เนื้องอกในมดลูก

เนื้องอกในมดลูก โรคยอดฮิตของหญิงทุกวัย ไม่ใช่มะเร็ง แต่ไม่ควรมองข้าม!

event
เนื้องอกในมดลูก
เนื้องอกในมดลูก

เนื้องอกในมดลูก โรคยอดฮิตของผู้หญิงทุกวัย ไม่ใช่มะเร็ง แต่ไม่ควรมองข้าม สาเหตุเกิดจากอะไร ถ้าเป็นแล้วจะมีอาการอย่างไร และมีวิธีการรักษาต้องทำยังไง ทีมแม่ ABK มีคำตอบจากคุณหมอนิวัฒน์ มาฝากค่ะ

เนื้องอกในมดลูก สาเหตุ อาการ และการรักษา

เนื้องอกมดลูก หรือที่ทางการแพทย์ เรียกว่า Myoma Uteri, Leiomyoma หรือ Fibroid เป็นเนื้องอกของมดลูกชนิดไม่ร้ายแรงที่พบได้บ่อยที่สุด  อุบัติการณ์การเกิดเนื้องอกชนิดนี้ มีมากถึงร้อยละ 20-50 ของสตรีในวัยเจริญพันธุ์ และพบได้บ่อยที่สุดช่วงอายุ 40-50 ปี นอกจากนี้ยังพบเนื้องอกมดลูก ถึงร้อยละ  5-10 ในสตรีที่มีภาวะมีบุตรยาก โดยสตรีที่ไม่ได้แต่งงาน หรือแต่งงานแล้วแต่ไม่มีบุตร มีแนวโน้มพบได้บ่อยขึ้น

เนื้องอกในมดลูก เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่

เนื้องอกมดลูกเกิดจากการแบ่งเซลล์ผิดปกติ หรือมิวเตชั่น ของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูก และมีฮอร์โมนเพศหญิง ( เอสโตรเจน) มามีส่วนในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้องอก เห็นได้จากการที่ไม่พบเนื้องอกในวัยก่อนมีระดู(ช่วงที่ยังไม่ได้สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน)  และเนื้องอกส่วนใหญ่มีขนาดเล็กลง หลังเข้าสู่วัยหมดระดูแล้ว(ช่วงหมดฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้ว) ส่วนอันตรายที่หลายๆคนกลัวคือ การกลายเป็นมะเร็งของเนื้องอก พบว่าเนื้องอกชนิดนี้โอกาสในการพัฒนาไปเป็นเนื้อร้าย หรือมะเร็งน้อยมาก (น้อยว่าร้อยละ 0.5) จึงเป็นเนื้องอกที่สามารถติดตามขนาดได้ ถ้ายังไม่ได้มีข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัด

เนื้องอกในมดลูก กับ เนื้องอกนอกมดลูก ต่างกันอย่างไร

เนื้องอกมดลูกพบได้ตั้งแต่ขนาดเล็ก 1-2 เซนติเมตร จนถึงขนาดใหญ่ 20-30 เซนติเมตร แบ่งเป็นชนิดต่างๆดังนี้

  1. Intramural myoma เป็นชนิดที่แทรกตัวอยู่ในผนังมดลูก เป็นแบบที่พบได้บ่อยที่สุด บางครั้งพบได้หลายๆก้อนพร้อมกัน เนื้องอกชนิดนี้มักสัมพันธ์กับอาการปวดท้องประจำเดือน
  2. Subserous myoma เป็นชนิดที่ตัวก้อนยื่นออกมาในช่องท้อง ซึ่งถ้าก้อนยื่นไปทางด้านหน้าซึ่งเป็นตำแหน่งของกระเพาะปัสสาวะ คนไข้อาจมีอาการปัสสาวะบ่อย หรืออถ้าก้อนยื่นไปทางด้านหลังซึ่งเป็นตำแหน่งของลำไส้ คนไข้อาจมีอาการท้องผูกเรื้อรัง บางครั้งพบลักษณะเป็นก้านติดกับมดลูก ส่วนตัวก้อนเนื้องอกห้อยลงมาในช่องท้อง คล้ายขั้วผลไม้ เรียกว่า Pedunculated  myoma ซึ่งเป็นชนิดที่คนไข้ไม่ค่อยมีอาการแสดงใดๆให้เห็น บางคนเรียกเนื้องอกชนิดนี้ว่า เนื้องอกนอกมดลูก
  3. Submucous myoma เป็นชนิดที่ตัวก้อนยื่นเข้าไปในเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นชนิดที่พบได้น้อยที่สุด ประมาณร้อยละ 5-10 ของเนื้องอกมดลูก มักจะทำให้เกิดอาการผิดปกติของประจำเดือน เช่นประจำเดือนออกมากและนานผิดปกติ บางครั้งเลือดประจำเดือนมีลักษณะเป็นลิ่มหรือก้อน เนื้องอกชนิดนี้ทำให้โพรงมดลูกบิดเบี้ยวผิดปกติ ซึ่งอาจรบกวนการฝังตัวของตัวอ่อน เป็นปัจจัยนำไปสู่การแท้งบุตร และการมีบุตรยาก

เนื้องอกในมดลูก

อาการเตือนของเนื้องอกในมดลูก

มากกว่าร้อยละ 50 ของคนไข้ที่มีเนื้องอกมดลูกแทบจะไม่มีอาการใดๆเลย มาตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเช็คภายในประจำปีเท่านั้น  ส่วนที่พบว่ามีอาการ ส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการปวดท้องน้อย โดยเฉพาะช่วงที่เป็นประจำเดือน โดยเฉพาะลักษณะที่ปวดเพิ่มมากขึ้นทุกๆเดือน และมักจะสัมพันธ์กับความผิดปกติของประจำเดือน ในลักษณะประจำเดือนที่ออกมากและนาน หรือออกเป็นลิ่มหรือก้อนเลือดให้เห็น บางรายเลือดออกมากจนมีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืดเป็นลม หรือจนเกิดภาวะซีด (Anemia) นอกจากนี้อาการที่เกิดจากเนื้องอกไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียง ซึ่งมักเกิดจากเนื้องอกชนิด Subserous เช่นอาการปัสสาวะบ่อย หรือท้องผูกเรื้อรัง ก็ให้สงสัยโรคนี้ไว้ด้วย บางรายที่ก้อนเนื้องอกมดลูกโตมากๆ คนไข้อาจมาด้วยอาการคลำได้ก้อนแข็งๆที่บริเวณท้องน้อย โดยเฉพาะช่วงเช้าที่เพิ่งตื่นนอนในขณะที่กระเพาะปัสสาวะโป่ง อาจทำให้เห็นก้อนเนื้องอกเด่นชัดขึ้น

การมีบุตรยาก สาเหตุเพราะ เนื้องอกในมดลูก ใช่หรือไม่

โดยความเป็นจริง เนื้องอกมดลูก ไม่ได้เป็น สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก  ยกเว้นในบางกรณี เช่น ก้อนเนื้องอกมดลูก ขนาดใหญ่ มากกว่า 5  เซนติเมตร หรือในกรณีที่ เนื้องอกมดลูกอยู่ในตำแหน่งที่มีความสำคัญในการเกิดการตั้งครรภ์ เช่น บริเวณใกล้ท่อนำไข่ (fallopian tubes) เนื้องอกมดลูก ที่อยู่ติดกับโพรงมดลูก (Endometrial cavity) และมีการเบียด โพรงมดลูก ทำให้เกิด การบิดเบี้ยวของโพรงมดลูกซึ่งตัวอ่อนใช้เป็นที่สำหรับการฝังตัว พบว่า เนื้องอกมดลูกชนิดดังกล่าว  เป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก เพียงร้อยละ 1-2 ของสตรีที่มีปัญหามีบุตรยากเท่านั้น

เนื้องอกในมดลูก

สามารถรักษาเนื้องอกในมดลูก ได้ด้วยวิธีใดบ้าง

การรักษาเนื้องอกมดลูกมีหลายวิธี ตั้งแต่การติดตามอาการ การใช้ยา หรือการผ่าตัด โดยการรักษาพิจารณาจาก อายุของคนไข้ ความต้องการมีบุตรในอนาคต สุขภาพทั่วไปของคนไข้ และ ขนาดและตำแหน่งของเนื้องอก โดยสามารถแบ่งการรักษาออกเป็น 3 วิธีหลักดังนี้

  1. การรักษาแบบการเฝ้าติดตาม (Expectant treatment) เหมาะกับผู้ป่วยที่
    • ไม่มีอาการผิดปกติ
    • โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนาดเนื้องอกไม่โต
    • อายุเข้าใกล้วัยหมดประจำเดือน โดยคาดว่าก้อนจะมีขนาดเล็กลง
    • ควรเฝ้าดูอาการและตรวจติดตามอัตราการโตของเนื้องอกอย่างใกล้ชิดทุก 6-12 เดือน (หรือบ่อยขึ้นทุก 3-6 เดือน ถ้าพิจารณาแล้วว่าเนื้องอกอาจโตเร็ว) โดยการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
    • ในรายที่ต้องการบุตร แนะนำให้รีบตั้งครรภ์ ถ้าเนื้องอกมดลูกมีขนาดเล็กและไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่สำคัญ
  1. การรักษาด้วยยา
  • การรักษาตามอาการ เช่น การใช้ยาแก้ปวดเพื่อรักษาอาการปวดท้องประจำเดือน ยาที่ใช้กันบ่อย เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน พอนสแตน  เป็นต้น
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด (Contraceptive pills) มักใช้รักษาภาวะประจำเดือนมามากที่สัมพันธ์กับเนื้องอกมดลูก ช่วยลดอาการปวดประจำเดือน แต่ไม่ได้ลดขนาดก้อนเนื้องอกมดลูก บางรายอาจทำให้ก้อนเนื้องอกมดลูกมีขนาดโตขึ้นได้ หากใช้ยา 3-6 เดือนแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการจากการที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดโตขึ้น ควรเปลี่ยนวิธีการรักษา ยาเม็ดคุมกำเนิดห้ามใช้ในโรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ ไมเกรนที่มีออร่า โรคตับ โรคมะเร็งเต้านม
  • โปรเจสติน (Progestins และ) ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมีผลต่อการเจริญเติบโตของเนื้องอกมดลูก ทั้งเพิ่มและลดขนาดเนื้องอก นอกจากนั้นยังลดประจำเดือนโดยการทำให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อด้วย การใช้โปรเจสตินแบบกิน (Visanne) หรือฉีด (DMPA) หรือชนิดที่เป็นห่วงอนามัย( LNG-IUS : Levonorgestrel-releasing intrauterine system) พบว่าลดประจำเดือนมามากที่เกิดจากเนื้องอกมดลูกได้ ผลข้างเคียงของโปรเจสติน คือ น้ำหนักขึ้น สิว เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด  โปรเจสตินห้ามใช้ ในสตรีตั้งครรภ์ หรือมี เลือดออกทางช่องคลอดไม่ทราบสาเหตุ มะเร็งเต้านม โรคตับ โรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
  • GnRH agonist เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษา สามารถลดขนาดของเนื้องอกมดลูกได้ แต่มีผลข้างเคียงสูง โดยเฉพาะอาการเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนชั่วคราว (Pseudomenopause) ยาชนิดนี้มีราคาแพง และมักใช้รักษาในระยะเวลาสั้นๆ (2- 6 เดือน) มักใช้ในกรณีเพื่อลดขนาดของเนื้องอกก่อนการผ่าตัด เพื่อให้ผ่าตัดทำได้ง่ายขึ้น
  1. การผ่าตัด พิจารณาในรายที่มีอาการดังต่อไปนี้
  • เลือดประจำเดือนออกมากผิดปกติจนเกิดภาวะเลือดจาง
  • มีอาการเนื้องอกกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น มีอาการปัสสาวะบ่อย หรือ ปัสสาวะไม่ออก หรืออาการท้องผูกเรื้อรัง
  • มีอาการปวดท้องหรือปวดประจำเดือนมากอย่างเรื้อรัง หรือรุนแรงขึ้น
  • ก้อนโตเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสตรีวัยหลังหมดประจำเดือน เพราะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้
  • ประวัติมีบุตรยาก หรือประวัติแท้งบุตรเป็นอาจิณ ที่ตรวจไม่พบสาเหตุอื่น ๆ

ซึ่งการรักษาโดยวิธีการผ่าตัด มีวิธี2 วิธี คือ การผ่าตัดโดยการส่องกล้อง (Laparoscopy) และวิธีเปิดหน้าท้อง (Laparotomy) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของเนื้องอก และความชำนาญของแพทย์ผ่าตัด ในรายที่ต้องการมีบุตรในอนาคต แพทย์มักจะแนะนำให้ตัดเฉพาะตัวเนื้องอกมดลูกออก (Conservative surgery) เพื่อเก็บรักษามดลูก ไว้สำหรับใช้ในการตั้งครรภ์ในอนาคต สำหรับรายที่ไม่ต้องการมีบุตร หรือมีบุตรพอแล้ว จะแนะนำให้ผ่าตัดเอามดลูกออก (Radical surgery) เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นโรคนี้ซ้ำอีก

เนื้องอกในมดลูก
เนื้องอกในมดลูก ขณะตั้งครรภ์

ถ้าตรวจพบว่ามีเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์ ต้องทำอย่างไร

เนื้องอกมดลูกไม่ทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิดใด ๆ ต่อทารกในขณะปฏิสนธิ  เนื้องอกมดลูก อาจมีผล หรือไม่มีผลต่อการตั้งครรภ์ก็ได้ ขึ้นกับขนาด ชนิด และตำแหน่งของเนื้องอก เช่น เนื้องอกขนาดเล็กอยู่ในตำแหน่งไม่สำคัญอาจไม่ส่งผล หรือไม่มีอาการใดๆเลยระหว่างตั้งครรภ์ แต่ถ้าเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่ หรือเบียดเข้าไปในโพรงมดลูกอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ เช่น อาการปวดท้อง ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะเนื้องอกที่มีขนาดมากกว่า 5 เซนติเมตร นอกจากนี้เนื้องอกมดลูกที่มีขนาดใหญ่อาจเบียดที่อยู่ของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกอยู่ในท่าที่ผิดปกติได้  หรือตัวเนื้องอกอาจอยู่ในตำแหน่งที่ขัดขวางการคลอด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุต้องให้การผ่าตัดคลอด นอกจากนี้บางงานวิจัยพบว่าเนื้องอกมดลูกเกี่ยวข้องกับภาวะ การแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด การแตกของถุงน้ำคร่ำก่อนครบกำหนดคลอด และภาวะตกเลือดหลังคลอด รวมถึงภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด โดยเฉพาะในรายที่รกเกาะตรงตำแหน่งของเนื้องอก

การตั้งครรภ์ทำให้เนื้องอกมีการเปลี่ยนแปลงขนาด เนื่องจากฮอร์โมนของการตั้งครรภ์กระตุ้นให้เนื้องอกโตขึ้นได้  โดยการเจริญเติบโตของเนื้องอกจะโตเร็วในช่วงไตรมาสแรก และไตรมาสที่ 2  และจะโตช้าลงในไตรมาสที่ 3  โดยทั่วไปก้อนที่ขนาดใหญ่มากกว่า 5 เซนติเมตร จะโตได้ค่อนข้างไว ขณะที่ก้อนขนาดเล็กขนาดจะค่อนข้างคงที่มากกว่า

การรักษาระหว่างตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่เป็นการเฝ้าติดตามดูขนาดของเนื้องอก และ รักษาตามอาการเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น เมื่อมีอาการปวด ก็ให้ยาแก้ปวด (ส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดในรายที่มีก้อนขนาดใหญ่ และอายุครรภ์ช่วง ไตรมาสที่ 1 ต่อไตรมาสที่ 2  เพราะเป็นช่วงที่มีการเจริญเติบโตเร็วของเด็กทารกและเนื้องอก ทำให้บางส่วนโดยเฉพาะแกนกลางของเนื้องอกขาดเลือดมาเลี้ยง(Ischemia) และเกิดการตายของเนื้อเยื่อภายใน (necrosis) เรียกว่า Red degeneration myoma  ซึ่งจะมีการหลั่งสารพรอสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณก้อนเนื้องอกตามมา

การผ่าตัดเนื้องอกขณะตั้งครรภ์ ไม่ค่อยแนะนำให้ทำ เนื่องจากอาจมีปัญหาแทรกซ้อนตามมาได้มาก เช่นการเสียเลือด การแท้งหรือคลอดก่อนกำหนด (ถ้าจำเป็นต้องผ่าตัดควรทำการผ่าตัดในช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงที่ปลอดภัยต่อการผ่าตัดมากที่สุด) คนไข้ส่วนหนึ่งที่เตรียมตัวสำหรับการผ่าตัดคลอดบุตรอยู่แล้ว จะขอทำผ่าตัดเอาเนื้องอกมดลูกออกเลยในขณะผ่าคลอดได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ควร เพราะเสี่ยงต่อการเสียเลือด และตกเลือดอย่างมากจนถึงขั้นถูกตัดมดลูก อาจจะพิจารณาผ่าตัดเนื้องอกมดลูกพร้อมกับการผ่าตัดคลอดในรายที่เป็นเนื้องอกชนิดที่เป็นติ่งหรือขั้วเท่านั้น (subserous or pedunculated fibroids)

เนื่องจากเนื้องอกส่วนใหญ่ที่พบตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ร้อยละ 90 จะพบว่าขนาดของเนื้องอกค่อยๆลดขนาดลงหลังคลอด  เมื่อฮอร์โมนการตั้งครรภ์กลับสู่ภาวะปกติ มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่อาจจะโตขึ้นหลังคลอด ดังนั้นจึงควรนัดตรวจติดตามช่วง 3-6 เดือนหลังคลอด เพื่อประเมินขนาดที่แท้จริงของตัวเนื้องอกอีกครั้ง ถ้าเนื้องอกมดลูกยังมีขนาดใหญ่อยู่มาก จึงค่อยพิจารณาวางแผนผ่าตัดในช่วงหลังคลอด

บทความโดย : นายแพทย์นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข (สูตินรีแพทย์)
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ พันธุศาสตร์การแพทย์
มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอบกิ้น สหรัฐอเมริกา

สำหรับเรื่อง เนื้องอกในมดลูก ถือเป็นหนึ่งในเรื่องของ HQ  หนึ่งใน 10 ของ Power BQ (Power Baby & Kids Quotients) อาวุธที่ช่วยให้ลูกฉลาดรอบด้าน เพราะเด็กยุคนี้มีแค่ IQ และ EQ นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ยังมี Quotient ต่างๆ ถึง 10Q นั่นคือ “10 ความฉลาด” ที่คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกได้ครบไปพร้อมกันนั่นเอง ทั้งนี้ HQ หรือ Health Quotient  คือ ความฉลาดในการดูแลรักษาสุขภาพ
ซึ่งคนที่มี HQ ดี จะรู้จักดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เช่น กินอาหารที่ดี ครบ 5 หมู่ ขับถ่ายดี ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลรักษาความสะอาดร่างกายของตัวเอง ฯลฯ สำหรับเด็กเล็กเราอาจจะยังไม่เห็นพัฒนาการด้านนี้ชัดเจน แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มปลูกฝังและใส่ใจเรื่องสุขภาพ การดูแลร่างกายในการทำกิจวัตรประจำวันได้ทุกวัน เพื่อให้ลูกซึมซับและดูแลใส่ใจสุขภาพตัวเอง ซึ่งก็จะเป็นการสร้าง HQ ที่ดีในตัวลูกได้ ยิ่งในปัจจุบันโรคภัยไข้เจ็บมีเยอะขึ้น โรคใหม่ๆ แปลกๆ เชื้อโรคที่พัฒนาขึ้นจาก สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และมลภาวะต่างๆ เราจึงต้องสอนให้ลูกของเราฉลาดใส่ใจดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันต่อโรคภัยต่างๆ รอบตัว เพราะการไม่มีโรค คือลาภอันประเสริฐนั่นเองค่ะ

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up