การขู่ลูก

แม่แชร์เทคนิค การขู่ลูก ไม่ช่วยแก้ปัญหา อยากให้ลูกเชื่อฟังต้องใช้วิธีนี้!

event
การขู่ลูก
การขู่ลูก

การขู่ลูก ไม่ได้แปลว่าสอน แถมไม่ช่วยแก้ปัญหา! หากอยากให้ลูกเชื่อฟังอย่าขู่ลูก แต่ลองใช้วิธีอื่นดู ทีมแม่ ABK มีเทคนิคดีๆ จากคุณแม่ลูกสองมาแนะนำ หากไม่ให้ขู่ลูกจะทำยังไงดี?

แม่แชร์เทคนิค การขู่ลูก ใช้ได้ไหม? ถูกหรือผิดที่ขู่ลูก?

เชื่อว่ามีคุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายบ้านที่ชอบพูดขู่ลูก แม้จะเป็น การขู่ลูก พูดขู่เล่นๆ หรือแค่พูดเพราะอยากให้ลูกกลัว แต่นั่นอาจทำให้เด็กๆคิดจริง ซึ่งการขู่ให้ลูกกลัวถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการเลี้ยงลูกแบบผิด ๆ เป็นการทำร้ายลูกทางอ้อม แม้ช่วงแรกการขู่จะใช้ได้ผล ลูกเชื่อฟัง แต่ก็เป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น เพราะในระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อตัวลูกที่คุณอาจคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ดังนั้นเพื่อเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่ หากขู่ลูกไม่ได้ จะสามารถทำวิธีใดได้บ้างหรือควรพูดสอนลูกอย่างไรให้ลูกเชื่อฟัง ไม่ดื้อไม่ซน ทีมแม่ ABK มีเทคนิคดีๆ จากคุณแม่แพท เจ้าของเพจ Mrs. Melon’s Diary คุณแม่ลูกสอง (น้องนิสสาและน้องแซม) ที่เป็นทั้ง ครูและแม่ ซึ่พบงเจอเด็กๆ มาเยอะ รู้ว่าอะไรดีไม่ดี นิสัยไหนอยากให้ลูกมี หรือไม่มี ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มที่ขวบปีแรก เพราะหากช้ากว่านี้ก็สายแล้วอย่างที่เขาว่าจริงๆ

การขู่ลูก

โดยคุณแม่ได้เขียนเทคนิค การขู่ลูก ว่าไม่ควรทำไว้ ดังนี้!

รีรัน : “ขู่ลูก” ใช้ได้ไหม? ถูกหรือผิดที่ขู่ลูก?

ด้วยความที่ลูกมักจะอยู่ไม่สุขและก็ท้าทายตลอดเวลา บวกกับพูดรู้เรื่องแล้ว บางครั้งเวลาที่ลูกควบคุมยาก แพทก็อยากจะใช้คำพูดขู่ลูกเหมือนกัน เช่น “วิ่งกลับมาเดี๋ยวนี้นะ ไม่งั้นเดี๋ยวคนนั้นก็จับไปหรอก” ของแพทส่วนใหญ่มักจะรู้สึกอยากใช้ตอนที่ลูกวิ่งหนีค่ะ เพราะมันเกินเอื้อมและหยุดยากจริงๆ แต่…แพทก็ไม่ได้พูด เพราะแพทรู้ว่ามันไม่ดีต่อลูก

การขู่ลูก ไม่ได้แก้ปัญหา ไม่ได้สอนและไม่ได้กระตุ้นเรื่องความรับผิดชอบ

การขู่ หรือ หลอกเกินจริง ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ณ ตอนนั้น ขณะนั้น เช่น

“เดี๋ยวคนก็จับไปหรอก ไม่เห็นหน้าพ่อหน้าแม่เลยนะ”
“เดี๋ยวล้มหัวฟาดตายเลยนะ”

จะทำให้ลูกรู้สึกกลัว เขาจะรู้สึกไม่ไว้ใจโลก และจะทำให้ลูกคิดเลยเถิดไปสำหรับทุกเรื่อง กลายเป็นเด็กขี้กลัว 
เพราะสำหรับเด็ก แค่บอกว่า เดี๋ยวเจ็บ ร้องไห้แงๆ ก็พอแล้วค่ะ ไม่ต้องไปไกลถึงตายจากกัน

นอกจากนั้นเวลาที่เราใช้คำขู่ ลูกจะรู้สึกว่า เขาไร้ประสิทธิภาพที่จะควบคุมตัวเอง พ่อแม่เลยต้องควบคุมเขาด้วยคำขู่เหล่านี้

มิหนำซ้ำ คำขู่ที่ใช้ ถ้าสังเกตดู มันไม่ได้ผลนะคะ ถึงแม้ว่าวันนี้ ตอนนี้มันได้ผล แต่มันจะเปลี่ยนค่ะ ลูกจะเรียนรู้ที่จะไม่ฟัง ไม่เชื่อ ไม่สนใจ และพ่อแม่จะเรียนรู้ที่จะเลิกควบคุมลูก (ควบคุมไม่ได้แล้ว) โดยเฉพาะเมื่อเราขู่ในสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เช่น

“ทำไมทำแบบนี้ เดี๋ยวแม่จะเรียกตำรวจมาจับ”
“ไม่ยอมนอน เดี๋ยวผีมาหลอกแน่” 
“ไม่เก็บของ แม่จะเอาไปทิ้งให้หมดเลย”

แน่นอนว่าเมื่อลูกต่อต้านขึ้นมา พ่อแม่ไม่สามารถทำให้ตำรวจมาจับ หรือผีมาหลอกจริงๆ ได้ แต่ถ้าพ่อแม่ทำจริงๆ อันนี้ก็จะเกินเหตุไปหน่อย

การขู่ลูก ที่ทำร้ายความรู้สึก เช่น 
“ถ้าไม่เดินมา แม่จะทิ้งแล้วนะ” 
“แม่ไม่รักแล้ว ทำแบบนี้” 

จะทำให้ลูกรู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ ลูกควรจะรู้สึกว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พ่อแม่ก็ยังรักและจะดูแลตลอดเวลา นี่คืออย่างน้อยยยยยที่สุดที่พ่อแม่ควรทำให้ลูกได้ เพราะฉะนั้นไอ้พวกคำว่า ไม่รักแล้ว เบื่อแล้ว อะไรพวกนี้ แพทว่าเป็นคำที่แย่มากๆ เลิกพูดกันซะนะคะ

การขู่ลูก โดยใช้บุคคลที่ 3 เช่น 
“ดื้อแบบนี้ แม่จะบอกพ่อ เดี๋ยวพ่อกลับมา พ่อจะจัดการเราแน่” 
“ดื้อแบบนี้เดี๋ยวจะไปฟ้องครู ให้ครูจัดการ” 
“จะหยุดร้องไหม ไม่งั้นจะให้หมอจับฉีดยา” 

การขู่ลูก หรือใช้คำขู่แบบนี้ ในที่สุดลูกจะคิดได้ว่า อ๋อ แม่ไม่สามารถทำอะไรเราได้ จนกว่าพ่อจะกลับ จนกว่าจะเจอครู จนกว่าจะเจอหมอ ดังนั้นเขาสามารถจะซนเท่าไหร่ก็ได้ จนกว่าพ่อจะกลับมา หรือจนกว่าจะเจอครูอีกครั้ง มันจึงไม่ช่วยให้ชีวิตของคนขู่ดีขึ้นเท่าไหร่

นอกจากนั้น หากว่าพ่อกลับบ้านมาและมาดุลูกจริง ต่อไป ลูกจะรู้สึกเป็นกังวลว่าพ่อหรือครูหรือหมอจะดุเขาไหม เขาจะไม่ยินดีต้อนรับพ่อกลับบ้าน ไม่รู้สึกดีใจที่พ่อจะกลับบ้าน เพราะกังวลกลัวพ่อดุ

จริงๆ เราในฐานะพ่อแม่ ควรเป็นคนที่ลูกเคารพทั้งคู่ ไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง และมันไม่แฟร์เอาซะเลย ที่จะยัดความรู้สึกแย่ๆ จากลูก ไปให้ใครคนใดคนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้นด้วยซ้ำ

ทั้งหมดทั้งมวล ถ้าพลาดขู่ไปแล้ว และรู้สึกตัวว่าเฮ้ย เราไม่น่าพูดงี้กับลูกเลย ให้เราถอนคำพูดนะคะ ให้พูดต่อเลยค่ะว่า

“แม่ขอโทษค่ะ แม่พูดผิด แม่หมายถึง….” 

เพราะส่วนใหญ่ที่เราขู่ลูก เรามักจะไม่ได้คิดให้รอบครอบก่อนพูด หรือถ้าเราขู่และเราทำจริง แต่ว่ามันเป็นอะไรที่เกินกว่าเหตุ เราก็สามารถขอโทษลูกได้เช่นกันค่ะ บางทีแพทก็จำพูดว่า “ไม่เอาดีกว่า แม่ว่าแม่ก็เกินไปหน่อย เอาเป็นแค่… ดีกว่า”

วิธีอื่นๆ ที่สามารถช่วยได้แทน การขู่ลูก เช่น 

  1. ให้ตัวเลือก เช่น แทนที่จะพูดว่า “อย่าเอาไม้มาตีแม่ ไม่งั้นแม่จะเอาไปทิ้งเลยนะ” ลองเปลี่ยนเป็น “อย่าตีแม่ แม่เจ็บ เอาไปตีพื้น หรือตีหม้อแทนสิคะ”
  2. พูดอะไรที่เป็นไปได้ เช่น แทนที่จะพูดว่า “ถ้าไม่เก็บหนังสือ แม่จะเอาไปเผาทิ้งให้หมดเลย” เปลี่ยนเป็น “ถึงเวลาเก็บของแล้วค่ะ” สำหรับแพท ถ้าลูกไม่เก็บ แพทจะจับมือเก็บแล้วบอกว่า “ขอบคุณที่ช่วยแม่เก็บหนังสือค่ะ” (ชมพฤติกรรมดี)
  3. บอกลูกล่วงหน้า ว่าเราคาดหวังอะไรจากเขา เช่น “เดี๋ยวเราจะไปห้างกัน แม่อยากให้หนูนั่งบนรถเข็นเท่านั้นนะคะ” พอไปถึงห้าง ก็ให้ถามลูกซ้ำว่า เดี๋ยวลูกจะต้องนั่งตรงไหนคะ เวลาแม่ซื้อของ? เมื่อถึงเวลาที่ลูกงอแง ไม่ให้ความร่วมมือ เราสามารถบอกลูกว่า “ถ้าหนูนั่งบนรถเข็น แม่ก็จะให้หนูเลือกซีเรียลเองได้ 1 อย่าง แต่ถ้าไม่นั่ง เราก็คงจะต้องยืนรอจนกว่าลูกจะนั่ง ซึ่งแม่ว่ามันน่าจะเบื่อสำหรับหนูมากเลย” และถ้าหากลูกยังไม่ยอมนั่งอีก เราก็สามารถที่จะยืนอยู่ที่จุดๆ เดิมจนกว่าลูกจะเบื่อและยอมนั่ง อย่าลืมว่าเราเป็นผู้ใหญ่ เรามีความอดทนมากกว่าเด็กมาก การเผื่อเวลาไว้เยอะๆ จะทำให้เราสามารถรอลูกได้จนกว่าลูกจะยอมทำตาม
  4. รู้จักขีดจำกัดของลูก เช่น ถ้าวันนี้ลูกเหนื่อยมากทั้งวันแล้ว การไปนั่งกินมื้อเย็นนอกบ้าน และคาดหวังให้ลูกนั่งที่เก้าอี้กินเรียบร้อยอาจจะไม่ใช่ความคาดหวังที่เหมาะสม เราต้องเลือกศึกที่จะรบกับลูก ไม่ใช่สู้กันไปทุกเรื่อง

โดยส่วนตัวแพทจะไม่ขู่ลูกเลยค่ะ ทุกอย่างที่พูด เป็นสิ่งที่ทำได้จริง ไม่ได้แปลว่าแพทยอมให้ลูกทุกอย่าง กฎและสิ่งที่ต้องทำ ก็ยังคงต้องทำ และบอกชมแบบเจาะจงทุกครั้งที่ลูกทำตามที่ขอ

“แม่จะไปแล้วนะ” และเริ่มเดินนำไปเลย ลูกจะวิ่งตาม ถ้าเรารู้อยู่แล้วว่าลูกเหนื่อย คงเดินไม่ไหว ก็จะตัดสินใจอุ้มแต่แรกค่ะ

“ไม่กินแล้วใช่ไหม แม่จะเก็บแล้วนะ ไว้หิวแล้วค่อยมาบอกใหม่แล้วกัน” แพทก็จะเก็บอาหารไปเลย และพอหิวเขาก็จะมาขอกินเอง ถ้ามันเสียแล้ว กินไม่ได้แล้ว เขาก็ต้องยอมรับว่าเขาจะอดกิน

“มาแต่งตัว” แต่ลูกวิ่งหนี อันนี้แพทก็จะไม่เรียก จะหันหน้าหนี ไม่สบตา และลูกจะวิ่งมาดูเองว่าแม่ทำอะไร 555

“ไปอาบน้ำ แปรงฟัน” แต่วิ่งหนี ถ้าแพทไม่มีเวลามาหลอกล่อ แพทก็จะพาจูงเข้าไปอาบน้ำแบบร้องไห้นั้นแหละค่ะ และก็ค่อยหาของเล่น แปรงสีฟันอะไรในห้องน้ำเบี่ยงเบนความสนใจให้เล่น

ที่มา : www.babycenter.com

 

จะเห้็นได้ว่า การขู่ลูก นอกจากไม่ได้เป็นการสอนแล้วยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี เพื่อหยุดลูกอีกด้วย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถลองนำเทคนิคของคุณแม่แพทไปปรับใช้กันได้นะคะ ได้ผลเช่นไรอย่าลืมมาเล่าให้ทีมแม่ ABK ฟังด้วยนะคะ


ขอบคุณบทความดีๆ จากคุณแม่แพท เจ้าของเพจ Mrs. Melon’s Diary

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิกที่ภาพได้เลย 

How to สอนลูกให้มีระเบียบวินัย ต้องไม่ตี ไม่ขู่ ไม่เกิดผลเสียในระยะยาว

ลงโทษ Time out!! วิธีการนี้ดีหรือไม่…ลูกจะรู้สึกอย่างไร?

ลูกฉลาด หรือไม่ ดูที่พ่อแม่จริงหรือ!?

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up