10 อาการเตือนคนเริ่มท้อง และเรื่องน่ารู้สำหรับคุณแม่

Alternative Textaccount_circle
event

หากคุณมี 10 อาการนี้ เตรียมตัวเป็นว่าที่คุณแม่ได้เลย!! ส่อง 10 อาการเตือนคนเริ่มท้อง มีอาการอย่างไร? รับมืออย่างไรบ้าง? ได้ที่นี่!!

10 อาการเตือนคนเริ่มท้อง และเรื่องน่ารู้สำหรับคุณแม่

เพราะ อาการเตือนคนเริ่มท้อง มักมีอาการที่คล้าย ๆ กับผู้หญิงเวลาใกล้จะมีประจำเดือน ทำให้หลาย ๆ คนอาจจะสับสนว่าอาการที่เกิดนี้ เกิดจากสาเหตุใดกันแน่ เราจะได้เป็นว่าที่คุณแม่หรือเปล่านะ หรือแค่คิดไปเอง มาหาคำตอบกันค่ะ

10 อาการเตือนคนเริ่มท้อง มีอาการแบบนี้ เตรียมตัวเป็นคุณแม่ได้เลย!!

  1. ประจำเดือนขาด

หากประจำเดือนไม่มานานเกิน 1 สัปดาห์ขึ้นไป จากเดิมที่เคยมาปกติ (โดยปกติประจำเดือนของผู้หญิงจะมีระยะเวลาประมาณ 21-35 วัน และมาใกล้เคียงกันทุกเดือน) อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้การตั้งท้อง เนื่องจากเมื่อไข่กับตัวอสุจิเริ่มปฏิสนธิกัน ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) จำนวนมากออกมา เพื่อยับยั้งไม่ให้ผนังมดลูกหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน อย่างไรก็ตาม การขาดของประจำเดือนก็อาจมาจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การตั้งครรภ์ก็ได้ เช่น การใช้ยาคุมกำเนิด ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง รู้สึกเครียดมากจนเกินไปจนทำให้ไข่ไม่ตก เป็นต้น และสำหรับผู้ที่มีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอก็อาจเข้าใจผิดได้

2. เลือดล้างหน้าเด็ก

เลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation Bleeding) จะพบในช่วง 6-12 วันหลังจากไข่ได้รับการปฏิสนธิ โดยเป็นเลือดที่เกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนภายในมดลูก ทำให้มีเลือดออกปริมาณเล็กน้อยจากบริเวณช่องคลอดประมาณ 1-3 วัน แต่บางรายอาจมีเลือดไหลน้อยมากจนไม่ทันได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง เลือดล้างหน้าเด็กไม่ใช่ประจำเดือน จะมีปริมาณน้อยมาก ๆ ดังนั้น ต้องสังเกตให้ดีว่าเป็นเลือดล้างหน้าเด็กหรือประจำเดือนกันแน่ และอาจมีเลือดล้างหน้าเด็กพร้อมกับมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย ทำให้อาจเกิดความสับสนระหว่างอาการคนท้องกับอาการมีประจำเดือน หากเป็นประจำเดือนมักจะมีเลือดออกปริมาณมากกว่าและระยะเวลานานกว่า ส่วนอาการปวดท้องประจำเดือนพบได้ในช่วง 24-48 ชั่วโมงก่อนประจำเดือนมา แต่อาการปวดจะค่อย ๆ บรรเทาลงจนกระทั่งหายไปเมื่อประจำเดือนหมด นอกจากนี้ อาจสังเกตได้จากตำแหน่งของอาการปวดร่วมด้วย โดยอาการปวดท้องจากการตั้งครรภ์มักปวดบริเวณท้องน้อยและหลังส่วนล่าง

3. คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการแพ้ท้อง

สามารถเกิดอาการได้ทุกเวลา อาการแพ้ท้องนี้มักเกิดขึ้นหลังจากที่ตัวอ่อนปฏิสนธิได้ 1 เดือน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย แต่อาการแพ้ท้องเป็นหนึ่งในอาการแพ้ท้องที่พบบ่อยร้อยละ 50 แต่ในบางรายก็อาจไม่มีอาการดังกล่าว ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล บางคนอาจมีอาการรุนแรง บางคนอาจไม่พบอาการ

โดยเฉพาะกับคนที่กำลังตั้งครรภ์จะมีอาการที่จมูกจะไวต่อกลิ่นทุกชนิดมากเป็นพิเศษ ที่เรียกว่า Super Smell เช่น กลิ่นน้ำหอมที่ใช้เป็นประจำก็จะหอมรุนแรงจนกลายเป็นกลิ่นเหม็น และอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ หรือบางรายมีอาการเหม็นกลิ่นอาหาร กลิ่นตัวสามี เป็นต้น

4. คัดเต้านม เจ็บหัวนม

อาการคนท้อง
อาการคนท้อง

เนื่องจากอาจมีเลือดไปเลี้ยงบริเวณหน้าอกมากขึ้น ทำให้รู้สึกเจ็บ ไวต่อสัมผัส อาจมีอาการคัดเต้านมคล้าย ๆ กับอาการก่อนมีประจำเดือน แต่อาการนี้เป็นหนึ่งในสัญญาณที่บอกได้ว่ากำลังตั้งท้องในช่วง 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากร่างกายมีการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และจะพบว่าเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์มากขึ้น เต้านมก็จะยิ่งตึงมากขึ้น รวมทั้งมีความเปลี่ยนแปลงบริเวณเต้านมและหัวนมขึ้นอีก เช่น บริเวณลานหัวนมจะกว้างขึ้นและมีเส้นเลือดดำสีเขียว ๆ กระจายอยู่โดยรอบ หัวนมมีลักษณะสีคล้ำและขยายใหญ่มากขึ้น ผิวหนังบริเวณเต้านมบางลงจนสังเกตเห็นเส้นเลือดเต้านมมีสีแดงเข้มและนูนเด่นชัด ซึ่งเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของร่างกายส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตน้ำนมให้กับทารกนั่นเอง ดังนั้นเมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์คุณแม่ควรเลือกสวมชุดชั้นในที่มีขนาดพอดีเพื่อช่วยรับน้ำหนักเต้าได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาการเจ็บเหล่านี้จะหายไปได้เองภายหลังตั้งครรภ์แล้วประมาณ 3 เดือน

5. เหนื่อยล้า อ่อนเพลียง่าย

ระดับฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนและเอสโตรเจนจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นหลังจากตั้งครรภ์ ทำให้ร่างกายทำงานหนักมากขึ้นและสูญเสียพลังงานได้ง่าย อาจทำให้รู้สึกง่วงนอน โดยอาการอ่อนเพลียอาจพบได้ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของการตั้งครรภ์ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์ แต่คุณแม่บางคนอาจพบอาการนี้หลังจากตั้งครรภ์เพียงสัปดาห์เดียว

6. อารมณ์เเปรปรวน

เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกายคุณแม่ตั้งท้อง ทำให้รู้สึกหงุดหงิดง่าย โมโหง่าย อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ อาการแบบนี้บอกได้ว่าเป็นอาการที่กำลังเข้าสู่สภาวะตั้งครรภ์ในระยะแรกของคุณแม่มือใหม่ที่คุณพ่อมือใหม่ต้องเตรียมรับมือ ภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์นี้เกิดจากระดับฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลง และร่างกายของคุณแม่กำลังพยายามปรับตัวเพื่อสร้างสมดุลในการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายในช่วงตั้งครรภ์ เมื่อผ่านพ้นช่วงนี้ไปอารมณ์ของคุณแม่ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติเองค่ะ ดังนั้นในช่วงนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหาอะไรทำเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง นั่งสมาธิ ฯลฯ และคนใกล้ตัวต้องทำความเข้าใจกับภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นของแม่ท้องคอยช่วยดูแลเพื่อทำให้แม่ท้องไม่เครียดนะคะ

แต่ถ้าหากรู้สึกหดหู่ระหว่างตั้งท้อง ควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นซึมเศร้าระหว่างตั้งท้องได้ค่ะ

7. ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป

คุณแม่ที่เพิ่งเริ่มตั้งครรภ์อาจมีพฤติกรรมการรับประทานที่ต่างไปจากเดิม โดยอาจรู้สึกอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น หรือมีความชอบในการรับประทานอาหารที่ต่างไปจากเดิม เช่น รู้สึกเบื่ออาหาร ไม่ชอบอาหารที่เคยรับประทานเป็นประจำ แต่อยากรับประทานของหมักดองหรืออาหารชนิดอื่นที่ไม่ค่อยได้รับประทานในชีวิตประจำวัน เป็นต้น เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายปรับตัวเพื่อให้คุณแม่มีสารอาหารสะสมเพียงพอสำหรับลูกที่อยู่ในท้อง ดังนั้น คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเพิ่มปริมาณอาหารให้เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายได้พลังงานและแร่ธาตุอย่างแคลเซียมอย่างเพียงพอ

พฤติกรรมการรับประทานที่เปลี่ยนไปนี้อาจพบได้ตลอดช่วงการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรควบคุมปริมาณการรับประทานอาหารให้พอดีเพื่อไม่ให้กระทบต่อร่างกาย นอกจากนี้ คนท้องบางคนอาจอยากรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรือของที่ไม่ใช่อาหาร อย่างน้ำแข็ง เศษไม้ หรือเศษดิน หากมีความรู้สึกอยากรับประทานของเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์

8. ปัสสาวะบ่อย

จากการศึกษาพบว่าอาการปัสสาวะบ่อยเป็นอาการคนท้องระยะแรกที่คุณแม่จำนวนกว่าครึ่งหนึ่งมักพบ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของการตั้งครรภ์ มดลูกจะขยายใหญ่ขึ้นตามพัฒนาการของทารก ส่งผลให้มดลูกไปเบียดอวัยวะที่อยู่รอบ ๆ โดยเฉพาะกระเพาะปัสสาวะ ขณะเดียวกันร่างกายก็มีปริมาณเลือดและของเหลวเพิ่มมากขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ รวมทั้งฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นก็มีส่วนกระตุ้นการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ จึงทำให้คุณแม่ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นหรืออาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เกิดขึ้นได้

9. อาการท้องผูก

อาการท้องผูก ท้องอืด รู้สึกไม่สบายท้อง เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเพื่อเข้าสู่สภาวะการตั้งครรภ์เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร รวมทั้งเกิดจากการขยายตัวของมดลูกที่ไปเบียดเข้ากับลำไส้ใหญ่ส่งผลให้การบีบตัวของลำไส้ลดลง ทำให้อาหารย่อยยาก ย่อยได้ช้าลง มีลมในกระเพาะมาก ซึ่งอาการนี้นับว่าเป็นสภาวะปกติของคนท้อง ซึ่งคุณแม่ท้องสามารถบรรเทาอาการท้องอืด ท้องผูกลงได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินซี ดื่มน้ำให้เพียงพอ ลดเครื่องดื่มอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของนม และออกกำลังกายเบา ๆ อย่างพอเหมาะ ก็จะช่วยแก้ไขอาการนี้ได้ค่ะ

10. ตกขาวผิดปกติ

เมื่อมีการตั้งครรภ์ทั้งสรีระและฮอร์โมนในร่างกายก็มีการปรับตัวสูงขึ้น จึงส่งผลให้มี “ตกขาว” ในปริมาณที่มากขึ้นกว่าปกติ แต่อย่าเพิ่งตกใจถ้าลักษณะของตกขาวเป็นมูกเหลวสีขาวขุ่นหรือสีครีมก็ถือว่าเป็นสภาวะปกติที่ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด เนื่องจากบริเวณปากมดลูกและช่องคลอดจะมีการสร้างของเหลวออกมาเพื่อหล่อลื่นบริเวณปากช่องคลอดอยู่แล้ว เพียงแต่ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ควรดูแลรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้นจนก่อให้เกิดเชื้อรา แต่ถ้าหากตกขาวมีลักษณะผิดปกติไป เช่น มีสีเขียว สีเหลือง และมีอาการคันระคายเคืองร่วมด้วยอาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อบางอย่าง ซึ่งควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูนะคะ

ตั้งครรภ์
ตั้งครรภ์

เมื่อรู้ว่ากำลังท้อง ควรทำอย่างไร

  • ไปพบคุณหมอ เพื่อทำการทดสอบการตั้งครรภ์ให้แน่ชัด และเมื่อรู้ว่าท้อง คุณหมอจะแนะนำให้เข้าสู่ขั้นตอนการฝากครรภ์ นอกจากนี้ หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีปัญหาสุขภาพจิต หรือปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ควรปรึกษาคุณหมอ
  • รับประทานอาหารที่มีคุณประโยชน์ โดยเฉพาะกรดโฟลิก วิตามินที่สามารถพบได้ในผักใบเขียว เช่น กะหล่ำ คะน้า บร็อคโคลี่ รวมถึงผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว เพื่อช่วยเสริมสร้างและแบ่งเซลล์ตัวอ่อนในครรภ์ให้สมบูรณ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานกรดโฟลิกประมาณ 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นประจำ วันละประมาณ 30-45 นาที เช่น โยคะ ว่ายน้ำ อาจช่วยให้คุณแม่ตั้งท้องมีสุขภาพที่แข็งแรง
  • หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น เนื้อดิบ ปลาดิบ ไข่ที่ปรุงไม่สุก เพราะอาจทำให้คุณแม่ หรือเด็กในท้องเจ็บป่วยได้ เนื่องจากอาหารที่ปรุงไม่สุกอาจมีเชื้อแบคทีเรีย และพยาธิเจือปน
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากสารบางอย่างในบุหรี่ เช่น นิโคติน สารหนู หรือในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เอทานอล อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการเด็กในท้องได้

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

5 ความเชื่อผิดๆ ของแม่ตั้งครรภ์

10 ข้อห้าม คนท้องอ่อนๆ ต้องระวังอะไรบ้าง?

ตั้งครรภ์ 1 เดือน และพัฒนาการทารกในครรภ์

อาการของคนท้อง ตั้งแต่สัปดาห์แรกจนคลอด มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.pobpad.com, hellokhunmor.com, โรงพยาบาลศิครินทร์, www.bccgroup-thailand.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up