ลูกโดนแกล้ง สัญญาณเตือนให้พ่อแม่สังเกต

ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน สัญญาณเตือนจากลูกที่พ่อแม่ควรรู้

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกโดนแกล้ง สัญญาณเตือนให้พ่อแม่สังเกต
ลูกโดนแกล้ง สัญญาณเตือนให้พ่อแม่สังเกต

ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน จากเพื่อนหรือจากคุณครู พ่อแม่จะมีวิธีสังเกตได้ยังไง กับบางเรื่องที่เด็กอายเกินกว่าจะเล่าให้ฟัง มาสังเกตสัญญาณแสดงว่าลูกถูกบุลลี่กัน

ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน สัญญาณเตือนจากลูกที่พ่อแม่ควรรู้

การรังแก การแกล้งกันของเด็ก ๆ อาจดูเป็นเรื่องเล็กของผู้ใหญ่ พ่อแม่บางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องที่เด็ก ๆ ล้อเล่นกันสนุก ๆ ไม่ได้ใส่ใจอะไร แต่ความจริงแล้ว การรังแกกัน การแกล้งกันนั้นเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเด็กที่ถูกรังแก และเขากำลังต้องการการช่วยเหลือจากพ่อแม่ ให้เข้ามาจัดการได้อย่างทันท่วงที และช่วยหยุดปัญหาอย่างถาวร

ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน
ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน

ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน แบบไหนที่เรียกว่า “โดนรังแก”

การโดนแกล้ง เด็กแกล้งกันเล่น ก็เป็นพฤติกรรมหนึ่งในการอยู่รวมกลุ่มกันของมนุษย์ เด็กต้องเผชิญสถานการณ์และเรียนรู้การปรับตัว การจัดการปัญหาในการอยู่ร่วมกัน เพื่อที่จะเติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไปในอนาคต แต่หากว่าการแกล้งนั้นมิได้กระทำไปเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรือทำให้คน ๆ หนึ่งทุกข์ทรมานใจ การแกล้งกันนั้นจึงเรียกได้ว่าเป็นปัญหา เป็นการโดนรังแก

การรังแก แกล้งกันนั้นมีหลายรูปแบบ  เช่น การชกต่อย ทำร้ายร่างกาย (การรังแกทางกาย)  การแซวหรือล้อเลียน (การรังแกทางวาจา) การข่มขู่หรือบังคับ หรือการกีดกันไม่ให้เข้าร่วมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ กับเพื่อน (การรังแกทางจิตใจ) และการส่งข้อความข่มขู่ หรือล้อเลียนทางโทรศัพท์หรือทางคอมพิวเตอร์โดยใช้อีเมล์ (การรังแกทางอินเตอร์เน็ต) เป็นต้น ซึ่งโดยหลักแล้วการแกล้งกันจะเป็นปัญหาที่ผู้ใหญ่ควรหันมาสนใจดูแลก็ต่อเมื่อ การรังแก การแกล้งนั้นถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน บางครั้งอาจติดต่อกันนานถึงสองสามปี ทำให้ผู้ถูกรังแกทุกข์ใจ และทรมาน

11 สัญญาณเตือนภัยว่าลูกถูกรังแก

สัญญาณซึ่งอาจบ่งบอกถึงการถูกรังแก ที่พ่อแม่ควรทราบ และหมั่นสังเกตลูก มีดังต่อไปนี้

  1. สังเกตข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้าของลูกว่ามีร่องรอย หรือสิ่งใดผิดปกติหรือไม่? เช่น ลูกกลับมาจากโรงเรียนโดยเสื้อผ้า สมุดหนังสือหรือข้าวของฉีกขาด ชำรุด หรือสูญหายเป็นบางส่วน และพบเจอบ่อยครั้งผิดปกติ
  2. หมั่นตรวจดูร่างกายของลูก โดยเฉพาะเด็กเล็ก สังเกตว่าร่างกายมีรอยบาดแผล ฟกช้ำ หรือถลอกที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน และเมื่อถามลูกแล้ว เขาไม่สามารถตอบได้ หรือตอบแบบหลบตา ไม่เต็มเสียง
  3. คอยหมั่นตั้งคำถามกับลูกหลังเลิกเรียน เช่น วันนี้ลูกเล่นกับใคร เล่นอะไรกันบ้าง เป็นต้น เพื่อตรวจเช็กดูว่าอยู่ที่โรงเรียนเขามีเพื่อนหรือไม่ หากพบว่าลูกมีเพื่อนน้อย หรือไม่มีเลย พ่อแม่ควรหาสาเหตุที่แน่ชัด เพื่อที่จะช่วยเหลือลูกได้ทัน
  4. มีอาการกลัวการไปโรงเรียน กลัวการเดินไป-กลับโรงเรียน  การขึ้นรถรับส่งนักเรียน หรือการเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ๆ หรือไม่ อาการกลัวการไปโรงเรียน กับการไม่อยากไปโรงเรียน มีความแตกต่างกัน หากลูกงอแงตอนเช้าไม่อยากไปโรงเรียน แต่เมื่อให้เวลาสักพัก หรือแอบดูเขาขณะเข้าเรียนไปสักระยะ แล้วพบว่าลูกกลับมาทำตัวปกติ ร่าเริง เข้าร่วมกิจกรรม นั่นเป็นเพียงการไม่อยากไปโรงเรียน ไม่ใช่การกลัวไปโรงเรียน ที่เด็กจะไม่ร่าเริง ไม่เข้ากลุ่มแม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม
  5. กลัวเพื่อนบางคนเป็นพิเศษ หรือไม่กล้าเดินผ่านสถานที่ หรือโต๊ะเรียนของเพื่อนกลุ่มนั้น หรือหากเป็นเด็กโตที่สามารถกลับบ้านด้วยตัวเอง ให้สังเกตว่าลูกไป-กลับโรงเรียนโดยใช้ทางอ้อม ซึ่งดูแล้วไม่มีเหตุผลสมควร เพราะนั่นแสดงถึงการหนีอะไรบางอย่าง หากลูกเกิดพฤติกรรมเช่นนี้ พ่อแม่ควรรีบหาสาเหตุ และเข้าไปจัดการ ชี้แนะลูกโดยเร็ว

    ลูกโดนแกล้งที่โรงแรียน อารมณ์จะแปรปรวน งอแงร้องไห้ง่าย
    ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน อารมณ์จะแปรปรวน งอแงร้องไห้ง่าย
  6. ไม่สนใจทำการบ้าน และผลการเรียนตกต่ำอย่างกะทันหัน ความใส่ใจในการเรียนลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยคุณพ่อคุณแม่อย่าไปตีความว่าการที่ลูกผลการเรียนตก เป็นเพราะความขี้เกียจ ความไม่เอาไหนของลูกเท่านั้น แต่เราต้องมองลึกลงไปว่า สาเหตุแท้จริงอันใดที่ทำให้ลูกหมดความสนใจในการเรียน หากเป็นสาเหตุของการถูกแกล้ง พ่อแม่ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือลูกก่อนสาย
  7. อารมณ์แปรปรวน ลูกจะมีท่าทางเศร้า หงุดหงิดง่าย น้ำตาคลอ หรือหดหู่ เก็บตัว หลังกลับมาจากโรงเรียน
  8. อาจจะแสดงว่าตนเองเจ็บป่วย เช่น บ่นว่าปวดหัว ปวดท้อง หรือมีความเจ็บป่วยด้านอื่นอยู่บ่อย ๆ แต่เมื่อตรวจสอบกลับพบว่าไม่ได้เป็นอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกโกหก แต่ความเครียดทางจิตใจ ไปแสดงผลออกมาทางร่างกาย ซึ่งลูกก็รู้สึกว่าตัวเองมีอาการเช่นนั้นจริง
  9. มีปัญหานอนไม่หลับ หรือฝันร้ายบ่อย ๆ เป็นสัญญาณเตือนขั้นต้นในเด็กหลาย ๆ คน อาการนอนไม่หลับเนื่องจากเขามีความไม่สบายทางใจ และไม่สามารถหาทางออกได้ หรือหากหลับไปแล้วลูกมักละเมอ ฝันร้าย หรือตื่นมาไม่สดชื่น แบบคนนอนหลับไม่เพียงพอ
  10. ไม่เจริญอาหาร ไม่อยากรับประทานข้าว หรือแม้แต่ขนมที่เคยชอบมาก ๆ
  11. มีท่าทางกังวล หรือน้อยเนื้อต่ำใจ เป็นปกติของเด็กที่ถูกรังแกจะรู้สึกมองไม่เห็นคุณค่าของตนเอง เนื่องจากเพื่อน ๆ มาบุลลี่ มาแกล้งว่ากล่าวให้เขารู้สึกว่าตนเองไม่มีอะไรดี เป็นคนขี้แพ้ หรือไม่ได้เรื่อง เมื่อพบเจอเป็นเวลานานก็จะไปบั่นทอนความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองของลูกได้เช่นกัน

หากการที่ ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน ไม่ได้รับการแก้ไขจะส่งผลเสียอย่างไร?

การรังแกอาจก่อให้เกิดผลภายหลังที่ร้ายแรง  เด็กที่ถูกรังแกอาจมีลักษณะดังต่อไปนี้มากกว่าเด็กคนอื่น ยิ่งโดยเฉพาะหากพ่อแม่ไม่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติได้ทัน อาจทำให้ลูกยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยว และก่อให้เกิดเหตุรุนแรง

  • หดหู่ เหงา กังวลใจ
  • น้อยเนื้อต่ำใจ รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
  • ขาดเรียน ผลการเรียนตกต่ำ
  • รู้สึกไม่สบายทางร่างกาย
  • มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย

    ตั้งคำถามลูกหลังเลิกเรียน เพื่อเช็กว่าลูกถูกบุลลี่ไหม
    ตั้งคำถามลูกหลังเลิกเรียน เพื่อเช็กว่าลูกถูกบุลลี่ไหม

หากลูกถูกรังแก พ่อแม่จะทำอย่างไร?

1.ในส่วนของตัวเด็ก พ่อแม่ควรให้ความสนใจดูแลลูกของท่านเป็นพิเศษ ให้กำลังใจ และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการรังแกกันที่เกิดขึ้น เพื่อหาสาเหตุ และหาวิธีการจัดการปัญหาให้ตรงจุดมากที่สุด โดยอาจพูดคุย ดูแลลูกในช่วงที่เกิดปัญหา ดังนี้

  • ไม่พูดจาเหมือนดั่งว่าเป็นความผิดของลูก อย่าตำหนิหรือกล่าวโทษลูกที่ถูกรังแก อย่าสันนิษฐานว่าลูกของท่านอาจไปทำอะไรให้อีกฝ่ายหนึ่งก่อนที่เป็นการยั่วยุให้เขามารังแกเอา เช่น ลูกไปทำอะไรเขาก่อนหรือเปล่า เขาถึงได้รังแกลูก? เป็นต้น
  • ฟังรายละเอียดจากลูกของท่านว่า การรังแกนั้นเกิดขึ้นอย่างไร ซักถามหรือขอให้ลูกเล่าให้ฟัง โดยไม่ออกความคิดเห็นระหว่างนั้น เพียงแค่นั่งรับฟัง และหาจุดที่เป็นส่วนสำคัญในเรื่องต่อไปนี้ ภายในใจว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง และการรังแกแต่ละครั้งนั้นรุนแรง หรือมีพฤติกรรมอะไรที่น่ากังวลบ้าง
  • พ่อแม่ต้องมีท่าทีที่ทำให้ลูกมั่นใจว่าจะร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน  และแสดงความเห็นอกเห็นใจลูก บอกเขาว่าการรังแกเป็นสิ่งที่ผิด และพ่อแม่ดีใจที่ลูกกล้าเล่าให้ฟัง
  • ถามความเห็นลูกเสมอก่อนที่จัดการทำอะไร ถามลูกว่าควรดำเนินการอย่างไรจึงจะช่วยได้ ให้คำมั่นว่าพ่อแม่จะทำอย่างระมัดระวัง ไม่หุนหันพลันแล่นจนไปทำให้เป็นปัญหาเพิ่มกับลูก และจะบอกเขาทุกครั้งก่อนที่จะทำอะไรต่อไป
  • อย่าสนับสนุนการตอบโต้ทางกาย เพื่อเป็นทางออก แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน การชกต่อยนักเรียนคนอื่นมักจะไม่ทำให้ปัญหายุติลง และอาจทำให้ลูกของท่านถูกพักการเรียนหรือถูกไล่ออกได้ และตามปกติคนที่มารังแกลูกนั้น มักจะโตกว่าหรือแข็งแรงกว่า และลูกท่านสู้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะไม่อย่างนั้นก็คงไม่ถูกรังแก และการสนับสนุนให้ลูกใช้ความรุนแรง เท่ากับไปสร้างทัศนคติที่ไม่ถูกต้องกับเด็ก ว่าใครแข็งแรงกว่าก็สามารถเอาเปรียบ รังแกผู้ที่อ่อนแอกว่าได้

2.ในส่วนของโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรติดต่อครู ครูประจำชั้น หรือครูใหญ่ของโรงเรียนของลูก เพื่อให้โรงเรียนให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งกัน การบุลลี่ในโรงเรียน เพราะหากโรงเรียนปล่อยปละละเลย ก็จะเป็นตัวอย่างให้เด็กคนอื่น ๆ ทำตาม เลียนแบบกันต่อไปได้ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรแสดงท่าทีดังต่อไปนี้

ให้ครูในโรงเรียนเป็นคนกลาง คอยพูดคุยกับคู่กรณี
ให้ครูในโรงเรียนเป็นคนกลาง คอยพูดคุยกับคู่กรณี
  • พยายามควบคุมอารมณ์ แล้วให้เฉพาะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถูกรังแกของลูกท่าน ใคร อะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน และอย่างไร แต่ไม่ควรใส่คำตัดสิน กล่าวโทษเด็กคนนั้น
  • ย้ำความตั้งใจ ว่าท่านต้องการร่วมมือกับบุคลากรของโรงเรียนหาทางออกเพื่อยุติการรังแกกัน ทั้งเพื่อลูกของท่าน และเด็กคนอื่น ๆ ไม่ใช่การแก้แค้น
  • อย่าติดต่อกับผู้ปกครองของนักเรียนผู้ลงมือรังแกลูกของท่านก่อน  การกระทำเช่นนี้มักเป็นการโต้ตอบอันดับแรกของผู้ปกครอง แต่บางครั้งมันอาจทำให้เหตุการณ์รุนแรงกว่าเดิม  ควรหาคนกลางมาช่วยบอกกล่าว ควรให้บุคลากรของโรงเรียนเป็นผู้ติดต่อไปทางผู้ปกครองของนักเรียนผู้ลงมือรังแก
  • ติดตาม และคอยเช็กว่าการรังแกนั้นได้ยุติลงจริง ๆ  พูดคุยกับลูก และคุณครูอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามดูว่าการรังแกได้หยุดลงหรือไม่ หรือลูกยังเผชิญอยู่ แต่ไม่กล้าบอก หรือคนที่แกล้งไม่ได้พูดความจริง โดยเฉพาะหากเป็นการแกล้ง หรือรังแกจากผู้ใหญ่รังแกเด็ก จะทำให้การหยุดลงของการบุลลี่ยากกว่าการแกล้งกันระหว่างเด็กด้วยกัน

3.ป้องกันปัญหาในระยะยาว โดยพ่อแม่สามารถช่วยลูกของท่านให้มีการปรับตัวรับมือกับการถูกรังแกจากผู้อื่นในคราวต่อ ๆ ไป ในระยะยาวได้ด้วยเช่นกัน

  • เสริมความมั่นใจให้กับลูก ช่วยพัฒนาความสามารถพิเศษ หรือพรสวรรค์ที่เขามีอยู่ให้เต็มที่ การทำเช่นนี้จะช่วยให้ลูกมีความมั่นใจมากขึ้น เมื่ออยู่ท่ามกลางหมู่เพื่อน เพราะคนที่มั่นใจในตนเอง จะมีบุคลิก ท่าทางที่ทำให้คนอื่น ๆ ไม่อยากหรือไม่กล้ารังแก
  • สอนให้ลูกรู้จักเลือกคบเพื่อน พ่อแม่ไม่สามารถไปชี้ได้ว่าลูกควรคบคนไหน ไม่ควรคบคนไหน แต่หากเราสอนให้ลูกรู้จักการเข้าสังคม รู้จักบอกความรู้สึกตนเอง รู้จักรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ลูกก็จะสามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ไม่อยาก และไม่ต้องเป็นฝ่ายยอม หรือตามใจเพื่อนเสมอไป และหากเพื่อนคนไหนที่เขารู้สึกเข้ากันไม่ค่อยได้กับตัวเอง ลูกก็จะรู้ได้ด้วยตนเอง และสามารถเลือกเพื่อนที่ถูกใจได้
  • สอนวิธีการสร้างความปลอดภัยให้ลูกของท่าน สอนให้เขารู้วิธีขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เมื่อเขารู้สึกว่าถูกคุกคาม พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับบุคคลที่เขาสามารถขอความช่วยเหลือได้ และซ้อมบทสนทนาว่าควรพูดอย่างไร ทำให้ลูกเห็นความแตกต่างระหว่าง “ขี้ฟ้อง” กับ “การแจ้งเหตุคุกคาม” ว่าเป็นอย่างไร
  • ทำบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) หัวใจสำคัญคือบ้าน  โปรดทำให้แน่ใจว่าลูกของท่านได้รับบรรยากาศในบ้านที่เปี่ยมด้วยความรัก และความปลอดภัย ซึ่งสามารถเป็นที่หลบภัยของเขาได้ทั้งทางกาย และใจ  สื่อสาร พูดคุยแลกเปลี่ยนชีวิตประจำวันกันอย่างสม่ำเสมอ
เสริมบุคลิกความมั่นใจ ให้ลูกเพื่อให้เขาไม่ถูกคนแกล้งโดยง่าย
เสริมบุคลิกความมั่นใจ ให้ลูกเพื่อให้เขาไม่ถูกคนแกล้งโดยง่าย

การรังแกกัน การแกล้งกัน เป็นปัญหาใหญ่ และปัญหาสำคัญสำหรับเด็ก โดยเฉพาะเด็กไทย มูลนิธิเครือข่ายครอบครัวเปิดเผยว่า ประเทศไทยติดอันดับ 2 ในโลกในปี พ.ศ. 2563 รองจากประเทศญี่ปุ่น จากข้อมูลการบูลลี่ด้วยการใช้ตัวอักษรผ่าน Social Media ในปีเดียวกัน Punch Up x Wisesight ได้ร่วมกันเล่าเรื่องผ่านข้อมูลพบว่า คำที่คนไทยใช้บูลลี่กันมากที่สุดเป็นเรื่อง รูปลักษณ์ เพศ และความคิดกับทัศนคติ ได้แก่ ไม่สวย, ไม่หล่อ, หน้าเบี้ยว, ขี้เหร่, หน้าหัก, หน้าปลอม, ผอม, เตี้ย, สิว, ดำ, ขาใหญ่, จอแบน, เหยิน, เหม่ง, ตุ๊ด, สายเหลือง, ขุดทอง, กะเทย, โสเภณี, กะหรี่, แมงดา, ชะนี, แรด, หากระโปรงมาใส่, โง่, สลิ่ม, ตลาดล่าง, ปัญญาอ่อน, ต่ำตม, ไดโนเสาร์ เป็นต้น ระดับการศึกษาที่ใช้คำบูลลี่มากที่สุด พบว่าเป็น ระดับมัธยม ในทุกระดับชั้นพบว่าเพื่อนเป็นผู้ใช้คำบูลลี่กันมากที่สุด

แม้อาจดูเป็นเพียงคำพูดหรือเรื่องเล็กน้อย แต่หากเราไม่เข้ามาช่วยเหลือ จัดการให้เด็กตระหนักถึงปัญหา และความรุนแรงของการบุลลี่กัน ก็จะทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงตามได้ เช่น ปัญหาการฆ่าตัวตายในเด็กที่มีสถิติเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี และมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เป็นต้น โดยเริ่มจากตัวเรา พ่อแม่ที่เป็นส่วนที่ใกล้ชิดกับลูกมากที่สุด ช่วยกันสอดส่อง สังเกตอาการ สัญญาณเตือนที่ลูกได้ส่งออกมาให้ทัน เสียก่อนจะสายเกินแก้

ขอบคุณข้อมูลจาก : คู่มือรับสถานการณ์เด็กรังแกกันในโรงเรียน สำหรับพ่อแม่ที่ลูกถูกรังแก : ลูกฉันถูกรังแก ทำอย่างไรดี
  ผู้เรียบเรียง ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ผู้จัดทำ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(มสช.) / มูลนิธีศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก / กรมสุขภาพจิต

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

เปิดเทอม นี้มาส่องลูกด้วย 10คำถามหลังเลิกเรียนกันเถอะ

พี่น้อง แย่งของเล่น พ่อแม่ควรทำยังไง? ไม่ให้พี่น้อยใจที่ต้องเสียสละให้น้อง!

30 คำถามหลังเลิกเรียน ไขปริศนา ลูกถูกเพื่อนแกล้ง หรือไม่?

5 นิทานพื้นบ้าน ซึมซับความเป็นไทย พร้อมคติสอนใจ!!

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up