โรค PCOS

โรค PCOS กับการตั้งครรภ์ มีลูกยาก อยากท้อง อยากมีลูกต้องทำอย่างไร

Alternative Textaccount_circle
event
โรค PCOS
โรค PCOS

โรค PCOS (Polycystic Ovary Syndrome)  หรือกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ คือ ความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ  ทำให้ผู้ป่วยมีระดับฮอร์โมนในร่างกาย อาทิ เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน แอนโดรเจน เทสโทสเทอโรน และอินซูลินอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุล เกิดถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนหลายใบอยู่ในรังไข่ ซึ่งอาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง รังไข่จึงมีขนาดโตขึ้น และอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ สิวขึ้น หรือขนขึ้นบริเวณใบหน้าหรือตามตัวมากผิดปกติ หรือมีบุตรยากซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาในการตั้งครรภ์ โดยอาการนี้มักพบมากขึ้นในวัยรุ่น และพบมากถึง 1 ใน 10 ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ สำหรับว่าที่คุณแม่มือใหม่ที่อยากมีลูก แต่มีภาวะ PCOS นั้นควรทำอย่างไรดี

ถุงน้ำรังไข่หลายใบ
ถุงน้ำรังไข่หลายใบ

โรค PCOS กับการตั้งครรภ์ ส่งผลให้มีลูกยาก

กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบในหรือภาวะ PCOS เป็นภาวะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานระบบสืบพันธุ์ ทำให้เกิดปัญหาสำหรับว่าที่คุณแม่ที่อยากตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้ โรค PCOS ในทางการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปถึงสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่อาจมีปัจจัยบางอย่างที่ส่งผลทำให้เกิดภาวะ PCOS ได้ อาทิเช่น

มีภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล

ความผิดปกติของฮอร์โมนที่มักพบในผู้ป่วย PCOS คือ

  • ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (Androgen) มากผิดปกติ หากร่างกายเปลี่ยนแอนโดรเจน เป็นเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นจากรังไข่ของเพศหญิง เมื่อร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มากเกินไปจะส่งผลต่อประจำเดือนมาไม่ปกติ ที่มีผลต่อการตกไข่ ทำให้ร่างกายอาจมีไข่ตกบ้าง ไม่ตกบ้าง หรือบางครั้งอาจไม่มีไข่ตกเลยก็ได้ ซึ่งการที่ไม่มีไข่ตกนี้จะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ยิ่งมีไข่ตกน้อยเท่าโหร่โอกาสการตั้งครรภ์ก็จะน้อยลงไปด้วย
  • มีฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนปริมาณสูงกว่าปกติ เทสโทสเทอโรนหนึ่งในฮอร์โมนเพศชายชนิดหนึ่ง ซึ่งโดยปกติในเพศหญิงจะมีฮอร์โมนชนิดนี้ในปริมาณต่ำ แต่หากระดับเทสโทสเทอโรนที่สูงมากกว่าระดับทั่วไป ก็จะส่งผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติได้
  • มีฮอร์โมนลูทิไนซิงที่ช่วยกระตุ้นการตกไข่ปริมาณสูงกว่าปกติ หากมีปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลให้รังไข่ทำงานไม่ปกติ
  • ฮอร์โมนโพรแลกตินมีปริมาณสูงกว่าปกติ ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะช่วยกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมหลั่งน้ำนมในแม่ที่ตั้งครรภ์ หากมีปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ แต่จะพบในเฉพาะผู้หญิงสาวบางรายเท่านั้น
  • SHBG หรือ Sex Hormone Binding Globulin เป็นโปรตีนในเลือดชนิดหนึ่ง มีหน้าที่ช่วยควบคุมปฏิกิริยาของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่มีต่อร่างกาย หากปริมาณ SHBG ต่ำลงจะส่งผลให้ร่างกายผิดปกติจากฮอร์โมนเพศชายที่สูงขึ้น

*ทางการแพทย์ยังไม่สามารถยืนยันถึงสาเหตุ ที่ส่งผลให้ฮอร์โมนอยู่ในภาวะไม่สมดุล แต่เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากความผิดปกติของรังไข่เอง ต่อมผลิตฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ ในร่างกาย หรือสมองซึ่งมีหน้าที่ควบคุมฮอร์โมน รวมถึงภาวะดื้ออินซูลิน ที่ทำให้ฮอร์โมนมีปริมาณเปลี่ยนไป (ข้อมูลจาก : www.pobpad.com)

เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน

ภาวะดื้ออินซูลินหรือภาวะที่เซลล์ในร่างกายไม่ตอบสนองกับปริมาณอินซูลินปกติ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิด PCOS ที่ส่งผลให้ตับอ่อนต้องผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้น ซึ่งจะไปกระตุ้นให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเทอโรนมากขึ้นไปด้วย โดยปริมาณที่ร่างกายมีอินซูลินในกระแสเลือดและเทสโทสเทอโรนมากผิดปกติ จะกระทบต่อการสร้างถุงน้ำในรังไข่ การตกไข่ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และภาวะอ้วน เป็นต้น

การถ่ายทอดทางพันธุกรรม

ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลที่มีความใกล้ชิดทางสายเลือดป่วยเป็นโรคถุงน้ำหลายใบในรังไข่ จะมีความเสี่ยงต่อการได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมเป็นโรค PCOS มากกว่าบุคคลอื่น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนักวิจัยกำลังศึกษาถึงยีนส์เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของโรคนี้ แต่สาเหตุนี้ยังไม่มีผลลัพธ์ออกมาเป็นที่ชัดเจน

สำหรับคุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคถุงน้ำหลายใบในรังไข่ในขณะตั้งครรภ์ ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการมีความดันโลหิตสูง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ อีกทั้งยังความเสี่ยงแท้งบุตร ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์หรืออาจคลอดก่อนกำหนด

อาการของโรค PCOS

ผู้ป่วยโรค PCOS หรือของโรคถถุงน้ำหลายใบในรังไข่ที่พบได้ทั่วไปมีอาการที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละคน  บางรายอาจแสดงอาการออกมาชัดเจน แต่บางรายก็แทบไม่แสดงอาการใด ๆ  ซึ่งอาการของโรคมักมีผลต่อสุขภาพในระยะยาวและมีความผิดปกติเพิ่มขึ้นหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยสามารถสังเกตอาการหลัก ๆ ได้ดังนี้

โรค pcos กับการตั้งครรภ์

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจมาขาด ๆ หาย ๆ มาไม่สม่ำเสมอ หรือมีประจำเดือนมานานและอาจมามากหรือน้อยผิดปกติ
  • มีการตกไข่ที่ผิดปกติ ซึ่งเกิดจากภาวะฮอร์โมนไม่สมดุล
  • มีลูกยาก ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรค PCOS บางราย อาจมีภาวะไม่ตกไข่ในบางเดือนหรือบางรายอาจไม่ตกไข่ จึงส่งผลให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ยาก
  • ส่งผลต่อลักษณะทางกายภาย เนื่องจากร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศชายบางชนิดที่สูงขึ้น เช่น มีขนขึ้นตามหน้าและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากกว่าผู้หญิงปกติทั่วไป มีสิวขึ้นมากผิดปกติ เสียงเปลี่ยน หรือเป็นโรคศีรษะล้านทางพันธุกรรมซึ่งทำให้ผมร่วงและผมบาง และทำให้ส่งผลกระทบต่อจิตใจและความมั่นใจลงได้
  • ผู้ป่วยโรคถุงน้ำหลายใบในรังไข่ มากกว่าร้อยละ 50 มีระดับฮอร์โมนอินซูลินในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน ทั้งนี้ยังมีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้มีความเสี่ยงระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดสูงและความดันโลหิตสูงอีกด้วย
  • อาการอื่น ๆ เช่น อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ   ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน ทำให้บางรายพบว่ามีภาวะอ้วนร่วมด้วย เป็นต้น

เป็น PCOS มีลูกยาก อยากท้อง อยากมีลูกต้องทำอย่างไร

วิธีการรักษาโรคถุงน้ำหลายใบในรังไข่มักแตกต่างกันไปตามอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล เช่น โรคอ้วน ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือภาวะมีบุตรยาก ซึ่งมีวิธีรักษาและช่วยลดภาวะ PCOS อาทิเช่น

1.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในด้านการรับประทานอาหารที่เหมาะสม

การเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดภาวะ PCOS ลดกระบวนการอักเสบในร่างกาย ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและน้ำหนักตัว และช่วยมีลูกง่ายขึ้น โดยแบ่งโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วย PCOS ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มอาหารที่ควรรับประทาน

  • อาหารที่มีอิโนซิทอล ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ สำหรับแหล่งอาหารที่พบอิโนซิทอล เช่น ตับวัว จมูกข้าวสาลี กากน้ำตาล ถั่วลิสง ลูกเกด แคนตาลูป กะหล่ำปลี เป็นต้น เพื่อป้องกันการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน
  • อาหารเน้นโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น ไก่ ปลา กุ้ง เต้าหู้ และโปรตีนจากพืช อาหารกลุ่มนี้จะช่วยให้อิ่มนาน ช่วยควบคุมน้ำหนักตัว  ช่วยรักษาสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด และยังช่วยป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูงอีกด้วย
  • อาหารประเภทที่มีกากใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ ถั่วอัลมอนด์ พิสตาชิโอ วอลนัท เป็นต้น รวมถึงผักผลไม้ต่างๆ  เพื่อช่วยลดระดับอินซูลินและช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงรักษาระดับสมดุลฮอร์โมนด้วย
  • อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่ เชอร์รี่ แครนเบอร์รี่ ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงอย่าง ส้ม สับปะรด มะละกอ กีวี่ ฝรั่ง ผักชนิดต่าง ๆ เช่น ผักโขม บร็อคโคลี่ ผักคะน้า มะเขือเทศ ธัญพืชไม่ขัดสีชนิดต่างๆ เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท รวมถึงแหล่งอาหารไขมันไม่อิ่มตัว เช่น อะโวคาโด เป็นต้น อาหารกลุ่มนี้จะช่วยลดการอักเสบในร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน

กลุ่มอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

  •  อาหารผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส นม หรือโยเกิร์ตที่มีน้ำตาล โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเรื่องการย่อยนมหรือมีระบบจุลินทรีย์ในลำไส้ไม่สมดุล เนื่องจากผลิตภัณฑ์นมจะเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนและกระบวนการอักเสบในร่างกาย
  • อาหารประเภทน้ำตาลหรือที่ผ่านการแปรรูป เช่น ลูกอม ทอฟฟี่ โยเกิร์ต คุ้กกี้ ไอศกรีม หรืออาหารที่ปรุงรสด้วยน้ำตาลมาก ๆ รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกระบวนการอักเสบและภาวะดื้ออินซูลิน
  • ข้าวแป้งที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว พิซซ่า พาสต้า เป็นต้น การจำกัดปริมาณการกินอาหารกลุ่มนี้จะช่วยลดฮอร์โมนแอนโดรเจนที่เป็นปัจจัยหนึ่งต่อการเป็น PCOS
  • ไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ เช่น ในอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารผัดทอด เนื้อสัตว์ติดมัน เป็นต้น เพื่อลดกระบวนการอักเสบในร่างกาย และเพื่อรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้

2.กินยาคุมช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ

คุณหมอจะแนะนำให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมหรือแบบฮอร์โมนตัวเดียว โดยตัวยาจะช่วยทำให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ทั้งยังช่วยให้เกิดภาวะไข่ตก เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์เมื่อมีประจำเดือนปกติ

3.รับประทานยาช่วยให้มีการไข่ตกปกติ 

การตกไข่ที่ผิดปกติ เช่น ตกไข่ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ตกไข่ เกิดจากสาเหตุที่ประจำเดือนมาผิดปกติ ส่งผลให้มีบุตรยาก คุณหมอจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานโคลมีฟีน ซึ่งเป็นตัวยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมนเอสโตรเจน และช่วยให้การตกไข่เป็นไปตามปกติ หรือให้ยาเมทฟอร์มินเสริมหากกรณีรับประทานยาโคลมีฟีนแล้วการตกไข่ยังไม่กลับมาเป็นปกติ หรือหากใช้ทั้งสองตัวยาไม่เป็นผลก็อาจเปลี่ยนวิธีการรักษาด้วยการฉีดโกนาโดโทรปิน ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ของฮอร์โมนฟอลลิเคิลสติมิวเลติงและฮอร์โมนลูทิไนซิงเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยตกไข่ปกติ อย่างไรก็ตามการฉีดโกนาโดโทรปินอาจเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์แฝด

โรค pcos อยากมีลูก

4.เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

การทำเด็กหลอดแก้ว เป็นหนึ่งวิธีในการช่วยรักษาภาวะมีบุตรยากสำหรับผู้ป่วยโรค PCOS และสามีภรรยาที่มีข้อจำกัดทางสุขภาพร่างกายของทั้งคู่หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

5.เสริมสร้างสุขภาพที่ดี

นอกจากการปรับพฤติกรรมด้านการกินแล้ว ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การงดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ หากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำเพื่อไม่ให้เกิดความเครียด เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่จะช่วยทำให้ฮอร์โมนในร่างกายมีความสมดุล ที่จะส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง ลดภาวะการเกิดโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ

ทั้งนี้ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์หรือว่าที่คุณแม่ที่วางแผนจะมีบุตรควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย หากพบความผิดปกติ เช่น ประจำเดือนหายไปครั้งละนาน ๆ หรือมาแบบกะปริดกะปรอย สิวขึ้นหรือขนขึ้นผิดปกติ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอาการ หรือปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเกี่ยวกับโรค PCOS เพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยที่ดีที่สุดสำหรับการวางแผนตั้งครรภ์.

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.pobpad.comwww.hellokhunmor.comwww.samitivejhospitals.com
ข้อมูลโภชนบำบัดสำหรับ PCOS โดย ภนิตา จตุรวิทย์ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ ผู้จัดการศูนย์โภชนาการและการกำหนดอาหาร โรงพยาบาลเทพธารินทร์

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ คลิก :

ถุงน้ำรังไข่ หรือ เดอร์มอยด์ซีสต์ อีกหนึ่งโรคใกล้ตัวที่ผู้หญิงต้องระวัง!

มะเร็งรังไข่ ภัยร้ายเงียบ ทำผู้หญิงเสียชีวิตมากกว่ารอด

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up