ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์โรคโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา (รามาธิบดี)

น่าเป็นห่วง! ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กวัยเด็กเล็ก 1-3 ปี ส่งผลไอคิวลดลงเมื่อเข้าสู่วัยเรียน

Alternative Textaccount_circle
event
ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์โรคโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา (รามาธิบดี)
ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์โรคโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา (รามาธิบดี)

กุมารแพทย์แสดงความกังวลต่อภาวะโภชนาการเด็กเล็กวัย 1-3 ปี ระบุปัญหา ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก ไม่ได้จำเพาะเกิดขึ้นในกลุ่มเด็กเล็กที่อยู่ในพื้นที่ขาดแคลนอาหารคุณภาพ แต่ยังพบได้บ่อยในกลุ่มเด็กเล็กเขตเมืองที่มีความสมบูรณ์ของแหล่งวัตถุดิบและคุณภาพอาหาร ปัจจุบันหลายครอบครัวไม่พยายามเข้าใจว่าปัญหานี้เกิดขึ้นได้แม้ลูกจะเป็นเด็กกินเก่ง  ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การจัดเตรียมอาหารของพ่อแม่ที่ยังขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโภชนาการในแต่ละช่วงวัย ทำให้มีโอกาสที่เด็กจะได้รับสารอาหารจำเป็นต่อการเจริญเติบโตไม่ครบถ้วนเพียงพอ ผลกระทบระยะยาวหากปล่อยให้เด็กขาดธาตุเหล็กเป็นเวลานานจะมีผลต่อพัฒนาการด้านไอคิวที่จะลดลงเมื่อเด็กโตเข้าสู่วัยเรียน

 

ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก วัยเด็กเล็ก 1-3 ปี

ผศ.นพ.วรวุฒิ  เชยประเสริฐ  กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์โรคโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา (รามาธิบดี) หรือหมอวิน เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “เลี้ยงลูกตามใจหมอ” กล่าวว่า ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก ยังพบได้มากในกลุ่มเด็กเล็กช่วงวัย 1 ปีขึ้นไป เป็นภาวะทุพโภชนาการที่ภาครัฐมีความกังวลเพราะเกิดขึ้นไม่เฉพาะกับเด็กที่อาศัยในท้องถิ่นห่างไกลความเจริญ หรืออยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนอาหาร หรือแหล่งอาหารด้อยคุณภาพ แม้แต่เด็กในเขตเมืองที่มีความสมบูรณ์ของแหล่งอาหารและมีคุณภาพอาหารที่ดีก็ยังพบเจอปัญหาโภชนาการในลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก สำหรับเด็กในเขตเมือง ภาวะทุพโภชนาการที่เกิดขึ้นนี้ สาเหตุสำคัญมาจากการดูแลและจัดเตรียมอาหารให้ลูกโดยขาดความรู้ที่ถูกต้องด้านโภชนาการตามช่วงวัย

คุณหมอบอกว่า การที่พ่อแม่พบว่าลูกเมื่ออายุครบขวบไปแล้วกลายเป็นเด็กกินยาก เลือกกินอย่างนั้น ไม่กินอย่างนี้  จนคิดว่านี่คือปัญหาของลูก ในความเป็นจริงแล้วพฤติกรรมการกินที่ลูกแสดงออกมานั้นเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ในช่วงวัยก่อนหน้านั้น เมื่อต้องมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของลูกในวัยเด็กเล็กซึ่งโดยธรรมชาติเป็นวัยที่รู้จักการปฏิเสธอาหาร รู้จักเลือกสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ มันจึงกลายเป็นปัญหาที่พ่อแม่จำเป็นต้องปรับแก้ที่ตัวเองก่อนเพื่อสร้างวินัยการกินให้ลูก  ขณะเดียวกันเหตุจากการที่พ่อแม่อาจไม่ทราบข้อมูลความรู้ด้านโภชนาการตามวัยที่ถูกต้องก็เป็นที่มาของภาวะทุพโภชนาการในวัยเด็กเล็กและหนึ่งในปัญหานั้นคือ ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก

ภาะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก

จริงหรือไม่? ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กทำให้เด็กไอคิวต่ำ

คุณหมอวินกล่าวว่า มีความเป็นไปได้หากปล่อยให้เด็กขาดธาตุเหล็กเป็นเวลานานต่อเนื่องตั้งแต่วัยทารกมาจนถึงวัยเด็กเล็กและไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อเติบโตเข้าสู่วัยเรียนจะพบว่าเด็กมีไอคิวลดลง เพราะธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญในเม็ดเลือดแดงทำหน้าที่ขนถ่ายออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ รวมทั้งสมอง ภาวะซีดหมายถึงจำนวนเม็ดเลือดแดงลดลง เมื่อสมองได้รับออกซิเจนน้อยลง พัฒนาการด้านความคิดการจดจำจะช้าลงไปด้วย การเจริญเติบโตด้านร่างกายก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กมีสาเหตุมาจากการที่เด็กกินอาหารไม่ถูกสัดส่วน และภาวะนี้เกิดขึ้นได้เช่นกันในเด็กที่กินเก่งกินดีในสายตาพ่อแม่ ผลคือคนในสังคมเมืองใหญ่ยังไม่ค่อยมีความตระหนักถึงปัญหานี้เพราะลักษณะทางกายภาพของลูกไม่ได้มีข้อบ่งชี้ชัดเจน แต่จะทราบได้แน่ชัดว่าลูกวัยเด็กเล็กมีภาวะซีดหรือไม่ จำเป็นต้องตรวจเช็คโดยการเจาะเลือด ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จึงเริ่มมีการคัดกรองภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็กในเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป และพบว่าเป็นภาวะที่เจอได้บ่อย แสดงให้เห็นว่า ปัญหาด้านโภชนาการอาจจะเริ่มในช่วงวัย 6-12 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กเริ่มต้นการกินอาหารที่ไม่ใช่นมได้ตามวัยอย่างน้อยวันละ 1 มื้อ และเพิ่มเป็น 2 มื้อเมื่ออายุ 8-9 เดือน จากนั้นเป็น 3 มื้อในช่วงอายุ 11-12 เดือน อาหารที่มีธาตุเหล็กมาก ได้แก่ ปลา อาหารทะเล เป็ด ไก่ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง และผักใบเขียวเข้มทุกชนิด เช่น ตำลึง คะน้า ผักโขม ถั่วดำ ถั่วแดง อัลมอนด์ ข้าวโอ๊ต รวมทั้งผลิตภัณฑ์นมเสริมสารอาหารที่มีการเติมวิตามินและธาตุเหล็ก คำถามคือ คุณพ่อคุณแม่ดูแลและจัดเตรียมอาหารตามวัยได้อย่างถูกต้องหรือไม่ จัดให้กินได้ครบสัดส่วนอาหารห้าหมู่หรือไม่ คุณหมอจึงแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่เรียนรู้ข้อมูลด้านโภชนาการและการจัดเตรียมอาหารตามวัยที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก

พ่อแม่จะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร?

เมื่อมีการคัดกรองและพบปัญหา การรักษาทำได้ด้วยการให้เด็กกินยาเสริมธาตุเหล็กตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่งเท่านั้น ขณะเดียวกันพ่อแม่ต้องปรับการจัดเตรียมอาหารและสร้างนิสัยการกินที่ถูกสุขภาวะให้ลูกไปพร้อมกันด้วยเพื่อไม่ให้เกิดภาวะซีดได้อีกในช่วงวัยสำคัญที่ร่างกายและสมองกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าจะป้องกันไม่ให้ลูก ประสบภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรู้และเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับการจัดเตรียมอาหารตามช่วงวัย  มีหลักการที่นำไปประยุกต์ใช้ได้ตามสภาพแวดล้อมของแต่ละครอบครัวก็คือ อาหารหลักในทุกมื้อของลูกควรเป็นอาหารครบคุณค่าห้าหมู่ให้ลูกกินอาหารมื้อหลักวันละ 3 มื้อและกินนมวันละ 2-3 แก้ว ไม่ควรกินนมมากไปกว่านี้ในแต่ละวัน

สำหรับคำแนะนำ หากต้องเลือกนมให้ลูกวัยเด็กเล็ก 1-3 ปีกินเป็นมื้อเสริมในแต่ละวัน มีตัวเลือกระหว่างนมวัว 100% (Whole Milk) กับนมเสริมสารอาหารสำหรับเด็กเล็กวัย 1-3 ปี หรือในทางวิชาการจะเรียกนมในกลุ่มนี้ว่า Young Child Formula (YCF) คุณหมอให้คะแนนมากกว่าในการเลือกนมเสริมสารอาหาร เพราะถือเป็นอาหารชนิดหนึ่งสำหรับเด็กเล็ก สารอาหารต่างๆ ในกลุ่มวิตามินแร่ธาตุที่มีการเติมลงไปในนมประเภทนี้อยู่ในปริมาณที่มีการวิจัยมาแล้วว่าเหมาะสม เพราะในช่วงวัยหนึ่งปีขึ้นไปซึ่งเด็กยังต้องฝึกการกินอย่างมีคุณภาพ โอกาสที่จะได้รับสารอาหารจำเป็นไม่เพียงพอย่อมมี การกินนมเป็นมื้อเสริมในแต่ละวันก็มีส่วนช่วยให้เด็กได้รับโภชนาการที่ครบถ้วนมากขึ้นทั้งสารอาหารหลักกลุ่มโปรตีน ไขมันและคาร์โบเฮเดรต รวมทั้งสารอาหารรองในกลุ่มวิตามินแร่ธาตุ นมเสริมสารอาหารที่เติมธาตุเหล็กก็เป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่ง และเมื่อลูกอายุสองขวบไปแล้ว  สามารถกินอาหารมื้อหลักทั้ง 3 มื้อได้ดีขึ้น ค่อยเปลี่ยนมากินนมวัว 100% ได้เพราะโภชนาการจากนมที่เด็กจะได้รับเพิ่มจากการกินปกติในมื้อหลักคือโปรตีนและแคลเซียมที่เพียงพอเพื่อช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตตามช่วงวัย

ซีดจากการขาดธาตุเหล็ก

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up