แผลผ่าคลอด

ดูแล “แผลผ่าคลอด” อย่างไร? ให้เนียน สวย ไม่ติดเชื้อ!!

Alternative Textaccount_circle
event
แผลผ่าคลอด
แผลผ่าคลอด

แผลผ่าคลอด เป็นสิ่งที่คุณแม่ทั้งหลายกังวล และมักจะเกิดคำถามที่ว่า แผลจะจางหายไปจนหมดหรือไม่ จะมีอาการเจ็บบริเวณแผลนานเท่าไหร่ และควรดูแลอย่างไร

ดูแล “แผลผ่าคลอด” อย่างไร? ให้เนียน สวย ไม่ติดเชื้อ!!

การผ่าคลอด โดยทั่วไปมีความปลอดภัย แต่แน่นอนมันมีความแตกต่างจากการคลอดธรรมชาติ เนื่องจากการผ่าคลอดนั้นทำให้เกิดแผลเป็น ซึ่งคุณแม่ส่วนใหญ่จะกังวลว่า รอยแผลเป็นนั้นจะไม่จางหายไปจนหมด ทีมแม่ ABK ตระหนักถึงความกังวลนี้ จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับการผ่าคลอด และวิธีดูแลแผลที่ผ่าคลอด ให้จางหายไปโดยเร็ว

แผลผ่าคลอด
แผลผ่าคลอด

แผลผ่าคลอด คุณแม่ควรดูแลอย่างไรหลังผ่าคลอด

การผ่าคลอดดีอย่างไร

  • สามารถกำหนดเวลาคลอดได้อย่างชัดเจน คุณพ่อคุณแม่สามารถไปหาฤกษ์เกิดดีๆ เป็นสิริมงคลให้ลูกได้ แต่ทั้งนี้ก็ควรอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือตั้งแต่ 38 สัปดาห์ขึ้นไป
  • ไม่ต้องรอนาน เพราะไม่ต้องรอให้ปากมดลูกเปิดเหมือนการคลอดธรรมชาติ โดยใช้ระยะเวลาในการผ่าคลอดประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
  • ลดการยืดหย่อนของเชิงกราน เนื่องจากแรงแบ่งของคุณแม่ในการคลอดแบบธรรมชาตินั้น จะส่งผลต่อการยืดของกระบังลมของเชิงกรานหรือเส้นเอ็นยึด แต่การผ่าคลอดจะช่วยลดแรงเบ่งที่ทำให้เกิดปัญหานี้ได้
  • ลดอาการเจ็บปวดในขณะคลอด แพทย์จะโปะยาสลบหรือบล็อกหลัง ทำให้คุณแม่ไม่เจ็บ หรือไม่ต้องออกแรงเบ่งในขณะคลอด อาจมีอาการเจ็บแผลหลังคลอดบ้าง แต่ก็สามารถฟื้นตัวได้รวดเร็ว
  • คุณแม่และลูกจะได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างรวดเร็ว ในกรณีที่เกิดปัญหา เพราะในการผ่าคลอด แพทย์จะต้องหารือและวางแผนร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ฝ่าย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉิน

แผลผ่าคลอดมีลักษณะเป็นอย่างไร

แผลผ่าคลอด จะเป็นแผลลักษณะแนวนอนตามแนวขอบกางเกงชั้นในหรือแนวตั้งใต้สะดือ ขึ้นอยู่กับลักษณะการลงแผลตอนผ่าคลอด ความยาวของแผลประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร คุณแม่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ในการดูแลสุขภาพร่างกาย และรอยแผล เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดรอยแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ และการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ รวมถึงการเกิดแผลติดเชื้อ

การดูแลหลังผ่าคลอด

ในสัปดาห์แรกหลังจากผ่าคลอด ผิวชั้นนอกของแผลจะเริ่มติดกัน จากนั้นแผลจึงปิดสนิทและเปลี่ยนเป็นสีแดงอมม่วงอยู่นานประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้น จะค่อย ๆ จางลงเป็นสีขาวและเรียบขึ้น ส่วนแผลที่กล้ามเนื้อท้องและมดลูกอาจใช้เวลานานหลายเดือนจึงจะหายดี

การเคลื่อนไหว

หลังจากการผ่าคลอด คุณแม่ควรพลิกตัวบ่อยๆ เพื่อช่วยให้ลำไส้ฟื้นตัวเร็วขึ้นและลดอาการท้องอืด พยาบาลจะเข้ามาวัดความดันโลหิตทุก ๆ 30 นาที ในระยะแรกหลังคลอด หากรู้สึกเจ็บหรือปวดแผล ควรแจ้งพยาบาลเพื่อจะให้หมอสั่งยาลดปวด คุณแม่สามารถให้น้ำนมลูกได้ทันทีเมื่อคุณแม่พร้อม

  • หลังผ่าคลอด ในวันแรก คุณแม่ควรลุกขยับตัวให้ได้เร็วที่สุดหลังจากผ่าคลอด เช่น ลุกนั่ง หรือลุกยืนข้างๆ เตียง แต่ถ้ามีอาการมึนศีรษะ ควรนอนราบบนเตียง ทั้งนี้คุณแม่อาจจะเดินไปรอบ ๆ ห้อง เพื่อป้องกันท้องอืด และทำให้ลำไส้ได้ขยับและกลับมาทำงานได้ตามปกติเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวได้เร็ว
  • ในวันที่ 2 เป็นต้นไป คุณแม่อาจจะนั่งหรือยืนได้เอง อย่างไรก็ดี คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บแปลบที่แผลผ่าตัดได้ ซึ่งเป็นอาการปกติ หากไอ ควรใช้มือหรือหมอนกดที่แผล หายใจลึกๆ กลั้นไว้ก่อน แล้วจึงค่อยไอออกมาแรงๆ 2-3 ครั้ง เพื่อกำจัดเสมหะ

การพักผ่อน

ควรนอนหลับพักผ่อนให้ได้มากที่สุด เพราะร่างกายยังคงอ่อนเพลียจากการผ่าตัดคลอด และการให้นมลูก

อาหาร

คุณแม่ควรงดรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ แล้วค่อย ๆ เริ่มจิบน้ำ หรืออาหารใส ๆ เช่น ซุป น้ำแกงใส ๆ โดยเริ่มทีละนิด แล้วค่อยเพิ่มเป็นอาหารเหลว หรือโจ๊ก จากนั้นค่อยเปลี่ยนเป็นอาหารย่อยง่ายรสจืด ควรงดดื่มนมหรือน้ำอัดลม เพราะจะทำให้เกิดอาการท้องอืด งดอาหารรสจัด อาหารหมักดอง แอลกอฮอล์ กาแฟ ชา หรือน้ำที่มีคาเฟอีน

การขับถ่าย

ใน 2 วันแรก คุณแม่จะมีสายสวนปัสสาวะอยู่ แต่ในวันที่ 3 เมื่อเอาสายสวนปัสสาวะออกแล้ว คุณแม่จะต้องปัสสาวะเองให้ได้ ภายใน 6 ชั่วโมง เมื่อปัสสาวะแล้ว ต้องทำความสะอาดอย่างดี ในระยะแรกลำไส้ใหญ่อาจจะยังไม่ขยับตัวเพราะได้มีการสวนอุจจาระก่อนที่จะผ่าคลอด แต่หากในวันที่ 3 ยังไม่สามารถถ่ายได้ ต้องใช้ยาถ่ายเป็นตัวช่วย

น้ำคาวปลา

หลังจากผ่าคลอด คุณแม่จะยังคงมีน้ำคาวปลาอยู่ จะมีสีแดงสด และมีปริมาณมาก ในวันแรก ๆ แล้วจะค่อย ๆ มีสีอ่อนลง และมีปริมาณลดลงเรื่อย ๆ คุณแม่ควรใช้ผ้าอนามัยไปจนกว่าน้ำคาวปลาจะหมด ซึ่งน้ำคาวปลาจะหมดในราว ๆ 2 – 3 สัปดาห์

แผลหลังผ่าตัดและมดลูก

คุณแม่จะรู้สึกเจ็บในมดลูกเป็นครั้งคราวเนื่องจากมดลูกกำลังหดตัว และอาจรู้สึกเจ็บมากขึ้นในขณะที่กำลังให้นมลูก ในส่วนของแผลผ่าคลอด จะมีผ้ากอซปิดที่แผลไว้ คุณแม่ต้องระวังไม่ให้แผลโดนน้ำ และต้องสังเกตว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เช่น มีไข้ มีเลือดออกมาจากแผล แผลบวม แดง ร้อน เป็นต้น

แผลยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร
แผลยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร

การให้นม และการดูแลลูก

น้ำนมแม่

สืบเนื่องจากการผ่าคลอดและการให้ยา จึงอาจทำให้น้ำนมของคุณแม่ผลิตได้ช้า แต่เรามีวิธีแนะนำที่จะช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมเพิ่มมากขึ้น โดยการเริ่มให้นมลูกให้เร็วที่สุด ยิ่งเริ่มตั้งแต่ยังอยูบนเตียงผ่าตัด ก็จะยิ่งช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้มากขึ้น

ให้นมลูกบ่อย ๆ

ในตอนกลางวัน คุณแม่ควรให้นมลูกทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง และทุก ๆ 3 – 4 ชั่วโมง ในเวลากลางคืน เพื่อช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้มากขึ้น หลังพ้นระยะแรกแล้ว คุณแม่สามารถให้นมลูกเมื่อลูกหิวได้ทันที

วิธีอุ้มลูกขณะให้นม

ให้คางของลูกอยู่ใกล้กับเต้านมแม่ เพื่อให้ปากของลูกงับได้ถึงบริเวณลานหัวนม แล้วยังอาจทำให้คุณแม่ได้ยินเสียงลูกดูดและกลืนนมได้

วิธีิอุ้มลูกขณะให้นมในวันแรก

คุณแม่อาจจะนอนตะแคง ให้ศีรษะของลูกอยู่ในระดับเดียวกับเต้านม ให้ท้องของแม่แนบไปกับตัวลูก โดยให้คางลูกอยู่ติดกับเต้านม

วิธีิอุ้มลูกขณะให้นมในวันต่อ ๆ มา

หลังจากที่คุณแม่สามารถขยับตัวได้สะดวกขึ้นแล้ว ควรนั่งในขณะให้นมลูก โดยอุ้มลูกแนบตัว ศีรษะของลูกอยู่ที่เต้านม ใช้แขนรองหลังลูก ท่านี้เรียกว่าท่าอุ้มลูกบอล เนื่องจากแขนจะอยู่ในลักษณะเดียวกันกับเวลาที่เราอุ้มลูกบอล อาจจะใช้หมอนรองใต้แขนเพื่อความสบาย ท่านี้ช่วยให้คุณแม่ให้นมลูกได้สะดวก และตัวลูกไม่ทับแผลผ่าตัดด้วย

วิธีดูแลแผลหลังผ่าคลอด

  • ไม่ยกของหนักในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังผ่าคลอด
  • หมั่นล้างแผลและทำความสะอาดผิวอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผิวบริเวณเชิงกราน
  • ล้างมือก่อนสัมผัสแผลหรือทำแผลทุกครั้ง
  • ไม่ดึงปลายไหมเย็บแผลที่โผล่ออกมา ควรแจ้งแพทย์ให้เล็มปลายไหมให้ เพื่อป้องกันไหมเย็บแผลเกี่ยวเสื้อผ้า
  • อาบน้ำฝักบัวแทนการแช่น้ำในอ่าง
  • อาบน้ำด้วยสบู่ที่มีฤทธิ์อ่อน และไม่ถูสบู่ เจลอาบน้ำ หรือทาแป้งลงบนแผลโดยตรง
  • ซับแผลให้แห้งด้วยผ้าขนหนูสะอาด
  • สวมเสื้อผ้าและกางเกงชั้นในที่หลวม ไม่รัดแน่น เพื่อป้องกันการเสียดสีที่แผล
  • ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยากินหรือยาทาสำหรับรักษาแผลผ่าคลอดทุกครั้ง
  • คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ครีมหรือเครื่องสำอางบางชนิดระหว่างอยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • หมั่นเช็ดบริเวณผิวหนังที่เป็นรอยพับเหนือแผลผ่าตัดให้แห้งอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้บริเวณดังกล่าวชื้นเหงื่อ
  • ควรพบแพทย์ทันทีในกรณีที่พบสัญญาณการเกิดแผลติดเชื้อ เช่น เกิดรอยแดงที่แผล มีไข้ขึ้นสูง เป็นต้น
  • หลังแผลแห้งปิดสนิท ทาวิตามินอีที่แผลเพราะวิตามินอีจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระ โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีวิตามินอีเข้มข้นสูงเป็นส่วนประกอบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแล, อัลเลียม ซีปาจะช่วยลดอาการอักเสบ และซิลิโคนจะช่วยป้องกันการเกิดแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการเกิดแผลเป็นนูน

วิธีป้องกันแผลติดเชื้อ

  • ดูแลแผลผ่าคลอดอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ รวมทั้งซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการดูแลแผลให้เข้าใจ
  • หากได้รับยาปฏิชีวนะ ควรรับประทานจนครบกำหนด ไม่หยุดยาหรือลดปริมาณยาเองโดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์
  • ทำความสะอาดและเปลี่ยนผ้าพันแผลอย่างสม่ำเสมอ
  • ควรซักถามแพทย์เกี่ยวกับคำแนะนำในการอุ้มและการให้นมบุตร เพื่อป้องกันแผลถูกกดทับขณะอุ้มหรือให้นม
  • ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นหรือทาครีมบริเวณแผลผ่าคลอด
  • ระวังอย่าให้ผิวหนังบริเวณแผลผ่าตัดเสียดสีกัน
  • ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายในทันที หากรู้สึกไม่สบายหรือมีไข้
  • รีบไปพบแพทย์ทันที ในกรณีที่สงสัยว่าแผลติดเชื้อ

บทความเกี่ยวกับ แผลผ่าคลอด ที่ทีมแม่ ABK ได้รวบรวมข้อมูลมานี้ คงจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่ที่กำลังตัดสินใจจะผ่าคลอด เพื่อช่วยลดความกังวลต่างๆลงได้นะคะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

รวม แพคเกจคลอด 2565 โรงพยาบาลรัฐ-เอกชน ปี 2022

รวมวันดี วันมงคล ฤกษ์คลอดลูก ฤกษ์คลอดปี 2565 / 2022 ฤกษ์ผ่าคลอด ปูทางสำเร็จให้ลูกตั้งแต่แรกเกิด

checklist เตรียมของก่อนคลอด ยังไงไม่บานปลายได้ของครบ

เคล็ดลับของแม่ผ่าคลอด !! เติมทุนสมอง เสริมภูมิต้านทานลูก

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.paolohospital.com, https://www.samitivejhospitals.com, https://www.pobpad.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up