ปวดหลังหลังคลอด

ปวดหลังหลังคลอด สัญญาณร้าย “โรคโครงสร้างผิดปกติ”

Alternative Textaccount_circle
event
ปวดหลังหลังคลอด
ปวดหลังหลังคลอด

อาการ ปวดหลังหลังคลอด เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยกับแม่หลังคลอด ซึ่งอาการนี้เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะโครงสร้างกระดูกผิดปกติได้

ปวดหลังหลังคลอด สัญญาณร้าย “โรคโครงสร้างผิดปกติ”

หลังคลอดแล้ว แม่ ๆ ไม่ต้องแบกน้ำหนักของเจ้าตัวน้อยในครรภ์อีกแล้ว แต่ทำไมถึงยังปวดหลังอยู่นะ?  อาการแบบนี้คือเป็นเรื่องปกติหรือเปล่า? ปล่อยไว้จะหายได้เองหรือไม่? ทีมแม่ ABK มีคำตอบค่ะ

ปวดหลังหลังคลอด เพราะอะไร?

เมื่อแม่ท้องเริ่มตั้งครรภ์ ร่างกายคุณแม่ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เพื่อแบกรับน้ำหนักของทารกในครรภ์ รวมถึงเพื่อรองรับการคลอดบุตร ซึ่งนี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้แม่ท้องปวดหลัง และจะยิ่งปวดมากขึ้นเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น แต่เมื่อคลอดแล้ว ร่างกายคุณแม่ไม่ต้องแบกรับน้ำหนักของทารกในครรภ์อีกแล้ว แต่ร่างกายจะยังไม่ฟื้นตัวจากการตั้งครรภ์ในทันที ดังนั้น หากหลังคลอด ไม่มีการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี ก็จะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ปวดหลังหลังคลอด ได้ และหากยังปล่อยให้อาการปวดหลังเรื้อรัง ก็อาจทำให้โครงสร้างกระดูกผิดปกติ ข้อกระดูกเสื่อม หมอนรองกระดูกมีปัญหา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรืออาจถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้

โดยปกติแล้วในช่วงหลังคลอดร่างกายจะปรับสู่สภาพปกติได้ใน 1-2 เดือน แต่หากไม่ระวังอิริยาบถ คือมีลักษณะท่าทางการอุ้มลูกที่ผิด หรือท่าทางในการให้นมที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจส่งผลให้คุณแม่ปวดคอ และปวดกล้ามเนื้อหลัง รวมถึงความเหนื่อยล้าและความเครียดจากการดูแลลูกน้อยตลอด 24 ชั่วโมง ก็ยิ่งทำให้การฟื้นตัวหลังคลอดนั้นยากยิ่งขึ้น ดังนั้นนอกจากจะใส่ใจดูแลลูกน้อยแล้ว คุณแม่ก็ควรให้เวลากับการใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองด้วยเช่นกัน

โรคโครงสร้างกระดูกผิดปกติคืออะไร?

ระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูก (Musculoskeletal system) หมายถึง ระบบอวัยวะที่รวมเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นยึดข้อ เส้นประสาท และหลอดเลือดเลี้ยงเนื้อเยื่อกระดูก เยื่อหุ้มข้อกระดูกและข้อกระดูก หมอนกระดูกสันหลังและกระดูกโครงสร้างร่างกาย

ภาวะผิดปกติของกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นกลุ่มโรคที่มีสาเหตุมาหลายปัจจัย จากท่าทางซ้้า ๆ หรือ การออกแรงเกินกำลัง รวมทั้งท่าทางที่ฝืนธรรมชาติ ปัจจัยจากการทำงานเป็นสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น การทำกิจกรรมที่บ้าน ความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายที่มีอยู่เดิม ความเสื่อมตามอายุ หรือสภาวะทางจิตใจ เป็นต้น ซึ่งจะมีผลต่อความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกและกล้ามเนื้อได้เช่นกัน โดยอาการและสาเหตุที่เชื่อว่าเป็นสภาวะที่ก่อให้เกิดโรค ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  1. อาการปวดหลัง ปวดหลังส่วนล่าง เกิดจากการยกของหนักหรือผิดวิธี งานที่ต้องก้มหรือเอี้ยวตัวมาก ๆ
  2. เยื่อหุ้มข้อและปลอกเอ็นอักเสบ นิ้วล็อค นิ้วไกปืน นิ้วลั่น เชื่อว่าเกิดจากการทำท่าซ้ำ ๆ จนเกิดการเสียดสีซ้้าของเอ็นกับปลอกเอ็นโคนนิ้ว
  3. ปลอกเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณปลายยื่นกระดูกเรเดียส ความผิดปกติของเนื้อเยื่ออ่อนเนื่องจากการใช้งานมากเกินและแรงกดทับ ปลอกเอ็นกล้ามเนื้อที่มือและข้อมืออักเสบเรื้อรัง เกิดจากงานที่ต้องใช้แรง ท้าท่าเดิมซ้ำ ๆ และต้องบิดข้อมือผิดไปจากธรรมชาติ เมื่อต้องทำปัจจัยเหล่านี้ร่วมกัน ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น หลากหลายท่าทางที่เสี่ยง เช่น ใช้กรรไกรตัดวัสดุแข็ง ๆ ซ้ำ ๆ ใช้เมาส์คอมพิวเตอร์ซ้ำ ๆ นวดแป้งขนมปัง ใช้แรงบีบซ้ำ ๆ เจียระไนเพชรพลอยบิดข้อมือซ้ำ ๆ งานขัดวัสดุ บิดข้อมือซ้ำ ๆ
ปวดหลัง หลังคลอด
ปวดหลัง หลังคลอด

โรคโครงสร้างกระดูกผิดปกติสำหรับแม่หลังคลอด ควรรักษาอย่างไร?

เพราะโรคโครงสร้างกระดูกผิดปกตินี้ เกิดจากการทำท่าทางที่ฝืนธรรมชาติ หรือการออกแรงเกินไป สำหรับแม่หลังคลอด สาเหตุหลักที่ ปวดหลังหลังคลอด ก็คือการอุ้มลูกผิดท่า การให้นมผิดท่า การยกของหนัก และการทำนั่งทำอะไรนาน ๆ ดังนั้น การรักษาโรคนี้ จึงควรรักษาที่ต้นเหตุ คือ ป้องกันไม่ให้ปวดหลังนั่นเอง โดยมีวิธีป้องการอาการ ปวดหลังหลังคลอด ดังนี้

  1. จัดท่าทางการอุ้มลูกน้อยให้ถูกต้องและให้นมอย่างถูกวิธี โดยอุ้มลูกน้อยให้ใกล้ตัวมากที่สุดและอย่านั่งหลังงอ หากเมื่อยหรือเกิดอาการล้า ให้สลับแขนในการอุ้มเพื่อลดอาการปวด รวมถึงการเลือกใช้โต๊ะหรือเตียงที่มีความสูงในระดับที่พอเหมาะ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องก้มหรือโน้มตัวลงไปหาลูกมากจนเกินไป
  2. ออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นเอ็น ซึ่งจะช่วยยืดกล้ามเนื้อหลังที่หดเกร็งให้คลายตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเล่นโยคะ ถือเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยจัดท่วงท่าและปรับสมดุลของร่างกายได้เป็นอย่างดี เข้าใจดีว่าแม่หลังคลอด มักจะวุ่นกับการเลี้ยงลูก อาจหาเวลามาออกกำลังกายได้ยาก แต่คุณแม่ก็ควรแบ่งเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงมาออกกำลังกายบ้างนะคะ (อ่านต่อ รวม 10 ท่า ออกกำลังกายลดพุง สำหรับคุณแม่หลังคลอด)
  3. นวดบำบัด นวดประคบร้อน ร่วมกับการนวดด้วยน้ำมันสมุนไพร หรือน้ำมันที่มีกลิ่นหอมช่วยผ่อนคลาย ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดให้เบาลงได้
  4. กินแคลเซียมเสริม หรือดื่มนมเป็นประจำ รวมถึงเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินและเกลือแร่ควบคู่กันไปด้วย เพื่อช่วยเพิ่มมวลกระดูกให้แข็งแรง (อ่านต่อ 4 สูตร “อาหารหลังคลอด” คัดเฉพาะเมนูที่ปรุงง่าย ไม่ยุ่งยาก)
  5. นอนตะแคง เวลานอน แนะนำให้นอนตะแคง และเอาหมอนมารองสอดไว้ระหว่างขา
  6. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ไม่เอี้ยวตัว หรือก้มยกของหนัก เพราะอาจเป็นอันตรายต่อกระดูกสันหลัง และอาจทำให้กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาทได้

หากทำตาม 6 ข้อข้างต้นแล้ว อาการ ปวดหลังหลังคลอด ยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อการรักษาที่ถูกวิธีต่อไปนะคะ

ท่าอุ้มลูก
ท่าอุ้มลูก

อุ้มลูกอย่างไรไม่ให้ปวดหลัง?

แม่หลังคลอดอย่างเรา ๆ อย่างไรก็หลีกเลี่ยงการอุ้มลูกไม่ได้ แม้จะปวดหลังแค่ไหนก็ยังต้องอุ้ม ดังนั้น เราควรอุ้มลูกให้ถูกท่า เพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดหลัง ดังนี้

  1. เมื่อต้องยกลูกขึ้นจากเตียง ควรย่อเข่าลงแล้วยก ไม่ควรก้มตัวโน้มลงมายก เพราะการโน้มตัวลงมายก จะทำให้หลังใช้งานหนัก
  2. ใช้กำลังจากกล้ามเนื้อต้นขาตอนลุก แทนการใช้ส่วนหลัง
  3. เมื่ออุ้มลูก ควรยืนหลังตรง เข่าตรง ไม่เอนไปด้านหน้าหรือด้านหลังมากจนเกินไป
  4. ปรับเตียงเด็กที่ปลอดภัยและตรงกับอายุของลูก เมื่อลูกยังเล็ก ควรใช้เตียงเด็กที่ไม่เตี้ยจนเกินไป เพื่อที่คุณแม่จะไม่ต้องโน้มตัวลงไปอุ้มมากจนเกินไป
  5. เมื่อต้องอุ้มนาน ๆ การใช้เป้อุ้มเด็กที่ได้มาตรฐาน จะช่วยกระจายน้ำหนักของลูกไปที่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายคุณแม่ได้ดีกว่าการอุ้มด้วยมือเอง

ทั้งนี้คุณแม่ควรดูแลโครงสร้างร่างกายให้ดีตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการแบกรับน้ำหนักที่จะเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา 9 เดือน และควรให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูโครงสร้างร่างกายตั้งแต่ระยะ 1-2 เดือนหลังคลอด และไม่ควรทิ้งช่วงนานเกิน 3 เดือน เพราะอาการอาจสะสมจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้ค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ดูแลทารกแรกเกิด ตัดเล็บ อาบน้ำ ฯลฯ ครบจบในที่เดียว!!

อาการหนาวสั่นหลังคลอดลูก เกิดจากอะไร?

เจ็บนี้อีกนานมั้ย! แม่ ปวดฝีเย็บหลังคลอด จะบรรเทาอาการอย่างไร

กินไข่แล้ว แผลผ่าตัดคลอด หายช้า-เป็นรอยนูน..จริงหรือ?

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค, โรงพยาบาลเปาโล, โรงพยาบาลสมิติเวช

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up