พี่น้อง แย่งของเล่น พ่อแม่ควรทำยังไง? ไม่ให้พี่น้อยใจที่ต้องเสียสละให้น้อง!

event

แย่งของเล่น อีกหนึ่งปัญหาในบ้าน สร้างแผลใจให้คนเป็นพี่ได้ไม่น้อยหากพ่อแม่แก้ปัญหาไม่เป็น!! แล้วพ่อแม่ควรทำยังไง มาฟังคำแนะนำจากคุณหมอประเสริฐ กันค่ะ

หมอแนะ วิธีแก้ปัญหา “พี่น้องแย่งของเล่นกัน”
ไม่ให้พี่รู้สึกน้อยใจเพราะ “ต้องเสียสละ” ให้น้อง!

พี่ยังไม่ทัน “มี” จะให้เอาอะไรไป “เสีย” และ “สละ” คำสั่งสอนประเภท “เป็นพี่ต้องเสียสละ มีน้ำใจให้น้อง” เป็นคำพูดที่ไม่มีความหมายอะไร พี่อายุ 3 ขวบไม่ต้องการคำสั่งสอนประเภทนี้

>> จากคำถาม : น้อง แย่งของเล่น พี่ พี่ไม่ยอมจนเป็นเรื่องกันบ่อยๆ ค่ะ พี่อายุ 3 ขวบ 9 เดือน น้องอายุ 2 ขวบครึ่ง เราอยากให้พี่น้องรักกัน พอน้องร้องมากๆ เรามักแก้ปัญหาด้วยการบอกว่าพี่น้องต้องรักกัน เป็นพี่ต้องเสียสละ มีน้ำใจให้น้อง หรือให้เขาไปเล่นของอย่างอื่น หรือหาของใหม่ให้เขาแทน คุณยายพูดมาคำหนึ่งว่า “จะไม่ให้พี่มันมีสิทธิ์ในของๆ มันบ้างเลยหรือ” เราพ่อแม่ก็อึ้งไปค่ะ มาคิดดูก็เกี่ยวกันอยู่ แต่เด็กขนาดนี้จะเข้าใจเรื่องแบบนี้ พอจะแก้ปัญหาพี่น้องทะเลาะกันเพราะ แย่งของเล่น ได้หรือคะ และพ่อแม่ควรทำอย่างไร?

มีสองเรื่องที่ควรทำความเข้าใจ ข้อแรก เด็กไม่ได้เรียนรู้ด้วยการสั่งสอนแต่เพียงอย่างเดียว … อีกข้อคือ เด็กเรียนรู้ด้วยการดูและการเลียนแบบด้วย การเรียนรู้ด้วยการดูและเลียนแบบสำคัญกว่าการสั่งสอนด้วยซ้ำไป

น้องแย่งของพี่ แย่งของเล่น พี่น้องทะเลาะกัน

ดังนั้น คำสั่งสอนประเภท “เป็นพี่ต้องเสียสละ มีน้ำใจให้น้อง” เป็นคำพูดที่ไม่มีความหมายอะไร พี่อายุ 3 ขวบไม่ต้องการคำสั่งสอนประเภทนี้ และไม่มีความสามารถจะเข้าใจด้วย เสียสละแปลว่าอะไร น้ำใจแปลว่าอะไร เหตุเพราะพัฒนาการทางจริยธรรมส่วนที่เป็นนามธรรมนั้นกว่าจะมาถึงก็ประมาณ 7 ขวบ ในวัยนี้เขาไม่สามารถเข้าใจคำสอนของคุณได้เพราะคำว่า เสียสละ หรือคำว่า น้ำใจ ทั้งสองคำเป็นนามธรรมทั้งคู่

นอกจากนี้คุณแม่ยัง “ให้เขาไปเล่นของอย่างอื่น หรือหาของใหม่ให้เขาแทน” อันนี้จึงเป็นการแสดงให้เขาเห็นว่าคุณแม่ลำเอียง   เขาเล่นของเขาอยู่ดีๆ กลับถูกคุณแม่ยกให้คนอื่นและส่งเขาไปเล่นที่อื่นหรืออย่างอื่น การกระทำทำนองนี้ไม่ต้องใช้คำพูดบรรยายให้มากความเพราะลำพังการกระทำนั้นชัดเจนอยู่แล้ว เหตุเพราะพัฒนาการทางความคิดของเด็ก 3 ขวบยังเอาตนเองเป็นศูนย์กลางอยู่มาก เขาเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ดังนั้นไม่ผิดปกติอะไรที่เขาจะคิดว่าของเล่นนั้นควรเป็นของเขามากกว่าเด็กอีกคนหนึ่งที่เกิดทีหลัง

ในมุมมองของน้องอายุ 2 ขวบครึ่ง เขาไม่เข้าใจคำพูดประเภท “เป็นพี่ต้องเสียสละ มีน้ำใจให้น้อง” เช่นกัน ด้วยเหตุผลเดียวกันนั่นคือนี่เป็นคำพูดที่เป็นนามธรรมมากจนจับต้องไม่ได้เลยและเขาเห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง ส่วนการกระทำ “ให้เขา(พี่)ไปเล่นของอย่างอื่น หรือหาของใหม่ให้เขา(พี่)แทน” เป็นการสาธิตอย่างเป็นรูปธรรมให้เขาเห็นว่าเขามีอำนาจเหนืออีกคนหนึ่ง(คือพี่)อย่างมากมาย และเขาพร้อมจะใช้อำนาจนั้น(แย่งของเล่นของพี่)อีกในวันหลัง

แย่งของเล่น

 

คุณยายพูดถูกแล้วครับ คุณยายพูดมาคำหนึ่งว่า “จะไม่ให้พี่มันมีสิทธิ์ในของๆ มันบ้างเลยหรือ”

ในครอบครัวใดๆ มีโครงสร้างของมันอยู่ โครงสร้างปกติคือพ่อแม่พี่น้อง นั่นคือพ่อแม่ใหญ่สุดและใหญ่กว่าลูกๆ ในประดาลูกๆ พี่ใหญ่กว่าน้องเสมอ ธรรมเนียมไทยสอนให้พี่เสียสละให้น้องแต่แท้จริงแล้วคนเราทุกคนจะเสียสละได้ต้อง “มี” ก่อนเสมอ มิเช่นนั้นแล้วจะเอาอะไรไป “เสีย” และ “สละ”   นี่พี่ยังไม่ทันจะมีเลยก็ถูกบังคับให้เสียสละเสียแล้ว

พ่อแม่ควรส่งสัญญาณให้ลูกๆ ทราบว่าพี่ใหญ่นั้นใหญ่ที่สุดและเป็นผู้ช่วยพ่อแม่ในการดูแลน้องๆ ดังนั้นพี่ต่างหากที่ควรได้รับสิทธิมากกว่าในตอนแรก เช่น เมื่อจะซื้อไอศกรีมให้ลูก ให้พี่สองก้อนและให้น้องหนึ่งก้อน ด้วยวิธีนี้น้องๆ ทั้งหลายจะได้เรียนรู้ว่าใครใหญ่และควรเชื่อฟังใคร ส่วนคนพี่นั้นเมื่อเขาพบว่าเขามีมากกว่าคนอื่น เขาพบว่าพ่อแม่ให้เกียรติเขามากกว่าคนอื่นๆ เราจึงบอกเขาได้ว่า “อยากจะแบ่งให้น้องมั่งก็ได้นะลูก” ส่วนเขาจะแบ่ง ไม่แบ่ง แบ่งแล้วจะรู้สึกอย่างไร เช่น เห็นแววตาน้องๆ ที่มองมาด้วยความเทิดทูน อะไรแบบนี้พ่อแม่ควร (ใจแข็ง) ปล่อยให้เด็กเรียนรู้เอง

11411936_10204802841774257_2019116833482538984_o

ย้ำว่าเรื่องไอศกรีม เป็นเพียงการยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ มิได้แปลว่าต้องทำตามนี้จริงๆ

สุดท้ายยนี้..เวลาพี่น้องทะเลาะกันเพราะ แย่งของเล่น ที่พ่อแม่ควรทำคือแยกวง ให้คนหนึ่งไปอยู่ที่มุมห้องหนึ่ง และให้อีกคนหนึ่งไปอยู่ที่อีกมุมห้องหนึ่ง บอกทั้งสองคนอย่างชัดๆ ช้าๆ ว่า… ดีกันเมื่อไรก็ออกมาเล่นด้วยกันได้อีก ของเล่นที่แย่งกันจะวางอยู่ตรงกลางห้องนี้เหมือนเดิม จากนั้นพ่อแม่ต้อง (ใจแข็ง) ไปทำอย่างอื่น อย่าพูดมากและอย่าแทรกแซง พวกเขาจะค้นพบกระบวนการปรองดองด้วยตนเองในที่สุด ขอให้มั่นใจ

บทความโดย: นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์แผนกจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก ⇓

บัญญัติ 10 ประการ คู่มือพ่อแม่ยุคใหม่ สไตล์หมอประเสริฐ

หมอแนะ! ลูกทำผิดในที่สาธารณะ ควร ทำโทษลูก ทันทีหรือทีหลังได้?

เชื่อหรือไม่? ข้อดีของการมีน้องสาว ช่วยให้คนเป็นพี่มีความสุขได้!

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up