วัคซีนรวม 6 โรคในเข็มเดียว

วัคซีนพื้นฐานสำหรับลูกน้อยในขวบปีแรก เป็นสิ่งจำเป็นและไม่ควรเลื่อนฉีด

Alternative Textaccount_circle
event
วัคซีนรวม 6 โรคในเข็มเดียว
วัคซีนรวม 6 โรคในเข็มเดียว

คุณแม่รู้ไหมคะว่า การสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายลูกน้อยอย่างง่ายและดีที่สุด เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อต่างๆ  มาทำให้ลูก    เจ็บป่วย หรือเกิดโรคร้ายแรง ก็คือการพาลูกไปรับการ “ฉีดวัคซีน” ตรงตามกำหนด โดยเฉพาะตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ปี ครึ่ง

อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่อาจมีความกังวลไม่มากก็น้อยที่จะพาลูกน้อยออกไปรับการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลหรือคลินิก  ซึ่ง ณ ปัจจุบันสถานพยาบาลต่างๆ ก็มีการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานที่ และจุดให้บริการรับวัคซีนเป็นอย่างดี ทั้งยังมีมาตรการป้องกัน และช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ส่วนทางด้านแม่ๆ การเตรียมตัวเพื่อพาลูกออกไปรับวัคซีนก็มีความสำคัญ ควรโทรนัดหมายล่วงหน้าเพื่อไม่ต้องไปแออัดพร้อมกันหลายๆ ครอบครัว

วัคซีนรวม 6 โรคในเข็มเดียว

วัคซีนพื้นฐานสำคัญแค่ไหนสำหรับเด็ก ?    

การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพื่อป้องกันการติดต่อของโรคติดเชื้อในเด็กที่ได้ผลดีที่สุดก็คือ “การฉีดวัคซีน” ค่ะ ยิ่งในเด็กตั้งแต่ แรกเกิดถึง 2 ปี ครึ่ง จำเป็นต้องได้รับการการฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคร้ายต่างๆ ซึ่งประโยชน์จากการฉีดวัคซีนนอกจากจะช่วยป้องกันโรคที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวของเด็กเองแล้ว ประโยชน์ทางอ้อมเมื่อเด็กที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค คือช่วยลดความเสี่ยงของโรคไม่ให้ติดต่อไปยังเด็กคนอื่นๆ รวมทั้งผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุในบ้าน ได้ค่ะ

จำเป็นไหมที่ต้องพาลูกไปฉีดวัคซีนให้ตรงตามเวลา

วัคซีนเด็กโดยเฉพาะวัคซีนพื้นฐาน ควรได้รับการฉีดให้ตรงตามกำหนดของช่วงวัยค่ะ ซึ่งหากไม่มีเหตุฉุกเฉินใดๆ ควรพาลูก ไปรับการฉีควัคซีนให้ตรงตามกำหนดเวลาที่ลูกควรจะได้รับวัคซีน นอกจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังมีโรคร้ายแรงอื่นๆ ที่เด็กมีความเสี่ยงจะป่วยและมีอาการรุนแรง ซึ่งการเลื่อนการรับวัคซีนจะส่งผลให้เด็กๆ  พลาดการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่จำเป็น เนื่องจากวัคซีนบางชนิดมีระยะเวลาจำกัดในการได้รับด้วยค่ะ ดังนั้นการได้รับ วัคซีนที่ตรงเวลาจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน และนี่คือ 6 เหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมต้องพาลูกไปรับการฉีดวัคซีนให้ตรงตามเวลาค่ะ

  1. ช่วงเวลาการรับวัคซีนที่ตรงตามวัย จะช่วยให้ร่างกายสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานโรคได้อย่างเหมาะสม
  2. ป้องกัน และลดโอกาสการเกิดโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นในเด็กเล็ก
  3. เพื่อให้ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงพอที่จะป้องกันโรคได้ทัน
  4. วัคซีนบางชนิดต้องการการกระตุ้น หรือรับวัคซีนมากกว่าหนึ่งครั้ง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่สูงพอที่จะปกป้องลูกน้อย และเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
  5. การฉีดวัคซีนถือว่ามีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันโรคต่างๆ ในระยะยาวจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน
  6. การแพร่กระจายของโรค เด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนตามกำหนดเวลา ไม่เพียงแต่จะมีความเสี่ยงที่จะป่วย แต่ยัง สามารถแพร่กระจายความเจ็บป่วยไปยังผู้อื่นได้ ดังนั้นลูกน้อยควรได้รับวัคซีนตรงเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายไปยังคนอื่นๆ รอบข้างได้

ทั้งนี้หากคุณพ่อคุณแม่มีความจำเป็นในการเลื่อนฉีดวัคซีนของลูก ให้แจ้งปรึกษากับคุณหมอที่ดูแลเรื่องวัคซีนให้ลูกน้อย  ก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของลูกน้อยค่ะ

วัคซีนรวม 6 โรคในเข็มเดียวแบบพร้อมฉีด

วัคซีนพื้นฐานที่ลูกควรได้รับช่วงแรกเกิดถึง 2 ปีครึ่ง

สำหรับวัคซีนเด็กที่ลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ปีครึ่ง ควรได้รับการฉีด เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค แนะนำโดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศ ปี 2563 ดังนี้

วัคซีนรวม 6 โรคในเข็มเดียว

  • เด็กแรกเกิด >> วัคซีนตับอักเสบบี และวัคซีนวัณโรค
  • เด็กอายุ 2, 4 เดือน >> วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ตับอักเสบบี ฮิบ โปลิโอ หรือวัคซีนรวม 6 โรค วัคซีนโรต้า และวัคซีนนิวโมคอคคัส
  • เด็กอายุ 6 เดือน >> วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ตับอักเสบบี ฮิบ โปลิโอ หรือวัคซีนรวม 6 โรค วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโรต้า และวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี
  • เด็กอายุ 9 – 12 เดือน >> วัคซีนหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนนิวโมคอคคัส และวัคซีนอีสุกอีใส
  • เด็กอายุ 1 ปี 6 เดือน >> วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน โปลิโอ ฮิบ หรือวัคซีนรวม 5 โรค วัคซีนหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน และวัคซีนไข้หวัดใหญ่
  • เด็กอายุ 2 – 2 ½ ปี >> วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนอีสุกอีใส และวัคซีนไข้หวัดใหญ่

หากดูจากตารางวัคซีนแล้ว จะเห็นว่ามีวัคซีนพื้นฐานจำเป็นหลายตัว ที่ลูกน้อยต้องได้รับในช่วงแรกเกิดถึง 2 ปีครึ่ง ซึ่งวัคซีนจะช่วยป้องกันโรคต่างๆ ซึ่งจะมี 6 โรคสำคัญด้วย นั่นก็คือ โรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน โปลิโอ ฮิบ และ ตับอักเสบบี ซึ่งในปัจจุบันนี้การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันทั้ง 6 โรคนี้ คุณแม่สามารถเลือกเป็นแบบวัคซีนรวม 6 โรคได้ (คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน โปลิโอ ฮิบ ตับอักเสบบี) ซึ่งทำให้การมารับวัคซีนหนึ่งครั้ง ลูกน้อยจะได้รับวัคซีนครอบคลุมทั้ง 6 โรค และยังช่วยลดการเจ็บตัวจากการฉีดวัคซีนให้กับลูกน้อยได้ดีอีกทางเลือกหนึ่งค่ะ

วัคซีนรวม 6 โรคในเข็มเดียว

เตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องพาลูกไปฉีดวัคซีน  

การพาลูกน้อยไปรับการฉีดวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าผลเสียค่ะ แต่เชื่อว่าการพาลูกไปรับวัคซีนที่โรงพยาบาล หรือคลินิก  อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่มีความกังวลใจกันอยู่พอสมควร กลัวว่าจะไม่ปลอดภัยหากต้องพาลูกออกนอกบ้าน แต่ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ เพราะที่สถานพยาบาลหลายแห่งได้มีการจัดเตรียมพื้นที่ให้บริการวัคซีนแบบปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่วางใจ  ได้เลยค่ะ นอกจานี้เรามาลองมาดูวิธีปฏิบัติง่ายๆ ใน การพาลูกไปรับวัคซีนกันค่ะ

การเตรียมตัวของพ่อแม่ :

– ควรโทรนัดหมายวัน เวลา ที่จะพาลูกเข้าไปรับวัคซีนกับคุณหมอที่โรงพยาบาล หรือคลินิกอย่างชัดเจน

– ก่อนออกจากบ้านควรวัดอุณหภูมิร่างกาย หากพบว่าคุณพ่อ หรือคุณแม่ คนใดคนหนึ่งมีอุณหภูมิสูงกว่า 37 องศาขึ้นไป ไม่ควรไปฉีดวัคซีนกับลูก

– ควรสวมหน้ากากอนามัย และป้องกันตนเองด้วยการระวังการติดเชื้อจากละออง (Droplet Transmission Precaution) โดยเว้นระยะห่างของผู้มารับบริการ

– หมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ระหว่างเดินทาง และขณะอยู่โรงพยาบาล

– หลังกลับจากโรงพยาบาลให้ทำความสะอาดร่างกาย และเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ทันที

การเตรียมตัวให้ลูกน้อย :

– วัดอุณหภูมิลูกก่อนออกจากบ้าน

– ให้ลูกสวมใส่หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กที่อายุมากกว่า 2 ปี

– ดูแลเรื่องความสะอาดให้ลูกอย่างเคร่งครัดระหว่างเดินทาง และขณะที่อยู่โรงพยาบาล หรือคลินิก

– หลังจากฉีดวัคซีนเสร็จแล้วให้รีบพาลูกกลับบ้าน ทำความสะอาดร่างกาย และเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ให้ลูกทันที

เพื่อลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดอาการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อร้ายแรงต่างๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถปกป้องสุขภาพลูกน้อยให้มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ด้วยการพาลูกๆ ไปรับวัคซีนตรงตามช่วงเวลานะคะ สอบถามเพิ่มเติมเรื่องการรับวัคซีนและการป้องกันโรคเพิ่มเติมได้ที่สถานพยาบาล

#ลูกฉันต้องมีภูมิ   #VaccineSafeZone #วัคซีนรวม6โรค #วัคซีนรวมพร้อมฉีด

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:

– ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

– ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย แนะนำโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2563

– Centers for Disease Control and Prevention

MAT-TH-2000146 (07/2020)

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up