asian parents สอนลูก แบบเข้มงวดดีจริงหรือ

สอนลูก สไตล์เอเชีย แบบให้อยู่แต่ในโอวาท ดีจริงหรือ

Alternative Textaccount_circle
event
asian parents สอนลูก แบบเข้มงวดดีจริงหรือ
asian parents สอนลูก แบบเข้มงวดดีจริงหรือ

สอนลูก แบบเข้มงวดเหมือนดั่งค่านิยมของชาวเอเชีย (Asian Parents) ลูกเชื่อฟังอยู่ในโอวาทแล้วจะดีกับลูกจริงหรือ มาดูข้อดีข้อเสียกับวัฒนธรรมการเลี้ยงดูแบบนี้กัน

สอนลูก สไตล์เอเชีย แบบให้อยู่แต่ในโอวาท ดีจริงหรือ?

Asian Parents ความหมายก็คือ พ่อแม่ผู้ปกครองชาวเอเชีย แล้วทำไมถึงต้องแบ่งความเป็นพ่อแม่ตามเชื้อชาติกันด้วยล่ะ เพราะคำ  ๆ นี้มักจะใช้สื่อถึงความเข้มงวด ค่อนไปทาง Toxic หน่อย ๆ ของการเลี้ยงดู สอนลูก ในสไตล์ของคนเอเชีย ไม่เพียงแค่คนไทยเท่านั้น เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่คนเอเชียมักอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ มีสายสัมพันธ์ครอบครัวกันมาเป็นรุ่น ๆ ไล่เรียงกันแทบไม่หมด

วัฒนธรรมเอเชียมีชื่อเสียงในด้านการเป็นผู้ให้บริการ คนเอเชียใจดี ยิ้มแย้ม รักการบริการ ดังนั้นบทบาทการเป็นผู้ปกครอง พ่อแม่ของพวกเขาก็เช่นกัน มักจะเป็นพ่อแม่แบบนักจัดหา ในเรี่องความต้องการทางร่างกายของลูก เช่น อาหาร เสื้อผ้า การเรียน การตัดสินใจ เรียกได้ว่าวัฒนธรรมของชาวเอเชียส่วนใหญ่มักจะจัดเตรียม จัดหามาให้พร้อม โดยที่ไม่ค่อยใส่ใจในความรู้สึก หรือความคิดอ่านของลูกมากนัก อาจด้วยเพราะโครงสร้างระบบครอบครัวที่ยึดถือลำดับชั้นอาวุโส ได้รับการสั่งสอนให้ “ฟังและเชื่อฟัง”

โครงสร้างครอบครัวใหญ่ของ Asian Parents
โครงสร้างครอบครัวใหญ่ของ Asian Parents

 

ในสังคมสมัยก่อน มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับความสำเร็จในชีวิต การมีหน้าที่การงานที่ดี การเรียนที่มีผลการเรียนดี ดังนั้นการจัดเตรียม วางกรอบชีวิตของลูก จึงทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองรู้สึกได้ถึงความสำเร็จ และเป็นไปตามที่คาดหวัง เป็นการตอกย้ำความคิดที่ว่าการเลี้ยงดูลูกแบบเข้มงวด คิดแทนให้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถูกทางแล้ว แต่ในปัจจุบันเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป เริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตที่ดี มุ่งเน้นการมีความสุขในชีวิตมากกว่าความเป็นที่หนึ่ง อาจเนื่องด้วยสังคมเริ่มเกิด และเล็งเห็นปัญหาทางด้านสุขภาพจิตของเด็กที่มีมากขึ้น เช่น สถิติการฆ่าตัวตาย การที่เด็กมีปัญหาทางจิต และมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เป็นต้น

คุณกำลังเป็นพ่อแม่แบบ Toxic อยู่หรือเปล่า?

เมื่อความเป็นพ่อแม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวของลูก แม้ว่าเรื่องนั้นผู้ใหญ่อาจจะมองข้าม และไม่ให้ความสำคัญนัก โดยมีแนวความคิดว่า ลูกเป็นกรรมสิทธิ์ของพ่อแม่ ซึ่งแท้จริงแล้วการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความรู้สึกกับเด็กในแบบที่ว่า รู้ว่าพ่อแม่ทำไปเพราะรัก และหวังดี แต่เขาไม่สามารถสัมผัสถึงความรักนั้นได้ ทำให้เกิดความสับสนทางใจ และขาดความเชื่อโยงทางอารมณ์ที่จะสานต่อเป็นความผูกพันได้

ก่อนที่ความหวังดี ความรักของพ่อแม่จะส่งผ่านไปไม่ถึงลูก เรามาเช็กกันดูเสียหน่อยว่าเรากำลังมีพฤติกรรมของ พ่อแม่ Toxic อยู่หรือไม่

  • กำหนดทิศทางในชีวิตลูก

ไม่ให้อิสระในการตัดสินใจในชีวิตของลูก บางคนอาจเข้าใจผิดว่าอำนาจในการตัดสินใจนั้นเราจะมอบให้เมื่อลูกโตพอแล้วเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว พ่อแม่ควรฝึกลูกให้รู้จัก และทดลองตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยค่อย ๆ ปล่อยให้เขามีสิทธิ์ในการเลือกด้วยตัวเขาเอง จากเรื่องเล็ก ๆ ไปจนถึงเรื่องสำคัญมากขึ้นทีละน้อย โดยมีพ่อแม่เป็นที่ปรึกษา ไม่ใช่ผู้กำหนด และควบคุมทิศทาง

สอนลูก แบบเข้มงวด เน้นผลลัพธ์มากกว่าความสุข
สอนลูก แบบเข้มงวด เน้นผลลัพธ์มากกว่าความสุข
  • เข้มงวดจนขาดอิสระ

เมื่อใดที่คุณเป็นพ่อแม่ที่เข้มงวด นั่นแสดงว่า คุณกำลังเป็นพ่อแม่ที่ไม่ไว้วางใจในตัวลูกเลย การที่คุณเข้มงวดกับลูกเสียจนเขารู้สึกขาดอิสระ จนทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดเมื่อต้องอยู่กับพ่อแม่แล้ว ยังเป็นการกระทำที่สร้างปัญหาในเรื่อง การเห็นคุณค่าในตนเองของลูก อีกด้วย เพราะนั่นคือ การที่เราไม่เคารพในการตัดสินใจของเขา และตัดสินไปเสียแล้วว่าลูกไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน จึงต้องทำตามที่พ่อและแม่วางไว้ กำหนดให้เท่านั้น

  • รุกล้ำความเป็นส่วนตัว

เด็กไม่ใช่สิ่งของ ดังนั้นเขามีความคิดอ่าน ความต้องการเป็นของตนเอง พ่อแม่จึงควรมอบความเป็นส่วนตัว และเคารพในความเป็นส่วนตัวนั้น ๆ ของลูก ไม่ควรไปละเมิดข้าวของส่วนตัว หรือแม้แต่เวลาส่วนตัวของลูก เพียงเพราะคำว่า ลูกห้ามมีสิ่งใดปิดบังพ่อแม่ เช่น การแอบอ่านสมุดไดอารี่ของลูก การเข้าห้องส่วนตัวของลูกโดยที่ไม่ได้เคาะห้องขออนุญาต เข้าห้องมาโดยพละการ เป็นต้น ซึ่งความกังวลใจของพ่อแม่ที่กลัวลูกมีเรื่องปิดบัง และเรื่องนั้นอาจเป็นเรื่องอันตรายต่ออนาคตของเขา เราสามารถทำให้ลูกเปิดเผยเรื่องราวของตนเองให้พ่อแม่ได้รับรู้ด้วยการเป็น safe zone เป็นพ่อแม่ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเขา เวลาลูกมีปัญหาใด ๆ เขาต่างหากที่จะเป็นฝ่ายอยากเข้ามาปรึกษา บอกกล่าวเราเองโดยที่เราไม่ต้องไปละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกเลย

4 สิ่งที่พ่อแม่ควรมอบให้ลูกเพื่อให้เขาสัมผัสได้ถึงความรักของเรา

 1. เข้าใจ   

คือความความเข้าใจในความเป็นเขา เข้าใจในตัวตนของลูกในแบบที่ลูกเป็น และต้องรับรู้ได้ว่า เด็กก็มีหลากหลายอารมณ์ในโลกของเขาเช่นกัน เพราะผู้ใหญ่มักมองว่าโลกของเด็กเป็นโลกแห่งความสนุกสนาน จึงรับรู้ได้เพียงว่าเด็กไม่มีความทุกข์ ไม่มีความโกรธ ความคับข้องใจ เหมือนดั่งผู้ใหญ่หรอก จึงทำให้พ่อแม่ไม่สามารถเป็นที่ปรึกษาที่ดีแก่ลูกได้ เพราะความที่เราสร้างกำแพงมากั้นเขาไว้เสียก่อนแล้ว เช่น จะคิดมากไปทำไมเรื่องแค่นี้เอง ไร้สาระ เป็นต้น

สอนลูก คำชมเชย คำปลอบใจ ต้องมี
สอนลูก คำชมเชย คำปลอบใจ ต้องมี

 2. ชมเชย และปลอบโยน

สำหรับครอบครัวคนชาวเอเชีย มักมีความเชื่อผิด ๆ อยู่สิ่งหนึ่งว่า การชมเชยเด็กจะทำให้ลูกเหลิง นั่นเป็นความผิดพลาดมหันต์ เพราะมนุษย์เรานั้นย่อมต้องการกำลังใจ การได้รับความยอมรับนับถือในตัวตน เรียกได้ว่าเป็นอาหารทางใจเลยก็ว่าได้ การที่พ่อแม่รู้จักใช้คำพูดที่เหมาะสม ชมเชยเมื่อลูกทำสำเร็จ หรือปลอบประโลมเมื่อเขาพลาด อย่างจริงใจ ก็จะช่วยเขารู้สึกได้ถึงความรักที่พ่อแม่มีให้แก่เขา และที่สำคัญลูกจะสัมผัสแห่งรักนั้นได้อีกด้วย เช่น “ทำไมลูกไม่ระวังให้มากกว่านี้!” หรือ “ลูกทำอะไรลงไป!” หรือ ” คะแนนสอบก็ใช้ได้แต่แม่ว่ามันน่าจะดีกว่านี้อีก” เป็นต้น คำพูดเหล่านี้นอกจากจะซ้ำเติมลูก ยังไม่สามารถสื่อสารความรู้สึกรัก และห่วงใยของพ่อแม่ไปถึงเขาได้ ลูกอาจไม่เห็นพ่อแม่เป็นที่หลบภัยอีกต่อไปในเหตุการณ์ในอนาคต

 3. safe zone 

จงเป็นพ่อแม่ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยทางอารมณ์ให้แก่ลูก การเป็น safe zone ให้กับลูกนั้น ทำได้โดยการ “รับฟัง” เพราะเมื่อลูกเกิดปัญหาบางครั้งเขาเพียงแค่ต้องการคนคอยนั่งฟังความรู้สึกของเขาเงียบ ๆ ไม่ตัดสิน คำว่า ไม่ตัดสิน เป็นส่วนสำคัญของการเป็น safe zone ความปลอดภัยในแง่ของเด็กสามารถแบ่งปันอารมณ์อ่อนไหวของตนเองกับพ่อแม่ผู้ปกครองได้ หากเด็กไม่สามารถบอกความรู้สึกของตนเองได้ เพราะกลัวว่าจะถูกเยาะเย้ย ตำหนิ หรือดูถูกดุ เด็กจะไม่สามารถสัมผัสถึงความผูกพัน ความรักของพ่อแม่ได้

แม้เป็นเด็กก็มีหลายอารมณ์ เศร้า โกรธ ดีใจ สอนลูก ให้จัดการอารมณ์ให้ได้
แม้เป็นเด็กก็มีหลายอารมณ์ เศร้า โกรธ ดีใจ สอนลูก ให้จัดการอารมณ์ให้ได้

4. ความมั่นคงทางอารมณ์ 

พ่อแม่ควรเน้นตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของลูกไม่ให้สับสน อย่าตีความพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกกับเราผิดไปจากความต้องการของลูกไปไกล ลูกจะผิดหวัง เสียใจ โกรธ และหงุดหงิดกับพ่อแม่ซึ่งอาจจะมีพฤติกรรมที่ดูไม่เหมาะสมไปบ้าง แต่นั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา เขาสามารถสบายใจในการแสดงอารมณ์เหล่านั้นออกมาได้ ลูกไว้วางใจพ่อแม่มากพอ แต่เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยระหว่างลูกกับพ่อแม่ที่ต้องคอยรับอารมณ์เหล่านั้น พ่อแม่สามารถรอ และให้เวลา ให้พื้นที่กับลูกในการประมวลผลอารมณ์เหล่านั้น และตรวจสอบความรู้สึกของตัวเองให้เข้าใจเสียก่อน (หากลูกไม่สามารถมองเห็นได้ เราสามารถ สอนลูก ชี้ให้เห็นถึงอารมณ์เขาในขณะนั้นได้เช่นกัน) แล้วพ่อแม่จึงมาพูดคุยถึงกติกา และพฤติกรรมที่เหมาะสมในการจัดการอารมณ์ของลูกเมื่อเกิดขึ้นในครั้งต่อไป

การเป็น Asian Parents ครอบครัวเอเชีย ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะมีพฤติกรรม การ สอนลูก ในแบบที่ไม่เหมาะสม สอดคล้องกับเด็กเสมอไป เพราะเด็กแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันไป ในพื้นฐานอารมณ์ และพฤติกรรมของเด็กบางคนอาจสอดคล้อง และจัดการรับมือทั้งความต้องการของตนเอง และของพ่อแม่ได้อย่างลงตัว การที่มีวัฒนธรรมการเลี้ยงดูแบบคนเอเชียจึงมิได้มีปัญหาใด ๆ ต่อเขา จึงไม่สามารถสรุปโดยรวมได้ว่า การเลี้ยงดูแบบไหนดีกว่ากัน เพียงแค่เราควรนำสิ่งที่ดีของแต่ละแบบอย่างมาปรับใช้ให้เข้ากับครอบครัวของเราให้ได้อย่างลงตัว และเหมาะสม เพื่อให้ทุกคนเดินกันไปได้อย่างมีความสุข และก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เพราะสถาบันครอบครัวเป็นหัวใจหลักของสังคม

ข้อมูลอ้างอิงจาก www.jeban.com / www.psychologytoday.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up