itp คือ โรคเกล็ดเลือดต่ำในเด็ก

เคสจริง!อันตราย เมื่อลูกเป็น itp คือ โรคเกล็ดเลือดต่ำในเด็ก

Alternative Textaccount_circle
event
itp คือ โรคเกล็ดเลือดต่ำในเด็ก
itp คือ โรคเกล็ดเลือดต่ำในเด็ก

itp คือ โรคเกล็ดเลือดต่ำในเด็ก อันตรายที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม กับเคสจริงที่แม่อยากเล่า เมื่อลูกป่วยหนักแม่จ๋าต้องทำอย่างไร วิธีสังเกต รักษา และดูแลลูก

เคสจริง!!อันตราย เมื่อลูกเป็น itp คือ โรคเกล็ดเลือดต่ำในเด็ก

เมื่อใดที่สังเกตเห็นร่างกายลูกมีจุดจ้ำ ช้ำ จุดเล็ก ๆ สีม่วงกระจายทั่วไปเหมือนผื่น จงระวัง โรค itp คือ โรคเกล็ดเลือดต่ำ โรคนี้อันตราย แต่รักษาได้ คุณแม่ใจดีท่านหนึ่งได้กรุณาเขียนเล่าเรื่องย้อนหลังถึงประสบการณ์การเจ็บป่วยหนักของลูก เพื่อเป็นการเตือนให้พ่อแม่คอยสังเกตอาการลูก และไม่ควรชะล่าใจ เพราะหากคุณแม่ไม่เชื่อสัญชาตญาณของความเป็นแม่ในตัวเองแล้วละก็ อาจเกิดเหตุการณ์เสี่ยงต่อชีวิตของลูกก็เป็นได้

 

เคสจริง!!เมื่อลูกเป็น itp
เคสจริง!!เมื่อลูกเป็น itp
ครั้งแรกที่…ลูกป่วยหนัก…และแม่ก็เช่นกัน (ตอนที่ 1)
เรื่องนี้เกิดเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตอนที่ลูกยังอายุไม่ถึงขวบเลย บันทึกนี้เอาไว้เตือนความจำว่าจงเชื่อสัญชาตญาณของความเป็นแม่ ตอนที่ป่วยไม่ได้มีอาการอะไรเลยจนกระทั่งไปหาคุณหมอตรวจเลือด โรคนี้อันตราย แต่รักษาได้
ปล ขอบคุณแดดดี้ที่ทำประกันสุขภาพให้ลูกตั้งแต่เกิด
.
.
.
ITP – Immune Thrombocytopenic Purpura
โรคเกร็ดเลือดต่ำ
วันที่ 1 – วันที่ 7 พ.ย. 60 ตอนเช้าตื่นมาหม่ามี้เห็นที่เสื้อนอนหนูมีคราบเลือดจางๆ สงสัยว่าฟันจะขึ้น หนูเลยเอาเสื้อมากัด แต่ก็ไม่ได้เอะใจอะไร พอช่วงเย็นๆ ตอนที่ลูกกำลังกลิ้ง คลาน เล่นอยู่บนเสื่อ ก ข ค อันใหม่ สีสันสดใส ที่คุณน้า เพื่อนรักของหม่ามี้ให้ลูกมา หม่ามี้สังเกตเห็นขาสองข้างของลูก เป็นรอยแดง มีเม็ดๆ สีแดงใต้ผิวหนัง เอ หรือว่าลูกจะแพ้พวกสารเคมี หรือว่าสีที่อยู่บนเสื่อ หรือว่าเช็ดไม่สะอาด รึเปล่าน้อ หม่ามี้เลยเก็บเสื่อขึ้น ให้หนูเล่นบนพื้นไปก่อน
วันที่ 2 – วันรุ่งขึ้น 8 พ.ย. 60 ตื่นเช้ามา สังเกตเห็นว่าลูกมีเม็ดผื่นที่ขาเพิ่มขึ้นเยอะเลย แล้วก็เริ่มลามมาที่แขนช่วงล่าง หนูไม่มีอาการอย่างอื่น ไม่มีไข้ ไม่งอแง กินข้าวปกติ แถมวันนี้ลูกเริ่มหยิบส้มมาลองกินเองด้วย พอบ่าย 2 ก็พาหนูไปเรียนว่ายน้ำตามปกติ พอเสร็จจากว่ายน้ำ เพื่อความสบายใจ อ่ะแวะไปหาหมอซักหน่อย ไปถึงโรงพยาบาล พบคุณหมอตอน 4 โมง พอคุณหมอเห็นจุดบนขา บนแขนหนูเท่านั้น ก็สั่งให้เจาะเลือดทันที หม่ามี้ใจหล่นตุบเลย
หม่ามี้พาหนูไปห้องเจาะเลือด พี่พยาบาล 2 คนกำลังเตรียมเข็ม ส่วนลูกนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลยนะ เข้าไปในห้อง มองดูสติกเกอร์ที่ผนัง มีสัตว์อะไรบ้างน้า พยาบาลบอกหม่ามี้ให้กอดหนูไว้แน่นๆ พอเข็มเจาะโดนมือเท่านั้นแหละ ร้องไห้จ้ากเลย ทั้งร้อง ทั้งดิ้น หม่ามี้สงสารหนูเหลือเกิน
จำได้เลยว่าตอนรอผลอยู่ก็ออกไปซื้ออาหารเย็นกลับบ้านกับตาตา ยายยาย ได้ข้าวกล่องมาคนละกล่อง เสร็จแล้วก็กลับมานั่งรอต่อ หลังจากนั่งรออยู่ชั่วโมงนึง ผลเลือดก็ออก พอเข้าไปพบคุณหมอ สรุปว่าหนูเกร็ดเลือดต่ำมากแค่ 11,000 (ปกติ 150,000 ถึง 450,000) คุณหมอสันนิษฐานว่าน่าจะเป็น ITP – Immune Thrombocytopenic Purpura ประมาณว่าภูมิร่างกายไปทำลายเกร็ดเลือดตัวเอง
เรื่องเล่า “เมื่อลูกฉันป่วยเป็น ITP” เนื้อหาบางส่วนจากทั้งหมด 4 ตอน สามารถติดตามอ่านเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ MommyY แม่บ้านติดเกาะ 
รอยจ้ำช้ำบนตัวลูก เป็นจุดแดงเล็ก ๆ คล้ายผื่น
รอยจ้ำช้ำบนตัวลูก เป็นจุดแดงเล็ก ๆ คล้ายผื่น ขอขอบคุณภาพจากคุณแม่เจ้าของเรื่อง

itp คือ โรคอะไร? มาทำความรู้จักกัน

ITP Immune Thrombocytopenic Purpura เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง (Autoimmune Disease) เกิดจากภาวะในร่างกายไปกระตุ้นภูมิต้านทานจนส่งผลกระทบเป็นการทำลายเกล็ดเลือด ทำให้เกิดรอยช้ำบนผิวหนัง หรือบริเวณเยื่อบุผิวในช่องปาก เลือดแข็งตัวช้า และมีเลือดออกง่าย ซึ่ง ITP เป็นโรคที่พบได้ทุกวัย แต่ในเด็กมักพบหลังการติดเชื้อไวรัสบางชนิดในร่างกาย เช่น อีสุกอีใส คางทูม หรือโรคหัด เป็นต้น หรือแม้แต่การได้รับวัคซีนก็เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม โดยภูมิคุ้มกันนี้มักเกิดขึ้นภายหลัง 2-4 สัปดาห์ ซึ่งอาจมีผลทำให้มีเกล็ดเลือดต่ำได้ โดยมักพบในเด็กอายุ 1-5 ปี

โรค ITP อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

ITP ชนิดเฉียบพลัน
เป็นประเภทที่พบได้บ่อย มักพบในเด็กเล็ก อายุระหว่าง 2–6 ปี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในร่างกาย อาการจะเกิดขึ้นทันที มักหายดีภายใน 6 เดือน และไม่มีอาการซ้ำอีกในภายหลัง ผู้ป่วยจึงอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา

ITP ชนิดเรื้อรัง
ใช้เรียกเมื่อผู้ป่วยมีอาการของโรคต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือน พบได้มากในทุกวัย แต่จะพบบ่อยในวัยผู้ใหญ่และวัยรุ่น และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย บางกรณีผู้ป่วยอาจกลับมามีอาการซ้ำอีกจึงจำเป็นต้องติดตามอาการเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ

เจาะเลือดตรวจหาค่าเกล็ดเลือด
เจาะเลือดตรวจหาค่าเกล็ดเลือด

เกล็ดเลือดสำคัญอย่างไร?? 

เกล็ดเลือดเป็นกลไกหนึ่งที่มีหน้าที่ในการห้ามเลือด โดยจะทำการเกาะบริเวณหลอดเลือดที่มีรอยฉีกขาด และหลั่งสารเคมีจนมีการรวมตัวกันของกระจุกเกล็ดเลือด ทำให้เลือดหยุดไหล และเสริมสร้างความแข็งแรงของเยื่อบุหลอดเลือด

จุดจ้ำเลือดตามตัวลูก : สัญชาตญาณของแม่บอกว่าอย่านิ่งนอนใจ

จ้ำเลือดตามตัวลูก ที่แม้ว่าจะสังเกตได้ง่าย แต่ก็ยากต่อการฟันธงว่าลูกมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำหรือไม่ ยิ่งโดยเฉพาะหากลูกเป็นเด็กที่ซน อยู่ไม่นิ่ง การมีรอยช้ำบนตัวจึงเป็นเรื่องชินตาสำหรับพ่อแม่ไปเสีย แต่หากสัญชาตญาณของคุณแม่คอยบอกเราว่าแบบนี้ดูไม่น่าปกติแล้ว เราก็สามารถสังเกตอาการเพิ่มขึ้นได้ว่า อาการโรคเกล็ดเลือดต่ำ (ITP) สังเกตได้จากสัญญาณต่อไปนี้

  • เมื่อเด็กได้รับการกระทบกระแทก เด็กจะมีจ้ำเลือดขนาดใหญ่ หรือกระจายตามร่างกาย
  • เลือดกำเดาไหลบ่อย
  • เลือดออกตามไรฟัน
  • ในเด็กที่มีเกล็ดเลือดต่ำมาก จะมีจุดจ้ำเลือดสีแดงขนาดเล็กเท่าปลายเข็มกระจาย เป็นจุดสีแดงอมม่วงตามร่างกายทั้งที่ไม่ได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งมีลักษณะเป็นผื่น มักเป็นที่ขาส่วนล่าง
  • จุดเลือดออกตามกระพุ้งแก้ม ในช่องปาก อาเจียนเป็นเลือด
  • ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ

หากเด็กมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (ITP) จะทำให้เด็กมีภาวะเลือดออกง่าย มีจุดจ้ำเลือดตามตัว เด็กบางคนที่มีอาการเลือดออกมากจะทำให้มีเลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกในสมอง ซึ่งรุนแรงและอันตรายถึงชีวิตได้ โดยในภาวะปกติปริมาณเกล็ดเลือดในคนทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 150,000-400,000 ตัวต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร

ในเด็กที่มีเกล็ดเลือดน้อยกว่า 20,000 ตัวต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร จะมีโอกาสเลือดออกมาเองโดยไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระเทือน ซึ่งเป็นอันตราย หากลูกของคุณพ่อคุณแม่มีภาวะเช่นนี้ ควรพาลูกเข้ารับการตรวจวินิฉัยเพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

หนึ่งในอาการโรค itp คือ เลือดออกในช่องปาก
หนึ่งในอาการโรค itp คือ เลือดออกในช่องปาก

การรักษาโรคเกล็ดเลือดต่ำ

  • แพทย์จะซักประวัติ เช่น เด็กมีอาการเฉียบพลัน ก่อนหน้านี้มีการติดเชื้อ หรือมีการฉีดวัคซีนมาก่อน 2-4 สัปดาห์หรือไม่ ทำการตรวจความสมบูรณ์ของเลือด ถ้าผลเลือดไม่มีภาวะซีดหรือเม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติ โดยมีเกล็ดเลือดต่ำเพียงอย่างเดียว แพทย์จะทำการรักษาโดยใช้ยา IVIG เป็นการจับแอนตี้บอดี้ที่ถูกสร้างขึ้นในร่างกายหรือยาสเตียรอยด์ ซึ่งการตอบสนองต่อยาของคนไข้ในแต่ละรายจะแตกต่างกันไป
  • ในเด็กที่อายุมากกว่า 5 ปี มีเม็ดเลือดขาวผิดปกติ ภาวะซีดโดยไม่ทราบสาเหตุ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมก่อนการรักษา เช่น ตรวจเจาะไขกระดูก เป็นต้น

การดูแลเด็กที่ป่วยโรคเกล็ดเลือดต่ำ (ITP)

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดอาการฟกช้ำ กระทบกระแทก หรือเลือดออกได้ง่าย เช่น กิจกรรมโลดโผน เล่นกีฬา ในเด็กช่วงอายุหัดเดิน ควรมีการป้องกันการกระทบกระเทือน เช่น การบุนวมที่คอกกั้นเด็ก ระวังเรื่องการพลัดตก หกล้ม
  • หลีกเลี่ยงการไปสถานที่ที่มีการติดเชื้อ เพราะอาจจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันทำให้เกล็ดเลือดต่ำลงอีกได้
  • การทานยาแก้ปวดลดไข้ควรใช้พาราเซตามอล ไม่ใช้ยาลดไข้สูงประเภทแอสไพริน และไอบูโพรเฟน และการทานยาประเภทอื่นๆ ต้องอยู่ภายใต้แพทย์สั่งเท่านั้น

โรคเกล็ดเลือดต่ำไอทีพีในเด็กสามารถรักษาได้ หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ควรพาเด็กเข้ารับการตรวจวินิฉัยเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ข้อมูลอ้างอิงจาก www.phyathai.com/www.pobpad.com/www.mayoclinic.org

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ทำอย่างไรเมื่อลูกเป็น “โรคภูมิแพ้” ?

ตรวจ atk แบบน้ำลาย วิธีง่าย ๆ ที่พ่อแม่ต้องรู้

ระวัง ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก หวั่นระบาดซ้อนโควิด

อุทาหรณ์ เด็กติดในรถ! แนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ช่วยลูกรอดในนาทีฉุกเฉิน

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up