โรงเรียน อนุบาล มีกี่แบบ? หลักสูตรไหนเหมาะกับลูกเรา? - Amarin Baby & Kids
โรงเรียน อนุบาล

โรงเรียน อนุบาล มีกี่แบบ? หลักสูตรไหนเหมาะกับลูกเรา?

Alternative Textaccount_circle
event
โรงเรียน อนุบาล
โรงเรียน อนุบาล

เมื่อลูกถึงวัยที่จะต้องเข้าเรียน โรงเรียน อนุบาล กันแล้ว แม่ ๆ จะเลือกโรงเรียนอย่างไร? หลักสูตรไหน? ให้เหมาะกับลูก และครอบครัวของเรากันนะ

โรงเรียน อนุบาล มีกี่แบบ? หลักสูตรไหนเหมาะกับลูกเรา?

ถึงเวลาที่ลูกจะต้องเข้าเรียน โรงเรียนอนุบาลแล้ว ก่อนที่แม่ ๆ จะพาลูกไปสมัครเรียน มารู้กันก่อนว่า โรงเรียนอนุบาล สมัยนี้ มีหลากหลายหลักสูตรให้เลือก และแต่ละหลักสูตรมีการเรียนการสอนที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ดังนั้น ปัจจัยในการเลือก โรงเรียน อนุบาล จะไม่เป็นเหมือนสมัยก่อนกันแล้ว ก่อนจะเลือกโรงเรียนที่ชอบ เราต้องมารู้ก่อนว่า โรงเรียนที่เราเล็ง ๆ ไว้นั้น จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรอะไร และควรมองยาว ๆ ไปถึงระดับประถมและมัธยม ว่าโรงเรียนที่เราเลือกนั้น มีการเรียนการสอนรองรับไปถึงระดับประถมและมัธยมหรือไม่ โดยแต่ละหลักสูตรจะมีข้อดี ข้อเสีย ที่แตกต่างกันไป มาดูกันค่ะว่า โรงเรียน อนุบาล มีหลักสูตรใดบ้าง

โรงเรียนอนุบาลมีกี่แบบ? หลักสูตรไหนเหมาะกับลูกเรา?

  1. แนววิชาการ

การเรียนการสอนเน้นการเรียน เขียนและอ่าน โรงเรียนอนุบาลประเภทนี้จะเคร่งครัดเรื่องวิชาการเรียกว่าจบระดับอนุบาลก็สามารถอ่านออกเขียนได้ และเน้นที่จะให้เด็กไปสอบเข้าโรงเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนชื่อดังให้ได้ ข้อดีของโรงเรียนแนววิชาการคือจะมีโรงเรียนแนววิชาการในระดับประถมและมัธยมรองรับไปจนโต สำหรับข้อเสียคือเนื้อหาที่ใช้เรียนจะค่อนข้างยากเมื่อเทียบกับอายุของเด็ก แต่หลาย ๆ โรงเรียนก็จะมีวิธีการสอนให้เด็กเข้าใจในเนื้อหายาก ๆ นั้นได้ค่ะ

โรงเรียนอนุบาล
โรงเรียนอนุบาล

2. โรงเรียนแนวเตรียมความพร้อม หรือแนวบูรณาการ

โรงเรียนแนวเตรียมความพร้อม จะเป็นการเรียนที่ไม่เน้นวิชาการ แต่ถึงแม้จะไม่ได้จัดการสอนแนววิชาการ แต่โรงเรียนแนวนี้จะแทรกความรู้แนววิชาการผ่านการเล่น การสังเกต การลงมือทำ มีหลายหลักสูตร เช่น

  • Waldorf เน้นสอนให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น สอนกิจกรรมให้ฝึกทักษะการคิดจินตนาการ ทั้งศิลปะ ดนตรี โดยให้เด็กได้ปฏิบัติจริง
  • Montessori แนวทางนี้จะเน้นสอนตามพัฒนาการและความต้องการของเด็ก เพื่อให้เด็กพึ่งพาตนเองได้ เรียนรู้เป็นรายบุคคล เน้นการเตรียมการสอนของครูตามขั้นตอน โดยใช้อุปกรณ์ในการฝึกประสาทสัมผัสเด็ก
  • Neo-Humanist เป็นการน าศาสตร์ทางตะวันออกผสานความทันสมัยแบบตะวันตก เช่น มีการให้เด็กฝึกสมาธิ ทำโยคะ ขณะเดียวกัน ก็ใช้เสียงเพลงและวิธีการสอนใหม่ๆ ด้วย
  • Reggio Emilia เน้นการสอนให้พ่อแม่ ครู เด็ก ชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กเรียนรู้ มีการตั้งสมมติฐาน สำรวจแล้วแสดงผลผ่านการวาดภาพ งานปั้น การเล่นละคร การเขียน
  • Project Approach เป็นการสอนด้วยวิธีสะสมแฟ้มผลงานเด็ก โดยสืบค้นหาข้อมูลตามเรื่องที่เด็กสนใจ ค้นหาคำตอบจากคำถามที่เกี่ยวกับหน่วยการเรียนรู้ คำถามนั้นจะมาจากเด็กกับครูร่วมกัน เพื่อให้เด็กรู้จักตัดสินใจ และพ่อแม่มีส่วนร่วม
  • Whole Language Approach เป็นการสอนภาษาแบบบูรณาการ ผ่านการฟัง พูด อ่าน เขียน พร้อมกัน ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง เตรียมความพร้อมทุกด้าน ให้เด็กมีพัฒนาการด้านภาษาได้ง่ายและเร็วขึ้น
  • High/Scope เน้นการเรียนรู้แบบลงมือกระทำผ่านมุมเล่นหลากหลาย ด้วยสื่อและกิจกรรมที่เหมาะกับพัฒนาการ และการแก้ปัญหา แบ่งการสอนเป็นกลุ่มย่อยเพื่อกระตุ้นพัฒนาการ

ข้อดีของโรงเรียนแนวนี้ คือจะลงรายละเอียดไปที่เด็กแต่ละคน ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง คุณครูจะทำหน้าที่ดันและพัฒนาเด็กตามความถนัดของแต่ละคน จะไม่ยึดตามหลักสูตรการเรียนการสอนแนววิชาการ ข้อเสีย คือมีโรงเรียนแนวบูรณาการในระดับประถมและมัธยม ค่อนข้างน้อย ทำให้เด็กที่เรียนใน โรงเรียน อนุบาล หลักสูตรนี้ต้องไปเข้าเรียนในหลักสูตรวิชาการในระดับประถมและมัธยมแทน

3. โรงเรียนแนววิถีพุทธ

หลักสูตรวิถีพุทธ คือ หลักสูตรการเรียนการสอนที่ใช้หลักธรรมคำสอนตามหลักพระพุทธศาสนาในการพัฒนานักเรียน รวมทั้งใช้หลักคำสอนตามพระพุทธศาสนาผสมผสานในหลักสูตรการเรียนการสอน โรงเรียนหลักสูตรวิถีพุทธนี้ จะมีหลักการเรียนการสอนคล้าย ๆ กับโรงเรียนแนวบูรณาการ

4. หลักสูตรสองภาษา

เน้นการสอนแบบสองภาษา โดยใช้หลักสูตรของกระทรวง คือภาษาไทยกับภาษาที่สองซึ่งส่วนมากจะเป็น ภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน บางโรงเรียนเพิ่มเป็นสามภาษาตามที่ผู้ปกครองต้องการ หลักสูตรนี้จะมีทั้งสอนแบบเตรียมความพร้อม ที่เน้นกิจกรรมเล่นปนเรียน มีสื่อที่เป็นภาษาที่สอง เช่น บัตรคำ หนังสือภาพ หรืออื่น ๆ และการสอนแบบวิชาการที่เน้นการอ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาไทยและภาษาที่สอง

5. โรงเรียนนานาชาติ

เป็นโรงเรียนที่ไม่ใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ใช้หลักสูตรของต่างประเทศ เช่น หลักสูตรระบบอเมริกัน และระบบอังกฤษ หรือหลักสูตรเฉพาะชาติ ส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง ข้อดีของโรงเรียนนานาชาติ คือลูกจะพูด ฟัง อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้คล่อง เพราะได้เรียนกับเจ้าของภาษาโดยตรง แต่ข้อเสียคือค่าเทอมจะมีราคาสูงกว่าหลักสูตรอื่น ๆ มาก

6. หลักสูตรเรียนที่บ้าน (Home school)

การเรียนแบบ Home School หรือเรียนที่บ้าน เป็นการจัดการศึกษาโดยครอบครัว มีขอบเขตเนื้อหาวิชาไม่ต่างไปจากหลักสูตรปกติ ข้อแตกต่างสำคัญอยู่ที่กระบวนการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่น มีการจัดประสบการณ์เสริมการเรียนรู้อย่างหลากหลาย มีกิจกรรมนอกบ้านเป็นองค์ประกอบสำคัญ มีการใช้ประโยชน์จากกิจกรรมเครือข่ายพ่อแม่ (อ่านต่อ เช็กให้ดี กับปัจจัยที่ควรพิจารณาก่อนทำ โฮมสคูล !!)

หลักสูตรอนุบาล
หลักสูตรอนุบาล

สิ่งที่ควรพิจารณา ก่อนตัดสืนใจเลือก โรงเรียน อนุบาล ให้ลูกน้อย

เมื่อตัดสินใจเลือกหลักสูตรการเรียนการสอนให้ลูกได้แล้ว ก็มาดูปัจจัยอื่น ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาว่าโรงเรียนไหน เหมาะกับลูกเราบ้าง

  1. ใกล้ที่ทำงาน/บ้าน สำหรับคนในเมืองคงต้องใช้เกณฑ์นี้ก่อนการเลือกโรงเรียนใกล้บ้าน เพราะกว่าพ่อแม่จะฝ่าการจรจรมารับลูกได้ ลูกก็อาจติดอยู่ในโรงเรียนนาน แต่หากโรงเรียนอยู่ใกล้ที่ทำงาน การรับส่งจะสะดวกกว่า และเรายังมีเวลาใกล้ชิดกับลูกมากกว่าด้วย
  2. มีบริเวณ ร่มรื่น ปลอดภัย เพื่อให้ลูกได้มีโอกาสได้วิ่งเล่น ได้สัมผัสแดดลมตามวัย
  3. สะอาด เรียบร้อย ซึ่งสามารถดูได้จากข้าวของเครื่องใช้ในโรงเรียนว่า มีการดูแลอย่างดีหรือไม่
  4. มีเครื่องเล่นสนามให้เด็ก โดยเครื่องเล่นต้องมีความปลอดภัยและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
  5. นโยบายของโรงเรียน นโยบายโรงเรียนเป็นแบบเร่งเรียนหรือเตรียมความพร้อม เด็กบางคนพ่อแม่บอกว่าลูกอ่านเขียนเก่งคิดเลขได้ แต่พอถามเด็กถึงเรื่องราวที่นอกเหนือจากนั้นกลับตอบอะไรไม่ได้ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เพราะใช้เวลาไปกับการอ่านเขียนมากกว่า เพราะฉะนั้นนโยบายของโรงเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญส าหรับการพัฒนาลูกของเราให้เติบใหญ่เป็นคนที่มีความสุขต่อไป
  6. กิจกรรมของโรงเรียน มีกิจกรรมหรือไม่ต้องดูว่ามีกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาพัฒนาการทั้ง 4 ด้านให้เด็กทำ โดยดูจากห้องเรียนว่ามีแต่โต๊ะ เก้าอี้ หรือกระดานหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบนี้แสดงว่ามีการสอนอ่านเขียนอย่างเดียว โดยไม่ให้เด็กได้พัฒนาร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาเลย
  7. การจัดห้อง การจัดห้องต้องจัดเป็นมุมของเล่น จัดเป็นมุมบ้านบ้าง มุมแต่งตัว มุมเล่นบล็อก มุมวาดภาพ ระบายสี ฯลฯ ถ้าไม่มีแสดงว่าลูกเราไม่มีโอกาสได้เล่น
  8. อัตราส่วนระหว่างครูต่อเด็ก เด็กอายุ 3-5 ปีคือ ควรมีครู 2 คนต่อนักเรียนไม่เกิน 25 คน
  9. ท่าทีของครูและบุคลากรในโรงเรียน ว่ามีความสนใจและรักเด็ก พิจารณาเรื่องความสามารถและวุฒิภาวะของครูผู้สอนในการสอนและแก้ปัญหาของเด็ก
  10. อาหารที่ให้เด็กทาน พิจารณาถึงปริมาณอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงภาชนะต่างๆเช่น จาน แก้วน้ำ ด้านความสะอาดและถูกสุขลักษณะ
  11. มาตรการเรื่องความปลอดภัยและการเฝ้าระวังโรคติดต่อ เนื่องจากเด็กวัยนี้อาจมีการเล่นซนและเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดโรคติดต่อได้ง่ายเนื่องจากเด็กมีภูมิต้านทานต่อโรคต่าง ๆ
  12. ค่าเล่าเรียน พ่อแม่ควรพิจารณาเรื่องค่าเล่าเรียน ว่าเหมาะสมกับการจัดการเรียน และเหมาะกับเศรษฐกิจของครอบครัว

ไม่มีโรงเรียนไหนดีกว่าโรงเรียนไหน มีแต่โรงเรียนไหนที่เหมาะกับลูกและครอบครัวของเรา ลูกจะต้องอยู่ในโรงเรียนที่เราเลือกไปอย่างน้อยก็ 3 ปี ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกโรงเรียนที่เหมาะกับลูกที่สุด ลูกไปเรียนแล้วมีความสุขที่สุดค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

10 “โรงเรียนอนุบาล” ยอดนิยมพร้อมหลักสูตร ปี 2565

ส่งลูก เรียนอนุบาล แต่พ่อแม่ไม่อยากให้รร. “เร่งอ่านเขียน” จะทำอย่างไรดี?

13 ทักษะที่ลูกควรมีก่อนเข้า โรงเรียนอนุบาล

หมอชี้! หลักการ เลือกโรงเรียนให้ลูก โรงเรียนที่ดีต้องมี 3 ข้อนี้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ผศ.พญ.จิรนันท์ วีรกุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up