time out vs time in

time in vs time out คือ การลงโทษอย่างไรให้เหมาะสมกับลูกคุณ!

Alternative Textaccount_circle
event
time out vs time in
time out vs time in

time out คือ วิธีการลงโทษ หยุดพฤติกรรมเมื่อลูกดื้ออย่างได้ผล แต่หากคุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีนี้แล้วลูกเกิดปัญหา มาลองวิธี time in เทคนิคที่ รร.มอนเตสซอรี่ใช้กันดูไหม

time in vs time out คือ การลงโทษอย่างไรให้เหมาะสมกับลูกคุณ!

เมื่อลูกน้อย กลายร่างเป็นวายร้ายจอมดื้อ คุณพ่อคุณแม่มีวิธีการจัดการอย่างไรกันนะ?

เป็นเรื่องปกติธรรมชาติที่เด็กต้องมีช่วงอารมณ์ดี และอารมณ์ร้าย เพราะเขากำลังเติบโตไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้การจัดการกับพฤติกรรมของตนเองให้เข้ากับสังคม และความต้องการของตัวเอง ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่เห็นลูกแสดงอารมณ์ หรือพฤติกรรมในอีกด้านที่ไม่น่ารักเอาเสียเลย อย่าเพิ่งไปดุด่าว่ากล่าวลูก หรือลงโทษใด ๆ ไปเสียก่อน หากคุณยังไม่ได้รู้จักวิธีการปรับพฤติกรรมเด็กด้วยวิธีtime outและ time in เสียก่อน

เมื่อลูกดื้อ…คุณลงโทษลูกแบบไหน?

ต้องยอมรับว่า ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่คงไม่ได้มีช่วงเวลาเป็นนางฟ้า หรือเทวดาตัวน้อยตลอดเวลา เมื่อไรก็ตามที่เขาซน ดื้อ ไม่ฟังคุณ จนคุณพ่อคุณแม่เริ่มหงุดหงิด ลองมาทบทวนตัวเองกันดูดีไหม ว่าเราเลือกทำแบบใด

  1. ทนไม่ได้ ตวาดเสียงดังใส่ลูกทันที
  2. พูดไม่เชื่อก็ต้องมีสักป๊าบเบา ๆ เพื่อให้จำ
  3. เดินหนีไป ปล่อยลูกอยู่ตรงนั้นคนเดียว
  4. ทำทุกข้อ

    คุณลงโทษลูกแบบไหนกัน
    คุณลงโทษลูกแบบไหนกัน

ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ที่เข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่ง หรือทุกข้อที่กล่าวมา คุณกำลังสอนให้ลูกมีภาพจำของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเสียเอง และอาจนำไปสู่การเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาก้าวร้าวต่อไปได้

ผลการสำรวจพบว่า 3 ใน 4 ของพ่อแม่จะตะโกน กรีดร้องใส่ลูกหนึ่งครั้งต่อเดือน จิตแพทย์กล่าวว่า การขึ้นเสียง หรือส่งเสียงดังเพื่อดึงความสนใจให้ลูกฟังหรือเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้ผล เพราะการทำเช่นนั้น เป็นเหมือนการปิดประตูการสื่อสาร “ทันทีที่คุณเริ่มส่งเสียงดัง พวกเด็กๆ ก็จะเริ่มเข้าสู่โหมดชัดดาวน์”

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่า เด็กที่มักโดนพ่อแม่ตะคอกอยู่เสมอมีแนวโน้มจะมีปัญหาด้านพฤติกรรม มีอาการซึมเศร้า และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีความพึงพอใจในความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

♥♥♥โปรดลงโทษลูกด้วยความรัก♥♥♥

นักจิตวิทยาแนะนำว่า เมื่อใดก็ตามที่ลูกเริ่มแผลงฤทธิ์ ทางที่ดีให้คุณกระซิบ เพราะวิธีการสื่อสารแบบนี้ต่างจากที่พวกเขาได้ยินตามปกติ พวกเขาจะหยุดพูดและสนใจฟังคุณ ก็เพราะเด็กๆ อยากรู้มากๆ น่ะสิว่าคุณพูดอะไร

สิ่งสำคัญประการก็คือ การเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ที่พ่อแม่ควรรู้ว่าลูกของเราเป็นเด็กอย่างไร ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุหรือไม่ หรือพื้นฐานเอาแต่ใจตัวเองหรือไม่ ถ้าพ่อแม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก การจัดการก็ต้องคำนึงถึงธรรมชาติของเด็กด้วย เป็นเทคนิคของคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องรู้ให้เท่าทันและมีไหวพริบให้เท่าทันลูกน้อยด้วย เพราะบางครั้งลูกของเราสองคน ทำผิดเรื่องเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้วิธีการลงโทษแบบเดียวกันแล้วจะได้ผลเหมือนกัน

การลงโทษทุกครั้ง ลูกจะรับรู้และสัมผัสได้ว่าการลงโทษของพ่อแม่ เป็นการลงโทษด้วยอารมณ์โกรธหรือความรัก เป็นการลงโทษด้วยอารมณ์ชั่ววูบหรือระงับโทสะไม่ได้ เพราะผลภายหลังของการลงโทษลูกจะกลายเป็นภาพฝังใจประทับตรึงใจเขาไปตลอดชีวิต โปรดลงโทษลูกด้วยความรักมิใช่ความโกรธ !!

วิธีการลงโทษแบบ Time in และTime out

วิธีการที่น่าสนใจ สำหรับพ่อแม่ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการลงโทษแบบเดิม ๆ ที่รุ่นเราเติบโตขึ้นมา คือ การตี ดุด่าว่ากล่าว จึงเกิดแนวทางการปรับพฤติกรรมเด็กด้วยวิธีการให้เวลานอก

time out คือ อะไร

วิธีการนี้ เป็นการปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเด็ก เป็นการแยกเด็กออกจากสถานการณ์ที่ทำให้เกิดปัญหา เช่น เด็กกำลังไปแย่งของเล่นจากเพื่อน กำลังตี หรือขว้างปาสิ่งของ เป็นต้น ไปยังจุด ๆ หนึ่งในบ้านที่ได้กำหนดไว้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ  ซึ่งการแยกเด็กออกมาจากสถานการณ์นั้นเป็นการช่วยให้เด็กได้มีเวลานอกในการสงบสติอารมณ์ของตัวเอง เมื่อเขาสงบสติลงได้ก็สามารถกลับไปยังสิ่งที่ทำอยู่ก่อนหน้า หรือกลับเข้ากลุ่มได้

แม้ว่าการใช้วิธีนี้ จะได้ผลชะงัด สามารถหยุดพฤติกรรมก้าวร้าวนั้นได้ในทันที แต่หากคุณพ่อคุณแม่ทำไม่ถูกวิธีแล้ว วิธีนี้อาจทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน

การให้เวลานอก ช่วยหยุดพฤติกรรมรุนแรงได้จริงหรือ
การให้เวลานอก ช่วยหยุดพฤติกรรมรุนแรงได้จริงหรือ

time out ที่ผิดวิธี

  • ใช้วิธีการนี้เป็นคำขู่เมื่อลูกไม่เชื่อฟัง ทำให้เด็กเข้าใจว่าการให้เวลาเขาไปนั่งสงบสติอารมณ์เป็นเรื่องน่าอับอาย ซึ่งผิดวัตถุประสงค์
  • ใช้การบังคับด้วยกำลังในการให้เด็กเข้าพื้นที่ที่ใช้ให้เวลานอกที่ได้ตกลงกันไว้ อาจทำให้เขารู้สึกเสียหน้า และไม่พอใจโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งตามหลักการแล้วเด็กจะต้องเต็มใจ และยอมรับในกฎกติกาที่ได้คุยกันไว้ เหมือนเป็นข้อตกลงที่ทำร่วมกันในครอบครัว หากใครมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ฉุนเฉียวจนเกิดปัญหาระหว่างกันต้องไปสงบสติอารมณ์ที่พื้นที่ที่จัดไว้ หรือตกลงกันไว้ ด้วยความเข้าใจ และยอมรับในกติกานั้น
  • ใช้เวลามากเกินไป การให้เวลาลูกสงบสติใช้เพียงเวลาสั้น ๆ และไม่ใช่การปล่อยเขาไว้เพียงลำพัง และไม่สนใจอีกต่อไป เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณแยกเขาออกไปนั่งสำนึกผิดในมุมใดมุมหนึ่งของบ้าน เขาอาจจะสงบก็จริง แต่ลูกอาจไม่ได้เรียนรู้วิธีจัดเก็บอารมณ์ของตัวเองในเรื่องอื่น หรือในเหตุการณ์ครั้งต่อๆ ไป พ่อแม่ควรต้องกลับมาทำความเข้าใจกับลูกเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ถึงแม้เขาจะยังไม่สามารถสงบอารมณ์ลงได้ หากเป็นเช่นนั้นค่อยเพิ่มเวลาหลังจากที่ได้พูดคุยกับลูกแล้ว
  • พื้นที่ในการให้เวลานอกไม่เหมาะสม พื้นที่จะต้องเป็นส่วนที่พ่อแม่ยังคงมองเห็นลูก และลูกยังคงมองเห็นเราได้เช่นกัน หากเป็นพื้นที่หลบมุม จนมองไม่เห็นกัน เขาจะรู้สึกโดดเดี่ยวมากเกินไป ดร. แดน ซีเกน ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแอนเจลิส (University of California, Los Angeles: UCLA) ได้แสดงความเห็นว่า ความเจ็บปวดจากการถูกทอดทิ้งในเวลาไทม์เอาต์ สามารถบาดลึกไปถึงก้นบึ้งจิตใจของเด็กน้อย และเขาจะจดจำมันอย่างไม่มีวันลืม และประสบการณ์ในการถูกไทม์เอาต์ สามารถเปลี่ยนโครงสร้างทางกายภาพของสมองเด็กได้
  • ทำไปด้วยอารมณ์โกรธ พ่อแม่ต้องระมัดระวัง ควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ได้ ก่อนทำใช้วิธีนี้

Time in vs Time out

วิธี time out แม้ว่าจะเป็นวิธีที่ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า หากคุณพ่อคุณแม่ใช้ผิดวิธีก็อาจส่งผลทางด้านลบได้เช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญเริ่มมีการถกเถียงกันถึงเรื่องดังกล่าวว่า การใช้วิธีให้เวลานอกนั้นอาจส่งผลต่อพัฒนาการควบคุมตนเอง และวินัยในตนเองสำหรับเด็กบางคน อีกทั้งยังพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้ผลในระยะยาวอีกด้วย เนื่องจากเด็กเล็กยังแยกตัวตน และอารมณ์ออกจากกันไม่ได้ ไม่มีความสามารถในการคิดเชิงตรรกะที่สอดคล้องกัน เขาจึงมักสรุปเอาเองว่าตัวเองไม่เป็นที่รักของพ่อแม่อีกต่อไปแล้ว และคอยเก็บกดอารมณ์ร้ายเอาไว้เงียบ ๆ

Time in คืออะไร

ความจริงแล้ว time in ค่อนข้างคล้ายกับการให้เวลานอก โดยเราจะให้เด็กหยุดพักกิจกรรมเพื่อให้เด็กได้สงบสติอารมณ์เช่นกัน แต่มีความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ แทนที่เราจะไล่เขาไปนั่งสงบสติ หรือสำนึกผิดอย่างเดียวดาย โดยที่เราไม่ให้ความสนใจใด ๆ แก่เขาเลย แต่เปลี่ยนมาเป็นคอยนั่งข้าง ๆ ลูก คอยให้คำแนะนำ ให้การปลอบโยน และชี้ให้เขาเห็นถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่าคืออะไร และควรจัดการอย่างไร หรือในบางกรณีเด็กอาจต้องการแค่ให้พ่อแม่นั่งอยู่ด้วยข้าง ๆ ไม่จำเป็นต้องทำอะไร เพื่อให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ยังอยู่ข้าง พร้อมจะช่วยเขาในเวลาที่เจอปัญหาเสมอนั่นเอง

time in ให้เวลาสงบสติอารมณ์ พร้อมพ่อแม่นั่งอยู่ข้าง ๆ
time in ให้เวลาสงบสติอารมณ์ พร้อมพ่อแม่นั่งอยู่ข้าง ๆ

วิธีการ time in

  1. นำเด็กออกจากสถานการณ์ตึงเครียด
  2. นำพวกเขาไปยังพื้นที่ที่เงียบกว่า หรือพื้นที่ที่กำหนดในบ้านของคุณ
  3. ให้การปลอบโยนจนกว่าพวกเขาจะสงบพอที่จะสื่อสารกับคุณหรือให้คุณสื่อสารกับพวกเขาได้หากเด็กไม่พูด
  4. บอก หรือชี้ให้เด็กรู้ถึงอารมณ์ของพวกเขาโดยอาจใช้คำเช่น “ ฉันเห็นคุณหงุดหงิดที่บล็อกของคุณล้มลง ” เพื่อเป็นการบอกให้เขาเข้าใจความรู้สึกที่เกิดขึ้นของตัวเอง
  5. ทำให้เด็กรับรู้ได้ว่าเราเข้าใจ พร้อมยกตัวอย่างการจัดการอารมณ์ของพ่อแม่ว่าสามารถเกิดขึ้นได้กับเราเช่นกัน และพ่อแม่จัดการกับมันอย่างไร ตัวอย่างเช่น  “ บางครั้งพ่อแม่ก็รู้สึกหงุดหงิดเหมือนกัน แต่พ่อแม่ทำอย่างอื่นนอกจากการขว้างบล็อคเมื่อเราผิดหวัง? เรามาลองหายใจเข้าลึกๆ นับถึง 5 กันดูว่าจะช่วยได้หรือเปล่า
  6. กระตุ้นให้ลูกได้พูดแสดงความรู้สึกออกมา และแนะนำวิธีการจัดการกับอารมณ์นั้น ๆ ให้แก่ลูก
  7. เข้าร่วมกิจกรรมอีกครั้ง หากลูกต้องการและพร้อมที่จะเข้าร่วม

การใช้เวลาร่วมกับลูกในการ time in เป็นวิธีการที่เรียบง่าย และอ่อนโยนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งจะให้ผลในระยะยาว สามารถปรับปรุงความฉลาดทางอารมณ์ของลูกได้ ไม่เหมือนการลงโทษ เมื่อเป็นวิธีที่หวังผลระยะยาว ดังนั้นอย่าคาดหวังผลในทันทีว่าจะสามารถปรับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ออกไปในทันที เหมือนกับการลงโทษที่มีความกลัวทำให้เด็กหยุดพฤติกรรมดังกล่าวในทันทีเพราะความกลัว

สรุป ข้อดีของการ Time in

  1. ช่วยหยุดพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง และไม่ปลูกฝังนิสัยเชิงลบดังกล่าวให้กับเด็ก
  2. ไม่ทิ้งบาดแผลในใจ ไม่ทำให้เด็กรู้สึกถูกทอดทิ้ง หรืออยู่กับความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กไม่ดี ไม่น่าคบ แก้ไขไม่ได้
  3. ฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมตัวเอง ควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งด้านดี และไม่ดี เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกคน
  4. ลูกจะได้ระบายความรู้สึก ในขณะที่พ่อแม่ให้เวลากับลูก ร่วมนั่งอยู่ข้าง ๆ ขณะ time in
  5. ลูกจะรู้จักวิธีจัดการอารมณ์ และปัญหาได้อย่างตรงจุด ไม่ต้องให้เขาไปค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ บางครั้งอาจเป็นวิธีที่แย่กว่าเดิมด้วยซ้ำไป
ลูกรู้จักจัดการอารมณ์ ช่วยให้เขาเข้าสังคมได้ไม่ยาก
ลูกรู้จักจัดการอารมณ์ ช่วยให้เขาเข้าสังคมได้ไม่ยาก

ดังนั้น การลงโทษแม้จะฟังดูไม่น่าให้เกิดขึ้นกับลูก แต่เราก็ไม่อาจปฎิเสธได้ว่า การที่จะสอนให้เด็กมีพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับได้ของสังคม เพื่อให้ลูกสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ การลงโทษเพื่อให้เขารู้ว่าสิ่งใดควรทำ หรือไม่ควรทำ จึงยังเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่การลงโทษไม่จำเป็นที่เราพ่อแม่จะต้องทำให้เกิดบาดแผลในใจของลูกเสมอไป การใช้การลงโทษด้วยเวลา และความเข้าใจกับเด็ก นอกจากจะช่วยให้ลูกสามารถเรียนรู้ ควบคุมอารมณ์ จัดการปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองแล้ว การอยู่ด้วยข้าง ๆ เวลาที่เขาถูกลงโทษก็ยังช่วยปิดจุดอ่อน และทำให้ลูกรู้สึกอุ่นใจ และรู้สึกถึง safe zone ที่เขาได้รับจากพ่อแม่ตลอดเวลาที่เขาต้องการอีกด้วย

 ข้อมูลอ้างอิงจาก สถาบันราชานุกูล /reachformontessori.com/

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

safe zone คือ พื้นที่ปลอดภัยที่พ่อแม่เป็นให้ลูกได้!!

อุทาหรณ์ 13 สิ่งของต้องระวัง ทำลูกน้อยเสี่ยงเสียชีวิต

3 วิธีเลือก หนังสือนิทาน ตามวัยให้ลูกอยากฟังได้ประโยชน์

เด็กปฐมวัยเรียนรู้อะไรใน หลักสูตร Early Years ของไบรท์ตัน คอลเลจ กรุงเทพฯ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up