โรคหน้าร้อน

เตือน! 5 โรคหน้าร้อน ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง

Alternative Textaccount_circle
event
โรคหน้าร้อน
โรคหน้าร้อน

มาแน่! 5 โรคหน้าร้อน ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง

ฤดูร้อนในเมืองไทยมีไอความร้อนแรง ๆ จนทำให้หลายคนไม่สบายเพราะความร้อน นอกจากนี้ก็มักเจอโรคต่าง ๆ ที่มากับอากาศร้อน ซึ่งพร้อมที่จะทำให้ลูก ๆ ของเรา รวมทั้งคุณพ่อคุณแม่เจ็บป่วยได้ทุกเมื่อ หน้าร้อนนี้มี โรคหน้าร้อน อะไรที่ควรระวังให้มาก มาดูกันค่ะ

 

  1. โรคหน้าร้อน ท้องเสีย

มักเกิดจากการที่ลูกรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ปรสิต หรือเชื้อไวรัส ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ซึ่งเชื้อเหล่านี้นอกจากปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่มแล้ว ยังอาจติดอยู่ที่มือของลูกน้อยผ่านการหยิบจับสิ่งของสกปรกมาก่อน การแพ้อาหารบางชนิดก็สามารถทำให้เกิดอาการท้องเสียได้เช่นกัน

อาการท้องเสียนั้นมีจุดสังเกต ดังต่อไปนี้

  1. อุจจาระมีลักษณะเหลว หรือถ่ายออกเป็นน้ำ
  2. ถ่ายท้องต่อเนื่อง มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน
  3. มีอาการปวดท้องเกร็งที่รุนแรงกว่าปรกติ
  4. ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย และเหมือนมีไข้อ่อน ๆ

หากลูกมีอาการเหล่านี้ ก็แปลว่ากำลังเผชิญกับอาการท้องเสียชนิดเฉียบพลัน ซึ่งโดยปกติแล้วจะสามารถหายได้เองภายใน 1 – 2 วัน แต่หากมีอาการท้องเสียต่อเนื่องนานเกินกว่า 3 – 14 วัน คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์นะคะ

ป้องกันและรักษาอาการท้องเสีย ได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  1. รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ทุกครั้ง
  2. ให้ลูกล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังทำกิจกรรมต่าง ๆ ทุกครั้ง
  3. เลี่ยงไม่ให้ลูกการรับประทานอาหารที่ไม่มั่นใจเรื่องคุณภาพและความสะอาด เพราะอาจมีเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียได้
  4. เมื่อลูกเกิดอาการท้องเสียควรดื่มน้ำ หรือดื่มน้ำผสมผงน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
  5. ให้ลูกรับประทานยาบรรเทาอาการท้องเสีย ซึ่งช่วยยับยั้งเชื้อ แบคทีเรีย และบรรเทาอาการท้องเสียได้
  6. ให้ลูกรับประทานอาหารย่อยง่าย เช่น โจ๊ก น้ำซุป เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
  1. โรคพิษสุนัขบ้า

เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนผ่านทางน้ำลายของสัตว์ โดยสัตว์ที่นำโรคไม่ใช่แค่สุนัขหรือแมว แต่รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า หากลูกได้รับเชื้อนี้และเชื้อเข้าสู่สมอง จะมีอาการคลุ้มคลั่ง ดุร้าย กระวนกระวาย และหากเชื้อเข้าสู่ไขสันหลัง จะทำให้สมองและไขสันหลังทำงานผิดปกติ จะมีอาการอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด

ถ้าลูกถูกสุนัขจรจัด หรือ แม้แต่สัตว์เลี้ยงในบ้านกัด ข่วน หรือเลียแผล ควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้

  • ล้างแผลให้ลูกด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ให้ลึกถึงก้นแผลเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที
  • เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ เบตาดีน หรือ น้ำเกลือ ที่มีอยู่ที่บ้าน
  • รีบพาลูกมาพบแพทย์ ปัจจุบันนี้ยังไม่มียารักษาให้หายได้ ดังนั้นเมื่อลูกโดนสัตว์กัด ให้รีบพบแพทย์โดยทันทีเพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและวัคซีนป้องกันบาดทะยัก โดยเฉพาะเมื่อสัตว์ที่กัดไม่มีเจ้าของหรือกัดแล้วหนี ไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้สุนัขหรือสัตว์ที่กัดแสดงอาการหรือตายก่อน
  1. โรคลมแดด หรือฮีตสโตรก

โรคลมแดด หรือโรคฮีตสโตรก (Heat Stroke) เกิดจากการที่ร่างกายของลูกได้รับความร้อนมากเกินไป เช่น การตากแดดนาน ๆ ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาอย่างรีบด่วน เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิตถึงร้อยละ 17-70 เลยทีเดียว

อาการที่สังเกตได้ คือ ลูกจะไม่มีเหงื่อออก แต่ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่ว ๆ ไป ที่จะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย นอกจากนี้ ลูกอาจมีอาการเพิ่มเติม ได้แก่ เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว ไตล้มเหลว มีการตายของเซลล์ตับ หายใจเร็ว มีการบวมบริเวณปอดจากการคั่งของของเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ การสลายกล้ามเนื้อลาย ช็อค หากเกิดอาการดังกล่าวจำเป็นต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน

โรคหน้าร้อน
ให้ลูกดื่มน้ำให้มาก เพื่อป้องกันการเกิดฮีทสโตรก

วิธีการป้องกันโรคลมแดด คือ

  • ให้ลูกดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากลูกต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน หรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้จะอยู่ในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี
  • ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 15 ขึ้นไป
  • หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด
  • หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ แก้น้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกาย หรือการอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน
  • ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง
  1.  ผดร้อน

ผดร้อน เป็นตุ่มคันขนาดเล็ก เกิดจากต่อมเหงื่อที่อุดตันใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะเมื่อเหงื่อออก หรืออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้น ซึ่งผดร้อนอาจปรากฏขึ้นได้ทั่วร่างกายลูก เช่น บริเวณใบหน้า คอ หลัง อก และต้นขา เป็นต้น ผดร้อนเป็นภาวะที่ไม่อันตราย และอาจหายได้เองเมื่ออากาศเย็นลง แต่หากปรากฏอาการดังต่อไปนี้ควรไปพบแพทย์

  • ผดไม่ยอมหาย ยังคันและเจ็บปวดอย่างต่อเนื่องเกิน 2-3 วัน
  • ผดมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ผดมีสีแดงสว่าง หรือเป็นริ้วลาย และผดเกิดขึ้นหลังจากใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาตัวใหม่ที่ไม่เคยใช้มาก่อน
  • เจ็บปวดเพิ่มขึ้น อาจเกิดร่วมกับอาการบวม แดง หรือ รู้สึกอุ่น ๆ บริเวณที่เป็นผด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
  • ต่อมน้ำเหลืองบวม ซึ่งอาจเกิดขึ้นบริเวณรักแร้ คอ และขาหนีบ
  • ติดเชื้อ เมื่อผดร้อนที่เกิดขึ้นเริ่มมีหนองหรืออาการติดเชื้ออื่น ๆ
  • มีไข้ หรือมีสัญญาณของภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ

เมื่อพบว่ามีผดร้อนเกิดขึ้น อาจบรรเทาอาการคัน หรือป้องกันอาการกำเริบลุกลามได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น
  • ให้ลูกอยู่ในบริเวณที่มีอากาศเย็น หรือมีเครื่องปรับอากาศ และประคบผ้าเย็นบริเวณผิวหนัง เพื่อช่วยลดความร้อน
  • หลีกเลี่ยงการใช้พลาสเตอร์ปิดทับผิวหนัง หรือไม่สวมใส่เสื้อผ้ารัดรูป เพื่อป้องกันการอุดตันของต่อมเหงื่อ
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งที่อาจทำให้เกิดเหงื่อออกมาก
  • ให้ลูกอาบน้ำด้วยน้ำเย็นและสบู่ที่ไม่ทำให้ผิวแห้ง และปล่อยให้ผิวแห้งเองหลังอาบน้ำเสร็จ ไม่ใช้ผ้าขนหนูเช็ดตัวเพื่อลดการเสียดสีจนเกิดผดร้อนอักเสบเพิ่มขึ้น

 

  1. โรคไมเกรน

เป็นโรคที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังตัวเอง โดยอาจจะเกิดจากพันธุกรรม หรือปัจจัยกระตุ้น ส่งผลทำให้หลอดเลือดแดงเกิดการขยายตัวได้มาก และง่ายกว่าคนปกติ อาจจะมีอาการนำก่อนมีอาการปวดหัว หรือไม่มีอาการนำก็ได้ อาการนำที่พบบ่อยคือ อาการทางตา เช่น เกิดตาพร่า เห็นภาพ หรือ แสงสีผิดปกติ รู้สึกหนักที่แขนขาเหมือนไม่มีแรง มีความรู้สึกผิดปกติที่ผิวหนัง เช่น รู้สึกคัน ชา แสบร้อน

ปัจจัยที่ทำให้โรคไมเกรนมีอาการมากขึ้น ได้แก่

  1. ภาวะเครียด
  2. การอดนอน
  3. การขาดการพักผ่อน หรือทำงานมากเกินไป
  4. ขณะมีประจำเดือน หรือรับประทานยาคุมกำเนิด
  5. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์
  6. อาหารบางชนิด เช่น กล้วยหอม เนยแข็ง และช็อกโกแลต

การดูแลตนเองทำได้โดย

  1. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น ความร้อน การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด อาหาร กาแฟ ช็อกโกแลต แอลกอฮอล์
  2. การใช้ยาบรรเทาอาการปวดรักษา เช่น ยาแก้ปวดพาราเซตามอล ยาแก้ปวด-อักเสบกลุ่ม NSAIDs ยากลุ่ม Ergot ยากลุ่มทริปแทน (Triptan) ควรใช้เฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้นและต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น

คุณพ่อคุณแม่ ควรรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง ระมัดระวังตนเองรวมทั้งลูกน้อยจากอาการร้อน เพื่อไม่ให้ต้องเจ็บป่วยจากโรคที่มากับหน้าร้อนนี้นะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา , โรงพยาบาลวิภาวดี, pobpad, โรงพยาบาลธนบุรี, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลสมิติเวช

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อาหารเป็นพิษ โรคหน้าร้อน ที่ทุกครอบครัวต้องระวัง

3 โรคหน้าร้อน คนท้อง ต้องระวัง!

หวัดแดด โรคหน้าร้อน ที่ต้องระวังในเด็กเล็ก

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up