ท้องแข็งบ่อย

ท้องแข็งบ่อย ขณะตั้งครรภ์ อันตรายไหม?

Alternative Textaccount_circle
event
ท้องแข็งบ่อย
ท้องแข็งบ่อย

ท้องแข็งบ่อย เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 เป็นๆ หายๆ จะเป็นท้องแข็งจริง หรือท้องแข็งหลอก ท้องแข็งแบบไหนควรพบแพทย์

ท้องแข็งบ่อย ขณะตั้งครรภ์ อันตรายไหม?

คุณแม่ตั้งครรภ์อาจเกิดความเครียด เมื่อมีอาการ ท้องแข็งบ่อย ทำให้สับสนว่า ถึงเวลาคลอดหรือยัง ทีมกองบรรณาธิการ ABK จึงได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อให้คุณแม่สามารถแยกแยะได้ว่า กำลังท้องแข็งจริง หรือท้องแข็งหลอก เพื่อคลายความกังวล และเตรียมพร้อมรับมือกับสถาณการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

ท้องแข็งบ่อย
ท้องแข็งบ่อย

อาการท้องแข็ง

เป็นอาการที่เกิดจากการบีบตัวของมดลูก เมื่อเอามือไปจับบริเวณท้อง จะรู้สึกได้ว่าเป็นก้อนๆ ตึงๆ และมีอาการเป็นๆ หายๆ เป็นพักๆ ในบางรายอาจมีความแข็งมาก – น้อยแตกต่างกันออกไป หรือมีอาการปวดเกร็งเสียวช่วงท้องน้อยด้วย โดยทั่วไปแล้วจะมีอาการท้องแข็งได้ วันละ 3 – 4 ครั้ง มักมีอาการเมื่ออายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ขึ้นไป หรือไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ (เดือนที่ 7 – 9 ) ที่สำคัญคือ ต้องแยกให้ได้ว่าเป็นเพียงท้องแข็งหลอก หรือท้องแข็งจริง

สาเหตุของอาการท้องแข็ง

ถึงแม้อาการท้องแข็งจะไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน แต่ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอาการท้องแข็ง เพื่อดูแลและรักษาครรภ์ ให้มีสุขภาพดีจนถึงวันคลอด สาเหตุที่พบบ่อย มีดังนี้

  • ทารกดิ้นแรง หรือโก่งตัว เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด คุณแม่จะรู้สึก ท้องแข็งในบางที่ ซึ่งเกิดจากทารกดิ้น หรือโก่งตัวชนผนังมดลูก ทำให้มดลูกเกิดการบีบตัว อวัยวะต่างๆ ของทารก เช่น ศอก ไหล่ เข่า หัว หรือก้น ปรากฏนูนขึ้นที่หน้าท้อง ถ้าเป็นส่วนหลังกับก้นดันออก จะทำให้รู้สึกว่ามดลูกเบี้ยวไปข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างหนึ่งจะนิ่มกว่า บริเวณที่รู้สึกเป็นรอยนูนเล็กๆ หลายจุดจะเป็นส่วนของมือและเท้า ภาวะแบบนี้มักไม่เป็นอันตราย เป็นการดิ้นตามปกติของทารกในครรภ์
  • มดลูกหดเกร็ง อาจเกิดเพราะมดลูกไม่แข็งแรง มดลูกบีบรัด หรือคุณแม่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
  • รับประทานอาหารมากเกินไป เมื่ออายุครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 มดลูกเกิดการขยายตัว จนทำให้กระเพาะอาหารมีพื้นที่น้อยลง เมื่อเกิดกระบวนการย่อยอาหาร กระเพาะอาหารจะไปเบียดกับมดลูก จึงทำให้มดลูกเกร็งตัว และท้องแข็งตึง คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ หลายๆ มื้อ เคี้ยวให้ละเอียด
  • ดื่มน้ำน้อยเกินไป เมื่อร่างกายขาดน้ำ อาจส่งผลทำให้กล้ามเนื้อ และมดลูกหดเกร็ง จึงทำให้เกิดอาการท้องแข็ง
  • การมีเพศสัมพันธ์ การถึงจุดสุดยอดอาจทำให้มดลูกหดเกร็งตัว ส่งผลให้มีอาการท้องแข็งได้
  • ขยับร่างกายเยอะ เมื่อทำกิจกรรมที่ใช้แรงเยอะ หรือขยับร่างกายมากเกินไป เช่น ยกของหนัก เดินเป็นเวลานาน ส่งผลให้อาจเกิดอาการท้องแข็ง และเจ็บท้องได้
  • คลอดก่อนกำหนด อาการท้องแข็งอาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ควรสังเกตตัวเองว่านอกจากอาการท้องแข็งแล้ว ยังมีอาการอื่น ๆ ที่อาจบ่งบอกถึงการเจ็บท้องคลอดจริงร่วมด้วยหรือไม่ เช่น รู้สึกปวดท้องถี่ ๆ ถุงน้ำคร่ำแตก หรือน้ำเดิน
  • ใกล้คลอด เมื่อใกล้ถึงกำหนดคลอด มดลูกจะเริ่มขยายตัว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด จนอาจส่งผลให้มดลูกเกร็งตัว  เมื่อสัมผัสแล้วรู้สึกว่าท้องแข็งเป็นก้อน

ท้องแข็งจริง

อาการท้องแข็ง ที่เกิดขึ้นเมื่อใกล้คลอด สาเหตุมาจาก มดลูกหดรัดตัวเพื่อเข้าสู่ระยะคลอด มักจะเริ่มเกิดในสัปดาห์ที่ 40 ของการตั้งครรภ์ โดยเกิดจากร่างกายหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ที่ไปกระตุ้นให้มดลูกส่วนต้นหดรัดตัว ทำให้ผนังมดลูกบางลงและขยายปากมดลูกให้กว้างขึ้น เพื่อส่งทารกไปยังช่องคลอดได้ง่ายขึ้น

อาการมีดังนี้

  • แน่นท้อง และรู้สึกว่าหน้าท้องแข็งเมื่อสัมผัส
  • ปวดท้องหรือไม่สบายท้อง อาจมีอาการคล้ายปวดประจำเดือน หรือปวดอุจจาระ
  • อาการปวดเกิดขึ้นสม่ำเสมอ อาจปวดหลังใกล้บั้นเอวร้าวมาบริเวณหน้าท้องได้
  • อาการปวดมีระยะถี่ขึ้น เช่น จากปวดทุก 15 นาที เปลี่ยนเป็นปวดทุก 5 -10 นาที
  • อาการปวดเพิ่มมากขึ้น เช่น ปวดนาน 15 – 20 วินาที เพิ่มเป็นปวดนาน 45 – 50 วินาที
  • หากมีอาการต่อไปนี้ร่วมนี้ร่วมด้วย แสดงว่าอาจถึงเวลาใกล้คลอด ควรรีบไปพบแพทย์
  • มีมูก หรือ มูกปนเลือดไหลออกจากช่องคลอด
  • อาการเจ็บครรภ์มักไม่หายไป แม้จะนอนพัก หรือทานยาแก้ปวด
  • ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย
  • มีน้ำคร่ำ ซึ่งเป็นของเหลวใส ไหลออกมาจากช่องคลอด

หากแพทย์ตรวจภายในพบว่าปากมดลูกมีการเปิดขยายและคอมดลูกมีความบางลง แสดงว่าใกล้คลอดแล้วจ้า

ท้องแข็งจริงหรือหลอก
ท้องแข็งจริงหรือหลอก

ท้องแข็งหลอก

อาการท้องแข็งหลอก สาเหตุอาจมาจาก ทารกดิ้นแรง มีภาวะขาดน้ำ คุณแม่ทำงาน หรือเดินมาก และมดลูกหดรัดตัวตามปกติระหว่างตั้งครรภ์ (Braxton Hick Contraction) มักเริ่มเกิดในสัปดาห์ที่ 28 – 40 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้คุณแม่เข้าใจผิดว่าใกล้คลอดแล้ว

อาการมีดังนี้

  • รู้สึกแน่นท้อง หรือไม่สบายท้องเป็นระยะ
  • ส่วนมากจะไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย หรือมีอาการปวดเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรงมากขึ้น
  • อาการปวดเกิดขึ้นไม่สม่ำเสมอ และมักปวดแค่บริเวณท้องน้อย
  • ไม่มีอาการปวดถี่ขึ้น อาจเป็นทุก 15 – 20 นาที
  • ความรุนแรงของอาการปวดเท่า ๆ เดิม ไม่ปวดแรงมากขึ้น
  • อาการจะหายไปหลังปัสสาวะ หรือเปลี่ยนท่านอน และท่านั่ง
  • ไม่มีอาการอื่น ๆ เช่น มูก หรือ มูกปนเลือด ไหลจากช่องคลอด
  • อาการสามารถทุเลา หรือหายได้เองหลังนอนพัก หรือทานยาแก้ปวด

ท้องแข็งหลอก หรือการเจ็บครรภ์เตือน จะไม่ทำให้ปากมดลูกเปิดขยาย ซึ่งสามารถตรวจได้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

อาการท้องแข็งที่ควรรีบพบแพทย์

หากยังไม่ถึงกำหนดคลอด แต่มีอาการท้องแข็งทั่วท้องจนรู้สึกเจ็บ แสดงว่ามดลูกกำลังบีบตัวหดรัด สังเกตอาการว่า ท้องแข็งนานประมาณ 10 นาที/ครั้ง ติดต่อกัน 4 – 5 ครั้ง เป็นชุดๆ อาการลักษณะแบนนี้ หากเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ ท้องแข็งจนรู้สึกแน่น หายใจไม่สะดวกและอาการไม่หายไป ควรจะรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้มดลูกบีบตัวจนปากมดลูกเปิด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องคลอดก่อนกำหนดได้

อาการท้องแข็ง กับอาการท้องอืด ต่างกันอย่างไร

คุณแม่ตั้งครรภ์บางท่าน อาจสับสนระหว่าง อาการท้องแข็ง กับอาการท้องอืด เพราะทำให้รู้สึกไม่สบายท้องเหมือนกัน อาการที่สามารถสังเกตได้ว่า เกิดจากอาการท้องอืด มีดังนี้

  • สัมผัสแล้วไม่รู้สึกว่าหน้าท้องแข็ง
  • อาการท้องอืดมักทำให้รู้สึกเสียดท้อง ส่วนท้องแข็งมักทำให้รู้สึกปวดท้องคล้ายปวดประจำเดือน
  • อาการมักเกิดขึ้น และหายไปโดยไม่มีรูปแบบที่แน่นอน
  • หลังจากผายลมแล้วอาการดีขึ้น

ทั้งนี้ การบริโภคอาหาร หรือผักตระกูลกะหล่ำปลี และเครื่องดื่มที่มีแก๊สเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะมากกว่าปกติ คุณแม่ที่รู้สึกไม่สบายท้องหลังรับประทานอาหารดังกล่าวก็อาจคาดเดาได้ว่าเป็น อาการท้องอืด

ท้องแข็งบ่อย คงทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์กังวลไม่น้อยว่า ครั้งนี้เป็น การเจ็บครรภ์เตือน หรือเจ็บครรภ์จริง บทความที่ ทีมกองบรรณาธิการ ABK นำมาฝากนี้ คงทำให้คุณแม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นการเจ็บท้องแบบไหน หากแน่ใจว่าจะคลอดแล้ว จะได้รีบพุ่งตัวไปโรงพยาบาลทันที

 

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

โฟเลต หรือ กรดโฟลิก สิ่งสำคัญที่หญิงตั้งครรภ์ห้ามขาด!!!

ดูแล “แผลผ่าคลอด” อย่างไร? ให้เนียน สวย ไม่ติดเชื้อ!!

3 อาการผิดปกติ คนท้อง ที่ต้องรีบไปรพ. ในช่วง 3 เดือนแรก

คนท้องฟันผุ เสี่ยง! ส่งต่อเชื้อทางช่องปากจากแม่สู่ลูก

ขอบคุณข้อมูลจาก :

https://www.phyathai.com, https://hellokhunmor.com, https://www.pobpad.com, https://www.rama.mahidol.ac.th

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up