ก หรือกุมารแพทย์จะคำนวณหาความสูงสุดท้ายของเด็กเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เพื่อตรวจดูพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของลูกว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะคำนวณกันเมื่อเด็กมีอายุเกิน 4 ปีขึ้นไป โดยมีวิธีการคำนวณอยู่ 2 วิธีใหญ่ ๆ  ด้วยกัน ดังนี้

  • การคำนวณความสูงสุดท้ายจากความสูงของพ่อแม่ (Midparental Height  และ Target Height)

เป็นความสูงสุดท้ายที่เป็นไปตามศักยภาพทางพันธุกรรมของลูกที่ได้มาจากพ่อแม่ ซึ่งมีวิธีการคำนวณแยกเป็นเด็กหญิง และเด็กชาย ดังต่อไปนี้

เด็กผู้ชาย = (ความสูงของพ่อ + ความสูงของแม่ + 13) ÷ 2

ยกตัวอย่างเช่น
ส่วนสูงพ่อ = 175 ซม. ส่วนสูงแม่ = 152 ซม.
175 + 152 = 327 ซม.
นำผลลัพธ์ไปบวก 13 จะได้ 327 + 13 = 340
นำผลลัพธ์หารด้วย 2 จะได้ 340 / 2 = 170
170 เซนติเมตร คือความสูงคร่าว ๆ ของลูกชายในอนาคต

และช่วงของความสูงที่เป็นไปได้สูงสุด และต่ำสุด หาได้จาก การนำเอาตัวเลขที่คำนวณได้นั้นมาบวกด้วย 10 และลบด้วย 10 ในเด็กชาย ก็จะได้ช่วงความเป็นไปได้ของความสูงสุดท้ายของเด็กชายเมื่อเป็นผู้ใหญ่ (หยุดโต)

จากตัวอย่างก็จะได้ ช่วงของความสูงสุดท้ายของเด็กหญิง คือ 170±10 = 180 ซม. ถึง  160 ซม. (160-180 ซม.)

เด็กผู้หญิง = (ความสูงของพ่อ + ความสูงของแม่ – 13) ÷ 2

ยกตัวอย่างเช่น
ส่วนสูงพ่อ = 175 ซม. ส่วนสูงแม่ = 152 ซม.
175 + 152 = 327
นำผลลัพธ์ไปลบ 13 จะได้ 327 – 13 = 314
นำผลลัพธ์หารด้วย 2 จะได้ 314/2 = 157
157 เซนติเมตร คือความสูงคร่าว ๆ ของลูกสาวในอนาคต

และช่วงของความสูงที่เป็นไปได้สูงสุด และต่ำสุด หาได้จาก การนำเอาตัวเลขที่คำนวณได้นั้นมาบวกด้วย 9 และลบด้วย 9 ในเด็กหญิง ก็จะได้ช่วงความเป็นไปได้ของความสูงสุดท้ายของเด็กหญิงเมื่อเป็นผู้ใหญ่ (หยุดโต)

จากตัวอย่างก็จะได้ ช่วงของความสูงสุดท้ายของเด็กหญิง คือ 157±9 = 166 ซม. ถึง  148 ซม. (148-166 ซม.)

  • การคำนวณความสูงสุดท้ายจากภาพถ่ายเอกซเรย์อายุกระดูก (Bone Age และ Predicted Adult Height)

เราสามารถรู้อายุกระดูกได้จากการเอกซเรย์มือซ้าย ตั้งแต่ข้อมือถึงปลายนิ้ว โดยเปรียบเทียบการเจริญของกระดูกทุกชิ้นกับภาพถ่ายเอกซเรย์อายุกระดูกมาตรฐาน ซึ่งอายุกระดูกจะบอกได้ว่า เด็กแต่ละคนสามารถเจริญเติบโตได้อีกมากน้อยเพียงใด เหตุที่เราใช้การเอกซเรย์กระดูกมือ เพราะมือเป็นส่วนที่ทำให้เราเห็นกระดูกข้อต่อได้หลายชิ้น เพื่อความเข้าใจในการคำนวณความสูงสุดท้ายจากภาพถ่ายเอกซเรย์อายุกระดูกวิธีนี้มากยิ่งขึ้น ทาง ทีมแม่ ABK จึงได้นำเอาคลิปความรู้จากคุณหมอ พญ.อนุตรา โพธิกำจร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคต่อมไร้ท่อในเด็ก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในเรื่องนี้มาฝากกัน

ขอขอบคุณคลิปดี ๆ จาก Bumrungrad International Hospital

ซึ่งตามปกติทั่วไป คุณหมอจะใช้ข้อมูลคำนวณความสูงจากทั้งสองวิธี ทั้งจากพันธุกรรมควบคู่กับภาพถ่ายเอกซเรย์กระดูกเพื่อดูอายุกระดูก  แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ความสูงสุดท้ายร่วมกัน โดยที่อายุกระดูกไม่จำเป็นต้องเท่ากับอายุจริง เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ และฮอร์โมนเป็นตัวกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮอร์โมนเพศ ซึ่งการคำนวณด้วยวิธีนี้ต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหรือกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ

นอกจากนี้คุณหมอจะติดตามพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็กโดยใช้กราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตตามเพศและเชื้อชาติ ซึ่งมีทั้งกราฟความสูงและน้ำหนักเมื่อเทียบกับอายุ พ่อแม่สามารถนำน้ำหนักส่วนสูงมาลองจุดเทียบกับค่าปกตินี้ได้ โดยกราฟจะอยุ่ในสมุดคู่มือพัฒนาการเด็กที่คุณหมอจะให้มาเวลาพาลูกไปตรวจร่างกายตามวัย

กราฟมาตราฐาน เพิ่มความสูง ตามวัย
กราฟมาตรฐาน เพิ่มความสูง ตามวัย

จะเห็นได้ว่า การคำนวณความสูงสุดท้ายของลูก ทำให้คุณพ่อคุณแม่ พอมองเห็นได้คร่าว ๆ ว่าลูกน้อยของคุณจะมีความสูงเมื่อโตเต็มวัยได้แค่ไหน ซึ่งได้จากปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความสูงของลูกนั่นก็คือ พันธุกรรม แต่ไม่ต้องเป็นห่วงไป หากคุณพ่อคุณแม่ยังไม่ค่อยจะพอใจในส่วนสูงของลูกที่ได้จากพันธุกรรมของเรา เพราะรู้หรือไม่ว่าถึงแม้ว่าพ่อแม่จะเตี้ย แต่ลูกก็สามารถสูงกว่าเราได้ด้วยปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่จะมาช่วย เพิ่มความสูง ให้แก่ลูกน้อยของเราให้มีความสูงที่มากกว่าพันธุกรรมของเขา

ปัจจัย 6 ด้าน ที่ส่งผลต่อความสูง

  1. ยีนหรือกรรมพันธุ์ ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความสูงมาจากพันธุกรรมของพ่อแม่ หรือในบางรายอาจมีความผิดปกติของยีนบางตัวที่ควบคุมความสูงเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ความสูงเกิดความผิดปกติได้ เช่น สูงเกินไป หรือ เตี้ยเกินไป ซึ่งพบได้น้อยราย
  2. ฮอร์โมน ฮอร์โมนกระตุ้นความสูงในวัยเด็ก คือ ฮอร์โมนเจริญเติบโตที่กระตุ้นกระดูก ทำให้มีการขยายตัวเป็นผลให้กระดูกยาวขึ้น
  3. อาหารการกิน ปัจจัยด้านนี้มีส่วนสำคัญอย่างมากกับการเจริญเติบโตของร่างกาย และยังเป็นปัจจัยภายนอกที่เราสามารถดูแล และสร้างได้ ดังนั้นปัจจัยทางด้าน อาหารที่ช่วยเรื่องความสูง นี้จึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาไว้เพื่อจะได้ช่วยเสริมสร้างสารอาหารที่จำเป็นต่อความสูงของลูก โดยส่วนประกอบสำคัญของกระดูก ได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และโปรตีน ส่วนสารอาหารที่ช่วยเสริมการสร้างกระดูก คือ วิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม และฟอสฟอรัส  หลีกเลี่ยงโซเดียม เนื่องจากการ กินเกลือโซเดียมมากเกินไปจะทำให้มีโซเดียมและแคลเซียมขับออกทางปัสสาวะมากขึ้น ทำให้มีระดับแคลเซียมในเลือดลดต่ำลง (กระดูกบางลง)
  4. การออกกำลังกาย ความเป็นจริงสามารถออกกำลังกายได้ทุกแบบแค่ขอให้มีความสม่ำเสมอ ติดต่อกันต่อครั้งอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง แต่ในเด็กจะไม่แนะนำให้ออกกำลังกายแบบยกน้ำหนัก เพราะการยกหนักเกินไปจะรบกวนการเจริญเติบโตของกระดูกได้
  5. โรคหรือความเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคโลหิตจางทาลัสซีเมีย โรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น วัณโรค โรคเอดส์ ทำให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนไอจีเอฟ-1 (IGF-1) ลดลง การเจริญเติบโตช้าลง และความสูงก็จะไม่สูงเต็มที่ตามศักยภาพทางพันธุกรรม
  6. ยาหรือฮอร์โมนบางชนิด ตัวที่ข้องเกี่ยวกับชีวิตของเรา และใช้กันบ่อย คือ สเตียรอยด์ ซึ่งมีผลกดฮอร์โมนเจริญเติบโต ทั้งวิตามินดี แคลเซียม ยาจึงไปก่อให้เกิดภาวะกระดูกพรุน กระดูกบางลง การเจริญเติบโตก็ช้าลง และความสูงเต็มที่ก็จะต่ำกว่าศักยภาพตามพันธุกรรม

ประโยชน์ของการคำนวณความสูง และจดบันทึกพัฒนาการลูก

คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่ช่วยสังเกตถึงความผิดปกติทางร่างกายลูก ควรติดตามชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงของลูกทุกๆ 3-6 เดือน และควรจดบันทึกการเจริญเติบโตของลูกลงในสมุดบันทึกสุขภาพ เพื่อติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของลูกว่าเพิ่มขึ้นตามวัยหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้นอกจากจะช่วยบอกให้เราได้เตรียมตัว เสริมสร้างศักยภาพในทุกด้านที่เกี่ยวกับความสูงให้แก่เขาแล้ว การคำนวณ และการจดบันทึกสุขภาพยังสามารถเป็นสัญญาณเตือนของภาวะซ่อนเร้นบางอย่างที่ต้องการการรักษาให้ทันท่วงทีอีกด้วย

ภาวะตัวเตี้ย

อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ภาวะตัวเตี้ยตามพันธุกรรม หรือภาวะตัวเตี้ยจากการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวช้า เป็นภาวะที่เป็นปัญหาการเติบโตที่พบบ่อย โดยคุณหมอจะมีเกณฑ์ในการวินิจฉัย โดยดูจากค่าการคำนวณความสูงมาประกอบการพิจารณา โดยทั่วไปการเจริญเติบโตปกติของเด็กจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ

  • ช่วงแรกเกิด (อายุ 0-2 ขวบ) การเจริญเติบโตจะอยู่ระหว่าง 30-35 ซม.
  • ช่วงวัยเด็ก อัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ประมาณ 5-7 ซม./ปี
  • ช่วงวัยรุ่น/วัยเจริญพันธุ์ อัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ 8-14ซม./ปี

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกตัวเล็กหรือเตี้ย ไม่สูงขึ้นเลยในช่วง 1-2 ปี หรือความสูงเฉลี่ยต่อปีตามอายุข้างต้นน้อยกว่าเกณฑ์โดยเฉลี่ย หรือเมื่อดูกราฟการเจริญเติบโตแล้วความสูงต่ำกว่าเกณฑ์ตามอายุนั้นๆ แนะนำให้พาลูกมาพบคุณหมอ

เด็กโตไวเกินอายุ

สำหรับเด็กที่สูงพรวดพราดนำโด่งเพื่อนวัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัดให้ระวังอาจเสี่ยงเป็นโรคเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย (Precocious Puberty) ที่จะส่งผลให้เด็กมีการเจริญเติบโตเร็วในช่วงแรก และมีอายุกระดูกล้ำหน้าไปกว่าอายุจริง จากนั้นหัวกระดูกจะปิดเร็วกว่ากำหนด ทำให้เด็กที่โตเร็วในตอนแรกกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ตัวไม่สูงหรือตัวเล็กในอนาคตได้ หากเด็กเป็นโรคนี้ควรต้องพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาชะลอความหนุ่มสาว ซึ่งหมอจะทำการตรวจวัดอายุกระดูก และปัจจัยอื่น ๆ เช่น ฮอร์โมน พันธุกรรมความสูง ฯลฯ เพื่อวินิจฉัยและประเมินการรักษา รวมถึงให้คำปรึกษาว่า ควรจะฉีดยาเพื่อชะลอการปิดของกระดูกเพื่อเพิ่มความสูงหรือไม่ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นภาวะตัวเตี้ย หรือเป็นโรคเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย นอกจากจะส่งผลต่อเรื่องความสูงแล้ว ยังส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็กด้วย โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่มักจะมีพัฒนาการของเต้านมก่อนอายุ 8 ขวบ หรือมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 9 ขวบ ทำให้ร่างกายแตกต่างกับเพื่อนวัยเดียวกัน ส่วนเด็กชายสังเกตได้จากขนาดอัณฑะที่มักใหญ่กว่า 4 ซีซี หรือ การที่ลูกมีส่วนสูงผิดแผกแตกต่างจากเพื่อน ก็อาจเป็นปมด้อยในจิตใจของลูกได้

ข้อมูลอ้างอิง และรูปประกอบจาก Rama Channel / bangkokhospital.com / sikarin.com / bumrungrad.com

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

โปรแกรมคำนวณภาวะโภชนาการ เช็กน้ำหนักส่วนสูง ความสมส่วนของลูก

แนะ 8 ผักแคลเซียมสูง อีกหนึ่งวิธีเพิ่มความสูงให้ลูกได้

ฮาวทู 5 วิธีเพิ่มความสูง อยากให้ลูกสูง ต้องทำแบบนี้ทุกวัน

3 เทคนิค เพิ่มความสูงให้ลูก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up