เลือดออกทางช่องคลอด

เลือดออกทางช่องคลอด ไม่ใช่เลือดประจำเดือน สัญญาณอันตรายที่ต้องไปหาหมอ!

Alternative Textaccount_circle
event
เลือดออกทางช่องคลอด
เลือดออกทางช่องคลอด

เลือดออกทางช่องคลอด มีเลือดไหลออกมาในช่วงที่ไม่ได้เป็นประจำเดือน เป็นสัญญาณอันตรายหรือเสี่ยงโรคร้ายตามมาที่คุณผู้หญิงควรรู้ไว้เพื่อป้องกันและรับมือกันค่ะ

เลือดออกทางช่องคลอด ไม่ใช่เลือดประจำเดือน
สัญญาณอันตรายที่ต้องไปหาหมอ!

เลือดประจำเดือน โดยปกติผู้หญิงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์จะมีภาวะเลือดออกทางช่องคลอดปกติ หรือที่เรียกว่า “ประจำเดือน” ซึ่งจะมาสม่ำเสมอทุก ๆ 21-35 วัน และจะมาครั้งละไม่เกิน 5-7 วัน เป็นประจำทุกเดือนขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน และปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ ความเครียด การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และพันธุกรรม โดยทั่วไปเลือดประจำเดือนที่ไหลออกจากช่องคลอดจะใช้ผ้าอนามัยเฉลี่ยวันละประมาณ 3 – 4 ผืน จนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเมื่ออายุประมาณ 45-55 ปี

เลือดออกทางช่องคลอด คือภาวะสุขภาพบริเวณช่องคลอดผิดปกติ เป็นภาวะที่พบบ่อยมากและพบได้ในหลายช่วงอายุ โดยร่างกายอาจจะมีเลือดไหลออกจากช่องคลอดกระปริบกระปรอย หรือเลือดออกมาต่อเนื่องมากกว่าปกติในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน เลือดออกทั้งที่ยังไม่ถึงวัยมีประจำเดือน หรืออยู่ในวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว รวมทั้งเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะที่เกิดขึ้นเหล่านี้อาจแสดงถึงปัญหาสุขภาพ ถือว่าร่างกายมีความผิดปกติ และอาจเป็นสัญญาณอันตรายหรือเสี่ยงโรคร้ายที่ตามมาได้ เช่น เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ปากมดลูกอักเสบ การตั้งครรภ์ที่ผิดปกติได้ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุของอาการเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติและความรุนแรงของโรคเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ดังนั้นคุณผู้หญิงในช่วงวัยที่มีประจำเดือนควรได้ทำการจดบันทึกในช่วงที่มีรอบเดือนมา ทั้งนี้  พญ.ธาริณี ลำลึก สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ศูนย์สุขภาพหญิง รพ.พญาไท 2ได้ให้ข้อมูลว่า ควรสังเกตตัวเองว่ามีเลือดออกมากแค่ไหน ลักษณะการไหลออกของเลือดยาวต่อเนื่องไหม หรือออกแบบกระปริบกระปรอย สังเกตสีของเลือดเป็นอย่างไร เช่น สีแดงสด แดงจาง หรือสีน้ำตาล และสัมพันธ์กับประจำเดือนที่มาปกติหรือไม่

เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ

สาเหตุของเลือดออกทางช่องคลอด สัญญาณอันตรายต่อร่างกาย

การมีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงที่ไม่มีประจำเดือนถือว่ามีความผิดปกติ ที่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการเลือดออกผิดปกติในช่องคลอดและรับการรักษาต่อไป โดยเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ อาทิเช่น

  • เกิดจากภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก ภาวะรกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด การแท้งบุตร โดยเฉพาะในผู้หญิงที่อายุน้อย นอกจากนี้คุณแม่หลังคลอดลูกหรือทำแท้ง อาจมีเลือดออกจากช่องคลอดในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกได้เช่นกัน เนื่องจากมดลูกยังไม่หดรัดตัว หรือเนื้อเยื่อของตัวอ่อนยังค้างอยู่ในมดลูก
  • ภาวะฮอร์โมนแปรปรวน เกิดขึ้นได้จากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนไม่สมดุลกัน โดยสาเหตุอาจเกิดได้จาก รังไข่ทำงานผิดปกติ หรือเกิดภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ต่อมไทรอยด์มีปัญหา ผลข้างเคียงจากการเริ่มใช้หรือหยุดใช้ยาคุมกำเนิดหรือกินยาคุมไม่ตรงเวลากันในแต่ละวัน การกินยาบำรุงสตรี หรือยาบำรุงเลือดลม รวมทั้งภาวะฮอร์โมนแปรปรวนโดยเฉพาะในผู้หญิงวัยที่เพิ่งเริ่มมีประจำเดือนหรือวัยใกล้หมดประจำเดือน และภาวะเครียด การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ซึ่งก็เป็นปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้ฮอร์โมนแปรปรวนและเป็นสาเหตุของเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดได้เช่นกัน
  • การติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบของช่องคลอดส่งผลให้มีเลือดออกได้ เช่น ในบริเวณปากมดลูก หรือเยื่อบุโพรงมดลูก โดยสาเหตุของการติดเชื้ออาจเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การสวนล้างช่องคลอด การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น
  • การเกิดเนื้องอกในมดลูก เป็นเนื้องอกที่เติบโตขึ้นอย่างผิดปกติในมดลูก แต่จะไม่กลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง อาจมีอาการปวดประจำเดือนร่วมด้วย หรือปวดหน่วง ๆ บริเวณท้องน้อย หรือปวดหลังบริเวณส่วนล่างเรื้อรัง
  • โรคมะเร็งในบริเวณบางส่วนของร่างกาย อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเลือดออกทางช่องคลอด เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก เป็นต้น
  • ความผิดปกติเกี่ยวกับมดลูก เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในกล้ามเนื้อมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ การติดเชื้ออักเสบของปากมดลูก เป็นต้น
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น การออกกำลังกายอย่างหักโหม การสอดสิ่งของเข้าไปภายในช่องคลอด ป่วยเป็นเบาหวาน ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับไทรอยด์ น้ำหนักที่ขึ้นหรือลงผิดปกติ หรือมีแผลฉีกขาดในช่องคลอด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากแพทย์วินิฉัยไม่พบสาเหตุของการมีเลือดออกทางช่องคลอดที่แน่ชัด ผู้ป่วยอาจจะได้รับยาคุมกำเนิด เพื่อช่วยปรับรอบเดือนและบรรเทาภาวะเลือดออกให้น้อยลง แต่หากรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ได้ผลอาจต้องเข้ารับการขูดมดลูก เพื่อควบคุมเลือดที่ไหลออกมากเกินไป และตรวจหาความผิดปกติของเยื่อบุมดลูกเพิ่มเติม ส่วนในรายที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษาอื่น อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อเอามดลูกออก

ชมคลิป รายการพบหมอศิริราช ตอน เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด โดย รศ.นพ.พีรพงศ์ อินทศร ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

อาการเลือดออกทางช่องคลอดที่ควรรีบไปพบแพทย์

ผู้หญิงที่มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติและมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษาทันที เช่น

  • มีเลือดออกทางช่องคลอดในวัยที่ยังไม่ควรมีประจำเดือน หรือวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดในปริมาณมากผิดปกติและระยะเวลานานเกิน 7 วันขณะมีประจำเดือน จำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัยมากกว่า 4 แผ่นต่อวัน เปลี่ยนผ้าอนามัยวันละ 2 ชั่วโมง
  • ปวดบริเวณท้องหรืออุ้งเชิงกรานอย่างรุนแรงเฉียบพลัน
  • รู้สึกวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด อ่อนเพลียจากภาวะโลหิตจาง
  • มีไข้
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดนานกว่า 1 สัปดาห์
  • อาการอันตรายที่เป็นข้อบ่งชี้ว่าอาจเป็นมะเร็งเบื้องต้น เช่น มีเลือดออกจากช่องคลอดกระปริดกระปรอยวันเว้นวันหรือทุกวัน มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ มีประจำเดือนนานกว่าปกติ เช่น มานานกว่า 7 วัน และมีเลือดออกจากช่องคลอดเป็นก้อน เป็นต้น

มีเลือดออกทางช่องคลอด แต่ไม่ใช่ประจําเดือน

ป้องกันเลือดออกทางช่องคลอด ควรดูแลตัวเองอย่างไร

วิธีการป้องกันเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติไม่มีวิธีป้องกันที่ครอบคลุม เนื่องจากเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่อาจมีแนวทางป้องกันได้ ดังนี้

  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากการมีน้ำหนักตัวมากหรือต่ำเกินไป จะเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติได้
  • ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดควรรับประทานยาตามแนวลูกศรและรับประทานให้ตรงกับเวลาเดิมทุกวัน ส่วนผู้ที่กินยาฮอร์โมนบำบัดควรรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกเดือนเช่นกัน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพริน เนื่องจากจะทำให้เสี่ยงมีเลือดออกมากขึ้น หรือเมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวยา ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
  • ควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
  • รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำและไม่หักโหม
  • หาเวลาพักผ่อน ทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายเครียด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และถูกสุขลักษณะ
  • หมั่นสังเกตร่างกาย หากพบว่ามีเลือดออกผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

ในส่วนของการรักษาภาวะเลือดออกทางช่องคลอดนั้น นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ได้กล่าวไว้ว่า “การรักษาภาวะเลือดออกทางช่องคลอดจะขึ้นอยู่กับแต่ละสาเหตุ ได้แก่ การรักษาด้วยยาฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิด การรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น การขูดมดลูก หรือการผ่าตัด โดยแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับอาการของบุคคลนั้น ๆ”  โดยในบางรายที่มีภาวะเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติอาจหายได้เอง อย่างไรก็ตามการเกิดเลือดออกทางช่องคลอดเป็นปัญหาที่เกิดจากความผิดปกติของสุขภาพร่างกาย นอกจากการดูแลและป้องกันตัวเองอย่างดีที่สุดแล้ว เมื่อพบอาการผิดสังเกตไม่ควรชะล่าใจและปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา เนื่องจากจะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่น ๆ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้นะคะ.

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.pr.moph.go.thwww.pobpad.com

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ คลิก

แมลงเข้าช่องคลอด แม่แชร์เตือน! มีลูกสาวต้องระวัง

แม่ ๆ ระวัง! คันจิ๊มิ ตกขาวเยอะเสี่ยง ติดเชื้อในช่องคลอด

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up