ดึงแขนลูก

แม่เล่าอุทาหรณ์! “ลูกสาวข้อศอกเคลื่อน” เพราะเล่นเต้นรำ ดึงแขนลูก

event
ดึงแขนลูก
ดึงแขนลูก

เตือน! ดึงแขนลูก เหวี่ยงแขนลูก กระชากฉุดแขนลูก ห้ามเล่นหรือกับลูกแบบนี้ พ่อแม่ระวังให้ดี .. แม่เล่าอุทาหรณ์! เพราะเล่นเต้นรำแบบเจ้าหญิง ดึงแขน หมุนตัว ทำลูกสาวข้อศอกเคลื่อน

อุทาหรณ์ “ลูกข้อศอกเคลื่อน” เพราะเล่นเต้นรำ ดึงแขนลูก

คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่? ภาวะกระดูกเคลื่อนในเด็ก มักพบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ หรือวัยเริ่มเดินเริ่มวิ่งได้ เนื่องจากสรีระของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อศอก ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ หากขยับผิดจังหวะก็จะเคลื่อนหลุดออกจากกันได้โดยง่าย ซึ่งส่วนของร่างกายเด็กที่มักจะเกิดอุบัติเหตุลักษณะนี้บ่อยมากที่สุด ก็คือ บริเวณข้อศอก

ทั้งนี้การที่ กระดูกข้อศอกของลูกเคลื่อน มักเกิดจากการกระทำของคุณพ่อคุณแม่หรือพี่เลี้ยงเด็ก เช่น ดึงแขนลูก หรือยกลูกขึ้นจากพื้นโดยการจับมือแล้วฉุดขึ้น หรือการฉุดคว้าข้อมือเด็กยกตัวลอยให้ยืนขึ้น หรือการเล่นเหวี่ยงแขนลูก  ดึงแขนลูกแรงๆ เพียงข้างเดียว การกระทำเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้กระดูกข้อศอกของเด็กเคลื่อนหลุดได้โดยไม่ตั้งใจ

เช่นเดียวกับเรื่องราวของคุณแม่ท่านนี้ที่ออกมาโพสต์แชร์อุทาหรณ์เตือน หลังจากที่ลูกสาวข้อศอกเคลื่อนเพราะเล่นกับแม่ โดยจากโพสต์นั้นคุณแม่ได้ระบุว่า …

วันนี้จะมาเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกันตาเมื่อวานเพื่อเป็นความรู้เล็กๆ น้อยๆ ให้กับพ่อแม่ที่มีลูกวัยเล็กๆแบบกันตา และเพื่อบันทึกไว้เป็นความรู้ของตัวเราเองด้วย เพราะเอาจริงๆ ถ้าเรื่องนี้ไม่เกิดกับกันตา เราคงไม่รู้จักภาวะ กระดูกข้อศอกเคลื่อนในเด็ก

ดึงแขนลูก
ภาพน้องกันตาก่อน ถูกดึงแขน กระดูกข้อศอกเคลื่อน

เรื่องมันมีอยู่ว่า เมื่อวานก็เล่นกับลูกตามปกตินี่แหละ เล่นเต้นรำ ดึงแขนลูก แบบเจ้าหญิงเจ้าชาย กันตาเป็นเจ้าหญิง (สังเกตจากเสื้อผ้าหน้าผมนางได้ ไปหาหมอทั้งชุดเต็มยศเลยจ้ะ) ส่วนแม่เป็นเจ้าชาย เล่นเต้นรำแบบซิลเดอเรลล่า ช่วงนี้ลูกบ้าเจ้าหญิง ก็มีการจับแขน ดึงแขนลูก หมุนตัว แต่ไม่ได้ดึงแรงอะไรเลยนะ เพราะเราก็ค่อนข้างระวังเรื่องอุบัติเหตุแบบนี้อยู่แล้ว เล่นกันปกติ

ดึงแขนลูก

แต่มันมีจังหวะนึงที่กันตาหันหลังแล้วเราจับแขนลูก พลิกมาด้านหลัง อยู่ๆ กันตาก็ร้องว่าแขนหนูจะหักอยู่แล้ว แล้วก็ร้องไห้ เราก็คิดว่าลูกอ้อน คงจะงอแง เริ่มง่วง เพราะนี่ก็จะบ่ายสามโมงแล้วยังไม่ได้นอนกลางวัน ก็พานางมานอนกินนม แต่พอโดนแขนบริเวณข้อศอกข้างซ้าย กันตาก็ร้องอีก เอาเข้าเต้าก็ไม่หยุดร้อง ซึ่งเราว่ามันผิดปกติมากสำหรับกันตา เพราะกันตาไม่ใช่เด็กขี้งอแง เจ็บตัวแค่ไหน ให้ดูดนมเต้าคือสงบและหยุดร้องไห้ตลอด … แต่ครั้งนี้กันตาไม่ยอมดูดเต้าแม่ และร้องไห้ เราก็งง ว่าไม่ได้เล่นกันแรง ไม่น่าจะแขนหักได้ แต่ลูกดูเจ็บมากจริงๆ ไม่ได้แค่งอแงแน่นอน สังเกตว่าบริเวณข้อศอกเริ่มแดงๆ และบวมขึ้นเล็กน้อย เลยคิดว่าอาจจะหักแน่

ดึงแขนลูก
ภาพตัวอย่างการเล่นดึงหิ้วแขนลูก
ดึงแขนลูก
ภาพประกอบ : พ่อแม่จับดึงแขนลูก ทำกระดูกข้อศอกเคลื่อน

ไอ้เรื่องกระดูกข้อศอกเคลื่อนนี่ไม่มีอยู่ในหัวเลย เพราะยังไม่เคยเจอเคสแบบนี้ คิดแต่ว่าอาจจะหัก แต่จะหักได้ไงหว่า เพราะไม่ได้เล่นรุนแรงอะไรเลย เอาล่ะ อย่าช้าที รีบพาลูกไปหาหมอ x-ray ดูให้รู้กันไปเลยดีกว่า เรียกว่าเป็นปุ๊ป ประเมินอาการลูกแล้วว่าปวดจริงๆแน่ ต้องมีอะไรผิดปกติแน่ ก็รีบไปหาหมอเลย (ขอบคุณอาชีพพยาบาลที่สั่งสมประสบการณ์และสอนให้เรารู้จักการประเมินคนไข้)

อุ้มขึ้นรถนั่งคาร์ซีท จะรัดเข็มขัดคาร์ซีท กันตาไม่ยอมเลย ไม่ยอมขยับแขน ร้องเจ็บตลอด จนหลับไปเอง แม่ยังแอบไปจับแขนดู จากหลับๆอยู่ สะดุ้งตื่นร้องเจ็บลั่นรถไปหมด พ่อหันมาดุแม่ใหญ่โตว่าไปจับให้ลูกเจ็บทำไม จริงๆแม่แค่อยากประเมินว่าลูกเจ็บจริงๆ ไม่ใช่แค่งอแงเพราะง่วง ก็เป็นอันรู้เรื่องว่าเจ็บจริงอะไรจริง โดนสามีดุอีกต่างหาก แม่แค่ประเมินซ้ำจ้ะพ่อมรึ๊งงงง 😂😂😂

ดึงแขนลูก

ดึงแขนลูก

พอถึงโรงบาลเล่าอาการให้คุณหมอฟัง คุณหมอก็สงสัยว่าจะเป็น ข้อศอกเคลื่อนจากการดึง (Pulled elbow) ระหว่างตรวจคือกันตาร้องตลอด ร้องดังลั่นห้องฉุกเฉิน หมอจับแขนไม่ได้เลย ทั้งกลัวทั้งเจ็บผสมกัน คุณหมอให้ลองขยับแขนดู ก็ไม่ยอมขยับเลย คุณหมอให้ไป X-ray ระหว่างที่ทำการ X-ray พี่เขาก็จัดท่างอข้อศอก เหยียดข้อศอก กันตาร้องหนักมาก คงทั้งกลัวทั้งเจ็บ พ่อกับแม่ช่วยกันจับ 2 คน ร้องก็ร้องไปลูก มันจำเป็นต้องทำ

พอ X-ray เสร็จ กลับมาห้องฉุกเฉิน ให้คุณหมอดูฟิล์ม ไม่มีกระดูกหัก หรือร้าวใดๆ และกันตาก็ขยับแขนได้ปกติแล้ว ยกแขน ยกขึ้น ยกลงให้คุณหมอดู หยุดร้องไห้ทันที คุยกับคุณหมอได้ คุณหมอบอกว่าตอนที่ไป X-ray กระดูกที่เคลื่อนออกจากเส้นเอ็น น่าจะกลับเข้าที่ปกติแล้ว น้องหายเจ็บ แต่มีโอกาสจะเกิดซ้ำได้อีก จึงควร on slab ไว้ก่อน (ใส่เฝือกอ่อน) นัดมาติดตามอาการ 1 อาทิตย์ วันนี้กลับบ้านได้ ไม่ต้องทานยาอะไร ซึ่งกันตาก็กลับมาเป็นกันตาคนเดิม ดื้อและซนปกติ ไม่ร้องเจ็บ ยกแขน ขยับแขนได้ปกติเลยทุกอย่าง ต่างจากคนเมื่อกี้จากหน้ามือเป็นหลังมือเลย แถมจะไม่ยอมใส่เฝือกอ่อนอีกต่างหาก เพราะนางบอกนางไม่เจ็บแล้ว 😂😂

เป็นอันจบเรื่อง สำหรับบ้านที่มีเด็กเล็กๆ ต้องระวังการจับ การ ดึงแขนลูก มากๆ เลยนะคะ แม้ว่าจะไม่รุนแรง แค่การจูงมือข้ามถนน หรือเล่นยกแขน ก็อาจเกิดภาวะนี้ได้แล้ว เพราะในเด็กเล็กๆ อายุต่ำกว่า 5 ขวบ สรีระของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อศอก ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ง่ายต่อการเคลื่อนหลุด ถ้าขยับผิดจังหวะ และหากเคยเป็นแล้ว จะเป็นซ้ำได้ง่าย

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อ ดึงแขนลูก จนข้อศอกเคลื่อน

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ การจัดให้ส่วนที่เจ็บอยู่นิ่งๆมากที่สุด แล้วรีบพาลูกไปรพ. อย่าพยายามขยับข้อศอกให้เข้าที่ด้วยตัวเอง เพราะอาจทำผิดพลาดแล้วทำให้บาดเจ็บที่ข้อศอก เส้นเอ็น เส้นเลือดบริเวณนี้มากขึ้น ระหว่างทางไปพบแพทย์ ให้ประคบเย็น และ รักษาสภาพข้อศอกให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด

ปล. พ่อกันตาบอกว่าดีนะเกิดเหตุการณ์นี้ตอนอยู่กับแม่ เพราะถ้าเกิดตอนอยู่กับพ่อ มีหวัง แม่บ่นพ่อจนหูชาไป 3 วัน บ้าหรอออออ ใครเขาเป็นคนแบบนั้นกัน

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจากคุณแม่น้องกันตา เฟซบุ๊ก พัชรินทร์ จันทร์แสง‎ 

ทั้งนี้ทั้งนั้นจากโพสต์ที่คุณแม่ของน้องกันตาได้แชร์เตือนมานั้น ทางทีมแม่ ABK จึงอยากจะฝากไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับคุณพ่อคุณแม่บ้านไหนมีลูกเล็กอายุในช่วง 1-5 ปี ควรจะต้องระวังมากเป็นพิเศษ เพราะบ่อยครั้งที่เรามักเผลอเล่นหรือ ดึงแขนลูก โดยไม่ทันระวังจนเป็นเหตุให้กระดูกข้อศอกของเด็กเคลื่อนหลุดได้โดยไม่ตั้งใจ ซึ่งภาวะกระดูกข้อศอกเคลื่อน ก็ถือเป็นอุบัติเหตุใกล้ตัวอันดับต้นๆ และถ้าเคยเป็นแล้วจะเป็นซ้ำได้ง่ายมาก เพราะกระดูกของเด็กนั้นยังบอบบางอยู่มาก แม้จะเล่นเบาๆไม่ผาดโผนก็ตาม แต่ไม่ควรประมาทนะคะ

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up