ประกันสุขภาพลูกน้อย

4 ปัจจัยสำคัญที่พ่อแม่ควรรู้ก่อนทำ ประกันสุขภาพลูกน้อย

Alternative Textaccount_circle
event
ประกันสุขภาพลูกน้อย
ประกันสุขภาพลูกน้อย

เพราะ ประกันสุขภาพลูกน้อย มีหลากหลายประเภท มีหลากหลายแบบแผนและความคุ้มครอง คุณพ่อคุณแม่ควรจะเลือกซื้อประกันแบบไหน อย่างไร ให้เหมาะกับลูกน้อยและครอบครัว?

4 ปัจจัยสำคัญที่พ่อแม่ควรรู้ก่อนทำ ประกันสุขภาพลูกน้อย

เพราะเด็กวัยแรกเกิดยังบอบบางต่อเชื้อโรคต่าง ๆ ทำให้มีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย และแม้แต่โรคหวัดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังทำให้ลูกน้อยของเราเกิดอาการรุนแรง จนอาจถึงขั้นนอนโรงพยาบาลได้ เพื่อลดความเสี่ยงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และเพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองรายได้ในอนาคต กรณีพบโรคประจำตัวเพิ่มเติม จะได้มีทุนไว้รักษาพยาบาล และในปัจจุบันนี้ ประกันมีหลากหลายแบบแผนให้เลือก ทำให้คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังจะทำประกันสุขภาพให้ลูกหลาย ๆ ท่านสับสนได้ว่าแบบแผนไหน การคุ้มครองแบบใด ที่เหมาะกับลูกน้อยและครอบครัวมากที่สุด ก่อนที่จะเลือกซื้อ ประกันสุขภาพลูกน้อย อยากจะให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านข้อมูลเล่านี้เพื่อประกอบการตัดสินใจกันก่อนค่ะ

4 ปัจจัยสำคัญที่พ่อแม่ควรรู้ก่อนทำ ประกันสุขภาพลูกน้อย

1. ประกันมีกี่ประเภท?

การประกันภัยบุคคล (Insurance of the person) เป็นการประกันภัยเกี่ยวกับภัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือที่เกิดกับบุคคล แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. การประกันชีวิต มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองการสูญเสียรายได้ที่เกิดจากกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตหรือเพื่อเป็นการออมทรัพย์สำหรับผู้เอาประกันภัยตามระยะเวลาที่ตนต้องการ การประกันชีวิตประเภทนี้มีจำนวนเงินเอาประกันภัยค่อนข้างสูง โดยทั่วไปกำหนดชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายปี ราย 6 เดือน ราย 3 เดือน หรือรายเดือน ในการพิจารณารับประกันชีวิตมีทั้งแบบตรวจสุขภาพและไม่ต้องตรวจสุขภาพ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินเอาประกันภัยและอายุเป็นสำคัญ
  2. การประกันอุบัติเหตุ เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองต่อผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ผู้เอาประกันภัย ประสบอุบัติเหตุได้รับความบาดเจ็บทางร่างกาย และหากผลของการบาดเจ็บนั้นส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือรุนแรงถึงขั้นทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะเข้ามารับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัย หรือจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยต้องสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต
  3. การประกันสุขภาพ คือ การประกันภัยที่บริษัทประกันภัยตกลงที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จากการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้เอาประกันภัย ไม่ว่าค่ารักษาพยาบาลนั้นจะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยจากโรคภัย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
ประกันสุขภาพเด็ก
ประกันสุขภาพเด็ก

2. ประกันสุขภาพมีกี่แบบ?

  1. ประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก (OPD) คุ้มครองกรณีผู้เอาประกันได้รับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่า 6 ชั่วโมง หรือไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล พบแพทย์ วินิจฉัย จ่ายยา(ถ้ามี) แล้วก็กลับบ้านได้เลย หรือกรณีที่เรามีอาการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง เช่น การฉีดวัคซีน เกิดอุบัติเหตุเล็กน้อย เป็นต้น
  2. ประกันสุขภาพผู้ป่วยใน (IPD) คุ้มครองกรณีผู้เอาประกันต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลติดต่อกัน 6 ชั่วโมงขึ้นไป กรณีที่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล โดยจะชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งได้แก่ ค่าห้องและค่าอาหาร ค่าบริการทั่วไป ค่าใช้จ่ายในกรณีที่มีการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน หลังการเกิดอุบัติเหตุ ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการผ่าตัด ค่าปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการผ่าตัด ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้แพทย์มาดูแล เป็นต้น
  3. ประกันสุขภาพโรคร้ายแรง (ECIR) เนื่องจากบางโรคนั้นเป็นโรคที่ต้องใช้การรักษาเป็นระยะเวลานานและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ซึ่งบางครั้งประกันสุขภาพที่มีอยู่จะให้ความคุ้มครองได้ไม่เพียงพอ จึงมีประกันสุขภาพโรคร้ายแรงเพิ่มขึ้นมา เพื่อให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับโรคร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและต้องรักษาต่อเนื่องโดยเฉพาะ
  4. ประกันชดเชยรายได้ คุ้มครองเกี่ยวกับรายได้ของผู้เอาประกันระหว่างนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยบริษัทประกันจะชดเชยค่าสินไหมทดแทนเป็นรายวันให้ ซึ่งเงินจำนวนนี้ก็เพื่อเป็นการชดเชยรายได้เมื่อเราไม่สามารถทำงานได้จากการพักรักษาตัวนั่นเอง รายละเอียดก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละกรมธรรม์ เช่น ชดเชยวันละ 300 บาท 500 บาท หรือวันละ 1,000 บาท เป็นต้น

นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมี ประกันสุขภาพเหมาจ่าย ที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ค่ารักษาพยาบาลที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยจะกำหนดวงเงินค่ารักษาแบบเหมาจ่ายรวมกันต่อปี แถมยังเบิกจ่ายได้แทบทุกกรณีที่กล่าวมาขั้นต้น แต่ค่าเบี้ยประกันก็สูงกว่าแบบประกันสุขภาพทั่วไปอีกด้วย

3. เงื่อนไขที่ควรรู้ก่อนทำประกันให้ลูก

ประกันทุกประเภท จะมีเงื่อนไขต่าง ๆ เกี่ยวกับการคุ้มครอง คุณพ่อคุณแม่จะต้องอ่านเงื่อนไขเหล่านี้ให้ละเอียดก่อนเซ็นสัญญาทำประกัน เพื่อไม่ให้มีปัญหาในอนาคตได้ และนี่คือเงื่อนไขที่มักจะระบุในประกันสุขภาพ

  1. ประกันสุขภาพเป็นสัญญาเพิ่มเติม ดังนั้นจะต้องทำประกันชีวิตตัวหลักก่อน แล้วจึงซื้อพ่วงเข้าไป โดยประกันชีวิต อาจเป็นแบบประกันแบบออมหรือไม่ออมก็ได้และสามารถเลือกจำนวนของทุนประกันให้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนเบี้ยที่ต้องการจ่ายได้ แต่ประกันสุขภาพที่เป็นสัญญาเพิ่มเติมนี้ ไม่สามารถซื้อแยกเดี่ยว ๆ โดยไม่มีประกันชีวิตได้ (ยกเว้นของบางที่อาจจะจัดเป็นแพ็คเกจ ซื้อเป็นประกันสุขภาพแยกเดี่ยว ๆ ได้เลย เพราะมีการพ่วงทุนประกันชีวิตเข้าไว้ด้วยแล้ว จึงไม่ต้องทำประกันชีวิตเพิ่ม)
  2. เบี้ยที่จ่ายเป็นเบี้ยจ่ายทิ้งปีต่อปี นั่นหมายความว่า หากไม่มีการเคลม เราก็จะเสียค่าเบี้ยในปีนั้นไปเฉย ๆ (เหมือนกรณีประกันรถยนต์) และเนื่องจากเป็นสัญญาที่มีการคุ้มครองปีต่อปี ดังนั้น หากปีต่อไปพิจารณาแล้วว่าไม่ต้องการการคุ้มครอง ก็สามารถยกเลิกประกันสุขภาพตัวนั้น ๆ ไม่ต้องจ่ายเบี้ยต่อได้ แต่ถ้ายกเลิกแล้ว จะไม่สามารถขอกลับมาทำใหม่ได้ (ต้องซื้อใหม่ โดยพ่วงกับประกันชีวิตเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือซื้อกรมธรรม์ชีวิตใหม่) และในทางกลับกัน บริษัทประกัน ก็สามารถแจ้งยกเลิกประกันสุขภาพกับผู้ทำประกันได้เช่นกัน
  3. ผู้ที่ทำประกันต้องมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคประจำตัว และตอนทำประกันต้องแถลงข้อมูลเรื่องสุขภาพตามความเป็นจริง ห้ามปิดบัง ไม่อย่างนั้นถ้าตรวจพบความจริงทีหลัง บริษัทสามารถปฏิเสธการเคลมได้ (หรือหากมีโรคประจำตัวมาก่อน บริษัทอาจจะรับทำประกันให้ แต่จะถูกเพิ่มค่าเบี้ยประกัน หรือไม่ก็คุ้มครองเฉพาะโรคอื่น ๆ ไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนอยู่แล้ว แล้วแต่การพิจารณาของแต่ละบริษัท)
  4. มีระยะเวลารอคอย หลังจากทำประกันสุขภาพแล้ว จะไม่สามารถคุ้มครองได้ทันที โดยเฉพาะตัวที่อยู่ในกลุ่มโรคร้ายแรง อาจจะมีระยะเวลารอคอยประมาณ 30-120 วัน ถ้าเกิดเจ็บป่วยระหว่างนี้ ประกันอาจจะไม่คุ้มครอง
  5. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ บางตัวคงที่ บางตัวปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามอายุที่มากขึ้น ดังนั้นอาจจะต้องวางแผนการจ่ายเบี้ยให้เหมาะสมด้วย เมื่ออายุมากขึ้นเรื่อย ๆ
ประกันสุขภาพ
ประกันสุขภาพ

4. สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนลงปากกา ซื้อประกันสุขภาพ

  1. เบิกได้ในกรณีไหนบ้าง? โดยส่วนมาก ประกันสุขภาพลูกน้อย มักจะเน้นที่ความคุ้มครองกรณีรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ IPD ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูว่า ค่าห้องและค่าอาหารที่เบิกได้เท่าไหร่ ค่าแพทย์เท่าไหร่ ค่ารักษาเท่าไหร่ ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายหากลูกต้องนอนโรงพยาบาลหรือไม่ ทีมแม่ ABK ขอแนะนำเพิ่มเติมก่อนทำประกัน โดยให้คุณพ่อคุณแม่สอบถามโรงพยาบาลที่ลูกน้อยไปพบแพทย์เป็นประจำว่าหากต้องแอดมิทเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล จะเสียค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ เพื่อเลือกซื้อแพคเกจที่มีค่าประกันครอบคลุมต่อค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลนั้น ๆ
  2. ต้องสำรองจ่ายก่อนหรือไม่? ประกันบางประเภท จะมีการให้สำรองจ่ายก่อนและนำมาเบิกบริษัทประกันภายหลัง หรือบางประเภท สามารถนำเลขกรมธรรม์มายื่นให้โรงพยาบาล เพื่อให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายกับบริษัทประกันได้เองเลย ในกรณีที่ต้องสำรองจ่ายก่อนจะต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง ยุ่งยากหรือไม่
  3. คุ้มครองอะไรบ้าง? บางแพคเกจจะคุ้มครองเฉพาะบางโรค และบางแพคเกจจะคุ้มครองทุกโรคยกเว้นโรคร้ายแรงที่แพคเกจกำหนด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องดูให้ละเอียด เพราะเราไม่รู้เลยว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ลูกอาจจะเป็นโรคที่ประกันไม่คุ้มครองก็เป็นได้
  4. คุ้มครองภายในประเทศ หรือต่างประเทศด้วย? ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่พาลูกไปเที่ยวหรือไปทำธุระที่ต่างประเทศบ่อย ๆ อาจจะต้องพิจารณาถึงข้อนี้ด้วย เพราะการรักษาพยาบาลที่ต่างประเทศมักจะมีค่าใช่จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่สำหรับบ้านที่ไม่ได้ไปต่างประเทศบ่อย ๆ การคุ้มครองในต่างประเทศอาจไม่มีความจำเป็น ค่าเบี้ยประกันก็จะถูกลงไปด้วย โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถซื้อประกันให้ลูกก่อนเดินทางไปต่างประเทศแยกต่างหากก่อนไปได้เช่นกัน
  5. หากมีสวัสดิการหรือประกันสุขภาพอื่น ๆ อยู่ จะเบิกได้หรือไม่? ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่มีสวัสดิการในการรักษาพยาบาลให้ลูกอยู่แล้ว แต่ต้องการจะทำประกันเพื่อลดค่าใช้จ่ายของส่วนต่างที่เกินจากวงเงินในสวัสดิการ ก็ควรจะพิจารณาข้อนี้ด้วย ควรสอบถามตัวแทนบริษัทประกันให้แน่ใจก่อน
  6. ต่ออายุการคุ้มครองได้ถึงปีไหน? เนื่องจากเป็นสัญญารายปี ทั้งผู้ประกันและผู้ให้ประกันสามารถแจ้งไม่ต่ออายุการคุ้มครองได้ ดังนั้นจึงควรตรวจสอบเงื่อนไขในการไม่ต่ออายุของบริษัทประกันให้ดี เพราะพ่อแม่ทุกคน เมื่อทำประกันให้ลูกแล้ว ก็อยากให้มีการคุ้มครองที่ต่อเนื่อง
  7. จำกัดจำนวนครั้งหรือจำนวนเงินในการเบิกหรือไม่? ถ้ามีแล้วรายละเอียดเป็นอย่างไร เบิกได้ครั้งละเท่าไหร่ รวมกันทั้งปีไม่เกินเท่าไหร่ รับการรักษาได้สูงสุดไม่เกินกี่วัน เป็นต้น

สำหรับการทำ ประกันสุขภาพลูกน้อย ในปัจจุบันนี้ มีหลากหลายแบบแผนให้เลือก แต่ละแพคเกจก็มีเบี้ยประกันที่หลากหลาย ทั้งแบบเบี้ยประกันราคาถูก แต่ความคุ้มครองก็จะลดหลั่นกันไป และเบี้ยประกันที่ราคาค่อนข้างสูง แต่ความคุ้มครองเป็นแบบเหมาจ่าย ครอบคลุมทุกค่าใช้จ่ายตั้งแต่เริ่มเดินเข้าโรงพยาบาลกันเลยทีเดียว ดังนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบ้านว่าต้องการทำประกันเพื่อให้ครอบคลุมทุกค่าใช้จ่ายหรือทำประกันเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งเมื่อลูกต้องเข้าโรงพยาบาล เลือกให้ดี เลือกที่เหมาะกับความต้องการและราคาที่ต้องการจ่ายนะคะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

9 ประกันสุขภาพเด็ก ปี 2562 ที่ไหนดีที่คุ้มครองคุ้มค่า ราคาถูก

ซื้อประกันสุขภาพให้ลูก ประกันสุขภาพเด็ก ที่ไหนดี? ปี 2563

ชี้เป้า! 10 ประกัน ไวรัสโคโรน่า เบี้ยขั้นต่ำแค่ 99 บาท ที่ไหนคุ้มสุดดูเลย!

คุ้ม2ต่อ!! วัคซีน ป้องกันไอพีดี แถมลดโอกาสติดเชื้อ RSV

ตารางวัคซีน 2564 ปีนี้มีปรับรายละเอียด? ลูกต้องฉีดอะไร ตอนไหนบ้าง เช็กเลย!

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.), www.gobear.com, aommoney.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up