เด็กทารก

เด็กทารก อายุ 1 เดือน เติบโตแค่ไหน ควรดูแลอย่างไร!!

Alternative Textaccount_circle
event
เด็กทารก
เด็กทารก

เด็กทารก จากแรกคลอดถึงอายุ 1 เดือน มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง ดูแลการรับประทาน การนอน การอาบน้ำ การขับถ่ายอย่างไร

เด็กทารก อายุ 1 เดือน เติบโตแค่ไหน ควรดูแลอย่างไร!!

วัยแรกเกิด คือ ระยะเวลาจากแรกเกิดจนถึง 1 เดือน เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ของคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อย  จากนั้นเข้าสู่วัย เด็กทารก อายุ 1 – 12  เดือน จะเริ่มมีพัฒนาการใหม่ ๆ เกิดขึ้น ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมพัฒนาการทารกในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ทารกเติบโตอย่างมีประสิทธภาพ ทีมกองบรรณาธิการ ABK ได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ มาให้แล้วค่ะ

เด็กทารก 1 เดือน เติบโตแค่ไหน
เด็กทารก 1 เดือน เติบโตแค่ไหน

เด็กทารก อายุ 1 เดือน เติบโตแค่ไหน ควรดูแลอย่างไร!!

การเจริญเติบโตของทารกในเดือนแรกเป็นอย่างไร ?

เด็กทารกในช่วงเดือนแรกนั้น จะมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว แต่ยังคงทำได้เพียงกิน นอน ร้องไห้ และขับถ่าย จึงต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ของผู้ปกครอง โดยเด็กทารกวัย 1 เดือน มีการเจริญเติบโตในแต่ละด้าน ดังนี้

การเจริญเติบโตของร่างกาย

เด็กจะมีน้ำหนักตัวลดลงในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ โดยหลังจากนั้นน้ำหนักจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเอง ซึ่งในช่วงเดือนแรกหลังคลอด เด็กอาจตัวยาวขึ้นถึง 3.8 เซนติเมตร และอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 900 กรัมจากแรกเกิด แต่การเจริญเติบโตของเด็กแต่ละคนอาจไม่เท่ากันเพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วย

การใช้กล้ามเนื้อ

เมื่ออายุได้ 1 เดือน เด็กทารก จะสามารถยกหัวขึ้นเองได้บ้างแล้วในขณะนอนคว่ำ แต่ก็ยังคงต้องระวัง คอยประคองหัวของเด็กไว้ตอนอุ้มเด็กขึ้นมา เพราะคอยังไม่แข็งแรงมากนัก

การกิน

ปุ่มรับรสที่อยู่บนลิ้นของเด็กวัยนี้จะยังทำงานได้ไม่ค่อยดีนัก โดยลิ้นของเด็กจะรับรสหวานได้ดีที่สุด แต่ยังไม่สามารถแยกแยะรสเปรี้ยวหรือรสขมได้ ส่วนเรื่องอาหาร เด็กควรดื่มแค่นมแม่หรือนมผงสำหรับทารกแรกเกิดก็เพียงพอแล้ว

การนอน

เด็กทารก ในช่วงเดือนแรกนั้นควรนอนวันละประมาณ 15-16 ชั่วโมง แบ่งเป็นนอนกลางวันประมาณ 3 ครั้ง รวมแล้วประมาณ 7 ชั่วโมง และนอนตอนกลางคืนเป็นช่วง ๆ อีกประมาณ 8.5 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้อาจจะแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน

การมองเห็นและการจดจำ

เด็กทารกวัย 1 เดือนจะมองเห็นได้ชัดที่สุดในระยะ 20-30 เซนติเมตร และจะมองเห็นสีตัดกันอย่างสีขาวดำและสีที่ชัดเจนได้ดีกว่าสีทั่วไป โดยเด็กแรกเกิดอาจมีอาการตาเหล่ด้วย ซึ่งอาการจะหายไปเองหลังจากผ่านไป 3-4 เดือน นอกจากนี้ เด็กจะสามารถจดจำใบหน้า เสียง และกลิ่นที่คุ้นเคยได้ อย่างหน้าตาของแม่ เสียงของแม่ และกลิ่นของน้ำนมแม่ อีกทั้งเด็กอาจจำเสียงของแม่หรือคนในครอบครัวได้และอาจหันไปหาเสียงที่คุ้นเคยด้วย ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรเล่นกับเด็กบ่อย ๆ เพื่อให้เด็กเกิดการจดจำ

การสื่อสาร

เด็กทารกในวัยนี้ทำได้แต่ร้องไห้เพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถพูดเป็นภาษาเพื่อสื่อสารกับคนอื่นได้ ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรสังเกตลักษณะและอาการต่าง ๆ เพราะอาจทำให้ทราบได้ว่าการร้องไห้แบบไหนสื่อถึงอะไรบ้าง เมื่อรู้ถึงความต้องการของเด็กแล้ว อาจตอบสนองความต้องการของเด็กได้อย่างถูกวิธี เช่น ให้เด็กกินนม หรืออุ้มเด็กเดินไปมาพร้อมร้องเพลงกล่อม เป็นต้น แต่หากเด็กร้องไห้นานหรือบ่อยผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของอาการโคลิคหรือโรคอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรไปปรึกษาแพทย์หรือนำเด็กไปตรวจหาสาเหตุ

เทคนิคต่าง ๆ ในการดูแลเด็กทารก

สำหรับเด็กทารกในวัยนี้มีกิจกรรมที่ทำอยู่ไม่กี่อย่างเท่านั้น หากเด็กทำกิจกรรมใดน้อยกว่าหรือมากกว่าปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่เกิดขึ้น

โดยเรื่องที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการดูแลเด็กวัยนี้ ได้แก่

  • ดูแลเรื่องการกินนม หากเป็นนมมารดา เด็กจะดูดนมประมาณ 8 ครั้งต่อวัน แต่ละครั้งเป็นเวลาอย่างน้อยประมาณ 10-15 นาที หรือเมื่อสังเกตได้ว่าเด็กอิ่ม แต่หากเป็นนมผง เด็กอาจดื่มถึงครั้งละประมาณ 120 มิลลิลิตร หรือ 4 ออนซ์ ในทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง
  • สังเกตการขับถ่าย เด็กทารกวัยนี้ควรต้องขับถ่ายและใช้ผ้าอ้อม 4-6 ผืนต่อวัน แต่เด็กอาจอุจจาระวันละครั้ง หรือไม่อุจจาระเลยเป็นเวลา 1-2 วันก็ได้หากลักษณะอุจจาระปกติดี ซึ่งอุจจาระของเด็กที่กินนมมารดาจะค่อนข้างเหลว แต่หากเด็กกินนมผง อุจจาระจะยังเหลวอยู่แต่ดูเป็นก้อนกว่าอุจจาระของเด็กที่ดื่มนมมารดา แต่ก็ไม่ควรมีลักษณะแข็งจนเกินไป
ดูแลเด็กทารก 1 เดือนอย่างไร
ดูแลเด็กทารก 1 เดือนอย่างไร

ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กทารก

นอกจากการเจริญเติบโตที่รวดเร็วของเด็กแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องคำนึงถึงปัญหาด้านอื่นที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กอายุ 1 เดือนด้วย เพราะเด็กทารกยังพูดไม่ได้ ฉะนั้นหากเกิดความผิดปกติขึ้้นเด็กก็จะไม่สามารถบอกผู้ปกครองเป็นคำพูดได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของลูกอย่างสม่ำเสมอ

ดังนั้น หากลูกน้อยมีอาการดังต่อไปนี้ ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์

  • กินนมช้ากว่าปกติ หรือมีอาการกลืนลำบาก
  • ไม่กระพริบตาเมื่อเห็นแสงสว่าง
  • ไม่มองตามวัตถุที่เคลื่อนผ่านสายตา
  • ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อได้ยินเสียงดัง
  • ไม่ค่อยขยับแขนขาเท่าที่ควร หรือเมื่อขยับแล้วแลดูติดขัด
  • มีอาการคางสั่นหรือปากสั่น อย่างต่อเนื่องตอนไม่ได้ร้องไห้หรือตื่นเต้น
  • ร้องไห้นานผิดปกติ หรือร้องไห้บ่อยผิดปกติ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน เช่น ไม่นอนเลย หรือนอนมากเกินไป เป็นต้น
  • มีปัญหาสุขภาพ เช่น ไอ ท้องผูก เป็นต้น

สาเหตุที่ทารกไม่ยอมนอนกลางวัน

ทารก 1 เดือน ไม่นอนกลางวันทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก เพราะอาจไม่เข้าใจถึงว่าเพราะอะไร สาเหตุที่ทารก 1 เดือนไม่นอนกลางวันนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ได้แก่

  • ทารกรู้สึกหิว เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อย นมที่ดื่มก่อนหน้านั้นอาจย่อยไวเกินไป มีการเว้นระยะห่างในการให้เด็กกินนมนานเกินไป หรือเด็กกินนมน้อยเกินไป จนทำให้เด็กหิว และนอนไม่หลับ
  • ทารกไม่สบาย การไม่นอนกลางวันของ ทารก 1 เดือน อาจเกิดจากการไม่สบาย เช่น เป็นหวัด มีไข้ แก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องผูก ภูมิแพ้ อาการเจ็บป่วยเหล่านี้ มักทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายตัว จนหลับยาก
  • ทารกไม่สบายตัว อาจเกิดจากที่นอนของทารกแข็งจนเกินไป ถูกมดหรือแมลงกัดหรือต่อย อากาศร้อนเกินไป ไปจนถึงบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการนอน ทารกจึงรู้สึกไม่สบายตัว จนทำให้นอนไม่หลับ หรือไม่ยอมนอน
  • อุณหภูมิไม่เหมาะสม อุณหภูมิที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ทารกนอนหลับได้ง่ายขึ้น อากาศที่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป อาจทำให้ทารกหลับได้ยาก
  • เสียงรบกวน ทารกไม่ชอบให้มีเสียงรบกวนเวลานอน โดยเฉพาะเสียงที่ดังจนเกินไป อาจรบกวนการนอนหลับของเด็ก หรือทำให้เด็กนอนไม่หลับ หรือไม่ยอมนอน

ทำอย่างไรให้ทารกนอนกลางวัน

เพื่อให้ทารก 1 เดือน เข้านอนกลางวันได้ง่ายขึ้น หรือหลับได้ง่ายขึ้น คุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครอง อาจลองทำตามนี้ ได้แก่

  • ใช้เวลากับทารกบ้าง หากทารกนอนหลับยาก หลังจากให้นม คุณพ่อคุณแม่ควรเล่นกับลูกสักครู่หนึ่ง หรืออย่างน้อย 2-3 นาที การได้ใกล้ชิด ได้รับความอบอุ่นจากคุณพ่อหรือคุณแม่อาจช่วยให้เด็กอยากนอนมากขึ้น
  • พาทารกออกไปเดินเล่นบ้าง เพื่อให้ทารกได้สัมผัสกับบรรยากาศใหม่ ๆ สิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ หรือการพาเด็กไปสัมผัสกับแสงแดดอ่อน ๆ บ้าง สามารถช่วยกระตุ้นให้นาฬิกาชีวภาพภายในร่างกายของทารกทำงานได้ดีขึ้น นอนหลับง่ายขึ้น
  • จัดบรรยากาศให้เหมาะแก่การนอน เช่น ปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม จัดแสงสว่างให้เหมาะสม ลดเสียงรบกวน
  • ตอบรับสัญญาณ เมื่อทารกเริ่มมีอาการง่วงนอน แต่ยังตื่นอยู่ คุณพ่อคุณแม่อาจนวดตัวให้ทารกเบา ๆ หรือร้องเพลงกล่อมเด็กให้เขาฟัง เพื่อฝึกให้ทารกจดจำได้ว่า เมื่อคุณพ่อคุณแม่เริ่มทำเช่นนี้ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าได้เวลานอนแล้ว
  • พาทารกเข้านอนในเวลาเดิมทุกวัน เพื่อให้ เด็กทารก 1 เดือน เริ่มเรียนรู้ว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่จะต้องเข้านอน นาฬิกาชีวภาพในร่างกายของทารกก็จะจดจำช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ทำให้ทารกมีโอกาสที่จะเข้านอนได้ง่ายขึ้น
  • วางทารกลงบนที่นอนในท่านอนหงาย ไม่คว่ำหน้า หรือตะแคง เพื่อให้ทารกได้นอนในท่าที่สบาย
  • ที่นอนไม่ควรอัดแน่นไปด้วยของเล่น หรือตุ๊กตา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยในการนอนแต่อย่างใด ทั้งยังกินพื้นที่ในการนอนของทารกด้วย
  • ใส่ใจเรื่องความปลอดภัย เช่น ที่นอนได้มาตรฐานหรือไม่ มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในที่นอนหรือไม่ หากนอนเปล เปลมีความแข็งแรงเพียงพอหรือเปล่า เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันขณะทารกกำลังนอนหลับ

การเจริญเติบโต และการดูแล เด็กทารก อายุ 1 เดือน ตามข้อมูลที่ ทีมกองบรรณาธิการ ABK นำมาฝากนี้ คงเป็นประโยชน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่เพื่อรับมือกับลูกน้อยกันนะคะ

 

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

อาการหลับไม่ตื่นในทารก SIDSอายุ 1 เดือน-1 ปี เสี่ยงมาก

น้ำผึ้ง ป้อนทารก ระวังอันตราย!จากภาวะโบทูลิซึม

รู้เร็วยิ่งดี! ปอมเปย์ โรคทางพันธุกรรมที่เจอตั้งแต่เป็นทารก

ทารกท้องอืด ลูกท้องอืด แบบไหนอันตรายพร้อมวิธีรับมือ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.pobpad.com, https://hellokhunmor.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up