ศูนย์พิษวิทยาเตือน!อาหารเครื่องดื่ม ใช้กัญชา มีอันตราย
หลังจากที่ปลดล็อกใช้กัญชาเสรี ก็มีกระแสไม่เห็นด้วย เนื่องจากหาก ใช้กัญชา ในปริมาณมากเกินไปเสี่ยงที่จะส่งผลต่อสุขภาพ จนถึงกับเสียชีวิตได้ ซึ่งก็ได้พบผู้เสียชีวิตจากการใช้กัญชาเกินขนาดแล้ว แถมยังเป็นเด็กวัยรุ่นอีกด้วย หากคุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งลูก ๆ ได้รับกัญชาผ่านอาหาร เครื่องดื่ม หรือขนมในปริมาณที่มากไปย่อมสะสมและส่งผลต่อร่างกาย เป็นอันตรายมาก ทางศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดี ได้ออกมาแนะนำร้านค้าที่จะใส่กัญชาดำเนินการดังนี้ค่ะ
ร้านค้าและอาหารเครื่องดื่มที่ ใช้กัญชา ต้องทำอะไรบ้าง
1. ติดป้ายฉลากแสดงให้ชัดเจนทั้งเมนูและบรรจุภัณฑ์
ผู้บริโภคจะได้เลือกซื้อได้ถูกต้อง หากทำได้บอกระดับ THC ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคและต่อชิ้นมาด้วยเลย…และจัดเก็บผลิตภัณฑ์แยก แบบใส่กัญชากับไม่ใส่กัญชาออกกันให้ชัดเจน (สำคัญมาก!!)
ในต่างประเทศมีข่าวที่ครอบครัวสั่งซื้อบราวนี่ปกติกลับมากินบ้าน กินแล้วป่วยโดยคนที่อาการหนักก็เป็นเด็กๆเช่นเคย สุดท้ายเป็นบราวนี่กัญชา ร้านเขาทำบราวนี่กัญชาไว้ปาร์ตี้กับเพื่อนๆเอง…แต่ไม่รู้ไปปนกับบราวนี่ที่ขายปกติไปได้ไง อันนี้เป็นคดีฟ้องร้องมาแล้วครับ
2. บอกวิธีการวิธีบริโภคและข้อควรระวังเลย เช่น
2.1 คอนเฟิร์มว่า คนซื้อไม่มีข้อห้ามต่อการรับสาร THC และกัญชา
2.2 อันไหนที่ THC เข้มข้นมาก เมาง่ายมาก แนะนำลูกค้าด้วยว่าเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ใช้กัญชาเยอะประจำเท่านั้น ไม่ขายให้ผู้ใช้หน้าใหม่ หรือคนลองใช้ครั้งแรกเด็ดขาด
2.3 แนะนำวิธีใช้ตามหน่วยบริโภคเช่นจะให้กินคุกกี้ทีละ ครึ่งชิ้นหรือ 1/4 ชิ้นก่อน และเฝ้าดูอาการว่าได้ผลตามต้องการรึยัง
2.4 แนะนำระยะเวลาออกฤทธิ์ ส่วนมากของกินจะเริ่มออกฤทธิ์ช้า 20-60 นาทีหลังกิน แนะนำอย่ากินเพิ่มก่อนระยะเวลารอออกฤทธิ์
2.5 แนะนำอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น และแนะนำให้งดขับขี่ยานพาหนะหลังใช้ 6 ชม.
3. ทำป้ายบอกตัวโตๆ ว่าไม่ใส่กัญชา
สำหรับร้านที่ไม่ผสมกัญชา ให้ทำป้ายบอกให้ชัดเจนว่า “ขนม/อาหารร้านนี้ไม่ใส่กัญชา” เพื่อที่ คนท้อง คนให้นมบุตร ผู้มีโรคประจำตัวที่ควรเลี่ยงกัญชา และเด็ก ๆ จะได้มั่นใจในการบริโภคผลิตภัณฑ์จากร้าน
ข้อควรระวังในการใช้กัญชา
นอกจากนี้ ศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ก็ได้ให้คำแนะนำ 10 ข้อควรระวัง การใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ดังนี้ค่ะ
1. ก่อนจะ ใช้กัญชา ควรศึกษาความเสี่ยง
ควรศึกษาความเสี่ยงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตนเองในระยะสั้นและระยะยาว ผู้มีโรคประจำตัวปรึกษาแพทย์ก่อนโดยเฉพาะผู้มีโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช โรคปอด และอย่าลืมเชคว่ายาประจำตัวของเราจะตีกับกัญชาหรือจะถูกสารกัญชารบกวนจนเกิดผลร้ายไหม
2. หากอายุน้อยกว่า 25 ปี อย่าใช้ช่อดอกกัญชาหรือสาร THC
เนื่องจากมีโอกาสเกิดปัญหาต่อการพัฒนาทักษะด้านต่างๆทางสมอง โดยเฉพาะด้านการคิดอย่างมีเหตุผลซึ่งพบว่าหากมีการเสื่อมแล้ว แม้หยุดกัญชานานเป็นปีก็ไม่อาจคืนกลับเป็นปกติ (ส่วนทักษะทางภาษาและความจำระยะสั้นสามารถกลับคืนเมื่อหยุดเสพกัญชาได้)
3. หากจะลองใช้ควรเริ่มในปริมาณน้อย
หากคิดแล้วอยากจะลองใช้จริงๆ ก็ขอให้เริ่มแบบ THC (สารเมาหลอนและเสพติด) ปริมาณน้อย ใครท้าก็อย่าหน้าใหญ่ ใจใหญ่ลอง THC เข้มข้น…ไม่งั้นอาจเสี่ยงได้นอนหน้าสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะในห้องฉุกเฉินหรือ ICU ได้
4. หากรู้สึกระคายเคืองทางเดินหายใจ หยุด ใช้กัญชา ทันที
การสูบกัญชาแบบเผาไหม้ บารากุ หรือแบบบุหรี่ไฟฟ้าล้วนเกิดการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจและเยื่อบุได้ ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งจากตัวกัญชา สารละลาย หรือสารปนเปื้อนอื่น หากมีอาการควรหยุดสูบในทันที
5. อย่าสูบลึก อย่าอัด อย่ากลั้น
ผู้ที่จะทดลองสูบ กรูณาสูบอย่าลึกมาก และอย่าอัด-กลั้นไว้ในปอด เพราะจะได้รับปริมาณสารเข้าสู่ร่างกายเยอะ ทั้งสาร THC และสารระคายเคืองต่างๆที่ระคายเคืองทางเดินหายใจ
6. ไม่สูบในที่ที่มีคนกลุ่มเสี่ยง
คนรอบตัวที่ไม่ได้สูบยังอาจได้รับควันกัญชาได้ ฉะนั้นควรสูบในที่จัดเป็นสัดส่วนของคนสูบกันเอง เลี่ยงการสูบในที่มีเด็ก คนท้อง หรือผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
7. ปรึกษาแพทย์หากเริ่มติด
หากใช้กัญชาแล้ว พยายามใช้แต่น้อย และติดตามการใช้ของตนเอง หากจู่ๆเริ่มใช้บ่อยขึ้นเยอะขึ้น เริ่มทำใจไม่ใช้ลำบาก เริ่มเสียเงินกับกัญชาเยอะ หรือเริ่มคิดถึงการใช้กัญชามากจนรบกวรการทำงาน การดำเนินชีวิต หรือความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ต้องระวังว่ามีการติดกัญชาแล้ว ลองปรึกษาแพทย์เพื่อควบคุมการใช้กัญชาไม่ให้ติดจนรบกวนการดำเนินชีวิตมากไปกว่านั้น หากเห็นคนมีลักษณะนี้ลองหาทางพูดคุยอย่างเป็นมิตรให้เขาพิจารณาปรึกษาแพทย์นะครับ จะติดสารอะไรเขาก็ยังเป็นเพื่อนเป็นญาติพี่น้องเราและการติดเป็นสภาวะที่ดูแลรักษาได้ หากแนะนำแล้วยังไม่ได้ผลทันทีอย่าท้อใจ เราพูดอาจจะได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แต่หากเราไม่พูดเลยก็เท่ากับตัดโอกาสการทบทวนตนเอง
8. หากใช้กัญชา ควรงดขับขี่ยานพาหนะ
แนะนำให้งดการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง หลังจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาและการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาร่วมกับการดื่มสุราจะทำให้ความสามารถในการขับยานพาหนะลดลงมาก ดังนั้นแนะนำให้หลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาดนะครับ แม้จะไม่มีการห้ามเสพขณะขับขี่บานพาหนะในช่วงที่ พรบ.ยังไม่ออก แต่หากก่อให้เกิดอุบัติเหตุก็ยังผิดในฐานะขับรถโดยประมาทนะครับ
9. เลือกผลิตภัณฑ์กัญชาที่น่าเชื่อถือ
การเลือกผลิตภัณฑ์กัญชา ควรเลือกที่มีความน่าเชื่อถือ ในต่างประเทศที่มีกติกากำกับดูแลผลิตภัณฑ์ จะมีการตรวจสารปนเปื้อน เชื้อโรค และยืนยันระดับสารว่าตรงกับที่ฉลากระบุ ซึ่งก็มีการคัดออกผลิตภัณฑ์ที่มีเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เศษปฏิกูลต่างๆออกอยู่
10. หากมีผู้ได้รับอันตรายจากสิ่งที่ ใช้กัญชา ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล
หากเจอคนรอบตัวได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์อาหาร หรือขนมใส่กัญชา โดยที่เจ้าตัวจงใจจะซื้ออาหารหรือขนมธรรมดา แต่ปนเปื้อนกัญชา หรือใส่กัญชาโดยไม่แจ้งผู้บริโภค ตั้งสติเก็บรายละเอียดช่องทางการซื้อขาย ผลิตภัณฑ์ที่เหลือ รวมถึงหีบห่อ และติดต่อสายด่วนคุ้มครองผู้บริโภค หรือนำส่งที่โรงพยาบาลพร้อมกับผู้ป่วย เพื่อป้องกันการกระจายของผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อน THC โดยไม่ระบุเหล่านี้
ขอบคุณข้อมูลจาก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก