น้ำแข็ง น้ำดื่ม ไม่สะอาด

หน้าร้อนระวัง น้ำแข็ง น้ำดื่ม ไม่สะอาด ปนเปื้อนเชื้อโรค

Alternative Textaccount_circle
event
น้ำแข็ง น้ำดื่ม ไม่สะอาด
น้ำแข็ง น้ำดื่ม ไม่สะอาด

หน้าร้อนระวัง น้ำแข็ง น้ำดื่ม ไม่สะอาด ปนเปื้อนเชื้อโรค

อากาศแบบนี้ได้เครื่องดื่มใส่น้ำแข็งเย็น ๆ สักแก้ว ทั้งคุณพ่อคุณแม่ และลูก ๆ คงจะชื่นใจกันน่าดูเลยนะคะ น้ำแข็งนี่จะเอามาใส่น้ำดื่มให้เย็นขึ้นก็ได้ จะเอามาทำน้ำแข็งใส กินกันในครอบครัวก็ได้ หลายบ้านเลยซื้อน้ำแข็งติดบ้านไว้ตลอด หลายบ้านก็ซื้อน้ำดื่มเย็น ๆ ไว้ติดบ้าน แต่รู้ไหมคะว่า หาก น้ำแข็ง น้ำดื่ม ไม่สะอาด ก็อาจปนเปื้อนเชื้อโรค ลูกของเราก็อาจติดโรคจากอาหารและน้ำดื่มได้ค่ะ

น้ำแข็ง น้ำดื่ม ไม่สะอาด สถิติผู้ป่วยจากโรคทางอาหารและน้ำดื่ม

จากสถิติการเฝ้าระวังโรคในปี 2564 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยที่มีภาวะอาหารเป็นพิษจำนวนกว่า 53,540 ราย เสียชีวิต 1 ราย ชี้ให้เห็นถึงอัตราการเกิดโรคที่ยังสูง ซึ่งอาการอาหารเป็นพิษเกิดได้กับผู้ที่นิยมบริโภคน้ำดื่ม หรือน้ำแข็งที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอีกด้วย จึงขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ใส่ใจเรื่องความสะอาด ถูกสุขลักษณะเพื่อลดและควบคุมการเกิดโรค

เลือกน้ำแข็งจากแหล่งผลิตที่สะอาด

ในช่วงหน้าร้อน น้ำแข็ง อาจเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารตามมาได้ จึงควรใส่ใจในเรื่องความสะอาดปลอดภัย เนื่องจากอุณหภูมิสูงเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยเลือกน้ำแข็ง จากแหล่งผลิตที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน GMP ผู้จำหน่ายน้ำแข็งต้องคำนึงถึงความสะอาดและปลอดภัยโดยเฉพาะการเก็บรักษาความเย็นและภาชนะสำหรับบรรจุน้ำแข็ง ดังนี้

  • ห้ามใช้แกลบ ขี้เลื่อย กระสอบ กาบมะพร้าว เสื่อ ในการห่อหรือปกคลุมน้ำแข็งเด็ดขาด
  • สถานที่เก็บรักษาเพื่อจำหน่ายต้องสะอาด ไม่มีสิ่งสกปรกใกล้ ๆ และมีระดับสูงกว่าทางเดินอย่างน้อย 60 เซนติเมตร
  • ง่ายต่อการทำความสะอาดและไม่มีสิ่งปนเปื้อนในน้ำแข็ง
  • ภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำแข็งต้องสะอาดไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค
  • หากเป็นน้ำแข็งที่บรรจุในถุงพลาสติกจะต้องเป็นพลาสติกไม่มีสี และไม่บรรจุในถุงพลาสติกที่ผ่านการใช้มาแล้วหรือเป็นถุงที่เคยบรรจุสารเคมีมาก่อน เช่น สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือปุ๋ย
  • ถ้าบรรจุในถังน้ำแข็ง ต้องเป็นถังที่บรรจุน้ำแข็งอย่างเดียว ยกเว้นให้มีได้เฉพาะที่ตักน้ำแข็งมีด้าม เพื่อใช้ตักน้ำแข็งเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่เห็นว่ามีการนำขวดน้ำดื่ม น้ำอัดลม ผักหรือเนื้อสัตว์ แช่รวมกันอยู่ในถังน้ำแข็งนั้นก็ไม่ควรนำมากิน
  • ผู้ส่งน้ำแข็ง ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด ล้างมือทุกครั้ง สวมรองเท้าที่สะอาด และควรเป็นรองเท้าคนละคู่กับรองเท้าที่ปนเปื้อนจากนอกบริเวณขนส่ง ไม่สูบบุหรี่หรือมีพฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่ถูกสุขลักษณะขณะขนส่ง และห้ามใช้เท้าสัมผัสน้ำแข็ง
  • รถขนส่งต้องสะอาด โดยเฉพาะพื้นรถที่วางน้ำแข็งต้องมีการล้าง ฆ่าเชื้อก่อนทำการขนส่ง และมีมาตรการควบคุมอุณหภูมิน้ำแข็งให้สม่ำเสมอ

ร้านอาหารก็ต้องเก็บน้ำแข็งให้ดี

ร้านอาหารต้องเก็บน้ำแข็งในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิด ตั้งสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ภาชนะต้องไม่เป็นสนิม สามารถเก็บความเย็นได้ดี ห้ามนำอาหารหรือเครื่องดื่มมาแช่ในน้ำแข็งที่ใช้บริโภคโดยเด็ดขาด

น้ำแข็ง น้ำดื่ม ไม่สะอาด
ระวังลูกกินน้ำแข็ง น้ำดื่ม ไม่สะอาด

ผลิตน้ำแข็งไม่สะอาดมีโทษปรับ

กระทรวงสาธารณสุขได้ควบคุมการผลิตน้ำแข็งเพื่อจำหน่ายในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานต่างๆ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527) และฉบับที่ 137 (พ.ศ.2534) เรื่อง น้ำแข็ง เพื่อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน กรรมวิธีการผลิต การใช้น้ำในการผลิต สถานที่เก็บรักษาน้ำแข็ง การใช้ภาชนะบรรจุน้ำแข็ง ตลอดจนการแสดงฉลาก ต้องมีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ ต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับข้อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต หรือจีเอ็มพี เพื่อลดปัญหาการปนเปื้อน หากฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

น้ำดื่มก็ต้องสะอาด

น้ำดื่ม เป็นอีกเรื่องที่ควรพิจารณาแหล่งที่มา และวิธีบริโภคน้ำดื่ม ที่ต้องสะอาดถูกหลักอนามัย ดังนี้ค่ะ

  • แหล่งน้ำที่นำมาใช้ ต้องสะอาด เพราะหากไม่สะอาด จะมีการปนเปื้อนเชื้อโรค และสิ่งสกปรก เพิ่มโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ
  • ควรนำจากแหล่งที่ไม่แน่ใจ มาต้ม หรือกรอง ก่อนนำมาดื่ม
  • หากมีเครื่องกรองน้ำ ให้ตรวจตราตัวกรองให้มีประสิทธิภาพ หากพบการอุดตัน สกปรก ให้ถอดเปลี่ยน หรือนำออกมาทำความสะอาดทันที
  • หากเป็นน้ำดื่มบรรจุภาชนะปิดสนิท โดยเฉพาะขนาดถัง 20 ลิตร ภาชนะต้องสะอาด ไม่มีคราบสกปรกทั้งภายในและภายนอก พลาสติกปิดรอบฝาปิดต้องอยู่ในสภาพดี ไม่ฉีกขาด ชื่อผู้ผลิตบนถังต้องตรงกับผู้ผลิตรายนั้น
  • เมื่อนำมาถ่ายเทใส่ภาชนะสำหรับดื่ม เช่น ขวด ถัง ต้องล้างภาชนะให้สะอาดก่อนทุกครั้ง
  • ระวังเรื่องสุขลักษณะส่วนบุคคลในขณะถ่ายเทน้ำดื่มด้วย เช่น ไม่ใช้มือสัมผัสน้ำ ให้ใช้กรวยที่สะอาด รองน้ำใส่ภาชนะ หรืออาจจะใช้อุปกรณ์ช่วยแบ่งน้ำ เช่น ที่สูบมือ หรือที่วางถัง 20 ลิตร แบบโยกรินได้
  • ส่วนการเก็บ  ต้องไม่ให้โดนแสงแดด วางสูงจากพื้น 15 เซนติเมตร ไม่ควรวางปะปนกับภาชนะบรรจุสารเคมี ยาฆ่าแมลง อาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนภาชนะ หรือในน้ำดื่มได้

คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบแหล่งที่มาของน้ำแข็ง และน้ำดื่ม พิจารณาแหล่งที่ซื้อน้ำดื่มว่าสะอาดถูกหลักอนามัยหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและลูกน้อยค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

กรมอนามัย, ไทยรัฐออนไลน์, นิวส์ทีวี, กรุงเทพธุรกิจ, สสส.

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ผงะ!!ไอศกรีม ปนเปื้อน โควิด19 จากโรงงานผลิตที่จีน

เตือนภัย! ซูชิเรืองแสง เสี่ยงปนเปื้อนจุลินทรีย์ ก่อนซื้อต้องระวัง

แป้งเด็ก อันตราย จริงหรือ? อย. ยืนยัน! ยังไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up