พ่อแม่จ๋าเช็กให้ดี กับปัจจัยที่ควรพิจารณาก่อนทำ โฮมสคูล !!

Alternative Textaccount_circle
event

เทรนด์การศึกษาใหม่มาแรงช่วงการระบาดของโรคโควิด19นี้ โฮมสคูล ดูจะเป็นทางเลือกใหม่ที่พ่อแม่สนใจ แต่อย่าลืมเช็กความพร้อม และปัจจัยที่ต้องมีก่อนตัดสินใจให้ลูก

พ่อแม่จ๋าเช็กให้ดี กับปัจจัยที่ควรพิจารณาก่อนทำ โฮมสคูล !!

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด19) ที่ยังคงมีต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันหลากหลายด้าน รวมถึงการเรียนของลูก ข้อจำกัดของการปฎิบัติตัวในสถานการณ์การระบาดนี้ ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมรวมกลุ่มกันได้อย่างเต็มที่ และเพิ่มความกังวลให้แก่พ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในวัยเรียน ทำให้เกิดกระแสความสนใจหันไปหาการศึกษาแบบทางเลือกนอกเหนือจากการเรียนการศึกษาตามระบบในโรงเรียน โฮมสคูลนับว่าเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์ได้ดี แต่การทำโฮมสคูลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะไม่ยากเกินความพยายามของครอบครัวที่ตั้งใจ ซึ่งก็มีตัวอย่างหลาย ๆ ครอบครัวที่ทำแล้วประสบความสำเร็จให้เห็นก็ตาม ดังนั้นก่อนเริ่มตัดสินใจเรามาลองเช็กความพร้อมของครอบครัวเรากันก่อนดีไหม

6 ปัจจัยที่ควรพิจารณาก่อนเริ่มทำโฮมสคูล

  • เหตุผลที่ตัดสินใจเลือกโฮมสคูลคืออะไร

การตัดสินใจเลือกการศึกษาให้แก่ลูกในแนวทางนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่คุณพ่อคุณแม่จะตัดสินใจ เนื่องจากแนวทาง และวิธีการไม่ได้เป็นรูปแบบสำเร็จเหมือนดั่งการศึกษาแบบในโรงเรียน ดังนั้นก่อนที่จะทำการตัดสินใจลองมาทบทวนตัวเองดูว่าเหตุผลใดที่ครอบครัวเราจะเลือกในแนวทางนี้ เช่น เห็นด้วยกับแนวคิด อยากจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นหลัก ให้เหมาะกับแต่ละคนที่ระดับการเรียนรู้ไม่เท่ากัน หรือมีปัญหามาจากทางโรงเรียน (ลูกถูกบุลลี่ มีปัญหากับครู) หรือมีปัญหาด้านสุขภาพ เป็นต้น การรู้เหตุผลที่แท้จริงที่ต้องการจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลก็จะช่วยให้เราหาข้อดี ข้อเสีย ของเหตุผลนั้น แล้วนำมาพิจารณาว่าครอบครัวเราเหมาะสมกับโฮมสคูลจริงหรือไม่ได้

ความหมายของโฮมสคูล

โฮมสคูล Homeschool หรือ บ้านเรียน เป็นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง เป็นผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาด้วยตนเอง เป็นระบบของการบูรณาการการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้จากวิถีชีวิตจริงจากทุกสถานที่ และกิจกรรมต่างๆ ที่ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน มุ่งให้โอกาสผู้เรียนได้ทำในสิ่งที่สนใจ เพื่อการค้นพบความถนัดและความสามารถของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ หลายๆ ครอบครัวจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการพัฒนาทักษะชีวิต และความฉลาดทางอารมณ์ นำไปสู่การเป็นผู้คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น รู้วิธีการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือของการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งประเทศไทยรับรองการจัดการศึกษาในรูปแบบนี้ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

 

โฮมสคูล รูปแบบการเรียนรู้จากชีวิตจริงได้ทุกสถานที่
โฮมสคูล รูปแบบการเรียนรู้จากชีวิตจริงได้ทุกสถานที่

 

การตัดสินใจว่าการเรียนแบบโฮมสคูลเหมาะกับครอบครัวคุณพ่อคุณแม่หรือไม่ให้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น

  1. ปัจจัยเรื่องเวลา ลองพิจารณาดูว่าพ่อแม่มีเวลาพร้อมดูแลจริงจังหรือไม่ แนะนำว่าควรมีหนึ่งคนที่มีความพร้อมดูแลเต็มเวลาจะดีกว่า
  2. ข้อดีข้อเสียของการโฮมสคูลตามความต้องการของครอบครัว เพราะเหตุผลของแต่ละครอบครัวแตกต่างกัน จึงควรมานั่งพิจารณาร่วมกันทั้งพ่อแม่ และลูกว่าครอบครัวเราพร้อมสำหรับแนวทางนี้หรือไม่
  3. ถามความคิดเห็นของสมาชิกทุกคนในบ้าน แม้คุณพ่อคุณแม่จะเห็นพ้องต้องกันในการเลือกการศึกษาในแนวโฮมสคูล แต่สิ่งที่ควรทำอีกอย่างคือ การสอบถามลูกของคุณพ่อคุณแม่ว่าพร้อมแค่ไหนกับการเรียนแนวนี้ เพราะอย่าลืมว่าเขาเป็นผู้ที่ต้องได้รับผลมากที่สุด สิ่งที่ดีที่สุดในการให้เข้าร่วมตัดสินใจได้ถูกต้อง นั่นคือ การให้เขาได้รับรู้ข้อมูลร่วมด้วยกันกับพ่อแม่
  • ทำความเข้าใจกับกฎระเบียบ กฏหมายโฮมสคูลให้ถ่องแท้

เมื่อเราเข้าใจในหลักการของการจัดทำโฮมสคูลดีแล้ว และเหตุผลของครอบครัวว่าต้องการจัดทำการเรียนแบบนี้ให้แก่ลูกไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตามนั่นแสดงว่าคุณพ่อคุณแม่ยอมรับ และต้องเสียสละเวลาในการมาจัดรูปแบบการเรียนรู้ให้แก่ลูกของเรา เบื้องต้นจึงควรต้องทำความเข้าใจในเรื่องกฎระเบียบ กฎหมายในการจัดการศึกษาในรูปแบบโฮมสคูลว่าเราจะจัดการศึกษาให้แก่ลูกได้ในระดับใดบ้าง ซึ่งในส่วนนี้เป็นในส่วนวิธีการได้มาซึ่งวุฒิการศึกษา จึงขออธิบายอย่างคร่าว ๆ ดังนี้

การศึกษาแบบ Homeschool สามารถเริ่มจัดได้ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา โดยสามารถไปจดทะเบียนตามสถานที่ที่ในแต่ละระดับชั้นกำหนดไว้

สำหรับระดับปฐมวัย (อนุบาล) จะสามารถจดทะเบียนเพื่อจัดการศึกษาบ้านได้เมื่อเด็กอายุ 3 ขวบ ซึ่งในระดับอนุบาลคุณพ่อคุณแม่จะจดทะเบียนโฮมสคูลให้กับลูกหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของคุณพ่อคุณแม่ ถ้าหากพร้อมก็สามารถไปยื่นคำอนุญาตจดทะเบียนในเขตพื้นที่การศึกษาได้เลย

 

โฮมสคูล เมื่อการเรียนในระบบโรงเรียน ไม่ใช่คำตอบ
โฮมสคูล เมื่อการเรียนในระบบโรงเรียน ไม่ใช่คำตอบ

 

ระดับประถมศึกษา ครอบครัวสามารถยื่นขออนุญาตจดทะเบียน และจัดการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาตามภูมิลำเนา

ระดับมัธยมศึกษา ครอบครัวจะต้องยื่นขออนุญาตจดทะเบียนจัดการศึกษาที่
– สำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา
– ลงทะเบียนเป็นนักเรียนกับ กศน. (การศึกษานอกระบบ)
– ลงทะเบียนเป็นนักเรียนกับ การจัดการศึกษาทางไกล

โดยการจดทะเบียนแบบนี้เมื่อเรียนจบการศึกษาในแต่ระดับ ก็จะได้รับวุฒิการศึกษาในระดับนั้น ๆ ซึ่งก็จะสามารถนำวุฒิการศึกษาไปใช้เรียนต่อในระบบได้เลย หรือหากเรียนจบในระดับมัธยมปลายก็จะสามารถนำวุฒิการศึกษาไปสอบเข้าเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ตามปกติ

การยื่นคำขอจดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษาจะมีขั้นตอนดังนี้

  1.  ยื่นคำขออนุญาตจัดการศึกษาที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ครอบครัวมีภูมิลำเนาอยู่
  2.  จัดทำแผนการศึกษา ครอบครัวและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องร่วมกันกำหนดตามความมุ่งหมาย หลักการและแนวทางการจัดการศึกษาตามกฏหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
  3. ดำเนินการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามแผนการจัดการศึกษาของครอบครัว
  4. ดำเนินการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามหลักเกณฑ์ และวิธีการวัดผล และประเมินผลของหลักสูตร  การศึกษาขึ้นพื้นฐาน
  5. จัดทำรายงานการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนและสภาพปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา ตามที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำหนดอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
  6. ปรับปรุงผลการเรียนของผู้เรียน ตามที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเสนอแนะ

ในที่นี้หากจดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษาแม้การจดทะเบียนจะมีขั้นตอนที่มากกว่า แต่จะสามารถขอรับเงินค่าอุดหนุนรายหัวตามที่ สพฐ.กำหนดไว้ได้ด้วย หรือถ้าหากคุณพ่อคุณแม่อยากจะขอจดทะเบียนแบบไม่ยุ่งยากซับซ้อนมากนัก ก็สามารถจดทะเบียนกับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Homeschool ได้  ซึ่งก็มีโรงเรียนรุ่งอรุณ กทม. และที่หมู่บ้านเด็ก จ.กาญจนบุรี แต่การจดทะเบียนในรูปแบบนี้จะไม่สามารถขอรับเงินอุดหนุนรายหัวได้

ทุกที่คือห้องเรียน สำหรับเด็ก โฮมสคูล
ทุกที่คือห้องเรียน สำหรับเด็ก โฮมสคูล

 

  • เริ่มต้นอย่างแข็งแกร่ง

เมื่อผ่านขั้นตอนการตัดสินใจต่าง ๆ มาได้แล้ว ต่อไปก็เป็นการเริ่มต้นศึกษากระบวนการเรียนรู้แบบโฮมสคูลกันแล้ว ซึ่งในช่วงแรก ๆ อาจเกิดความลังเลขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวลูกเอง หรือสมาชิกในครอบครัว และแม้แต่ตัวคุณเอง สิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถเริ่มต้นกระบวนการได้อย่างแข็งแกร่งอย่างหนึ่ง คือ การได้เข้าไปพูดคุย เรียนรู้ หาข้อมูลจากผู้ที่ได้ผ่านประสบการณ์มาก่อน ซึ่งก็มีกลุ่มหลากหลายให้พ่อแม่ได้เข้าร่วม เช่น Homeschool Thailand ,Unschooling Thailand ,โฮมสคูลอนุบาล ,โฮมสคูลประถม ,โฮมสคูลกศน และสถาบันการศึกษาทางไกล เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้สามารถเป็นแหล่งกำลังใจที่ดี ช่วยในการเลือกหลักสูตรทำความเข้าใจสิ่งที่จำเป็นเกี่ยวกับการทำโฮมสคูล แบ่งปันเทคนิคและแบ่งปันกิจกรรมดี ๆ ได้อีกด้วย

  • เลือกหลักสูตร หรือวิธีการการเรียนรู้

ในขั้นตอนนี้ อยากทำความเข้าใจโดยการแบ่งวิธีการทำโฮมสคูลออกเป็นวิธีการได้วุฒิการศึกษา (ซึ่งได้กล่าวไปแล้วข้างต้น) กับวิธีการเรียนรู้ ซึ่งหากเราแยกกระบวนการศึกษาแบบโฮมสคูลออกมาเป็นสองวิธีดังกล่าว จะทำให้เราเข้าใจหลักการมากยิ่งขึ้น ในขั้นตอนนี้จะขอกล่าวถึงการเลือกวิธีการเรียนรู้ให้แก่ลูกของคุณตามหลักการของการศึกษาแนวนี้ ขอบอกว่าปัจจุบันมีหลากหลายแนวทางให้เลือก เช่น เรียนออนไลน์ เรียนกับครูสอนพิเศษ เรียนรู้ด้วยตนเอง และจัดการเรียนการสอนโดยผู้ปกครอง เป็นต้น หากจะแบ่งประเภทของการเรียนรู้ อาจแบ่งได้อย่างคร่าว ๆ ดังนี้

  1. Traditional เรียนเหมือนโรงเรียนในระบบ ทั้งหนังสือที่ใช้เรียน เพียงแค่ไม่ได้ไปเรียนที่โรงเรียน
  2. Classical Learning How to think เรียนรู้วิธีคิด หาคำตอบจากคำถามที่ตั้งไว้
  3. Charlotte Mason ไม่เน้นหนังสือเรียน ใช้วิธีให้เด็กเป็นผู้พูด เล่าเรื่อง เขียนตอบมากกว่า
  4. Unit Studies เป็นการทำโปรเจค ทำกิจกรรม โดยให้เรียนรู้ผ่านการคิด และลงมือทำกิจกรรมนั้น ๆ
  5. Unschooling ไม่มีหลักสูตร ไม่มีตาราง เรียนรู้จากการใช้ชีวิตในแต่ละวัน

อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ในรูปแบบโฮมสคูลจะไม่มีรูปแบบตายตัว สามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว สุดท้ายก็จะมีการประเมินผลเพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาตามข้อกำหนดที่มีไว้ เป็นการเช็กได้ว่าเราได้จัดการเรียนรู้มาถูกทางหรือไม่อีกทางหนึ่ง นอกจากการสังเกตผู้เรียน (ลูก) เป็นหลัก

 

การเรียนนอกห้องเรียน ทุกอย่างน่าเรียนรู้
การเรียนนอกห้องเรียน ทุกอย่างน่าเรียนรู้

การสอบแบบ Homeschool พ่อแม่จะเป็นผู้สอบและผู้วัดผลการสอบด้วยตัวเอง

สำหรับการประเมินผล ครอบครัวจะเป็นผู้ประเมินความรู้ของเด็กตามหลักเกณฑ์ในหลักสูตรขั้นพื้นฐาน หรือตามข้อตกลงที่ตกลงไว้กับทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  โดยทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะเข้ามาประเมินร่วมกับครอบครัวปีละ 1 ครั้ง ว่ามีพัฒนาการตรงตามที่ครอบครัวประเมินไว้หรือไม่ และกำหนดความสามารถของเด็กว่าเทียบได้ในระดับชั้นใดแล้ว ซึ่งวุฒิการศึกษาที่ได้ก็จะเหมือนกับผู้เรียนในระบบการศึกษา และที่สำคัญวุฒิการศึกษาที่ได้จะสามารถนำเข้าไปเรียนต่อในระบบการศึกษาปกติตามระดับชั้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้เทียบไว้ได้ด้วย

  • เรียนรู้พื้นฐานการเก็บบันทึก การจัดตารางเวลา

ส่วนนี้เป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ในการตัดสินเลือกรูปแบบการเรียนของลูกในแนวทางโฮมสคูล เพราะพ่อแม่ต้องเข้าใจว่า การเรียนในแนวทางนี้ เราต้องเป็นผู้จัดทำทั้งตารางการเรียนรู้ และบันทึกเพื่อไปใช้ในการประเมินของทางภาครัฐอีกที ดังนั้น หากจะเลือกจัดการเรียนการสอนแนวนี้ พ่อแม่ต้องเรียนรู้ในการหลักการจัดทำทั้งตาราง และบันทึก (การเก็บร่องรอย) รวมถึงถามตัวเองว่าพร้อมไหมในการดูแล จัดการเรื่องดังกล่าว

  • ยืดหยุ่น พร้อมปรับตัว เปลี่ยนแปลงแค่ไหน

มีหลายวิธีในการโฮมสคูลลูกของคุณพ่อคุณแม่ การค้นหาสไตล์ที่เหมาะกับครอบครัวอาจต้องใช้การลองผิดลองถูก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะลองใช้วิธีต่าง ๆ สองสามวิธีตลอดหลายปีที่เรียนแบบโฮมสคูล หรือเพื่อผสมผสานและจับคู่ ซึ่งอาจพบว่าบางแง่มุมของการเลิกเรียนแนวนี้อาจใช้ได้ผลกับครอบครัวของคุณ สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องจำไว้คือเปิดใจรับสิ่งที่เหมาะกับครอบครัวแทนที่จะรู้สึกว่าคุณต้องทุ่มเทไปตลอดชีวิตกับวิธีการเรียนแบบโฮมสคูลโดยเฉพาะ ไม่กล่าวโทษ ไม่รู้สึกผิดหากทำได้ไม่สำเร็จ

 

โฮมสคูล ทางเลือกหนึ่งของการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน
โฮมสคูล ทางเลือกหนึ่งของการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน

 

การเรียนของลูก เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่พ่อแม่ต่างให้ความสำคัญ ดังนั้นหากเราจะตัดสินใจแบบใด ก็ควรคิดให้รอบคอบ และหาข้อมูลให้รอบด้านเสียก่อนที่จะเริ่ม ก็จะเป็นการช่วยให้ความผิดพลาดนั้นน้อยลงไปได้ อย่างไรก็ตามขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวที่กำลังหาทางเลือกทางการศึกษาให้แก่ลูกน้อยของคุณ หากแน่วแน่ในการเรียนแบบโฮมสคูลแล้วละก็ ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น และความพร้อมก็สามารถช่วยให้ครอบครัวสามารถทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ให้ประสบความสำเร็จไปด้วยดีได้ไม่ยาก

ข้อมูลอ้างอิงจาก dek-d.com/ www.greelane.com/ Homeschool Thailand

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up