ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้

ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้ อ่าน! 3 เทคนิคเชิงบวกฝึกลูกเล็ก ควบคุมอารมณ์ โตไปไม่ก้าวร้าว

event
ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้
ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้

ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้ พ่อแม่อ่านด่วน!! อาจารย์ปนัดดา ธนเศรษฐกร แนะวิธีสร้างวินัยเชิงบวก ฝึกลูกเล็กควบคุมอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง แบบได้ผล! ต้องทำยังไง ตามมาดูกันเลย

ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เสี่ยงโตไปก้าวร้าว

การควบคุมอารมณ์ เป็นทักษะที่ต้องฝึกตั้งแต่ลูกยังเล็ก หากปล่อยไว้ ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้จะกลายเป็นคนที่ทำอะไร “ตามอารมณ์” ก้าวร้าว โวยวาย หรือเก็บกดอย่างถาวรได้

“ทำไมอยากได้อะไรก็ต้องร้องไห้ ขัดใจทีไรเป็นต้องโวยวายทุกที บอกให้พูดดีๆ ก็เอาแต่ร้องกรี๊ด โวยวาย!” คุณพ่อคุณแม่เคยมีคำถามเหล่านี้วนเวียนอยู่ในหัวบ้างไหมคะ? ในเวลาที่ลูกอยากได้อะไรหรือไม่ได้ดั่งใจ ทำไมเด็กๆ ถึงจะต้องแสดงเสียใหญ่ มีสีหน้า ท่าทางที่เว่อร์วังซะขนาดนั้น

สาเหตุก็เพราะว่ามันเป็น “Feeling” ของลูกค่ะ! ซึ่งก็คือ ความรู้สึกไม่พึงพอใจ ที่สมองส่วนอารมณ์ของลูกมีระบบการทำงานที่สามารถตรวจจับได้อย่างว่องไว ประมวลผลได้รวดเร็วและสั่งการเป็นพฤติกรรมตอบสนองได้อย่างฉับพลัน (Limbic System) โดยสมองส่วนอารมณ์นี้จะเจริญเติบโตเต็มที่ตั้งแต่แรกคลอด และมีพัฒนาการเต็มที่ตั้งแต่ลูกยังเป็นทารกแบเบาะ หน้าที่หลัก คือ การเรียนรู้และจดจำ เพื่อช่วยให้สามารถปรับตัว และมีชีวิตอยู่รอดได้ จึงกล่าวได้ว่า ลูกต้องอาศัยสมองส่วนนี้ตั้งแต่เกิด เพื่อปรับพฤติกรรมตนเองให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ ลูกของเราจึงรู้จักประจบเมื่ออยากได้ของ ยอมทำตามได้เมื่อกลัว ต่อรองเก่งเมื่อถูกขัดใจ และยียวนกวนอารมณ์เป็นเมื่อไม่พอใจ

และเหนือสิ่งอื่นใดสมองส่วนอารมณ์ของลูกจะมีระดับความต้องการมากขึ้น หลากหลายขึ้น และสลับซับซ้อนขึ้นตามอายุของเขาซึ่งก็หมายความว่า เมื่อลูกโตขึ้น ทั้งคุณพ่อคุณแม่และทั้งตัวลูกเอง จะต้องเตรียมรับมือกับอารมณ์ ความรู้สึกและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ เช่น สามารถจัดการกับความรู้สึก โกรธ กลัว และเสียใจมากในเวลาเดียวกันได้ ไม่เช่นนั้นแล้วสมองส่วนอารมณ์ก็จะสั่งการให้ระเบิดความอัดอั้นตันใจนั้นออกมาเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทันที ซึ่งหากปล่อยให้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงแรกเกิดถึง 6 ขวบ ก็จะกลายเป็นนิสัยก้าวร้าวถาวรหรือเก็บกดถาวรได้

ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้

วิธีการช่วยฝึกลูกเล็กให้ควบคุมอารมณ์ และแสดงออกอย่างเหมาะสม

ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ลูกแผดเสียงร้องไห้ ก้าวร้าว โวยวาย ต่อต้าน ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น หรือทำลายสิ่งของเมื่อรู้สึกไม่พอใจ แสดงว่าลูกกำลังส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่ว่า ให้ช่วยควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของลูกที!

เพราะการควบคุมอารมณ์และความรู้สึก นั้นเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับเด็กๆ เนื่องจากเป็นความสามารถที่ไม่ได้ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่เป็นทักษะที่ต้องอาศัยการสอนและการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกที่นำมาแนะนำ มีผลวิจัยรับรองในประเทศไทยแล้วว่า หากทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ จะสามารถช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สอนลูกให้ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ตั้งแต่วัยแบเบาะจนโต

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

ขั้นตอนที่ 1 แสดงความเข้าใจ

คือการแสดงความเห็นใจลูก และแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกและความต้องการของเขานั้นมีความสำคัญด้วยการบอก “ชื่อ” อารมณ์ หรือความรู้สึกของลูก รวมถึง “พฤติกรรม” ที่ลูกแสดงออกมา เช่น

“แม่เข้าใจว่าหนูรู้สึกง่วงนอน หนูเลยหงุดหงิดง่าย พอคุณยายให้หนูสวัสดี หนูจึงไม่ทำ และร้องไห้โยเย”

“พ่อรู้ว่ามันยากที่จะเลิกเล่นตอนที่หนูกำลังสนุก หนูยังอยากเล่นต่อ พอพ่อให้หนูไปอาบน้ำ หนูเลยร้องกรี๊ดและปาของเล่นใส่พ่อ”

ขั้นตอนที่ 2 ให้ลูกตัดสินใจเมื่อพร้อม

คือ การสอนพฤติกรรมที่เหมาะสมให้กับลูก โดยการบอกลูกว่า พฤติกรรมที่ลูกแสดงออกมา ทำให้เข้าใจว่าตอนนี้เขายังไม่พร้อม และพร้อมเมื่อใด ให้เขาแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น

“แม่เข้าใจว่าหนูยังไม่พร้อม คุณยายรอได้ หนูพร้อมเมื่อใด หนูเดินไปสวัสดีคุณยายนะคะ”

“พ่อรู้หนูยังไม่พร้อม พ่อรอได้ หนูพร้อมเมื่อใด หนูเก็บของเล่น ขอโทษพ่อ แล้วไปอาบน้ำกับพ่อนะลูก”

ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้

ขั้นตอนที่ 3 แสดงความชื่นชม พอใจ

คือ การชมเชย หรือ ขอบคุณลูก เมื่อลูกสามารถควบคุมอารมณ์ได้ และแสดงให้เห็นว่าพร้อม โดยการแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น

“ขอบคุณมากที่หนูแสดงให้แม่เห็นว่าหนูพร้อม หนูเก่งมาก! ที่หนูสามารถควบคุมอารมณ์ของหนู และสวัสดีคุณยายได้สำเร็จ”

“พ่อดีใจมากที่หนูแสดงให้เห็นว่าหนูพร้อมด้วยการขอโทษพ่อและเก็บของเล่น เยี่ยมมาก! ลูกพ่อควบคุมอารมณ์ตัวเองได้แล้ว”

 

หาก ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้ การใช้เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกตามขั้นตอนนี้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยความรู้สึก (Learning by Feeling) กล่าวคือ ลูกจะได้เรียนรู้ชื่ออารมณ์ความรู้สึกไม่พึงพอใจและชื่อพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่แสดงออกมาตามความรู้สึกนั้น การแสดงความเข้าใจจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ลดความรู้สึกคับข้องภายในจิตใจ และทำให้เกิดความตระหนักในอารมณ์ความรู้สึก และพฤติกรรมของตนเองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ทั้งคำศัพท์ของอารมณ์ความรู้สึก และความรู้สึกตอนที่จัดการกับอารมณ์ตัวเองนั้นจะถูกเก็บเป็นประสบการณ์ เมื่อเราสอนและให้โอกาสลูกได้ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ประสบการณ์ที่สะสมไว้ก็จะกลายเป็นทักษะ ทำให้เขาสามารถคิด ตัดสินใจ และควบคุมอารมณ์ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมมากขึ้นจนติดเป็นนิสัยนั่นเอง

ว่าแต่ตอนนี้คุณพ่อคุณแม่พร้อมใช้เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก 3 ขั้นตอนนี้
รับมือกับพฤติกรรมของ ลูกควบคุมอารมณ์ไม่ได้  หรือ ที่เรียกว่า “มันเป็น Feeling” กันแล้วหรือยังคะ?

บทความโดย : ผศ.ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร  อาจารย์สาขาพัฒนาการมนุษย์
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว  มหาวิทยาลัยมหิดล


ข้อมูลอ้างอิงจาก : Thanasetkorn, P.**, Chumchua, V. Suttho, J., & Chutabhakdikul, N. (2015). The preliminary research study on the impact of the 101s: A guide to positive discipline parent training on parenting practices and preschooler’s executive function. ASIA-PACIFIC Journal of Research in Early Childhood Education, 9(1), pp. 65-89.
Jutamard Suttho*, Vasunun Chumchua, Nuanchan Jutapakdeekul, Panadda Thanasetkorn**. The impact of the 101s: A Guide to positive discipline parent training on parenting practices and preschooler’s executive function. The 2ndASEAN Plus Three Graduate Research Congress (AGRC). 2014;255

อ่านต่อบทความอื่นๆ น่าสนใจ คลิกที่ภาพด้านล่าง ⇓

10 วิธีฝึกลูกให้ “กล้าแสดงออก” อย่างเหมาะสม ไม่ก้าวร้าว

10 เคล็ดลับปรับพฤติกรรมลูก ก้าวร้าว พ่อแม่ยุคใหม่ต้องเข้าใจและพร้อมรับมือ

ลูก 3 ขวบ เอาแต่ใจ ดื้อรั้น ก้าวร้าว เจ้าอารมณ์ แม่ต้องรับมือยังไง?

วิธีรับมือเมื่อลูกน้อยก้าวร้าว พูดจารุนแรง

สอนลูกให้รู้จักความแตกต่าง หนูไม่ต้องเหมือนใคร เป็นตัวเองก็ดีมากพอแล้ว

วิธีบอกรักลูก ฉบับง่าย! แม้ไม่มีคำว่า “รัก” แต่ลูกรับรู้ได้!!

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up