ลูกลื่นล้ม

อุทาหรณ์!! “ลูกลื่นล้ม” ธรรมดาแต่นำพาสู่ การผ่าตัดใหญ่!!

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกลื่นล้ม
ลูกลื่นล้ม

แม่แชร์ประสบการณ์ที่ทรมานใจที่สุดในชีวิต!! ใครจะเชื่อว่าแค่ ลูกลื่นล้ม แต่กลับอันตรายถึงชีวิต ถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดใหญ่!!

อุทาหรณ์!! “ลูกลื่นล้ม” ธรรมดาแต่นำพาสู่ การผ่าตัดใหญ่!!

ประสบการณ์ ลูกลื่นล้ม เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนจะต้องเคยเจอ เริ่มตั้งแต่วัยหัดเดิน หัดคลาน จนถึงวัยซนที่เริ่มวิ่งและปีนป่าย อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับลูกน้อย แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เกิด แต่หากเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือการสังเกตอาการและคอยซักถามลูกอยู่เสมอ ไม่ว่าอุบัติเหตุครั้งนั้นจะรุนแรงหรือไม่รุนแรงก็ตาม ดังเช่นอุทาหรณ์จากคุณแม่น้องไอล่า ที่ได้มาแชร์ประสบการณ์ วิธีสังเกตอาการของลูกเมื่อ ลูกลื่นล้ม รวมถึงการรักษาโดยละเอียด ให้กับทีมแม่ ABK เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้คุณแม่ทุกท่าน ดังนี้

!!จากลื่นล้มธรรมดา นำพาสู่การ ผ่าตัดใหญ่ อันตรายถึงชีวิต ยาวหน่อยนะคะ

ลูกลื่นล้ม
ลูกลื่นล้ม

วันนี้น้องออกจาก รพ.มาพักฟื้นที่บ้านแล้ว แม่มีเวลาเลย ขอมาแชร์ประสบการที่บีบหัวใจที่สุดในชีวิต

Part 1 หกล้มที่โรงเรียน

ประมาณเกือบ สี่โมงเย็น วันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2564 แม่ได้รับโทรศัพท์จากครู (ป้าแท้ ๆ ของน้อง พี่สาวแม่) บอกว่าให้รีบพาน้องไป รพ.ด่วน น้องลื่นล้มที่โรงเรียน แม่รีบบึ่งรถไปทันที ภาพที่เห็นก็คือครู(ป้า) อุ้มน้องวิ่งมาที่รถพร้อมขบวนเพื่อน ๆ พี่นักเรียนที่วิ่งตามมา

ในหัวแม่คือน้องต้องแขนหัก ขาหักแน่ ๆ ครูถึงได้ร้องไห้ฟูมฟายขนาดนี้ พอขึ้นรถมาแม่รีบซักถามอาการจากครู ว่าน้องล้มแบบไหน ลงท่าไหน มีส่วนไหนที่กระแทกบ้าง สรุปคือน้องลื่นขาข้างหนึ่งพลาดลงร่องน้ำ แล้วส่วน อกกระแทกกับขอบร่องน้ำ ซึ่งเป็นอิฐบล็อก ครูบอกว่ากระแทกแรงมาก (น้องล้มต่อหน้าครูและเพื่อน ๆ) น้องจุกและหน้าซีด ถามอาการน้องคือเจ็บส่วนหน้าอกเพราะแรงกระแทก ตามร่างกายไม่มีบาดแผล หรือรอยฟกช้ำใด ๆ

พอไปถึงโรงพยาบาล หมอสั่ง x-ray ตรวจคือช่วงทรวงอกปกติดี ไม่มีกระดูกแตกหรือร้าวอะไร น้องก็ไม่งอแงไม่เจ็บเหมือนตอนแรก ๆ หมอบอกว่า การบาดเจ็บกระดูกชายโครงจะมีอาการปวดปกติ ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะ อาการเจ็บจะหายไปเองค่ะ อันนี้แม่รู้ดีเพราะ แม่ก็เคยเป็น จะเจ็บมาก ๆ ช่วงอาทิตย์แรกหายใจก็เจ็บ ขยับตัวก็เจ็บ วันนี้หมอจึงให้กลับบ้านได้ เพราะน้องไม่มีอาการบ่งชี้อื่น ๆ ค่ะ (หาก X-ray แล้วไม่พบกระดูกร้าวหรือแตกหัก หรือหายใจติดขัด แบบนี้คุณหมอมักจะจ่ายยาและให้กลับบ้านได้)

Part 2 น้องปวดท้อง

หลังจากกลับมาบ้านน้องก็ปวดช่วงทรวงอกน้อยลง ทุกอย่างเป็นปกติ กินข้าว อาบน้ำ เป็นปกติ และเข้านอนจนช่วงเช้าน้องปลุกแม่บอกว่า น้องปวดท้องมาก ๆ แม่ก็แปลกใจทำไมน้องบอกปวดท้อง ไม่ปวดที่อกแล้ว แม่ชักเอะใจ แต่ก็คิดว่ามันน่าจะปวดรวม ๆ ไปทั่วช่องท้อง เพราะแรงกระแทกและน้องอาจจะอธิบายไม่ถูก (น้อง 9 ขวบ แต่ตัวผอม) แม่บอกให้น้องนอนพักเยอะ ๆ สังเกตอาการน้องเป็นระยะ น้องเริ่มร้องไห้มากขึ้น ตัวเริ่มซีด เท้าซีดมาก ๆ และบ่นอยากอ้วก

แม่เห็นว่าอาการไม่ดีจากประสบการณ์ที่แม่เคยเห็นคนใกล้ตัวที่มีอาการแบบนี้ รู้ทันทีน้องต้องมีปัญหากับอวัยวะในช่องท้องแน่ ๆ แม่จึงตัดสินใจพาน้องไปตรวจ รพ.ในเมืองแบบเร่งด่วน และให้น้อง NPO งดน้ำงดอาหารทันที เผื่อต้องมีการผ่าตัดเร่งด่วน (รพ.ชุมชนที่ไปครั้งแรก ไม่มีอุปกรณ์เพียงพอที่จะตรวจและต้องย้อนกลับไปอีก 30 กม. ค่ะ) เลยเข้าในเมืองเพื่อไม่ให้เสียเวลา จากบ้านเข้าตัวเมืองเกือบ 100 กิโล

ตัวเริ่มซีด
ตัวเริ่มซีด

Part 3 วิกฤต

พอคุณหมอตรวจน้อง คุณหมอบอกว่าอาการแบบนี้ต้องทำอัลตราซาวนด์หรือ CT Scan แบบเร่งด่วน เพราะตอนนี้ช่วงท้องข้างขวาน้องบวมขึ้นมาก ๆ ตัวซีดกว่าตอนอยู่ที่บ้าน น้องอ้วกถี่มาก ๆ หมอสั่งแอดมิดและ X-ray, Ultrasound, CT scan และเจาะเลือดตรวจแบบด่วน ระหว่างนี้น้องยังร้องไห้ปวดท้องตลอด ผลการตรวจคือ ตับน้องฉีก มีเลือดออกในตับ (ที่เราเรียกกันบ่อย ๆ ว่า เลือดตกใน ) จึงส่งผลให้ความเข้มข้นของเลือดต่ำ เป็นเหตุให้ร่างการเสียเลือดจนช็อก ซึ่งอาจเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว หากไม่ได้รับการรักษาในทันที

คุณหมอแจ้งถึงแนวทางการรักษาคือ ให้ยาแก้ปวดชนิดแรง (มอร์ฟิน) ให้ยาเพื่อลดอาการเลือดออกในตับ เจาะเลือดตรวจทุก 4 ชั่วโมง และวัดไข้ วัดความดัน ทุก 10 นาที คุณหมอบอกว่า หากให้ยาไปแล้ว ค่าของเลือดน้องยังคงที่ ความดันเลือดไม่ลดลง ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด

ในช่วงที่สังเกตอาการ น้องร้องไห้และอ้วกตลอดเวลา เจาะเลือดแล้วเจาะเลือดอีกเจาะจนแขนเล็ก ๆ ไม่มีที่จะให้เจาะแล้ว แรก ๆ น้องให้ความร่วมมือดีมาก หลัง ๆ น้องเริ่มงอแงด้วยความที่คงปวดท้องมากและแขนก็เต็มไปด้วยรูเข็ม แม่น้ำตาตกทุกครั้งที่พยาบาลเข้ามาเจาะเลือด สงสารลูกจับใจแต่ก็ภาวนาให้ผลเลือดขึ้น

ในช่วงนี้เป็นเวลาที่ทรมานและบีบหัวใจที่สุด น้องต้องงดข้าว งดน้ำ น้องต้องเจาะเลือดตรวจเป็นสิบ ๆ ครั้ง อ้วกและเวียนหัวเพราะฤทธิ์ยามอร์ฟีน น้องนอนซมหมดเรี่ยวแรง หลังจากเจาะเลือดทุกสี่ชั่วโมงเพื่อดูเกร็ดเลือด สรุปคือเกร็ดเลือดต่ำลงทุก ๆ ครั้งที่ตรวจ นั่นแสดงว่า เลือดยังไม่หยุด ยังคงออกเพิ่มในตับ ตอนนี้น้องเริ่มร้องไห้ปวดท้องขึ้นเรื่อย ๆ เด็กตัวเล็ก ๆ ร้องไห้หาคุณหมอ น้องถามแม่ว่าน้องปวดมากเลย เมื่อไหร่คุณหมอจะมารักษาน้อง ปกติเด็ก ๆ จะกลัวคุณหมอใช่ไหมคะ คิดดูว่าเขาจะปวดขนาดไหนถึงเรียกให้คุณหมอมารักษา

ช่วงค่ำคุณหมอมาตรวจอีกรอบและแจ้งกับแม่ว่า เกร็ดเลือดยังคงลดลงแต่ลดลงไม่มาก คุณแม่จะผ่ามั้ย ถ้าไม่อยากทนเห็นน้องเจ็บแบบนี้ แม่ตอบคุณหมอว่า แล้วแต่คุณหมอเห็นสมควร คุณหมอเลยให้รอผลเลือดต่อไปค่ะ (น้องยังคงต้องงดน้ำงดอาหาร) คืนนั้นพี่พยาบาลมาวัดไข้ วัดความดัน เจาะเลือดตลอด น้องแทบไม่ได้พักผ่อน (พยาบาลดูแลดีมาก ๆ ค่ะ)

ผ่านไป 12 ชั่วโมง หมอแจ้งว่าต้องผ่าตัดเร่งด่วน เพราะตอนนี้ผลเลือดลดลงมาก แม่ใจเสียมาก ณ จุดนี้ สงสารลูกที่สุด ทำไมเด็กตัวเล็ก ๆ จะต้องมาเจอ อะไรแบบนี้ ทำไมต้องผ่าตัดใหญ่ ทำไมต้องถูกวางยาสลบ น้องต้องมีแผลผ่าตัด แม่กังวลทุกสิ่งอย่าง หมอสั่งเติมเลือด 1 ถุง เข็นน้องเข้าห้องผ่าตัดด่วน

ลูกพักฟื้นหลังผ่าตัด
ลูกพักฟื้นหลังผ่าตัด

Part 4 ผ่าตัดว่าบีบหัวใจแล้ว พักฟื้น บีบหัวใจยิ่งกว่า

ก่อนเข้าห้องผ่าตัด แพทย์วิสัญญีแจ้งแม่ว่า น้องจะต้องวางยาสลบหากหลังการผ่าตัดทุกอย่างไม่ดีน้องจะยังต้องใส่ท่อช่วยหายใจและพักต่อที่ห้อง ICU แต่หากว่าทุกอย่างราบรื่นจะส่งน้องกลับห้องพัก ระหว่างที่รอน้องอยู่หน้าห้องผ่าตัด แม่น้ำตาไหลตลอดเวลา ครู (ป้า) ก็ร้องไห้หนัก โทษตัวเองว่าดูแลหลานไม่ดี ผ่านไป 3 ชั่วโมง

การผ่าตัดผ่านไปด้วยดีทุกอย่าง น้องกลับมาพักที่ห้องสายระโยงระยางเต็มตัวไปหมด แม่น้ำตาไหลไม่หยุด สงสารลูกมาก ๆ น้องตื่นมาแปป ๆ ร้องไห้ปวดแผลแล้วก็หลับ เป็นเพราะฤทธิ์ยาสลบ และมอร์ฟีน หลังออกจากห้องผ่าตัด คืนนั้นแม่แทบไม่ได้นอน เพราะน้องไข้ขึ้นสูง 38-39 องศา ตลอดทั้งคืน แม่ต้องคอยเช็ดตัวให้น้อง พี่พยาบาลก็ต้อง วัดไข้ วัดความดัน ทุก ๆ สองชั่วโมง

น้องนอนแบบนั้นอยู่สองวัน หลับตลอดเวลา มีไข้สูง แม่ใจคอไม่ดีเลย เห็นแผลลูกยิ่งเจ็บปวด คิดวนไปวนมา ทำไมต้องเกิดกับลูกเรา เด็กตัวเล็ก ๆ ทำไมต้องมาเจ็บปวดอะไรแบบนี้ แม่แค่ผ่าคลอดยังเจ็บขนาดนั้น ตอนนี้ทุกคนในบ้านเป็นกังวลกันหมด ช่วงโควิดมาเยี่ยมก็ไม่ได้ แม่ก็ต้องปิดเรื่องไม่ให้ยายรู้ จิตใจห่อเหี่ยวที่สุดในชีวิตแม่แล้วตอนนี้ (งดอาหารเป็นวันที่ 3)

กายภาพหลังผ่าตัด
กายภาพหลังผ่าตัด

Part 5 ฟื้นฟู

เข้าวันที่ 3 หลังการผ่าตัด น้องเริ่มตื่นมากขึ้นไข้เริ่มลดลง แม่ดีใจ ใจชื้นขึ้นมาก แผลน้องยาวมาก น้องคงจะเจ็บแต่ต้องลุกนั่งและเดิน เพราะตอนนี้น้องบวมไปทั้งหน้าและตัวอาจเพราะการให้น้ำเกลือและนอนนาน วันนี้คุณหมออนุญาตให้ถอดสายเสมหะและสายฉี่

พ่อน้องจึงบังคับให้น้องลุกเอง (พ่อน้องเป็นนักกายภาพบำบัด) เข้าห้องน้ำเอง ออกกำลังกายเบา ๆ น้องก็ทำตามไม่งอแงเลย ทั้ง ๆ ที่ดูแล้วน้องเพลียมาก ๆ ทำแบบเดียวกับคุณแม่หลังผ่าคลอดค่ะที่ต้องลุกเองทันทีหลังผ่าคลอด น้องฟื้นตัวได้เร็วลุกเองได้ เดินช้า ๆ ได้ ขับถ่ายดี วันนี้คุณหมอก็ให้ทานอาหารแบบเหลวได้ น้องเริ่มยิ้ม เล่น เป็นปกติ ทุกคนดีใจมากและคุณหมอก็ให้กลับบ้านได้ค่ะ

กลับบ้านแล้ว
กลับบ้านแล้ว

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจมีคำถามว่า ทำไมหมอที่แรกไม่ตรวจให้ เคสแบบนี้ตรวจตอนนั้นก็จะยังไม่เจอค่ะ เพราะเลือดจะค่อย ๆ ซึมออกในตับ น้องจึงไม่แสดงอาการทันทีในตอนนั้น หากไม่มีอาการบ่งชี้ คุณหมอจะไม่สั่งให้ตรวจค่ะ และการ X–Ray ทั่วไปก็ไม่เห็น จะต้องทำอัลตร้าซาวด์หรือทำการ  CT SCAN เท่านั้นถึงจะเห็นว่ามีเลือดออกตรงจุดไหน การตรวจรังสีวินิจฉัยทุกอย่างมีความเสี่ยง หากไม่มีอาการบ่งชี้ หมอจะไม่ตามใจคนไข้สั่งตรวจนะคะ

ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครอง เมื่อลูกเกิดอุบัติเหตุไม่ว่าจะรุนแรงหรือไม่ สิ่งที่ควรทำก็คือ ซักถามอาการและคอยสังเกตอาการน้องเสมอ หากพบความผิดปกติให้พาไปพบแพทย์ทันที แจ้งอาการอย่างละเอียด หากน้อง ๆ อยู่กับคุณปู่คุณย่าคุณยายต้องเน้นย้ำให้ท่านเข้าใจ เพราะบางทีเด็กตัวเล็ก ๆ เขาจะไม่สามารถอธิบายได้ว่าเจ็บปวดแบบไหน

หากน้องเกิดอุบัติเหตุที่โรงเรียนคุณครูก็ควรแจ้งผู้ปกครอง เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้สังเกตอาการน้องด้วยค่ะ ทั้งนี้ ทั้งหมดเป็นเพียงประสบการณ์ของคุณแม่ที่อยากแชร์เท่านั้น ทางที่ดีต้องเชื่อคำแนะนำของคุณหมอนะคะ สุดท้ายนี้ขอให้ประการณ์ที่แม่เจอเป็นวิทยาทาน แก่คุณพ่อคุณแม่ที่ได้อ่านบทความนี้ค่ะ

แม่น้องไอล่า

ทีมแม่ ABK ขอขอบคุณคุณแม่น้องไอล่า ที่ได้มาแชร์ประสบการณ์อย่างละเอียด ให้กับแม่ ๆ ทุกท่านได้อ่านกันนะคะ เราหวังว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นอุทาหรณ์ให้แม่ ๆ ได้สังเกตอาการลูกเมื่อ ลูกลื่นล้ม ค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ลูกคันก้น อาการพยาธิในเด็ก ต้องสังเกต พยาธิชอนไชจากรูทวาร

สอนลูกจำ เบอร์โทรฉุกเฉิน ลดสูญเสียเป็นฮีโร่เมื่อมีเหตุร้าย

โชคดีพ่อทำเป็น! ปั๊มหัวใจ ลูกชาย 3 ขวบจมน้ำ รอดหวุดหวิด!

อุทาหรณ์ อุบัติเหตุในเด็กเล็ก พร้อม 6 วิธี ลดเสี่ยงเกิดเหตุ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : คุณแม่น้องไอล่า

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up