คนท้องฟันผุ เสี่ยง! ส่งต่อเชื้อทางช่องปากจากแม่สู่ลูก

Alternative Textaccount_circle
event

คนท้องฟันผุ เสี่ยง! ส่งต่อเชื้อทางช่องปากจากแม่สู่ลูก

ปัญหาฟันผุ เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย หากขาดการใส่ใจ เรื่องการรักษาความสะอาด ภายในช่องปาก อย่างเพียงพอ แต่ใน คนท้องฟันผุ นั้น นอกจากจะทำให้เกิดปัญหา กับตัวคุณแม่เองแล้ว ยังส่งผลไปถึงลูกในท้อง ที่อาจได้รับเชื้อแบคทีเรีย จากปัญหาฟันผุของแม่ และลูกมีเหงือก และฟันผิดปกติ เมื่อคลอดออกมาได้ บทความนี้ ช่วยคุณแม่แก้ปัญหานี้ได้ค่ะ

สถานการณ์สุขภาพช่องปากของแม่ท้อง

รายงานการศึกษา สภาวะสุขภาพช่องปาก และพฤติกรรม ที่เกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก ของแม่ท้อง ที่มารับบริการในโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2563 พบว่า แม่ท้องฟันผุ ร้อยละ 50.5 แม่ที่มีฟันผุหลายซี่ จะมีปริมาณเชื้อแบคทีเรียในช่องปากจำนวนมาก มีโอกาสสูง ที่จะถ่ายทอดเชื้อ จากแม่สู่ลูกมากขึ้น ทำให้ลูกมีความเสี่ยงสูง ในการเกิดโรคฟันผุ

คนท้องฟันผุ เกิดจากเหตุใดบ้าง

  1. ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในร่างกาย โดยการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ส่งผลให้ผนังเส้นเลือดฝอยในเหงือก และเนื้อเยื่อในช่องปากเปลี่ยนแปลง ทำให้เหงือก และเนื้อเยื่อภายในช่องปากอ่อนแอ เปราะบาง ไม่แข็งแรงเหมือนก่อน ทำให้เกิดอาการปวด เหงือกอักเสบ หรือเลือดออกในช่องปากง่าย
  2. เมื่อภายในช่องปากมีความอ่อนแอ ทำให้การดูแล รักษาฟันทำได้ยากมากขึ้น เพราะการแปรงฟันแบบเดิมก็อาจทำให้มีเลือดออกในช่องปากได้ง่าย ทำให้คุณแม่ดูแลรักษาความสะอาดภายในช่องปากได้ไม่ทั่วถึงและมากพอค่ะ
  3. ความอยากอาหารที่มีมากขึ้นของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้กินจุกจิก หิวบ่อย แต่ไม่ได้ทำความสะอาดช่องปากทุกครั้งหลังมื้ออาหาร ทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปาก เกิดปัญหาฟันผุและปวดฟันตามมา
  4. อาการแพ้ท้องที่คุณแม่อาเจียน ซึ่งทำให้เศษอาหารและกรดในกระเพาะ ขึ้นมาติดค้างบริเวณช่องปากและฟัน
  5. สภาวะทางช่องปากของคุณแม่ เช่น คุณแม่ที่อาจจะมีฟันที่กำลังเริ่มผุ หรือมีอาการอยู่แล้ว หรือภายในช่องปากมีหินปูนเกาะอยู่เยอะ เป็นต้น
คนท้องฟันผุ
แปรงฟัน และทำความสะอาดช่องปากเสมอ หลังมื้ออาหาร โดยทันตแพทย์ได้แนะนำให้แม่ท้องรักษาฟัน ด้วยการแปรงฟันตามสูตร 222

แม่ท้องป้องกันฟันผุได้อย่างไรบ้าง

อย่างที่บอกไว้แล้วว่า แม่ท้องควรดูแลฟันของตนเองเป็นพิเศษ เพราะหากมีปัญหาฟันผุและเหงือกอักเสบ จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับเหงือก และฟันของลูกได้ เนื่องจากฟันน้ำนมของลูก เริ่มสร้างตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาเพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น หากแม่ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน จะส่งผลให้ลูกมีการสร้างหน่อฟันที่ผิดปกติ มีผลทำให้มีการสร้างต่อมน้ำลายที่ไม่สมบูรณ์ ผลิตน้ำลายได้น้อย ลูกจะเกิดฟันผุง่าย วิธีที่จะช่วยป้องกัน ได้แก่

  • เมื่อทราบว่าตั้งท้อง หรือวางแผนจะตั้งท้อง คุณแม่อาจเข้าพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสภาพช่องปาก และดูแลช่องปากให้เรียบร้อย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดฟันผุ หรืออาการเหงือกอักเสบตั้งแต่เริ่มต้นค่ะ
  • ไม่ลืมที่จะแปรงฟัน และทำความสะอาดช่องปากเสมอ หลังมื้ออาหาร โดยทันตแพทย์ได้แนะนำให้แม่ท้องรักษาฟัน ด้วยการแปรงฟันตามสูตร 222 หมายถึง การแปรงฟันนานครั้งละ 2 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่ฟลูออไรด์กระจายตัวได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพในการดูแลสูงที่สุด วันละ 2 ครั้ง และ หลังแปรงฟันควรงดขนมหวาน น้ำอัดลม 2 ชั่วโมง
  • รับประทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างแคลเซียม ทำให้กระดูกแข็งแรง
  • หากพบว่ามีอาการปวดฟันตอนท้อง แม้เพียงเล็กน้อย ก็ควรรีบเข้ารับการตรวจฟันเลยค่ะ เพราะสำหรับคนท้องจะมีระยะเวลาที่เหมาะสมในการทำฟัน คือ ในช่วงเดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์ ก่อนที่การเข้าดูแลรักษาฟันจะทำได้ลำบากขึ้นในช่วงที่คุณแม่ท้องแก่กว่านี้
  • ใช้ไหมขัดฟัน ช่วยในการทำความสะอาดฟัน เพราะสามารถช่วยทำความสะอาดได้ลึก และมากกว่าแปรงสีฟันค่ะ ช่วยลดการสะสมของเศษอาหาร และแบคทีเรียได้

การแปรงฟันให้สะอาดและถูกวิธี

การแปรงฟันให้สะอาดและถูกวิธีประกอบไปด้วย

    • การเลือกแปรงสีฟัน แปรงสีฟันที่ดีควรจะมีหน้าตัดที่ตรง ไม่ใหญ่จนเกินไปสามารถครอบคลุมฟันได้ 2 – 3 ซี่ ด้ามแปรงสีฟันควรจับได้ถนัดมือ ขนแปรงสีฟันนุ่มเพื่อช่วยให้ซอกซอนไปในระหว่างซอกฟันได้ดี การเลือกขนแปรงที่แข็งมากจนเกินไปจะทำให้ฟันสึก และเป็นต้นเหตุให้เสียวฟันได้
    • บริเวณที่แปรงควรแปรงทุกๆ ด้านให้ทั่วถึงของฟันทุกซี่อย่างน้อย 4 – 5 ครั้ง โดยเฉพาะด้านลิ้นของฟันล่าง และด้านท้ายของฟันซี่ในสุด รวมทั้งกระพุ้งแก้ม และลิ้น ซึ่งสามารถเป็นแหล่งสะสมของคราบจุลินทรีย์ได้
    • การเลือกยาสีฟันยาสีฟันเป็นตัวช่วยให้การแปรงฟัน ทำได้ง่าย และสะอาดขึ้นยาสีฟันที่ดีควรมีส่วนผสมของฟลูออไรด์เพื่อสงเสริมการป้องกันฟันผุ

ปัญหาฟันผุในแม่ตั้งครรภ์ ไม่ใช่เรื่องที่แม่ควรนิ่งนอนใจ หากเพิ่งตั้งครรภ์หรืออายุครรภ์อยู่ในช่วง 4 – 6 เดือน คุณแม่ควรรีบพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจเช็ก และรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยของช่องปากของลูกน้อยค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก

TNN, สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น, ไทยรัฐออนไลน์

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

กรมอนามัยเตือน! ปล่อยลูก ฟันผุ เสี่ยงเด็กแคระแกร็น!!

8 ข้อผิดพลาดของพ่อแม่ สาเหตุลูกฟันผุ ก่อนวัยอันควร

จัดฟันเด็ก พาลูกไป จัดฟัน อายุเท่าไหร่ ดีที่สุด?

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up