โรคมือเท้าปาก อันตรายไหม

โรคมือเท้าปาก อันตรายไหม กี่วันหาย สาเหตุเกิดจากอะไร

Alternative Textaccount_circle
event
โรคมือเท้าปาก อันตรายไหม
โรคมือเท้าปาก อันตรายไหม

ไขข้อข้องใจโรคระบาดหนัก โรคมือเท้าปาก อันตรายไหม สาเหตุและการรักษา ต้องทำอย่างไร

โรคมือเท้าปาก อันตรายไหม

ช่วงนี้พ่อแม่หลายคน คงต้องดูแลลูกมากเป็นพิเศษ เพราะในช่วงปลายฝนต้นหนาว โรคร้ายมากมายกลับมาเยือนเป็นประจำทุกปี อย่างช่วงนี้ RSV ระบาดหนัก ทำให้เด็กป่วยจำนวนมาก ทั้งยังร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็มี แต่อีกหนึ่งโรคระบาดที่ต้องระวังคือ โรคมือเท้าปาก ติดกันได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน

สถิติโรคมือเท้าปาก 2563

ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยสถานการณ์ โรคมือเท้าปาก ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2563 จาก รง. 506 กองระบาดวิทยา พบผู้ป่วย 15,544 ราย อัตราป่วย 23.40 ต่อประชากรแสนคน ไม่พบผู้เสียชีวิต

สำหรับกลุ่มอายุที่พบว่าเป็นโรคมือเท้าปากมากที่สุด 3 อันดับ

  • ทารก 0-4 ปี (86.35%)
  • อายุ 5 ปี (4.36%)
  • อายุ 7-9 ปี (3.59%)
โรคมือเท้าปาก
สถิติโรคมือเท้าปาก 2563

ภาคที่มีอัตราป่วยโรคมือเท้าปากสูงสุด เรียงตามลำดับ

  1. ภาคใต้ 50.33 ต่อแสนประชากร พบมากในกลุ่มอายุ 1 ปี (1531 ราย), 2 ปี (1023 ราย), 3 ปี (792 ราย)
  2. ภาคเหนือ 25.50 ต่อแสนประชากร พบมากในกลุ่มอายุ 1 ปี (904 ราย), 2 ปี (765 ราย), 3 ปี (488 ราย)
  3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19.78 ต่อแสนประชากร พบมากในกลุ่มอายุ 1 ปี(1,018 ราย), 2 ปี (1018 ราย), 3 ปี (908 ราย)
  4. ภาคกลาง 14.64 ต่อแสนประชากร พบมากในกลุ่มอายุ 1 ปี (840 ราย), 2 ปี (585 ราย), 3 ปี (479 ราย)
โรคมือเท้าปาก อันตรายไหม
อาการโรคมือเท้าปาก เครดิตภาพเพจ : Infectious ง่ายนิดเดียว

โรคมือเท้าปาก โรคอันตราย!

โรคมือเท้าปาก (Hand-Foot-And-Mouth Disease-HFMD) เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็ก มักมีการระบาดช่วงฤดูฝน มักมีอาการประมาณ 2-3 วันและดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์ สำหรับโรคมือเท้าปากมีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ จึงสามารถติดต่อกันได้โดยที่ยังไม่แสดงอาการ สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส มีหลายสายพันธุ์ หากติดเชื้อที่อันตราย จะมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

เพจ Infectious ง่ายนิดเดียว ได้ออกมาเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกหลานเล็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนให้ระวังอันตรายจากโรคมือเท้าปาก ที่กำลังระบาดหนักไม่แพ้ RSV โดยโพสต์ว่า ช่วงนี้เริ่มกลับมาระบาด โรคมือเท้าและปาก RSV ก็ยังระบาด ในศูนย์เด็กเล็ก อนุบาล ประถมก็เจอ โรคมือเท้าปากเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อเอนเทอร์โรไวรัส (Enterovirus) สมาชิกในกลุ่มไวรัสที่พบบ่อยคือ Coxsackie และ Enterovirus

อาการสำคัญของโรคมือเท้าปาก

ลักษณะตุ่มที่ขึ้นจะเป็นตุ่มใส ขึ้นในปากบริเวณเพดาน ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ถ้าขึ้นแค่ในปาก เรียก herpangina (เฮอร์แปงไจน่า) ถ้าขึ้นครบ 3 ที่ คือ มือ เท้า ปาก จะเรียกว่า โรคมือเท้าปาก บางรายตุ่มขึ้นตามตัวหรือก้นได้

โรคมือเท้าปาก อันตรายไหม
โรคมือเท้าปาก อันตรายไหม เครดิตภาพเพจ : Infectious ง่ายนิดเดียว

มือเท้าปากอันตรายแค่ไหน

โรคนี้มักจะมีอันตรายหากพบภาวะแทรกซ้อน แบ่งออกเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรงและพบบ่อย ขาดน้ำ เนื่องจากเจ็บปาก กินน้ำและอาหารไม่ได้ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจะแบ่งออกเป็น 2 โรค

  1. สมองอักเสบ
  2. กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมักพบจากสายพันธุ์ เอนเทอร์โรไวรัส 71 เด็กจะไข้สูง ซึม ตัวสั่น ๆ งอแง มีกล้ามเนื้อกระตุกได้ (myoclonus jerk) ถ้ารุนแรงน้ำท่วมปอด หายใจหอบ หัวใจวาย ชัก เกร็งกระตุก เสียชีวิตได้

การวินิจฉัยและการรักษาโรคมือเท้าปาก

วินิจฉัยจากอาการที่แสดง มีตุ่มในปากบริเวณเพดาน ลิ้นไก่ และฝ่ามือฝ่าเท้า ส่วนการรักษา จะรักษาตามอาการ ไม่มียาฆ่าไวรัส กินอาหารเย็นได้ เช่น น้ำเย็น น้ำแข็ง ไอติม โดยจะหยอดยาชาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บ แต่ควรให้กินอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย

การพยากรณ์โรค ดีมาก หายได้ภายใน 3-7 วัน มีโอกาสเป็นซ้ำได้ ต้องรักษาความสะอาดและหลีกเลี่ยงสัมผัสคนป่วย ส่วนน้อยมาก ๆ ที่จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

โรคมือเท้าปากยังไม่มีวัคซีน การป้องกันทำได้ ดังนี้

  • กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ รักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงสัมผัสคนป่วย
  • อย่าอมมือ อมของเล่น
  • งดเล่นบ้านบอล สนามเด็กเล่น

โรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปาก อันตรายไหม เครดิตภาพเพจ : Infectious ง่ายนิดเดียว
คุณหมอยังย้ำด้วยว่า หากพบลูกหลานป่วยควรให้หยุดเรียน ทางโรงเรียนอาจจะปิดชั้นเรียนและทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ ของเล่น โดยการทำความสะอาดจะใช้ผงซักฟอกทำความสะอาดได้ รวมทั้งการตากแดดอุปกรณ์และของเล่น

ในเมื่อโรคมือเท้าปากยังไม่สามารถป้องกันได้ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องหมั่นดูแลความสะอาด กำชับลูกเรื่องล้างมือ พร้อมกับคอยทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ลูกหลังกลับจากโรงเรียนทุกครั้ง และอย่าลืมสังเกตร่างกายลูกทุกวัน หากพบเจอความผิดปกติให้หยุดเรียนและรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

อ้างอิงข้อมูล : Infectious ง่ายนิดเดียว, กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และ pidst.or.th

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

ทารกติด RSV เสียชีวิต ภัยร้ายพรากลูกวัย 10 เดือนจากอกพ่อแม่

ผื่นแพ้สัมผัส ลูกเป็นตุ่มแดง บวม คัน แพ้ไส้ในเบาะกันขอบเตียง

นมแม่หดถึงคราวพึ่ง นมกล่อง เลือกยังไงหากลูกแพ้นมวัว

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up